“…ถ้าเคยฉีดวัคซีนและมีภูมิคุ้มกันแล้ว เข็มกระตุ้นจะอยู่ได้นานกว่า 2 เข็มที่เป็นชุดแรก ทำให้มั่นใจว่า ฉีดเข็ม 3 ไปต่อเข็ม 4 รอได้นาน 6 เดือน แต่เข็มที่ไม่ต้องรอเลยคือคนที่ยังไม่ได้เข็ม 1-2 และเข็ม 3 สำหรับคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง…”
ขณะนี้ประเทศไทยสามารถจัดหาวัคซีนให้คนไทยได้จำนวนมาก เริ่มมีวัคซีนหลากหลายยี่ห้อ ทั้งวัคซีนซิโนแวค ซิโนฟาร์ม แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา รวมถึงยังมีการปรับสูตรฉีดวัคซีนต่างๆ เพื่อสร้างการกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ประชาชนได้ดีมากยิ่งขึ้น
ทำให้หลายคนเกิดข้อสงสัยมากมายถึงข้อกังวลต่างๆในการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และ 2 ไปจนถึงการฉีดเข็มกระตุ้น สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และองค์การอนามัยโลก จึงร่วมกันจัดเสวนาออนไลน์ในหัวข้อเปิดข้อมูล (ไม่) ลับกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมเปิดใจ พร้อมไขทุกข้อสงสัย วัคซีนโควิดกับก้าวต่อไปของคนไทย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สรุปสาระสำคัญของข้อมูลเกี่ยวการฉีดวัคซีนโควิดสำหรับประชาชนคนไทยทั้งหมด มีรายละเอียดดังนี้
ปัจจุบันทั่วโลกฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 7 พันล้านโดส โดย Dr.Jos Vandelaer ผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำประเทศไทย ยืนยันว่า แม้การป้องกันโควิดอาจไม่ได้ 100% เพราะเรายังพบผู้ฉีดวัคซีนที่ติดเชื้อโควิดอยู่ แต่จากผลการฉีดวัคซีนทั่วโลกเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าสามารถช่วยเหลือประชาชนจากการอาการป่วยโรคทางเดินหายใจอย่างโรคโควิดที่รุนแรงได้
ตอนนี้คนไทย 45 ล้านคนได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว และอีกกว่า 35 ล้านคนได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว อย่างไรก็ตามยังมี 10 ล้านคนที่ยังไม่รับวัคซีน เพราะอาจรู้สึกกังวลหรือไม่มั่นใจในความปลอดภัยของวัคซีน แต่ในกลุ่มเสี่ยงสูง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ หากยังไม่ได้ฉีดวัคซีนและติดเชื้อโควิด โอกาสที่จะป่วยรุนแรงมีสูงมาก
“อยากให้คนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข้ามาฉีดกัน โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่แม้จะมีข้อมูลชี้ว่าอาจเจออาการข้างเคียงหลังฉีดได้มากกว่าคนทั่วไป 2 เท่า แต่การฉีดวัคซีนจะช่วยปกป้องทั้งตัวเองและผู้อื่นด้วย” Dr. Vandelaer กล่าว
‘เดลต้า’ยังครองเมืองไทย ปัจจุบันพบ 99.7%
สถานการณ์การระบาดของโควิดภายในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมา ในช่วงต้นปี 2564 จะพบการระบาดของสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) ก่อนที่เดือนมิถุนายน 2564 จะพบการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) กลายมาเป็นสายพันธุ์หลัก กระจายไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ส่วนสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) ก็พบการระบาดเฉพาะพื้นที่ภาคใต้เท่านั้น อาทิ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา เป็นต้น
“เทรนด์การระบาดแบบนี้เราจะเห็นไปทั่วโลก ทั้งต่างประเทศและประเทศไทยเองก็พบการระบาดที่มีสายพันธุ์เดลต้าเข้ามาแทนที่ กลายเป็นสายพันธุ์หลัก” นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ รองผู้อำนวยการสถาบันกลุ่มแผนปฏิบัติการชาติฯ สถาบันบำราศนราดูร กล่าว
