“..ไม่ควรที่จะปิดหัวลำโพง เพราะเป็นจุดศูนย์กลาง ทั้งปากคลอง คลองถม การต่อรถจากที่นี่ ค่ารถก็ไม่กี่บาท พอแม่ค้าซื้อของเสร็จ ก็มานั่งรถไฟกลับ ซึ่งราคาเพียงไม่กี่บาท แต่ถ้าเปลี่ยนไปบางซื่อ โดยอ้างว่าจะสะดวก เพราะมีรถไฟฟ้าต่อไปได้หมด อยากถาม ถ้ามาจากต่างจังหวัด มีข้าว 2 กระสอบ มีปลาร้า ปลาเค็มมาด้วย จะขึ้นรถไฟฟ้าได้ไหม?..”
‘สถานีรถไฟกรุงเทพ’ หรือที่ทุกคนเรียกกันติดปากว่า ‘หัวลำโพง’ เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อปี 2459 รวมระยะเวลาที่เปิดให้บริการอยู่คู่กับคนไทยยาวนานถึง 105 ปี ตั้งแต่เริ่มวางรากฐานเส้นทางคมนาคมระบบรางในสยามประเทศ สมัยรัชกาลที่ 5
นอกจาก ‘หัวลำโพง’ จะเป็นสถานีต้นทางและปลายทางสำหรับการเดินทางระบบราง ยังเป็นเสมือนจุดศูนย์รวม เป็นแลนด์มาร์กที่อยู่คู่กับกรุงเทพฯ มาทุกยุคทุกสมัย ด้วยรูปแบบการก่อสร้าง เป็นโดมสไตล์อิตาเลียนผสมผสานกับศิลปะยุคเรเนสซองส์ และมีนาฬิกาบอกเวลาที่มีอายุเก่าแก่ติดตั้งไว้ที่กึ่งกลางยอดโดมสถานี ภาพคุ้นตาที่เป็นเอกลักษณ์เก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง
แต่ทั้งนี้ก็ถึงเวลาที่จะต้องนับถอยหลังเพื่อปิดฉากอำลา ‘หัวลำโพง’ สู่การเปลี่ยนแปลงพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้ และแหล่งเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ บนเนื้อที่ 121 ไร่ ในการเป็นศูนย์กลางอนุรักษ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงย่านเมืองเก่าและย่านการค้าใหม่
หลังจากที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนยันว่า จะปรับเปลี่ยนย้ายสถานีต้นทางและปลายทางเป็น ‘สถานีกลางบางซื่อ’ แทน ‘หัวลำโพง’ ภายในสิ้นปี 2564 เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรให้เป็นรูปธรรม แก้จุดตัดรางรถไฟกับถนน และนำพื้นที่ย่านหัวลำโพงทั้งหมดมาพัฒนาปรับโฉมใหม่ ภายใต้แนวคิด ‘ยังคงความเป็นอาคารอนุรักษ์และผสมผสาน’ มีการจัดสรรพื้นที่ทั้งแนวราบและแนวสูงใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างรายได้ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อย่างยั่งยืนในอนาคต
“หากยังไม่กล้าทำให้ชัดเจน มัวแต่กังวลคนใช้บริการเยอะ ไม่หยุดเสียที ทุกอย่างก็เดินต่อไม่ได้ ผมกล้ายอมรับถูกวิพากษณ์วิจารณ์ เพราะสุดท้ายคนส่วนใหญ่จะได้ประโยชน์มหาศาล ดังนั้นต้องกล้าที่จะทำ” นายศักดิ์สยามกล่าว
ล่าสุดมีรายงานว่า รฟท. จะหยุดให้บริการเดินรถไฟเข้าสถานีกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) โดยจะให้บริการสถานีสุดท้ายที่สถานีกลางบางซื่อ ส่งผลให้ขบวนรถไฟชานเมืองและรถไฟทางไกล จำนวน 155 ขบวน ในวันที่ 23 ธ.ค. 2564 ปรับลดการเดินรถเข้าสถานีหัวลำโพงเหลือ 22 ขบวนต่อวัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับผู้คนในบริเวณโดยรอบ ผู้ประกอบการร้านค้า คนขับรถโดยสาร รวมถึงผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟถึงความทรงจำและข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการปิดให้บริการหัวลำโพง
นายธนา ปาระเคน คนขับรถสามล้อรับจ้าง เล่าว่า ตนขับรถสามล้อรับส่งผู้โดยสารที่สถานีหัวลำโพงมามากกว่า 10 ปีแล้ว ตั้งแค่เริ่มทำอาชีพนี้แรก โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าแม่ค้าจากต่างจังหวัดที่มาซื้อสินค้าไปขายต่อหรือนำของมาจำหน่าย นักเรียน คนทำงานที่มาจากชานเมือง รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเมื่อก่อนคนสัญจรเดินทางมาที่หัวลำโพงเยอะมาก รายได้ดีทุกวัน แต่ทุกวันนี้รายได้ลดลงเยอะมากตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาด รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจ และปัจจัยอื่นๆ ที่มากระทบอีก
นายธนา กล่าวถึงความรู้สึกเมื่อทราบข่าวว่าหัวลำโพงจะปิดลง ว่า หัวลำโพง เป็นมากกว่าสถานีรถไฟ เป็นที่พบปะผู้คน ตนอยู่กับที่แห่งนี้มานาน และรู้สึกผูกพันมาก มีเพื่อนๆ คนขับรถสามล้อที่รู้จักและสนิทกันทั้งหมด ถ้าปิดจริง ตนจะได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะไม่รู้ว่าจะไปขับรถรับผู้โดยสารที่ไหน ถ้าจะให้ย้ายไปจอดรับผู้โดยสารที่สถานีกลางบางซื่อก็คงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากระยะที่ไกล
นอกจากนี้ พ่อค้าแม่ค้าที่จะต้องเดินทางมาซื้อของก็จะลำบากด้วยเช่นกัน เพราะหัวลำโพงเป็นจุดศูนย์กลางใกล้ย่านแหล่งการค้า เช่น สำเพ็ง เยาวราช โบ๊เบ๊ ปากคลองตลาด คลองถม เป็นต้น รวมถึงคนทำงานจากชานเมืองที่โดยสารรถไฟมาทำงานในเมืองในช่วงเช้านับพันคน รถไฟแต่ละขบวนที่เข้ามาเป็นมีผู้โดยสารเป็นร้อย หากปลายทางสิ้นสุดที่บางซื่อ ก็ต้องนั่งรถต่อ ทำให้ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นอย่างน้อย ไปกลับก็ 80 บาทต่อวัน ถ้าเงินเดือนขั้นต่ำเพียง 1.5 หมื่นบาท คงแย่ ไม่เพียงพอเพราะยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก
“ไม่ควรที่จะปิดหัวลำโพง เพราะเป็นจุดศูนย์กลาง ทั้งปากคลอง คลองถม การต่อรถจากที่นี่ ค่ารถก็ไม่กี่บาท พอแม่ค้าซื้อของเสร็จ ก็มานั่งรถไฟกลับ ซึ่งราคาเพียงไม่กี่บาท แต่ถ้าเปลี่ยนไปบางซื่อ โดยอ้างว่าจะสะดวก เพราะมีรถไฟฟ้าต่อไปได้หมด ผมอยากถาม ถ้าผมมาจากต่างจังหวัด มีข้าว 2 กระสอบ มีปลาร้า ปลาเค็มมากิน จะขึ้นรถไฟฟ้าได้ไหม ซึ่งคำตอบคือไม่ได้ แต่ถ้าลงรถไฟที่หัวลำโพง สมมติว่าพักอยู่ฝั่งธน ค่ารถต่ออย่างมากก็ร้อยนิดๆ แต่ถ้ามาจากบางซื่อจะไกลขนาดไหน ค่ารถจะเท่าไหร่” นายธนา กล่าว
นายธนา กล่าวด้วยว่า จนถึงขณะนี้ตนยังไม่ได้คำชี้แจงหรือประกาศที่ชัดเจนว่า สรุปแล้ว หัวลำโพงจะปิดเมื่อไหร่ ทั้งที่ตนอยู่ที่นี่ทุกวัน และยังไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสอบถามหรือทำประชาพิจารณ์ใดๆ
นายธนา ปาระเคน คนขับรถสามล้อรับจ้าง
นายประพจน์ จันทร์แก้ว เจ้าของร้านขายอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ เปิดเผยว่า ตนขายของในสถานีหัวลำโพงมา 18 ปีแล้ว จนสามารถตั้งตัว หาเลี้ยงชีพ ดูแลครอบครัวได้จนถึงทุกวันนี้ พร้อมเล่าว่าในอดีต หัวลำโพง เป็นแหล่งศูนย์รวมของทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่เว้นแม้แต่มิจฉาชีพ ยิ่งในช่วงที่นายทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นยุคที่รุ่งเรืองของหัวลำโพง ค้าขายได้ดีมาก มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมต่างๆ มีการแสดงดนตรี ผู้คนพลุกพล่านคึกครื้น
แต่ในปัจจุบัน เงียบเหงามาก ไม่เหลืออะไรแล้ว เหมือนว่ายิ่งเจริญมาก ก็ยิ่งเงียบมาก ร้างผู้คน ไม่มีแรงงาน ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย
นายประพจน์ กล่าวด้วยว่า ตนได้เริ่มหาลู่ทาง เตรียมหาสถานที่เช่าสำหรับเปิดร้านมาตั้งแต่มีข่าวว่าจะปิดหัวโพง เมื่อปีที่แล้ว แต่จนถึงทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีประกาศแจ้งอย่างเป็นทางการ ตนต้องรับข่าวความคืบหน้าต่างๆ จากสื่อ หรือที่เพื่อนๆ แจ้งต่อๆ กันมา ทำให้ไม่กล้าซื้อของมากักตุน หากซื้อมา พอเดี๋ยวมีประกาศปิด จะแย่ ทั้งนี้ เมื่อถึงเวลาจ่ายค่าเช่า ก็ได้ถามถึงข้อสรุป ก็ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่แค่ว่ายังไม่มีหนังสือออกมา
“น่าใจหาย เพราะอยู่ๆ เหมือนกับทำงานบริษัท แล้วเจ้านายเดินมาบอกว่าเดือนหน้าจะเลิกจ้าง มันก็รู้สึกใจหาย อีกทั้งตนก็อายุเยอะแล้ว คำถามแรกที่เข้ามาในหัวคือ แล้วเราจะไปทำอะไร ถ้าให้ย้ายไปบางซื่อก็คงไม่ได้ เพราะมีนายทุน อีกทางระยะทางจากบ้านที่ไกล อยู่คนละทิศทางอีกด้วย” นายประพจน์ กล่าว
นายประพจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การเดินทางมาสถานีหัวลำโพงด้วยรถไฟ สำหรับคนชานเมืองที่เดินทางเข้ามาทำงานในเมือง ถือได้ว่าเป็นเส้นทางที่สะดวกมากกว่าเส้นทางอื่นๆ หากจะต้องปิด และเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ คำถามคือ เราจะจัดแสดงอะไร มันไม่มีอะไรให้แสดง ฉะนั้นไม่ควรจะปิด เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นผู้บุกเบิก ควรจะอนุรักษ์เก็บไว้ ปรับปรุงพัฒนา ปล่อยให้ผู้ค้าเช่าเพื่อเป็นรายได้เข้าการถไฟฯ เนื่องจากหากจะนำไปพัฒนาเป็นอย่างอื่น เช่น ศูนย์การค้า โรงแรม ก็คงไม่เหมาะ
นายประพจน์ จันทร์แก้ว เจ้าของร้านขายอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ
น.ส.สมส่วน แก่นจันทน์ แม่ค้าจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้ที่เดินทางโดยรถไฟเพื่อเข้ามาซื้อของ เล่าถึงหัวลำโพงในความทรงจำว่า ตนเป็นคนอำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขึ้นรถไฟที่สถานีภาชี เพื่อโดยสารเข้ามาในกรุงเทพฯ เป็นประจำมานาน อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง เพื่อซื้อของกลับไปขายที่บ้าน
เมื่อก่อน หัวลำโพงมีคนพลุกพล่าน และสะดวกสบายในการเดินทาง อีกทั้งค่าโดยสารที่ถูก ตนใช้บัตรประชารัฐ ยิ่งทำให้ไม่ต้องเสียค่าเดินทาง ยิ่งตนมีบัตรประชารัฐด้วยแล้ว ทำให้ไม่ต้องเสียค่าโดยสาร
น.ส.สมส่วน เล่าว่า หลังจากที่ทราบข่าวว่ารถไฟจะหยุดวิ่งเข้าที่หัวลำโพงว่า รู้สึกใจหาย ไม่อยากให้ปิด เพราะถ้าปิดแล้ว จะเดินทางลำบาก โดยเฉพาะกลุ่มแม่ค้า ทั้งเวลาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ขากลับ ยิ่งลำบากเพราะมีของพะรุงพะรัง อีกทั้งสถานที่แห่งนี้ มีมานานแล้ว เป็นสถานที่แห่งประวัติศาสตร์ มีเรื่องราว และอยู่ศูนย์กลางเมือง ใกล้แหล่งการค้าซื้อของได้สะดวก
“ยังอยากให้มีรถไฟวิ่งเข้ามา อย่างน้อยก็เป็นระยะทางสั้นๆ ก็ยังดี คนที่นั่งรถไฟเข้ามาจากชานเมืองเข้ามาทำงาน ลงหลังโบ๊เบ๊ ลงที่สถานีใกล้โรงพยาบาลรามาธิบดีก็เยอะ ถ้าหากปิดไป คนต่างจังหวัดที่จะเดินทางมาโรงพยาบาลก็จะลำบากด้วย” น.ส.สมส่วน กล่าว
เหล่านี้ คือเสียงสะท้อนเล็กๆ จากกลุ่มคนในบริเวณหัวลำโพง และผู้ที่ใช้บริการโดยสารเป็นประจำ จะต้องติดตามต่อไปว่า การรถไฟแห่งประเทศ หรือภาคส่วนที่เดี่ยวข้องจะมีท่าทีหรือแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร
น.ส.สมส่วน แก่นจันทน์ แม่ค้าจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
อ่านเพิ่มเติม :
(คลิป) สำรวจชีวิต ‘หัวลำโพง’ สถานีรถไฟในความทรงจำ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage