หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจก็คือว่า การแพร่กระจายนั้นอาจจะมีความล่าช้าอันเนื่องมาจากมาตรการปิดเมืองในประเทศอังกฤษ โดยระดับของโรคที่ค่อนข้างกว้างขวางในประเทศอังกฤษนั้นได้สร้างความคุ้มครองให้กับเราในช่วงเวลาที่ยาวนานกว่า
สืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัสนั้น องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้มีการประมาณการว่าสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ในทวีปยุโรปน่าจะกลับมาเลวร้ายที่สุดอีกครั้งหนึ่งแล้ว
ขณะที่สถานการณ์ในประเทศอังกฤษเองก็พบว่าประเทศนี้มีผู้ติดเชื้อรายวันเมื่อวันที่ 21 พ.ย. อยู่ที่ 40,004 รายซึ่งถือว่าสูงที่สุดในโลก ส่วนผู้เสียชีวิตใหม่อยู่ที่ 61 ราย
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำในประเทศอังกฤษนั้นยืนยันว่าสถานการณ์ของประเทศอังกฤษไม่มีทางที่จะเลวร้ายเท่ากับหลายประเทศในภูมิภาคยุโรปอย่างแน่นอน เนื่องจากทั้งปัจจัยมาตรการต่างๆอาทิการบังคับเรื่องการฉีดวัคซีน รวมไปถึงเรื่องของช่วงเวลาที่เพิ่งจะมีการคลายมาตรการปิดเมือง
โดยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้เอารายงานดังกล่าวมานำเสนอมีรายละเอียดดังนี้
ยอดติดเชื้อโควิด-19 ณ เวลานี้ที่ประเทศอังกฤษกำลังพุ่งสูงขึ้นในอัตราส่วนที่ไม่น่าจะเป็นไปได้หลังจากที่ฤดูหนาวได้มาถึง ทำให้ทางการประเทศอังกฤษต้องดำเนินการในทุกทางเพื่อที่จะควบคุมสถานการณ์เช่นเดียวกับหลายประเทศในทวีปยุโรปที่ต้องเผชิญกับการระบาดอย่างรุนแรงจนกลายเป็นภูมิภาคที่มีการติดเชื้อใหม่พุ่งสูงที่สุดในโลก
ซึ่งจากกรณีดังกล่าวนั้น ศาสตราจารย์เซอร์แอนดรูว์ พอลลาร์ด หัวหน้าคณะทำงานด้านวัคซีนของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ซึ่งทำหน้าที่ทดสอบทางคลินิกของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด พัฒนาร่วมกับบริษัทแอสตราเซเนกา ก็ได้ให้สัมภาษณ์กับทางสื่อเดอะมิเรอร์เอาไว้ว่าโดยยืนยันว่าสหราชอาณาจักรนั้นยังคงมีโอกาสที่น้อยมากที่จะเห็นการติดเชื้อแบบพุ่งกระโดดแบบประเทศหลายประเทศในทวีปยุโรป
โดยความเห็นของเซอร์พอลลาร์ดนั้นคาดว่าจะทำให้ความกลัวประเทศอังกฤษจะต้องเข้าสู่มาตรการปิดเมืองนั้นลดลงไปบ้าง หลังจากที่ก่อนหน้าที่มีความกลัวกันว่าอังกฤษนั้นอาจจะเข้าสู่มาตรการปิดเมืองแบบที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งกรณีดังกล่าวนั้นนำไปสู่การประท้วงที่เมืองร็อตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์
แต่ทว่าที่ประเทศอังกฤษนั้น ผู้เชี่ยวชาญมีความชัดเจนว่าประเทศอังกฤษพบกับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อสูงที่สุดไปแล้วในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เสียชีวิตต่อสัปดาห์อยู่ที่ 1,000 รายต่อสัปดาห์
เซอร์แอนดรูว์ยังได้กล่าวต่อไปว่าไวรัสโควิด-19 ซึ่งอยู่ที่นี่นั้นน่าจะอยู่ต่อไปอีกเป็นระยะเวลาหลายสิบปี ในขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นที่อัตรา 10.7 เปอร์เซ็นต์ในช่วงหนึ่งสัปดาห์
อนึ่งนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษนั้นได้ปฏิเสธที่จะใช้แผนบีซึ่งเป็นการออกมาตรการการใส่หน้ากากและการใช้วัคซีนพาสปอร์ต รวมไปถึงการล็อกดาวน์ ในช่วงเวลาที่ทวีปยุโรปนั้นมีตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น
ส่วนเซอร์แอนดรูว์บอกกับสำนักข่าวบีบีซีว่า “ถ้าเราดูที่สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆแล้วพบว่าประเทศเหล่านี้นั้นกำลังเผชิญกับการเริ่มต้นของการระบาดอีกระลอกหนึ่งแล้ว และเหตุผลของการระบาดที่เกิดขึ้นมาก็เนื่องมาจากหลายปัจจัยทั้งการเปลี่ยนแปลงของมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม การล็อกดาวน์ บวกกับภูมิคุ้มกันในประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป”
อัตราการติดเชื้อของประเทศอังกฤษในช่วง 28 วันที่ผ่านมา
เซอร์แอนดรูว์กล่าวต่อไปว่าเรา (ประเทศอังกฤษ)กำลังพบการแพร่กระจายบางอย่างที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ฤดูนร้อนแล้วดังนั้นตัวเขาเชื่อว่ามันไม่น่าจะเป็นไปได้ที่เราจะเห็นการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าในทวีปยุโรป โดยตอนนี้เราถือว่าระบาดนำหน้าไปแล้วด้วยไวรัสนี้ และด้วยสายพันธุ์ไวรัสโควิดเดลต้า
ขณะที่เซอร์จอห์น เบล จากหน่วยเฉพาะกิจด้านวัคซีนก็มีความเห็นว่าสอดคล้องกันว่าประเทศอังกฤษนั้นจะไม่พบการระบาดในลักษณะที่พุ่งสูงแบบทวีปยุโรปเช่นกัน
“ในหลายแนวทางแล้ว รูปแบบการแพร่กระจายของโรคนั้นไม่ได้เป็นรูปแบบเดียวกับที่ทวีปยุโรป เพราะถ้าจำกันได้ในช่วงเวลาที่มืดมิดที่สุดในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. 2563 ทุกคนกล่าวว่าเยอรมนีนั้นฉลาดกว่าเรามาก เพราะเขาไม่มีโควิดเลย และคนอังกฤษโง่กว่าเพราะมีคนติดโควิดเยอะ
ซึ่งอันที่จริงแล้ว ผมไม่คิดว่าโควิดจะมีลักษณะที่ว่ามานี้ หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจก็คือว่า การแพร่กระจายนั้นอาจจะมีความล่าช้าอันเนื่องมาจากมาตรการปิดเมืองในประเทศอังกฤษ โดยระดับของโรคที่ค่อนข้างกว้างขวางในประเทศอังกฤษนั้นได้สร้างความคุ้มครองให้กับเราในช่วงเวลาที่ยาวนานกว่า”เซอร์จอห์นกล่าว
ส่วนเซอร์แอนดรูว์กล่าวว่าถ้าหากเราไม่มีโครงการการฉีดวัคซีนแล้ว ก็อาจจะมีผู้เสียชีวิตไปถึงประมาณ 300,000 คนแล้ว (ผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิดในประเทศอังกฤษอยู่ที่ 143,927 ราย)
ขณะที่นายซาจิด จาวิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษกล่าวว่าตัวเขานั้นก็หวังว่าผู้เชี่ยวชาญจะพูดถูก แต่อ่างไรก็ตามเราก็ต้องมีความระมัดระวัง และไม่สามารถจะพึงพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่นี้ได้
นายจาวิดกล่าวต่อว่าในวันนี้ (21 พ.ย.) ตัวเขาได้แนะนำให้มีการขยายวงการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 หรือว่าการฉีดบูสเตอร์ไปยังกลุ่มผู้มีสุขภาพดีที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปีแล้ว ซึ่งเป็นคำแนะนำที่มาจากกลุ่มคณะกรรมการร่วมด้านวัคซีนหรือ JCVI ที่กำลังทบทวนในประเด็นเรื่องการฉีดวัคซีนอยู่
