"...ถ้าเจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพบว่าป้ายโฆษณา LED สร้างเหตุเดือดร้อนรำคาญ เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจระงับยับยั้งเหตุเดือดร้อนนำคาญได้เลยอยู่แล้ว โดยไม่เกี่ยวกับการดำเนินคดีของตำรวจ เปรียบเทียบได้กับที่ต้องสั่งให้โรงงานที่กำลังปล่อยนำเสีย หยุดเดินเครื่องจักรทันที เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนก่อน..."
ป้ายโฆษณา ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 3 เมตร รวมมีขนาด 256 ตารางเมตร เป็นป้ายไดโอดส่องแสง หรือ LED ขนาดยักษ์ ถูกติดตั้งอยู่บนอาคารพาณิชย์ต้นซอยทองหล่อ กินเนื้อที่รวมถึง 6 คูหา ฉายโฆษณาวนเวียนตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน ดูเหมือนจะเป็นธุรกิจใหม่ที่มาพร้อมเทคโนโลยีใหม่ ๆ และทำรายได้มหาศาล
แต่กลับถูกร้องเรียนจากผู้ที่พักอาศัยอยู่ในอาคารฝั่งตรงข้ามว่า “แสงไฟ” จากป้ายโฆษณา ส่องเข้าไปในบ้านของเขา ไปจนถึงห้องนอน จนไม่สามารถนอนหลับได้ ปวดศรีษะ ส่งผลต่อสุขภาพ
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ถูกเปิดเผยขึ้น
เมื่อสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับแจ้งข้อมูลว่า ในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 ครอบครัวหนึ่งซึ่งพักอาศัยอยู่ที่ย่านทองหล่อ ได้ทำหนังสือร้องเรียนส่งถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตวัฒนา ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2564 เพื่อขอให้ตรวจสอบการก่อสร้างป้ายโฆษณา LED ที่ข้างโรงแรม NIKKO ซ.สุขุมวิท 55 (ทองหล่อ) โดยมีผู้ร่วมลงชื่อร้องเรียน 15 คน
จากการสอบถามหนึ่งในผู้ร้องเรียน ได้ข้อมูลว่า พื้นที่ด้านข้างอาคารที่ปัจจุบันเป็นป้ายโฆษณาแบบ LED นี้ อยู่ตรงข้ามกับอาคารพาณืชย์ที่เป็นบ้านพักอาศัยประมาณ 10 คูหาของกลุ่มผู้ร้อง จุดที่ติดตั้งป้ายเดิมทีติดป้ายโฆษณาแบบภาพนิ่งธรรมดา มีขนาดเล็กกว่านี้มาก การใช้แสงไฟก็เพียงแค่การส่องแสงเข้าไปที่ป้ายเพื่อเน้นข้อความในภาพโฆษณาเท่านั้น
แต่เมื่อประมาณเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา สังเกตเห็นว่า มีคนงานเข้ามาดัดแปลงจุดที่เคยติดตั้งป้าภาพนิ่งเดิม โดยมีผ้าคลุมไว้ ต่อมาอีกประมาณ 3 เดือน ก็เปิดผ้าคลุมออกมากลายเป็น ป้ายโฆษณาระบบ LED ขนาดยักษ์ และเมื่อเปิดใช้งาน ก็มีแสงจากป้ายส่องเข้ามาที่บ้านของผู้ร้องทุก ๆ วัน โดยเฉพาะบริเวณชั้น 3 และชั้น 4 ซึ่งเป็นห้องนอนของพ่อและแม่ที่อายุ 89 และ 86 ปี แล้ว เพราะเป็นจุดที่ตรงกับความสูงของป้ายพอดี
หากพิจารณาจากคำบอกเล่าของผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าว น่าสังเกตว่า การก่อสร้างดัดแปลงอาคารโครงเหล็กที่เปลี่ยนรูปแบบของป้าย ใช้เวลาก่อสร้างราว 2-3 เดือน และทำเป็นป้ายขนาดใหญ่กินพื้นที่อาคารถึง 6 คูหา ทำไมจึงไม่มีเจ้าพนักงานท้องถิ่นสังเกตเห็นเลย
ต่อมา วันที่ 24 สิงหาคม 2564 สำนักงานเขตวัฒนา มีเอกสารแจ้งกลับมายังครอบครัวผู้ร้องเรียน มีเนื้อหาที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ผู้ดำเนินการติดตั้งป้ายดังกล่าว ได้ทำการดัดแปลงโครงอาคารเหล็กโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ขัดต่อกฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย ตามกฎหมายควบคุมอาคาร ปี 2558
เมื่อการตรวจสอบจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น คือ สำนักงานเขตวัฒนา มีผลยืนยันว่า การก่อสร้างทำขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาต ทางผู้ร้องเรียนจึงคิดว่า ป้ายจะต้องถูกรื้อถอนออกไป แต่กลับได้รับการประสานจากบริษัทเอกชนเจ้าของป้าย เพื่อเจรจาเสนอรูปแบบการลดผลกระทบจากแสงไฟ
สำนักข่าวอิศรา ยังตรวจสอบพบเอกสารชิ้นสำคัญ ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 เป็นคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้แก้ไขเหตุเดือดร้อนรำคาญ จากผู้อำนวยการเขตวัฒนา ส่งถึงกรรมการผู้จัดการ บริษัทเอกชนรายใหญ่ ซึ่งเป็นเจ้าของป้ายโฆษณา LED
