“…มาตรการวัคซีน เป็นมาตรการสำคัญมากในการต่อสู้กับโควิด เพราะจะช่วยลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิต และหากพิจารณาข้อมูลผู้เสียชีวิตพี่พบ จะเห็นว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ยังฉีดวัคซีนไม่ครบ 2 เข็มประมาณ 90%…”
การระบาดของโควิดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือน เม.ย.2564 เดินหน้าต่อเนื่องมาถึง 8 เดือน และได้มีมาตรการผ่อนคลายอยู่หลายครั้ง แต่ที่สำคัญคือ ‘การเปิดประเทศ’ เมื่อวันที่ 1 พ.ย. เป็นต้นมา ท่ามกลางความกังวลว่าโควิดจะกลับมาระบาดหนักซ้ำอีกครั้งหรือไม่
วันนี้ผ่านมาแล้ว 1 เดือนเต็ม หลังประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยว สถิติการระบาดของโควิดมีแนวโน้มดีขึ้น ทั้งตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต
สำนักข่าวอิศราได้วิเคราะห์ข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) โดยการเปรียบเทียบสถิติการระบาดของโควิดตั้งแต่ 1 ต.ค.-30 พ.ย.2564 หรือก่อนการเปิดประเทศ 1 เดือน และหลังเปิดประเทศ 1 เดือน มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
-
ผู้ติดเชื้อ เดือน พ.ย.2564 มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่สะสม 194,768 ราย เฉลี่ยวันละ 6,965 ราย ลดลงจากเดือน ต.ค.2564 มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่สะสม 308,549 ราย เฉลี่ยวันละ 9,953 ราย
-
ผู้ติดเชื้อโดยการทดสอบ ATK เดือน พ.ย.2564 มียอดผู้ติดเชื้อรายเข้าข่ายสะสม 66,857 ราย เฉลี่ยวันละ 2,388 ราย ลดลงจากเดือน ต.ค.2564 มียอดผู้ติดเชื้อเข้าข่ายสะสม 109,911 ราย เฉลี่ยวันละ 3,546 ราย
-
ผู้ป่วยปอดอักเสบ เดือน พ.ย.2564 มียอดผู้ป่วยอาการหนักสะสม 54,988 ราย เฉลี่ยวันละ 1,964 ราย ลดลงจากเดือน ต.ค.2564 มียอดผู้ป่วยอาการหนักสะสม 85,342 ราย เฉลี่ยวันละ 2,753 ราย
-
ผู้เสียชีวิต เดือน พ.ย.2564 มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 1,566 ราย เฉลี่ยวันละ 80 ราย ลดลงจากเดือน ต.ค.2564 มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 2,477 ราย เฉลี่ยวันละ 56 ราย
-
นักท่องเที่ยว เดือน พ.ย.2564 มียอดเดินทางสะสม 133,061 ราย และมียอดตรวจพบเชื้อโควิดสะสม 171 ราย คิดเป็นอัตราการติดเชื้อ 0.13%
โดย 10 ประเทศต้นทางที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทย 10 อันดับตลอดเดือน มีดังนี้
-
สหรัฐอเมริกา เดินทาง 14,730 ราย ติดเชื้อ 21 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.14%
-
เยอรมนี เดินทาง 12,099 ราย ติดเชื้อ 13 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.11%
-
เนเธอร์แลนด์ เดินทาง 8,478 ราย ติดเชื้อ 7 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.08%
-
สหราชอาณาจักร เดินทาง 6,701 ราย ติดเชื้อ 21 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.31%
-
รัสเซีย เดินทาง 5,307 ราย ติดเชื้อ 20 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.38%