นพ.วีรวัฒน์ เปิดเผยข้อมูลสัดส่วนสายพันธุ์ที่เฝ้าระวังภายในประเทศ ระหว่างวันที่ 6-12 พฤศจิกายน 2564 อีกว่า ประเทศไทยยังคงมีสายพันธุ์เดลต้าเป็นสายพันธุ์หลัก โดยปัจจุบันพบอยู่ทั้งหมด 99.74% ส่วนที่เหลือคือสายพันธุ์เบต้าและอัลฟ่ารวมกัน 0.26%
4 สูตรวัคซีนไทย สู้ ‘เดลต้า’
วัคซีนป้องกันโควิดที่เรามีกันอยู่ในปัจจุบัน แม้จะพัฒนามาจากสายพันธุ์ดั้งเดิม คือ สายพันธุ์อู่ฮั่น ส่งผลให้ความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันสู้สายพันธุ์เดลต้าลดลง แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้
ด้วยเหตุดังกล่าว การจะสู้สายพันธุ์เดลต้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การผสมสูตรวัคซีนโควิดจึงเป็นทางออก เพราะมีผลการวิจัยจากศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แสดงให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนสูตรผสม หรือไขว้สูตร ได้แก่ สูตรวัคซีนซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า, สูตรวัคซีนซิโนแวคตามด้วยไฟเซอร์ และสูตรวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าตามด้วยไฟเซอร์ สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลต้าได้ดีกว่าการฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม หรือวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าครบ 2 เข็ม
ทำให้ทิศทางการให้วัคซีนโควิดภายในประเทศเปลี่ยนไป โดย นพ.วีรวัฒน์ เปิดเผยการฉีดวัคซีนไทย มีอยู่ด้วยกัน 4 สูตรและมีแนวทางในการฉีดวัคซีนดังนี้
-
สูตรไขว้วัคซีนซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ให้เว้นระยะห่างระหว่างเข็ม 3-4 สัปดาห์
-
สูตรไขว้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าตามด้วยไฟเซอร์ ให้เว้นระยะห่างระหว่างเข็ม 4-12 สัปดาห์
-
สูตรแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ให้เว้นระยะห่างระหว่างเข็ม 8-12 สัปดาห์
-
สูตรไฟเซอร์ 2 เข็ม ให้เว้นระยะห่างระหว่างเข็ม 3-4 สัปดาห์
ย้ำอันตรายจากโควิดสูงกว่าวัคซีน
ประชาชนชาวไทยอีก 10 ล้านคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ส่วนใหญ่ยังมีข้อกังวลและไม่มั่นใจต่อวัคซีนโควิดว่า มีความปลอดภัยหรือไม่ หากฉีดวัคซีนสูตรไขว้แล้วจะมีอาการข้างเคียงหนักจนถึงขั้นเสียชีวิตหรือไม่ บางคนอาจคิดว่าตนเองสูงอายุแล้วการฉีดวัคซีนอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต หรือบางคนอาจรอวัคซีนบางยี่ห้อที่ตัวเองเชื่อมั่นในประสิทธิภาพอยู่ เป็นต้น
นพ.วีรวัฒน์ กล่าวถึงข้อกังวลใจดังกล่าวว่า เคยพบเคสผู้ป่วยโควิดที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เพราะรอวัคซีนบางยี่ห้อเช่นเดียวกัน แต่เมื่อใกล้ถึงคิวฉีดในอีกไม่กี่วันข้างหน้า กลับป่วยโควิดก่อนและมีอาการป่วยหนักมาก อยู่ในห้องไอซียู จึงอยากให้ทุกคนเข้ามารับวัคซีนกันก่อนอย่างน้อย 1 เข็ม แล้วค่อยรอการกระตุ้นภูมิคุ้มกันภายหลังได้
ทั้งนี้หากเปรียบเทียบจำนวนและร้อยละผู้ติดเชื้อที่มีอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากการป่วยโควิด ระหว่างกลุ่มที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแล้ว และยังไม่ได้รับวัคซีน พบว่า กลุ่มโรคเรื้อรังที่ยังไม่ได้รับวัคซีนมีความเสี่ยงติดเชื้อ 79% ขณะที่ฉีดวัคซีนแล้วมีความเสี่ยงเพียง 18%, กลุ่มผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนมีความเสี่ยงติดเชื้อ 16% ส่วนผู้ฉีดวัคซีนแล้วมีความเสี่ยงเพียง 6%
แต่ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ จะเห็นว่ากลุ่มที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนมีความเสี่ยงติดเชื้อ 1.6% และกลุ่มฉีดวัคซีนมีความเสี่ยง 3.2% เนื่องจากมีกลุ่มตัวอย่างในการเก็บข้อมูลน้อย ดังนั้นเมื่อมีการฉีดมากขึ้น จะเห็นผลมากขึ้นตามมา
“กลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด ส่วนใหญ่จะเสี่ยงมีอาการป่วยและเสียชีวิตมากกว่า โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงป่วยโควิดรุนแรง คือ ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปี ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์” นพ.วีรวัฒน์ กล่าว
เสียชีวิตจากโควิดมากกว่าวัคซีน
สำหรับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของวัคซีนป้องกันโควิด นพ.วีรวัฒน์ เปิดเผยว่า โอกาสในการเกิดอาการข้างเคียงรุนแรงมีน้อยมาก ในผู้ฉีดวัคซีนซิโนแวคจะพบอาการช็อคหรือมีผื่นแพ้รุนแรง 7 ราย ต่อการฉีดจำนวน 100,000 โดส วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าพบ 6 ราย ต่อการฉีดจำนวน 100,000 โดส วัคซีนซิโนฟาร์มพบ 3 ราย ต่อการฉีดจำนวน 100,000 โดส และวัคซีนไฟเซอร์พบ 4 ราย ต่อการฉีดจำนวน 100,000 โดส
ส่วนกรณีที่พบการเสียชีวิต หลังการฉีดวัคซีน เรารับรายงานทั้งหมด 1,436 ราย คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้ว 951 ราย ส่วนใหญ่การเสียชีวิตไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน มีเพียง 4 รายที่เสียชีวิตจากวัคซีนโดยตรง เช่น มีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน 2 ราย มีภาวะแพ้รุนแรงหรือช็อค 1 ราย และมีผื่นแพ้ผิวหนังพุพอง 1 ราย
“โอกาสในการเสียชีวิตจากวัคซีนมีน้อยมาก พบเพียง 1 ใน 20 กว่าล้านคน” นพ.วีรวัฒน์ เปิดเผย
สรุปได้ว่า การฉีดดีกว่าการไม่ได้รับวัคซีนแน่นอน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน รวมถึงกลุ่มหญิงตั้งครรภ์อายุ 12 สัปดาห์ขึ้นไป
ไม่ต้องรอวัคซีนรุ่นใหม่ฉีดกระตุ้น-แนะผู้สูงวัยฉีดเข็ม 3 เร็วกว่า
บทเรียนในต่างประเทศแสดงให้เห็นว่าภูมิคุ้มกันจากการป่วยโควิด หรือการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด จะลดลงหลังจากนั้น 6 เดือน ประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการปลดล็อกการสวมหน้ากากอนามัย ทำให้ยุโรปกลับมาเป็นศูนย์กลางของการระบาดของโควิดอีกครั้ง
โดย พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยงานวิจัยจากอิสราเอล แสดงให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้าครบ 2 เข็ม จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีในช่วง 1 เดือนแรก หลังจากนั้นราว 3 เดือนภูมิคุ้มกันจะลดลงมา
ดังนั้นการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กลับมาสูงอีกครั้ง จึงแนะนำให้กลุ่มเสี่ยงสูง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง และหญิงตั้งครรถ์ รับวัคซีนเข็มกระตุ้น หลังจากฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แล้วใน 3-6 เดือน ส่วนในวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 18 ปีที่ยังแข็งแรงสามารถรอรับวัคซีนเข็มกระตุ้น หลังจากฉีดวัคซีนเข็มที่สอง 6 เดือน
“การที่เราเคยฉีดวัคซีนป้องกันโควิดครบ 2 เข็มไปแล้ว ร่างกายจะมีเมมโมรี่เซลล์ ทำให้เมื่อฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิ ในปริมาณเพียงครึ่งหนึ่งจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนอะไรก็ทำให้ภูมิคุ้มกันสูงขึ้นได้มากประมาณ 10 เท่า ดังนั้น คนที่จะฉีดเข็ม 3 ไม่ต้องรอวัคซีนสายพันธุ์ใหม่ พิสูจน์แล้วไม่จำเป็น เพราะการที่เคยฉีดวัคซีนแล้วร่างกายจำได้ กระตุ้นอีกครั้งหนึ่ง สามารถที่จะมีภูมิขึ้นไปสูงและป้องกันข้ามสายพันธุ์ได้” พญ.ธันยวีร์ เปิดเผย