เอกสารแจ้งผลการตรวจสอบข้อร้องเรียน ระบุว่า แสงสว่างจากป้ายดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพตา เช่น ประสาทตา หรือส่งผลต่อการดำรงชีวิตประจำวันของผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง จึงมีคำสั่งให้ บริษัทฯ หามาตรการที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้แสงสะท้อนของป้ายโฆษณาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสุขภาพหรือการดำรงชีวิตประจำวันของผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง โดยจะต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 7 วัน หรือ ภายในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564
แต่ปรากฎว่า ณ วันที่ 4 ธันวาคม 2564 หรือ ผ่านมาอีก 8 วัน นับจากกำหนดเดดไลน์แล้ว ป้ายโฆษณา LED ขนาดยักษ์ที่ย่านทองหล่อ ก็ยังคงฉายโฆษณาอยู่ทุกวัน มีรายได้จากการรับลงโฆษณาที่ฉายวนทั้งวันเป็นเงินมหาศาล
โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตวัฒนา ระบุว่า ผู้ประกอบการที่ไม่ยอมรื้อถอน ต้องเสียค่าปรับเพียงวันละ 1 หมื่นบาท
ผู้ร้องเรียนให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ช่วงที่เปิดใช้ป้าย LED ใหม่ๆ จะเริ่มเปิดโฆษณาตั้งแต่ 8.00น. ถึง 20.00น.เท่านั้น แต่พอเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ จากปัญหาโควิด-19 ทำให้กิจการในย่านทองหล่อกลับมาคึกคักขึ้น ก็ขยับเวลาปิดป้ายออกไปเป็น 22.00น. และล่าสุดแม้จะมีคำสั่งจากสำนักงานเขตให้แก้ไขผลกระทบ กลับพบว่า ป้ายโฆษณา LED ถูกใช้งานนานขึ้นไปอีก ถูกเปิดใช้ตั้ง 6.00น. และขยายเวลาปิดไฟไปถึง 24.00น. จึงขอถามเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า ทำไมจึงไม่ดำเนินการรื้อถอน ทั้งที่ฝ่าฝืนคำสั่งของทางเขตวัฒนาอย่างชัดเจน และการยอมเสียค่าปรับแค่ 1 หมื่นบาทต่อวัน ก็เป็นเงินเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับรายได้จากการลงโฆษณา
“บริษัทเขามาเจรจากับครอบครัวเรา ออกแบบฉากกั้นแสงมาให้เราเลือก บอกว่ามีงบประมาณก้อนหนึ่ง พร้อมจะมาติดตั้งให้ที่อาคารฝั่งเราเพื่อลดผลกระทบ แต่เราก็คิดว่า ถ้าติดฉากกั้นมันก็ทำให้บ้านเรามืด และที่สำคัญคือ เราไม่แน่ใจว่าฉากที่เขาทำให้จะลดผลกระทบได้จริงหรือเปล่า เพราะตัวเราและพ่อแม่เราซึ่งอายุมากแล้ว ทุกคนมีอาการปวดหัวรุนแรงกันหมด เราเลยไปหาข้อมูลพบข้อสันนิษฐานว่า ที่แผงไฟ LED อาจส่งคลื่นสนามแม่เหล็กออกมาด้วย ถ้าเป็นแบบนั้นการทำฉากกั้นก็ไม่ได้ช่วยอะไร เราเลยลองขอไปว่า ขอฉากกั้นที่เป็นเหล็ก ที่มันสะท้อนคลื่นสนามแม่เหล็กได้ แต่เขาก็ไม่รับข้อเสนอ โดยบอกว่า มันเกินไปจากงบประมาณที่ตั้งไว้” หนึ่งในผู้ร้องเรียน เล่าถึงช่วงเวลาที่บริษัทเจ้าของป้ายเข้ามาเจรจา
"จากนั้น กลุ่มผู้ร้องเรียนจึงเดินหน้าติดตามเรื่องจากสำนักงานเขตวัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะสิ่งที่พวกเขาต้องการต่อจากนี้ มีเพียงการขอให้รื้อถอนป้ายที่ติดตั้งโดยผิดกฎหมายป้ายนี้ออกไป เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้"
“เราไม่ต้องการการก่อสร้างอะไรมาบรรเทาผลกระทบ เราแค่ต้องการชีวิตปกติของเราคืนมา” ผู้ร้องเรียนระบุ (ดูคลิปประกอบ)
ด้านนายชำนัญ ศิริรักษ์ ทนายความด้านคดีสิ่งแวดล้อม แสดงความเห็นว่า ถ้าเจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพบว่าป้ายโฆษณา LED สร้างเหตุเดือดร้อนรำคาญ เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจระงับยับยั้งเหตุเดือดร้อนนำคาญได้เลยอยู่แล้ว โดยไม่เกี่ยวกับการดำเนินคดีของตำรวจ เปรียบเทียบได้กับที่ต้องสั่งให้โรงงานที่กำลังปล่อยนำเสีย หยุดเดินเครื่องจักรทันที เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนก่อน ดังนั้น มลภาวะจากการถูกรุกล้ำด้วยแสงไฟ ก็เป็นเช่นเดียวกัน
"จึงตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดเจ้าพนักงานท้องถิ่น ไม่ระงับการฉายโฆษณาไปก่อนพร้อมสั่งการให้รื้อถอน รวมทั้งยังสงสัยว่า เมื่อพ้นกำหนดเส้นตาย 7 วันไปแล้ว ทำไมยังไม่มีกระบวนการบังคับใช้กฎหมายนอกจากใช้โทษปรับเท่านั้น" ทนายความด้านคดีสิ่งแวดล้อมระบุ