-
ญี่ปุ่น เดินทาง 5,146 ราย ติดเชื้อ 3 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.06%
-
เกาหลีใต้ เดินทาง 5,003 ราย ติดเชื้อ 2 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.04%
-
ฝรั่งเศส เดินทาง 4,741 ราย ติดเชื้อ 7 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.15%
-
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เดินทาง 4,338 ราย ติดเชื้อ 11 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.25%
-
อิสราเอล เดินทาง 4,035 ราย ติดเชื้อ 2 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.05%
ทั้งนี้ฉีดวัคซีนสะสมเดือน พ.ย.2564 จำนวน 17 ล้านโดส เพิ่มขึ้นจาก 75 ล้านโดสในเดือน ต.ค.2564 เป็น 92 ล้านโดส เป็นเข็มแรกครอบคลุม 66% แล้ว โดยมีสูตรวัคซีนที่ใช้ คือ สูตรซิโนฟาร์ม 2 เข็ม, สูตรไฟเซอร์ 2 เข็ม, สูตรโมเดอร์นา 2 เข็ม, สูตรซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า, สูตรซิโนแวคตามด้วยไฟเซอร์, สูตรซิโนแวคตามด้วยโมเดอร์นา, สูตรแอสตร้าเซนเนก้าตามด้วยไฟเซอร์ และสูตรแอสตร้าตามด้วยโมเดอร์นา
นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา ว่า ก่อนหน้านี้เราเคยคาดการณ์การระบาดของโควิดหลังเปิดประเทศออกมาเป็น 3 ฉากทัศน์ โดยคาดการณ์ไว้หนักที่สุด ว่า หากการ์ดตกมาก ไม่คำนึงเรื่องความปลอดภัยและอนามัยส่วนบุคคล และฉีดวัคซีนน้อยกว่าเป้าหมาย การระบาดจะกลับไปเท่ากับก่อนล็อกดาวน์และอาจมียอดติดเชื้อรายวันสูงสุดเกือบ 40,000 ราย ในเดือน ม.ค.2565
แต่ปรากฏว่าสถานการณ์การระบาดในภาพรวมขณะนี้ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ยอดผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต และผู้ป่วยอาการหนักลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคลและมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
“แม้ว่าเราจะเจอยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูงบ้างในบางจุด แต่ในภาพรวมถือว่าเราทำได้ดี ตรงนี้มีคนห่วงใยเหมือนกันว่าตัวเลขที่ลดลงเพราะไม่ได้รวมยอดตรวจ ATK หรือเปล่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยอด ATK มีรายงานอยู่ทุกวัน จะรวมก็ได้หรือไม่รวมก็ได้ เราอิงตามนิยามและแนวโน้ม ที่สำคัญคือผู้ที่ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตลดลงด้วย ถือว่าทุกอย่างเป็นแนวโน้มที่บ่งชี้สอดคล้องกัน” นพ.เฉวตสรร กล่าว
เกิดคลัสเตอร์งานบุญ
ในช่วงที่การระบาดในภาพลดลง กระทรวงสาธารณสุขยังคงเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เราจึงพยายามหาจังหวัดที่มียอดติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นสวนทางกับภาพรวมของประเทศ คือ มียอดผู้ติดเชื้อรายวัยเฉลี่ยเกินกว่า 100 ราย หรือเฉลี่ย 80 รายต่อวัน แต่มียอดตรวจหาเชื้อ ATK เกิน 5% เอาขึ้นมาเป็นเกณฑ์ เราจึงได้เห็นถึงคลัสเตอร์ต่างๆ ซึ่งตอนนี้เจอในรูปแบบของ งานบุญ เช่น งานทอดกฐิน งานศพ เป็นต้น