สำหรับแนวทางในการฉีดวัคซีนบูสเตอร์นั้น หากก่อนหน้านี้ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม ให้ฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือวัคซีนชนิด mRNA เช่น วัคซีนไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา แต่หากฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าครบ 2 เข็ม แนะนำให้ฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิด mRNA เพราะมีผลวิจัยชี้ให้เห็นว่าวัคซีนชนิดเชื้อตายเหมาะเป็นวัคซีนปูพื้น แต่วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือวัคซีนชนิด mRNA จะเหมาะกับการเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นมากกว่า
“ประเทศไทยมีการใช้สูตรไขว้ กำลังมีงานวิจัยหลายงานวิจัยว่า เข็ม 3และเข็ม 4 จะใช้เท่าไหร่ที่จะพอดี ปริมาณวัคซีนที่จะจัดสรรให้ครบถ้วน และโอกาสเกิดผลข้างเคียง โดยเริ่มมีแนวโน้มว่าเข็มกระตุ้นจะใช้ขนาดที่ลดลง” พญ.ธันยวีร์ กล่าว
ผลการวิจัยแสดงการลดลงของภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนโควิดได้ 1 เดือน และ 3 เดือน
ฉีดเข็ม 4 หลังผ่านเข็ม 3 นาน 6 เดือน
พญ.ธันยวีร์ กล่าวถึง การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 4 อีกว่า จากการศึกษาวิจัยเข็มกระตุ้น ฉีดซิโนแวคมาแล้ว 2 เข็ม ฉีดกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ศึกษาวิจัยในผู้ใหญ่อายุ 18-59 ปี จำนวน 100 คน ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า หลังฉีดกระตุ้น ภูมิคุ้มกันในการยับยั้งเชื้อ ภายหลัง 14 วัน, 1 เดือน และ 3 เดือน ภูมิคุ้มกันค่อนข้างนิ่ง ยังสามารถป้องกันได้ดี สามารถป้องกันเดลตาได้ 90 % แม้ผ่านแล้ว 3 เดือน
แสดงว่าถ้าเคยฉีดวัคซีนแล้วมีภูมิคุ้มกันแล้ว เข็มกระตุ้นจะอยู่ได้นานกว่า 2 เข็มที่เป็นชุดแรก ทำให้มั่นใจว่า ฉีดเข็ม 3 ไปต่อเข็ม 4 รอได้นาน 6 เดือน แต่เข็มที่ไม่ต้องรอเลยคือคนที่ยังไม่ได้เข็ม 1-2 และเข็ม 3 สำหรับคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ฉีดวันเดียวกับวัคซีนโควิดได้
โรคไข้หวัดใหญ่ มักจะระบาดในช่วงหน้าฝนและหน้าหนาว นับเป็นอีกโรคที่เกิดการระบาดในช่วงเดียวกับวิกฤตโควิด ดังนั้นการป้องกันโรคดังกล่าวจึงรอไม่ได้เช่นเดียวกัน
พญ.ธันยวีร์ เปิดเผยผลการวิจัยอีกว่า วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สามารถฉีดในวันเดียวกับวัคซีนป้องกันโควิดได้ แม้ว่าจะทำให้การกระตุ้นภูมิของโควิดลดลง และเกิดอาการข้างเคียงได้มากขึ้น แต่ส่งผลในระดับเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ทำให้รบกวนการสร้างภูมิคุ้มกันและผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน
เพราะหลายๆประเทศต้องเร่งระดมฉีดวัคซีนทั้งไข้หวัดใหญ่และโควิด คาดว่าในอนาคตต่อไปคงจะมีวัคซีนที่พัฒนาให้สามารถป้องกันได้ทั้งไข้หวัดใหญ่และโควิดได้ ซึ่งปัจจุบันวัคซีนโนวาแวกซ์ กำลังทดลองทางคลินิกอยู่เช่นเดียวกัน
“การถึงภูมิคุ้มกันหมู่จะต้องดู 3 ปัจจัยหลัก คือ การเกิดสายพันธุ์ใหม่ การลดลงของภูมิคุ้มกัน และมาตรการทางสาธารณสุข ซึ่ง 3 ปัจจัยนี้จะเป็นตัวที่กำหนดได้ว่าควรจะฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เท่าใด แต่ภูมิคุ้มกันจากการการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดนั้น สามารถลดลงได้ ดังนั้นแนะนำว่าเราควรจะฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมได้ประมาณ 80% ณ เวลาหนึ่งๆ และยังควรสวมใส่หน้ากากอนามัยต่อไปจนถึงปีหน้า เพื่อป้องกันการระบาดระลอกใหม่” พญ.ธันยวีร์ กล่าวทิ้งท้าย
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage