ตำรวจควบคุมฝูงชนนำกำลังเข้าสลายการชุมนุมของ "เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น" ที่เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ปักหลักทวงสัญญาการทบทวนโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา "เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" หลังจากครบรอบ 1 ปีที่รัฐบาลรับปากว่าจะยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทั้งหมด พร้อมจัดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA ใหม่ทั้งหมด แต่กลับไม่มีอะไรคืบหน้า
การสลายการชุมนุมเกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 21.00 น. ของวันจันทร์ที่ 6 ธ.ค.64 ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ โดยตำรวจจากกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (คฝ.) ได้ตั้งแถวบนนถนนพิษณุโลก ประกาศให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากพื้นที่ด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีการตั้งเต็นท์ใกล้กับทางเข้าประตู 1 ทำเนียบฯ จากนั้นได้เข้าจับกุมผู้ชุมนุมขึ้นรถผู้ต้องขัง นำไปคุมตัวไว้ที่สโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดีรังสิต โดยผู้ชุมนุมทั้งหมดเป็นชาวบ้านจาก อ.จะนะ "เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น" ซึ่งเป็นกลุ่มคัดค้านโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม รวมๆ ประมาณ 50 คน
@@ "พีมูฟ" แถลงการณ์ประณาม จี้ปล่อยตัวชาวบ้านทั้งหมด
ต่อมา "กลุ่มพีมูฟ" หรือขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ได้ออกแถลงการณ์ด่วน ประณามรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา และตำรวจ คฝ.ที่สลายการชุมชนของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น โดยระบุว่าเป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม เนื่องจากผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นเด็กและคนแก่ จึงเรียกร้องไปยังรัฐบาล ดังนี้
1.รัฐบาลต้องยุติการสลายการชุมนุมและการจับกุมโดยทันที ตลอดจนปล่อยตัวแกนนำเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นผู้ถูกจับกุมโดยไม่มีเงื่อนไข
2.ให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติงานของกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (คฝ.) ว่าเป็นไปตามหลักสากลหรือไม่ แล้วแถลงต่อสาธารณชนโดยเร็วที่สุด
3.รัฐบาลต้องปฏิบัติตามข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นที่ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกันแล้วเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.63
ขปส. ยืนยันว่า สิทธิในการชุมนุมสาธารณะ เป็นสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาระดับสากล ในฐานะพลเมืองต้องสามารถกระทำได้โดยปราศจากการคุกคามและละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยฝ่ายใดก็ตาม
@@ เปิด 3 ข้อตกลง ชาวบ้านจะนะทวงสัญญา
สำหรับ 3 ข้อเรียกร้องที่ "เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น" ทำข้อตกลงร่วมกันกับรัฐบาล หลังจากมาชุมนุมในพื้นที่เดียวกันนี้ เมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว มี 3 ข้อด้วยกัน ตามที่กลุ่มพีมูฟสรุปในแถลงการณ์ คือ
1.รัฐบาลต้องตั้งกลไกตรวจสอบความผิดปกติของโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ใหม่ทั้งหมด โดยจะต้องตรวจสอบในทุกมิติ เช่น เรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมประชาชน เรื่องการใช้แผนปฏิบัติการโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินและรังวัดรูปแปลงโฉนดที่ดินให้เป็นมาตรฐานเดียวกันโดยมิชอบ และการใช้งบประมาณของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในโครงการนี้ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ซึ่งกลไกนี้จะต้องเป็นกลาง เชื่อถือได้ และมีส่วนร่วมของประชาชน เมื่อแล้วเสร็จจะต้องแจ้งผลการตรวจสอบให้ประชาชนรับทราบอย่างเป็นทางการด้วย
2.รัฐบาลต้องจัดการศึกษาผลกระทบของโครงการในเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA แบบมีส่วนร่วม และต้องดำเนินการโดยนักวิชาการที่เป็นกลาง ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ซึ่งคณะศึกษานี้ต้องไม่อยู่ภายใต้การกำกับของ ศอ.บต.
3.ระหว่างการดำเนินการ 2 ข้อแรก รัฐบาลต้องสั่งให้ยุติการดำเนินการทุกอย่างในโครงการนี้ไว้ก่อน
@@ "ธนาธร" ทวีตร่วมประณาม ตั้งแฮชแท็ก #saveจะนะ
ด้าน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้ทวีตผ่านทวิตเตอร์ Thanathorn Juangroongruangkit ระบุว่า "ผมขอประณามการทำเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่รัฐจากการสลายการชุมนุมของพี่น้องชาวจะนะ คนทุกคนมีสิทธิที่จะหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตของตนเอง #saveจะนะ
ผมเคยไปดูสถานที่จริง และเห็นถึงความสวยงามและความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ รู้สึกเสียดายหากพื้นที่นี้จะถูกสร้างเป็นนิคมอุตสาหกรรมเพื่อผลประโยชน์จากการขายที่ดิน เราจะเสียทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่อาจหวนคืนได้ไป และได้นิคมอุตสาหกรรมที่ไม่มีใครลงทุนมาแทน
เขามาประท้วงเพราะพวกเขาเดือดร้อน การชุมนุมอย่างสันติเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับการเอารัฐเอาเปรียบจากรัฐและนายทุนของชาวบ้าน มาช่วยกันส่งเสียงประณามรัฐบาล ผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบต้องยืนหยัดต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมร่วมกัน"
@@ ก่อนถูกสลาย "ทวี" นำ ส.ส.ประชาชาติให้กำลังใจ
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 ธ.ค.64 ก่อนหน้าจะมีการรวมตัวชุมนุมและถูกสลายการชุมนุม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ พร้อมด้วย ส.ส.จากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของพรรคประชาชาติ และ ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้เดินทางไปเยี่ยมให้กำลังใจ น.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ ลูกสาวทะเลจะนะ อายุ 19 ปี ชาว ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ที่ได้เดินทางจากบ้านใน อ.จะนะ ไปนั่งที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถามความคืบหน้ากรณีเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ภายหลังรับปากจะดำเนินการแก้ไขปัญหามาครบ 1 ปี
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ในสังคมไม่ว่าจะเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตย สิ่งสำคัญที่สุดคือความมีสัจจะ ถ้ารัฐบาลไม่มีสัจจะ จะนำไปสู่ความล้มเหลวและขาดความน่าเชื่อถือ สำคัญอย่างยิ่งคือสิ่งที่รัฐบาลไปพัฒนา เอาทรัพยากรซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปจากชาวบ้านในท้องถิ่น ที่ จะนะมีทั้งทะเล และพื้นที่ที่เป็นพหุวัฒนธรรมที่มีคุณค่า จึงขอฝากรัฐบาลให้ทบทวนและนำเรื่องนี้มาพูดกันอย่างเปิดเผย แล้วให้ทุกคนมีส่วนร่วม เพราะการมีส่วนร่วมเท่านั้นที่จะสามารถทำให้ทุกคนยอมรับ
@@ ย้อนอดีตข้อเรียกร้อง 14 ธ.ค.63
ย้อนกลับไปเมื่อวันจันทร์ที่ 14 ธ.ค.63 ซึ่งขณะนั้นมีการชุมนุมของ "เครือขายจะนะรักษ์ถิ่น" ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเช่นกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ในขณะนั้น) พร้อมด้วย นายประสาน หวังรัตนปราณี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำรองนายกรัฐมนตรี (ตำแหน่งในขณะนั้น) เดินทางไปเจรจากับแกนนำเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และสามารถบรรลุข้อตกลงและทำบันทึกข้อตกลงเป็นเอกสารร่วมกัน ลงนามโดย ร.อ.ธรรมนัส, นายประสาน และแกนนำเครือข่ายฯ ได้แก่ นายรุ่งเรือง ระหมันยะ, นางจันทิมา ชัยบุตรดี และนายประยงค์ ดอกลำไย
เนื้อหาในเอกสารบันทึกข้อตกลง ระบุว่า ผลการเจรจาระหว่างกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น กับผู้แทนรัฐบาล มีข้อยุติร่วมกันดังนี้
1.รัฐบาลต้องมีมติยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี (มติ ครม.) ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา ทุกฉบับ รวมทั้งยุติการดำเนินโครงการ "เมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" ทั้งหมด ทั้งการแก้ไขผังเมือง และการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทั้ง EIA หรือ EHIA ในทันที
1.1 คณะกรรมการผังเมืองและกรมโยธาธิการผังเมือง ต้องยกเลิกกระบวนการแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา พ.ศ 2559 โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2562
1.2 หน่วยงานรัฐและเอกชนเจ้าของโครงการภายใต้โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ต้องไม่ดำเนินกระบวนการใดๆ ที่เกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา รายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA กระบวนการศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA หรือการดำเนินการอื่นใด จนกว่ากระบวนการตามข้อ 2 จะแล้วเสร็จ
2. รัฐบาลต้องจัดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) จังหวัดสงขลา โดยมีหลักการประเมิน คือ ประเมินบนฐานทรัพยากรของพื้นฐานศักยภาพของระบบนิเวศ การประเมินจะต้องยึดถือหลักการว่าจะพัฒนาพื้นที่สงขลาบนพื้นฐานศักยภาพของทรัพยากรอย่างไร การประเมินยุทธศาสตร์เพื่อออกแบบการพัฒนาต้องคำนึงถึงการเติบโตของคนท้องถิ่นเป็นหลัก ส่วนกลุ่มทุนภายนอกเป็นปัจจัยเสริมเพื่อเข้ามาต่อยอดศักยภาพของพื้นที่ และการประเมินยุทธศาสตร์ให้ยึดหลักการกระจายรายได้ของประชาชน ความเป็นธรรมของคน และระบบนิเวศมีการเติบโตอย่างยั่งยืน อันเป็นการสร้างขุดข้อมูลทางวิชาการที่มีคุณภาพประกอบกับตัดสินใจทางเลือกการพัฒนาจังหวัดสงขลาที่เหมาะสม โดยกระบวนการจะต้อง
2.1 ตั้งคณะทำงานซึ่งมีสัดส่วนของภาคประชาชน และนักวิชาการที่ภาคประชาชนเสนอ ในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อวางกรอบการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ร่วมกัน โดยกระบวนการทำงานให้ดำเนินการประเมินศักยภาพทรัพยากรและพัฒนาต่อยอดจากทรัพยากรท้องถิ่น และในการศึกษานี้ต้องไม่มี ศอ.บต. เป็นผู้มีส่วนในการดำเนินการจัดทำ
2.2 การคัดเลือกผู้ที่จะมาดำเนินการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ ต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย และให้เป็นไปตามหลักการข้อที่ 2
2.3 ในกระบวนการศึกษา คณะอนุกรรมการกำกับติดตามและแก้ไขปัญหาโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ต้องมีการระบุหน้าที่ในการกำกับติดตาม โดยมีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลการศึกษา ตรวจสอบและให้ข้อเสนอแนะต่อผู้ดำเนินการศึกษาได้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการข้อที่ 2
2.4 กระบวนการตรวจสอบและการให้ความเห็นชอบต่อรายงานการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและนักวิชาการที่ประชาชนคัดเลือกด้วย โดยให้เป็นไปตามหลักการข้อที่ 2
@@ เปิดมติ ครม. 3 ฉบับ เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นจี้ยกเลิก
สำหรับมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ซึ่งเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเรียกร้องให้ยกเลิกนั้น มีอยู่ 3 ฉบับด้วยกัน ได้แก่
1. มติ ครม.เมื่อวันที่ 7 พ.ค.62 "เห็นชอบในหลักการ" การขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ไปสู่ เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา "เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" และการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารเขตพื้นที่พัฒนาเฉพาะกิจเมืองต้นแบบฯ อ.จะนะ จ.สงขลา ตามที่ ศอ.บต.เสนอ พร้อมให้ ศอ.บต.กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในขั้นตอนต่อไปให้เป็นไปตามกฎหมาย
2. มติ ครม.เมื่อวันที่ 21 ม.ค.63 "รับทราบ" การประกาศกำหนดให้ อ.จะนะ จ.สงขลา ในฐานะเมืองต้นแบบที่ 4 "เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ และ "เห็นชอบ" ในหลักการของแผนเร่งด่วนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับแผนงานดังกล่าว ไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
3. มติ ครม.เมื่อวันที่ 18 ส.ค.63 "รับทราบ" ผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต. ครั้งที่ 1/2563 จำนวน 5 เรื่อง หนึ่งในนั้นเป็นการ "รับทราบ" ผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการขับเคลื่อนโครงการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 11 ก.ค.2563 ที่โรงเรียนจะนะวิทยา ซึ่งไม่มีการเปิดพื้นที่ให้กลุ่มผู้คัดค้านโครงการได้มีส่วนร่วมในเวทีด้วย
และจากมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2563 ได้นำไปสู่การแก้ไขผังเมือง โดยมติที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมในเขตจังหวัดสงขลา วันที่ 28 ก.ย.63 ให้เปลี่ยนแปลงผังเมืองอำเภอจะนะรวม 3 ตำบล คือ ต.นาทับ ต.สะกอม และ ต.ตลิ่งชัน จาก "สีเขียว" เป็น "สีม่วง" เพื่อเปิดพื้นที่ให้ก่อสร้างโรงงานและนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งในบันทึกข้อตกลงที่เจรจากับรัฐบาล ทางเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นก็เรียกร้องให้ยกเลิกมติการเปลี่ยนแปลงผังเมืองรวมด้วยเช่นกัน
-----------------
อ่านประกอบ : ครม.ไฟเขียวลุย "ผังเมือง-บีโอไอ" นิคมอุตฯจะนะ - สั่ง อบจ.สงขลาศึกษาระบบขนส่ง
อ่านประกอบ : มติเอกฉันท์เปลี่ยนผังเมือง "จะนะ" รับนิคมฯ – ชาวบ้านฮือบุกศาลากลางไร้ผล
-----------------
ขอบคุณภาพข่าวจากเฟซบุ๊ก Somboon Khamhang