อย่างไรก็ตามนายจาวิดยังไม่ได้มีการกำหนดให้จุดฮอตสปอตในทวีปยุโรปอยู่ในบัญชีแดงโดยกล่าวว่า “เรารักษากฎระเบียบการเดินทางของเราเกี่ยวกับไวรัสซึ่งอยู่ภายใต้การตรวจสอบตลอดเวลา”
และแน่นอนว่านายจาวิดก็ไม่ได้แบนการเดินทางไปเยอรมนี ที่มีสถานการณ์การระบาดเลวร้าย ณ เวลานี้ โดยกล่าวว่าที่ประเทศอังกฤษก็มีการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้าอยู่แล้ว ดังนั้นการมีกฎกติกาใหม่อาจจะไม่ได้มีประโยชน์อะไรมากนัก
นายจาวิดยังได้มีการออกนโยบายภาคบังคับให้มีการฉีดวัคซีนในประเทศอังกฤษ มากกว่าที่จะเป็นแค่ข้อเสนอที่มาจากผู้ซึ่งทำงานในแวดวงสาธารณสุขเท่านั้น โดยขณะนี้มีประชาชนจำนวนกว่า 5.9 ล้านคนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อสำหรับนัดติดตามนัดของทางสำนักสาธารณสุขอังกฤษหรือว่า NHS และตัวเลขดังกล่าวนั้นอาจจะพุ่งสูงขึ้นได้ก่อนที่จะลงมาอีกครั้ง
ข่าวการบังคับการฉีดวัคซีนในประเทศอังกฤษ (อ้างอิงวิดีโอจากสำนักข่าวการ์เดียน)
“มีกลุ่มประชาชนจำนวน 7-8 ล้านคน ที่อยู่ห่างจากสังคมในช่วงเวลาการระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้นพุ่งสูงที่สุด เพราะพวกเขาถูกบอกให้ทำแบบนั้น แต่ว่าตอนนี้เราต้องการให้พวกเขากลับมาหา NHS” นายจาวิดกล่าว
ขณะที่นายคริส ฮอปสัน หัวหน้าผู้ให้บริการของ NHS กล่าวว่าในช่วงเวลานี้ของปีนั้น เราอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
โดย ณ เวลานี้นั้น NHS ยังคงไม่ถึงจุดสูงจุดของการระบาดในฤดูหนาวด้วยซ้ำ ซึ่งช่วงเวลาจุดสูงสุดดังกล่าวนั้นจะมาถึงในช่วงเดือน ม.ค.
ขณะที่เซอร์แอนดรูว์กล่าวตอบคำถามกรณีภูมิคุ้มกันหมู่ของประเทศอังกฤษว่า “มันขึ้นอยู่กับความหมายว่าภูมิคุ้มกันหมู่หมายความว่าอย่างไร”
เซอร์แอนดรูว์กล่าวต่อว่าประเทศนี้จะไม่สามารถปลอดไวรัสได้ อย่างน้อยก็เป็นระยะเวลาในหลายทศวรรษ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากว่าเป็นการทำให้ไวรัสนั้นช้าลง นี่ก็คือสิ่งที่วัคซีนนั้นได้ทำอยู่แล้ว โดย ณ เวลานี้เขาเห็นว่าการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเด็ก 5-12 ปี ถือว่าเป็นสิ่งที่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะเพิ่มภูมิคุ้มกันได้สูงเป็นอย่างยิ่ง
ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกล่าวด้วยว่าประเทศที่กำลังพัฒนานั้นก็ควรที่จะได้รับวัคซีนก่อนที่คนวัยหนุ่มสาวในประเทศอังกฤษจะได้รับวัคซีนบูสเตอร์
“เปรียบเทียวแล้วก็คือโทรศัพท์ของคนสองคนที่ชาร์จไว้ที่ 75 เปอร์เซ็นต์และ 5 เปอร์เซ็นต์ คิดว่าคุณคงรู้ว่าคนไหนควรจะได้รับที่ชาร์จโทรศัพท์ก่อน ซึ่งเราต้องการโดสวัคซีนให้กับกลุ่มประชากรเหล่านี้อย่างจำเป็นที่สุด” เซอร์แอนดรูว์กล่าว
เรียบเรียงจาก:https://www.mylondon.news/news/health/expert-says-uk-unlikely-see-22229964
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/