“ตอนนี้ประชาชนอาจใช้ชีวิตตามปกติ อาจไปเจอผู้คน และกิจกรรมเหล่านั้นบางทีก็มีการแจกอาหารรับประทานในงาน มีการเปิดหน้ากากอนามัย มีการพูดคุย ก็เป็นส่วนที่ทำให้เกิดหย่อมเล็กหย่อมน้อย แต่ในภาพรวมถือว่าน่าพอใจ และจังหวัดที่เคยสูงอย่างนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ยะลา ปัตตานี สงขลา เชียงใหม่ และเชียงรายก่อนหน้านี้ ก็มีแนวโน้มที่ค่อยๆลดลงต่อเนื่อง และความตึงตัวในการรองรับผู้ป่วย ช่วงแรกเหมือนเตียงจะเต็ม แต่พอผ่านการจัดการมาสักระยะ ก็สามารถดูแลได้ เตียงมีเพียงพอ” นพ.เฉวตสรร กล่าว
ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับวัคซีน 90%
‘มาตรการวัคซีน’ เป็นมาตรการสำคัญมากในการต่อสู้กับโควิด เพราะจะช่วยลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิต และหากพิจารณาข้อมูลผู้เสียชีวิตพี่พบ นพ.เฉวตสรรร กล่าวว่า จะเห็นว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ยังฉีดวัคซีนไม่ครบ 2 เข็มประมาณ 90%
ส่วนผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคโควิดสูง เมื่อพิจารณาการเสียชีวิตก็พบเช่นเดียวกันว่าส่วนใหญ่ยังรีรอหรือยังไม่ได้ฉีดวัคซีน
“การที่บุคคลในครอบครัวของผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยเรื้อรังเข้ารับวัคซีนทั้งหมด เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิดในผู้สูงอายุ อาจช่วยป้องกันโควิดได้ระดับหนึ่ง แต่ก็อยากให้เจ้าตัวฉีด เพราะส่วนใหญ่ทุกกรณีไม่มีข้อห้ามอะไร เว้นแต่ไปปรึกษาแพทย์อย่างชัดเจน และแพทย์แนะนำว่ายังไม่ให้ฉีด ถ้ายังอยู่บ้านได้ ไม่ได้เข้าพักในโรงพยาบาล ส่วนมากเกือบทั้งหมดสามารถฉีดได้ อย่างไรก็ตามการให้บุคคลแวดล้อมฉีดได้หมดก็ดีกว่าบุคคลรอบข้างยังไม่ได้ฉีดทั้งหมด” นพ.เฉวตสรร กล่าว
อย่างไรก็ตามในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนโควิด ก็อาจมีปัจจัยเรื่องโรคหรืออื่นๆ ที่ทำให้บางคนเสียชีวิตได้ด้วย ไม่ได้แปลว่าฉีดวัคซีนแล้วจะไม่เสียชีวิตเลย แต่วัคซีนจะช่วยลดความเสี่ยงได้
นอกจากนี้การที่เรามีวัคซีนเข้ามาในแต่ละช่วง โดยที่ไม่ได้รอวัคซีนบางยี่ห้อในช่วงปลายปี ทำให้เราสามารถฉีดวัคซีนครอบคลุมได้มากถึง 66% และขณะนี้ที่มีวัคซีนให้เลือกฉีดหลายยี่ห้อเข้ามาเติมในส่วนที่ขาด หรือที่เรียกว่า “เข้ามาเป็นเข็มกระตุ้น”
วัคซีนทุกชนิดป้องกันป่วยหนัก-เสียชีวิตได้ดี
หากถามว่าวัคซีนใดดีกว่ากันนั้น นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า เราอิงตามผู้เชี่ยวชาญระดับโลกและผลการศึกษาขององค์การอนามัยโลกที่พบประสิทธิภาพ 95% หรือ 98% จริงๆแล้วทุกตัวไม่ต่างกัน คือ ป้องกันการติดเชื้อที่อาการน้อยๆ แต่เมื่อเจอสายพันธุ์ใหม่ประสิทธิภาพจะลดลง แต่เรื่องการป้องกันการเสียชีวิตยังทำได้ดีทุกตัว
“ถ้าดูที่การป้องกันการเสียชีวิตและการป่วยหนัก ถือว่าวัคซีนทุกตัวทำได้ดีเท่ากัน แต่หลายคนยังรู้สึกว่าเมื่อเห็นตัวเลขสูงๆนั้นดีกว่า แต่ตอนนี้มีข้อพิสูจน์แล้วว่าต่อให้ฉีดครบ 2 เข็ม และกระตุ้นเข็มที่ 3 แล้ว ก็ยังสามารถติดเชื้อได้อยู่ แต่ข้อดีคือจะไม่มีอาการหนักจนถึงขั้นเสียชีวิต” นพ.เฉวตสรร กล่าว
นพ.เฉวตสรร นามวาท ผอ.กองควบคุมและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค
สธ.เตรียม 3 แผนรับมือ'โอไมครอน'
สำหรับการเจอสายพันธุ์โอไมครอนในช่วงปลายเดือน พ.ย. กระทรวงสาธารณสุขมีการเตรียมการแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
การป้องกัน หากเป็นประเทศพื้นที่เสี่ยง คือ 8 ประเทศในแอฟริกาใต้ เราได้ประกาศห้ามผู้ที่เดินทางมาจากประเทศต้นทางดังกล่าวเข้ามาในประเทศตั้งแต่ 1 ธ.ค.2564 ส่วนบางกลุ่มที่เข้ามาแล้ว ถ้าใครผ่านการกักกันตัวแล้ว 14 วัน และไม่พบติดเชื้อ จะไม่เป็นอะไร
แต่ใครที่เข้ามาผ่าน Test and Go และแซนด์บ็อกซ์ จะต้องมีการส่งผลตรวจครั้งที่ 2 ด้วย ATK อยู่แล้ว หลังจากที่เดินทางไปพื้นที่ต่างๆ ทั้งนี้สำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ 10 วัน กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งข้อความผ่านแอผพลิเคชันและอีเมลไปแล้วว่า ให้รายงานตัวและไปตรวจ RT-PCR ฟรีที่โรงพยาบาล จากนั้นจะขอให้กักตัวไม่ให้ไปสัมผัสคนอื่นจนครบ 14 วัน
การเฝ้าระวังสายพันธุ์ เราจะมีการกระจายสุ่มตรวจในทุกๆจังหวัด ที่ผ่านมาเป็นเดลต้าเกือบ 100% ตอนนี้ยังไม่พบเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ ‘โอไมครอน’ แต่หากพบใครที่มาจากประเทศต้นทางในแอฟริกาใต้ติดเชื้อนี้ จะให้เข้ารับการรักษาตามหลักเกณฑ์
ทั้งนี้ยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมในการตรวจหาสายพันธุ์โดยละเอียดได้ เพราะปัจจุบันเราพบนักท่องเที่ยวติดเชื้อรายใหม่วันละไม่เกิน 10 ราย
การสื่อสารกับประชาชน กระทรวงสาธารณสุขยังเน้นย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคลให้เต็มที่ เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง และการล้างมือ
“ถึงจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา แต่เราก็ไม่ต้องกังวลมากไป เพราะเราคงไม่ได้เข้าไปนั่งคลุกลีอยู่กับเขาตลอด การให้บริการต่างๆ มีมาตรการ COVID Free Setting รองรับอยู่ และทุกคนมีการใส่หน้ากากอนามัย นอกจากนี้ยังให้ผู้ประกอบการโรงแรมและร้านอาหารช่วยตรวจสอบว่า หากพบผู้เดินทางมาจาก 8 ประเทศในแอฟริกาใต้ให้ช่วยแจ้งให้เขาไปเข้ารับการตรวจหาเชื้อด้วย” นพ.เฉวตสรร กล่าวทิ้งท้าย
ไทยมีรายได้จาก นทท. 6.3 พันล้าน
สำหรับรายได้จากนักท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยสถิติ พบว่า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยว ต่อคนต่อทริป จะอยู่ที่ 61,894 บาท หากรับรวมตั้งแต่วันที่ 1-30 พ.ย.2564 จะอยู่ที่ 6,300 ล้านบาท
ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา แม้จะมีการเปิดประเทศแต่สถานการณ์ภายในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากคนไทยทุกคนร่วมมือกัน อย่างไรก็ตามช่วงปลายเดือนนี้ จะพบเชื้อโควิดโอไมครอน หากทุกคนยังรวมมือกัน เราอาจก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปได้เช่นเดียวกัน
ภาพจาก: โพสต์ทูเดย์