"...อปท. ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้แรงงานในชุมชนตามหลัก “บวร” ซึ่งจากการสอบถามผู้อำนวยการกองการศึกษาและหัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ อปท. จำนวน 31 แห่ง พบว่า มี อปท. 18 แห่ง ให้ข้อมูลว่าการสร้างสนามเด็กเล่นไม่สามารถหาแรงงานในชุมชนได้ เนื่องจากมีแรงงานในชุมชนไม่เพียงพอหรือไม่มีเวลามาช่วยก่อสร้าง..."
ประเด็นตรวจสอบเชิงลึกการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เด็กปฐมวัยท้องถิ่นไทยผ่านการเล่น หรือที่เรียกว่า "สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา" ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณของ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แห่งละ 170,000 บาท ทั่วประเทศ จากรายงานผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่พบปัญหาการดำเนินงานสำคัญหลายประการในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี
- ซ้ำซ้อนไม่คุ้มค่า! สตง.ชำแหละ 'สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา' สุพรรณ ละเลงงบ-เสริมพัฒนาการน้อย
- ไม่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัย! สตง.ชำแหละ 'สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา' สุพรรณ ละเลงงบ (2)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถึงผลการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการ "สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา" ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นทางการ
มีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
โครงการ "สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา" มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยในท้องถิ่นมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ตามวัยผ่านการเล่น ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ - จิตใจ สังคม และสติปัญญา ให้เด็กปฐมวัยได้เรียนรู้ในห้องเรียนธรรมชาติที่ประกอบด้วยวัสดุที่มีในธรรมชาติ ได้แก่ ทราย น้ำ ต้นไม้ รวมทั้งวัสดุที่เหลือใช้ในพื้นที่ เพื่อเด็กปฐมวัยภายในท้องถิ่นมีพัฒนาการสมบูรณ์ตามวัยครบทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคม และสติปัญญา ผ่านการเล่นสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา
โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีเป้าหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศจำนวน 7,850 แห่ง พิจารณาสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (อย่างน้อยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นละ 1 แห่ง) ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ขณะที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้จัดสรรงบประมาณงบเงินอุดหนุน ประเภทเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ให้กับอปท.ในปีงบประมาณ พ.ศ 2561, พ.ศ. 2563 และ พ.ศ. 2564 ให้อปท. ทั่วประเทศจำนวน 2,040 แห่ง งบประมาณรวมทั้งสิ้น 363.82 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 มีการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แห่งละ 100,000.00 บาท และปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 - 2564 จัดสรรงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แห่งละ 170,000.00 บาท โดยในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีมีอปท. ได้รับการจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น 23 แห่ง งบประมาณรวมทั้งสิ้น 3.56 ล้านบาท
สำหรับวิธีการดำเนินโครงการฯ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ใช้คู่มือสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา (คู่มือสร้างการเล่นตามพ่อวิธีสร้างลูกจากทารก) เป็นแนวทางในการดำเนินโครงการฯ โดยมีการแบ่งการเล่นออกเป็นรูปแบบฐานต่าง ๆ จำนวน 5 ฐานได้แก่ ฐานที่ 1 สระน้ำอิน - จัน ฐานที่ 2 สระทารก ฐานที่ 3 ค่ายกลสไปเดอร์แมน ฐานที่ 4 เรือสลัดลิง และฐานที่ 5 หัดว่ายน้ำ โดยให้ดำเนินการฐานที่ 1 – 4 ก่อน ส่วนฐานที่ 5 ถ้ามีความพร้อมก็ดำเนินการได้
การดำเนินการโดยสร้างการมีส่วนร่วม ของชุมชนภายใต้หลัก “บวร” (บ้าน วัด โรงเรียน)โดยอปท. ที่มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัดที่จะขอรับเงินอุดหนุนเฉพาะกิจจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หรือจะใช้งบประมาณเงินรายได้ของ อปท. ในการดำเนินโครงการฯ จะต้องมีพื้นที่สร้างสนามเด็กเล่นไม่น้อยกว่า 100 ตารางวามีต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ และต้องเป็นพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้สร้างอย่างถูกต้องตามกฎหมาย งบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจตามโครงการฯ ที่จัดสรรให้กับ อปท. หรือเงินรายได้ของ อปท. ที่ใช้ดำเนินโครงการฯ กำหนดให้เป็นงบประมาณสำหรับการจัดหาวัสดุที่ใช้ในการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาเท่านั้น
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้กำหนดแนวทางการใช้สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ตามหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท 0816.4/ว 3919 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2563 เรื่องแนวทางการใช้สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก แจ้งขอความร่วมมือจังหวัดแจ้งให้อปท. ที่มีสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา พิจารณาดำเนินการตามแนวทางการใช้สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาให้มีความสอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ. 2560 และพิจารณาบูรณาการการใช้ประโยชน์จากสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา
สตง. ตรวจสอบการดำเนินโครงการของ อปท. ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีที่ดำเนินโครงการระหว่างปีงบประมาณพ.ศ. 2561 - 2563 เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ได้รับจัดสรรงบประมาณตามโครงการฯ มากที่สุดในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของ สตภ.3 โดยสุ่มตรวจสอบ อปท. ทั้งสิ้น 53 แห่ง ประกอบด้วย
- อปท. ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจฯ ทุกแห่ง จำนวนทั้งหมด 23 แห่ง
- อปท. ที่ใช้งบประมาณของ อปท. ดำเนินโครงการ จำนวน 26 แห่ง
- อปท. ที่ใช้งบประมาณจากแหล่งอื่น ๆ ในการดำเนินโครงการ เช่น เงินบริจาค เงินสนับสนุนของ สสส. เป็นต้น
จำนวน 4 แห่ง
ผลการตรวจสอบ
จากการตรวจสอบมีประเด็นข้อตรวจพบสำคัญ 2 ประเด็น ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 การดำเนินโครงการฯ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือแนวทางที่กำหนดไว้
1. อปท. มีการส่งคืนเงินงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจที่ได้รับการจัดสรรตามโครงการฯ เป็นจำนวนมาก โดยมีรายละเอียดดังนี้
• อปท. ในจังหวัดสุพรรณบุรี ได้รับจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจตามโครงการฯ จำนวน 23 แห่งงบประมาณจำนวน 3.56 ล้านบาท
• มี อปท. เพียง 9 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 39.13 ที่ใช้งบประมาณที่ได้รับจัดสรรในการจัดสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา
• ขณะที่ อปท. อีกจำนวน 14 แห่ง มีการส่งคืนงบประมาณรวมเป็นเงินจำนวน 2.17 ล้านบาท
• จาก อปท. 14 แห่ง ที่ส่งคืนงบประมาณ มีอปท. 6 แห่ง ที่ดำเนินการก่อสร้างสนามเด็กเล่นขณะที่ อปท. อีก 8 แห่ง ไม่ได้สร้างสนามเด็กเล่น แต่อย่างใด
2. อปท. มีการสร้างสนามเด็กเล่นรูปแบบอื่นที่ไม่ตรงกับรูปแบบสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา
จากการตรวจสอบ อปท. ที่สุ่มตรวจสอบ 53 แห่ง พบว่า มีการก่อสร้างสนามเด็กเล่นตามรูปแบบสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา เพียง 31 แห่ง และมี อปท. ที่ไม่ได้สร้างสนามเด็กเล่นตามรูปแบบ 22 แห่ง รายละเอียดดังนี้
• ไม่ได้ก่อสร้างสนามเด็กเล่น 10 แห่ง
• ดำเนินการก่อสร้างแต่ไม่เป็นไปตามรูปแบบ 12 แห่ง ซึ่งทุกแห่งเป็น อปท. ที่ดำเนินโครงการโดยใช้งบประมาณของ อปท. และงบประมาณจากแหล่งอื่น
3. อปท. ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้แรงงานในชุมชนตามหลัก “บวร” ซึ่งจากการสอบถามผู้อำนวยการกองการศึกษาและหัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ อปท. จำนวน 31 แห่ง พบว่า มี อปท. 18 แห่ง ให้ข้อมูลว่าการสร้างสนามเด็กเล่นไม่สามารถหาแรงงานในชุมชนได้ เนื่องจากมีแรงงานในชุมชนไม่เพียงพอหรือไม่มีเวลามาช่วยก่อสร้าง
4. อปท. ที่มีการจัดสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาส่วนใหญ่ดำเนินการไม่เป็นไปตามคู่มือสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา โดยพบว่า
• มีการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาไม่ครบทั้ง 4 ฐาน จำนวน 22 แห่ง
• ฐานการเล่นของสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา มีขนาดไม่เป็นไปตามรูปแบบที่กำหนดไว้ในคู่มือสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา จำนวน 57 ฐาน จากฐานการเล่นที่ตรวจวัดทั้งหมด 71 ฐาน
• พื้นที่สร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีขนาดพื้นที่น้อยกว่าที่กำหนด (ต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 100 ตารางวา) จำนวน 28 แห่ง
• พื้นที่สร้างสนามเด็กเล่นไม่มีต้นไม้ใหญ่ หรือมีต้นไม้ขนาดเล็กที่ไม่สามารถให้ร่มเงาได้จำนวน34 แห่ง
สาเหตุที่การดำเนินโครงการฯ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือแนวทางที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกำหนดไว้มีดังนี้
• อปท. ขาดการวางแผนและเตรียมความพร้อมในการดำเนินโครงการฯ ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนและไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามระยะเวลาที่กำหนดจึงต้องส่งคืนงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจที่ได้รับจัดสรร
อปท. ที่ขอรับจัดสรรงบประมาณ ไม่ได้สำรวจสภาพพื้นที่ที่จะใช้สร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญารวมถึงไม่ได้ศึกษารูปแบบฐานการเล่นตามแนวที่กำหนดไว้ ก่อนที่จะขอรับการจัดสรรงบประมาณ
• ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กส่วนใหญ่มีพื้นที่ไม่มากนักทำให้ไม่สามารถสร้างฐานการเล่นได้ครบทั้ง 4 ฐาน
• การดำเนินโครงการฯ ของ อปท. เป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยไม่ได้เกิดจากความต้องการของท้องถิ่น
• ขนาดของฐานการเล่นที่กำหนดไม่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัย และแบบก่อสร้างไม่ชัดเจน
ข้อตรวจพบที่ 2 การดำเนินโครงการฯ ยังไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
จากการตรวจสอบการใช้สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวน 40 แห่ง ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 31 แห่ง พบว่า การใช้สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กยังไม่เป็นไปตามแนวทางการใช้สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกำหนดไว้ และการดำเนินโครงการฯยังไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. การใช้ประโยชน์สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กยังไม่เป็นไปตามแนวทางที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกำหนดไว้ โดยจากการตรวจสอบ พบว่า
• ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทุกแห่ง ไม่ได้กำหนดแนวทางในการนำสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาเข้ามาเป็นกิจกรรมในหลักสูตรสถานศึกษาของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
• ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไม่ได้กำหนดตารางในการเล่นสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาไว้ในตารางกิจกรรมประจำวันของศูนย์ฯ
• ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กส่วนใหญ่ไม่ได้สร้างฐานการเล่นที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบสำหรับใช้ในการจัดประสบการณ์เรื่องการป้องกันเด็กจมน้ำในเด็กปฐมวัย
• ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังไม่มีส่วนร่วมในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัยด้วยการใช้สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา
• ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กยังไม่มีการดำเนินการจัดมุมหนังสือในพื้นที่สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา
2. การดำเนินโครงการฯ ยังไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จากการตรวจสอบ พบว่า
• สนามเด็กเล่นโดยส่วนใหญ่ไม่มีการใช้ประโยชน์ทุกวัน และมีการใช้ประโยชน์ในแต่ละครั้งเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น เนื่องจากสนามเด็กเล่นสร้างปัญญามีการใช้ประโยชน์ได้เพียงบางช่วงเวลา ฐานการเล่นของสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาไม่เหมาะสมที่จะใช้ประโยชน์กับเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัย 2 – 4 ขวบ ยังมีขนาดของร่างกายเล็กเกินไปที่จะเล่นในฐานการเล่นของสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาที่มีการสร้างตามรูปแบบที่กำหนด และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กส่วนใหญ่มีการจัดประสบการณ์ในรูปแบบบูรณาการทั้งทักษะและสาระการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายทั้งกิจกรรมที่ทำในร่มและกิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งสามารถเสริมสร้างพัฒนาการให้กับเด็กปฐมวัย เป็นต้น
• การใช้ประโยชน์จากสนามเด็กเล่นไม่ได้ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กปฐมวัยอย่างชัดเจนพิจารณาจากการเปรียบเทียบระดับผลการประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัยก่อนและหลังมีสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาซึ่งไม่ได้มีความแตกต่างกัน และผลการประเมินไม่มีความแตกต่างกับผลการประเมินของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ไม่มีการก่อสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา
สาเหตุสำคัญที่ทำให้การดำเนินโครงการฯ ยังไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์เกิดจาก มีดังนี้
• ฐานการเล่นของสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาที่กำหนดตามคู่มือฯ มีขนาดไม่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัย
• การกำหนดนโยบายจากส่วนกลางยังขาดข้อมูลประกอบการพิจารณาอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับการจัดหาเครื่องเล่น และวัสดุสื่อการเรียนการสอนต่าง ๆ ของ อปท. ซึ่ง อปท. โดยส่วนใหญ่มีการสนับสนุนอุปกรณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวที่เพียงพอต่อการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยอยู่แล้ว
• ข้อจำกัดของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในการจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาให้ได้ตามแบบที่กำหนด
• ครูผู้ดูแลเด็กมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของเด็กปฐมวัยในการเล่นสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา
• การจัดประสบการณ์เรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัยต้องใช้การบูรณาการผ่านการเล่นอย่างหลากหลายการที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกำหนดแนวทางที่มีการเฉพาะเจาะจงไปยังสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา อาจไม่สอดคล้องกับหลักการในการจัดประสบการณ์ให้กับเด็กปฐมวัย
นายประจักษ์ บุญยัง ระบุว่า สำหรับข้อเสนอแนะ ของ สตง. นั้น เพื่อให้การดำเนินโครงการฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีข้อเสนอแนะให้ท้องถิ่นจังหวัดสุพรรณบุรี พิจารณาดำเนินการดังนี้
1. แจ้งให้อปท. ที่มีการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ตรวจสอบสภาพการใช้งานของฐานการเล่นต่าง ๆ ของสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา และมีการดูแลบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
2. เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาปฐมวัยของ อปท. ที่มีการดำเนินโครงการฯ ให้เห็นความสำคัญของการเสริมสร้างประสบการณ์ให้กับเด็กปฐมวัยผ่านการเล่น ตามธรรมชาติที่เหมาะสมกับช่วงวัยโดยประยุกต์ใช้วัสดุอุปกรณ์ หรือ เครื่องเล่นเด็กและสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาที่มีอยู่ให้มีความหลากหลายในการกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยให้เกิดพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน
3. ติดตามประเมินผลการใช้ประโยชน์จากสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ดำเนินการไปแล้วอย่างต่อเนื่อง ให้ทราบถึงปัญหา อุปสรรค ในการดำเนินการฯ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นประกอบการพิจารณาปรับปรุงการดำเนินโครงการฯ ในระยะต่อไปให้เหมาะสม
ส่วนข้อเสนอแนะสำหรับโครงการฯ ที่จะดำเนินการในโอกาสต่อไป
1. สั่งการให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของเอกสารประกอบการขอรับการสนับสนุนงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ เพื่อดำเนินโครงการฯ ของ อปท. ที่จะดำเนินการในโอกาสต่อไป โดยเฉพาะในส่วนของสถานที่จะต้องหาสถานที่ที่เหมาะสม สามารถสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ โดยไม่เกิดปัญหาการส่งคืนเงินงบประมาณ
2. สั่งการให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบสำรวจว่า อปท. ที่ขอรับงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจเพื่อสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา มีอุปกรณ์เครื่องเล่นอื่นเพียงพอและเหมาะสมต่อการเล่นของเด็กปฐมวัยอยู่แล้วหรือไม่ เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณเกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นไปตามความต้องการของท้องถิ่นอย่างแท้จริง
3. ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดของการดำเนินโครงการฯ ที่ชัดเจนให้กับ อปท. เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามโครงการฯ โดยคำนึงถึงความครบถ้วน ถูกต้อง ของจำนวนฐานการเล่นและขนาดของฐานการเล่นที่ต้องสร้างให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในคู่มือฯ
4. การขอรับการสนับสนุนงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจเพื่อดำเนินโครงการฯ ของ อปท. ที่จะดำเนินการในโอกาสต่อไป ควรปรับเพิ่มหัวข้อในแบบคำขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อสำรวจว่าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีเครื่องเล่นกลางแจ้งที่มีลักษณะการเล่นใกล์เคียงกับฐานการเล่นของสนามเด็กเล่นสร้างปัญหาอยู่อยู่แล้วหรือไม่ เพื่อมิให้การสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาเกิดความซ้ำซ้อน สร้างแล้วไม่เกิดประสิทธิผลตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ
ในส่วนการแจ้งผลการตรวจสอบนั้น สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดสุพรรณบุรีได้แจ้งผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 3 (จังหวัดนครปฐม) รับทราบโดยมีผลการดำเนินการโดยสรุปดังนี้
1. สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดสุพรรณบุรี ที่รับผิดชอบการขอรับการสนับสนุนการดำเนินโครงการฯ ตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของเอกสารประกอบการขอรับสนับสนุนงบประมาณของ อปท. และดำเนินการสำรวจข้อมูล อปท. ที่ขอรับการสนับสนุนว่ามีอุปกรณ์เครื่องเล่นอื่นที่เพียงพอและเหมาะสมอยู่ก่อนแล้วหรือไม่
2. สั่งการถึงสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอ ทุกอำเภอ ให้แจ้ง อปท. ดำเนินการดังนี้
2.1.กรณี อปท. ที่มีการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาในพื้นที่แล้ว
• ดูแลบำรุงรักษาฐานการเล่นต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายกับเด็กปฐมวัย
• เสริมสร้างความรู้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวข้อง ให้มีการใช้สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาในการเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัย
2.2.กรณีอปท. ที่มีความประสงค์จะขอรับการสนับสนุนงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจตามโครงการต้องทำความเข้าใจรายละเอียดและแนวคิดในการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา รวมทั้งคำนึงถึงความครบถ้วน ถูกต้องของจำนวนฐานการเล่นและขนาดของฐานการเล่นที่ต้องสร้างให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในคู่มือฯ
3. มีหนังสือถึง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเพื่อส่งข้อเสนอแนะในประเด็นการขอรับการสนับสนุนงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ เพื่อดำเนินโครงการฯ ของ อปท. ที่จะดำเนินการในโอกาสต่อไป ควรปรับเพิ่มหัวข้อในแบบคำขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อสำรวจว่าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีเครื่องเล่นกลางแจ้งที่มีลักษณะการเล่นใกล้เคียงกับฐานการเล่นของสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาแล้วหรือไม่ เพื่อมิให้การสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาเกิดความซ้ำซ้อนสร้างแล้วไม่เกิดประสิทธิผลตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ เพื่อให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นทราบ และพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ผู้ว่าฯ สตง. ยังระบุด้วยว่า ขณะที่การติดตามการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สตภ.3 รายงานว่า ณ ปัจจุบัน ยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งผลการดำเนินการ ซึ่งจะได้ติดตามผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะต่อไป
"รายงานผลการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงาน โครงการส่งเสริมการเรียนรู้เด็กปฐมวัยท้องถิ่นไทย ผ่านการเล่น (สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา) เป็นงานตรวจสอบตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ2564 ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 3 (จังหวัดนครปฐม) แม้ว่าจะเป็นการตรวจสอบในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีเพียงแห่งเดียว แต่ผลการตรวจสอบสามารถนำเสนอข้อบกพร่องของการดำเนินงานที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาความซ้ำซ้อน ความไม่เหมาะสมของขนาดของฐานการเล่นกับขนาดของเด็กปฐมวัย อันเป็นผลทำให้การใช้ประโยชน์เป็นไปอย่างไม่คุ้มค่า ซึ่งปัญหาเช่นนี้อาจเกิดขึ้นกับการดำเนินโครงการฯ ในพื้นที่อื่นๆ ที่มีการดำเนินการทั่วประเทศการแจ้งผลการตรวจสอบไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จะนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขการดำเนินโครงการฯในภาพรวมในระยะต่อไปให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ซึ่งสตง. จะนำแนวทางการตรวจสอบของสุพรรณบุรีไปใช้ขยายผลทั่วประเทศด้วย" ผู้ว่าฯ สตง. ระบุ
อ่านประกอบ :
- ซ้ำซ้อนไม่คุ้มค่า! สตง.ชำแหละ 'สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา' สุพรรณ ละเลงงบ-เสริมพัฒนาการน้อย
- ไม่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัย! สตง.ชำแหละ 'สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา' สุพรรณ ละเลงงบ (2)
- ชำแหละต้นทุน 'สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา' แห่งละ 1.7 แสน ก่อน สตง.สุ่มเจอปัญหาสุพรรณเพียบ
- สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา อบต.นาเลิง ร้อยเอ็ด ใช้วิธีเจาะจงจ้าง หจก. รองบสนับสนุน1.69 แสน
- เพิ่งรู้ข้อกำหนด! อบต.นาเลิง สั่งยกเลิกจ้าง หจก.ทำสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาแล้ว