“..ถ้าต้องเลือกจริงๆ ก็อยากจะโฟกัสที่สอน อบรมให้น้อยลงก็จะดี ส่วนพวกงานเอกสาร ถ้าเป็นประจำชั้น ก็คงต้องเป็นครูประจำชั้นทำเอง การจ้างบุคลากร อาจไม่ตรงจุดเท่าไหร่ แต่สิ่งที่อย่างให้ลดคือ พวกการสำรวจต่างๆ อยากให้สำรวจแค่เท่าที่จำเป็น บางงานที่มาแบบเร่งด่วน สำรวจแล้ว ก็ไม่ได้มีการแก้ปัญหาอะไร ทำให้เป็นภาระครูมากยิ่งขึ้น บางทีอาจทำให้มีปัญหากับผู้ปกครองบางคน ที่คุยยากๆ เวลาเราโทรหรือไลน์ไปสอบถามข้อมูล แล้วผู้ปกครองบางคนก็ไม่ให้ความร่วมมือ..”
เมื่อเร็วๆ นี้ ในสังคมออนไลน์เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นวงกว้าง ทำให้สังคมตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นในระบบการศึกษา หรือกับครูกันแน่?
หลังเพจเฟซบุ๊ก Dynamic School Thailand ได้โพสต์ภาพเอกสารขอลาออกของคุณครูท่านหนึ่งที่ระบุเหตุผลของการลาออกไว้ 2 ข้อ โดยยื่นหนังสือลาออกเมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา และให้มีผลวันที่ 10 ธ.ค.นี้
-
ไม่เห็นด้วยกับการให้ครูทำเอกสาร ประเมิน ประกัน ประกวด สำรวจข้อมูล ที่มากเกินความจำเป็นและไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเรียนการสอนเท่าที่ควร ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองแรงกาย แรงใจ ทรัพยากร เปลืองเวลา และงบประมาณโดยไม่มีเหตุจำเป็น หลายครั้งกระทบเวลาที่ควรเตรียมการสอน ตลอดจนเวลาส่วนตัวที่ควรมีให้ครอบครัว เพราะครูก็มีลูกที่ต้องกลับไปอบรมดูแลสั่งสอนเช่นเดียวกัน
-
สถานการณ์โควิดที่ผ่านมาการสอนออนไลน์ที่ต้องอาศัยทั้งความพร้อมและความร่วมมือจากเด็กและผู้ปกครองเป็นเรื่องยาก ข้าพเจ้าไม่สามารถปฏิบัติการสอนให้ได้ผลสำเร็จ คุ้มค่ากับเงินภาษีที่จ่ายเป็นเงินเดือนได้ ทั้งไม่มีความหวังที่แน่นอน ว่าจะสามารถเปิดเรียนได้ตามปกติได้อย่างต่อเนื่องแท้จริงเมื่อใด จึงขอลาออก เพื่อให้คนที่มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมกว่า เข้ามาปฏิบัติติหน้าที่แทน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้ติดต่อพูดคุยกับ ครูวิชาคอมพิวเตอร์ โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรสาคร ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่า ครู นอกจากภาระหน้าที่หลัก คือ การสอนหนังสือให้กับนักเรียนแล้ว ยังมีภาระงานอื่นๆ นอกเหนือจากการสอน ดังนี้
-
งานดูแลเอกสารนักเรียนประจำชั้น ที่ต้องทำเอกสารต่างๆ เช่น สมุดพก เอกสารเยี่ยมบ้าน งานปัจจัยพื้นฐาน และอื่นๆโดยจะต้องทำทุกปี และในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ต้องปรับการเรียนเป็นรูปแบบออนไลน์ เอกสารก็ยิ่งเยอะมากขึ้น เพราะต้องทำเอกสารเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นหลักฐานต่างๆ รวมไปถึงการสำรวจต่างๆ ที่ค่อนข้างกะทันหัน ตลอดจนการติดต่อสื่อสารกับผู้ปกครอง และนักเรียนที่ค่อนข้างมีความหลากหลาย
-
งานที่ได้รับมอบหมายตามคำสั่ง เช่น งานจัดสถานที่ รายรับรายจ่าย เบิกงบประมาณ เป็นต้น แล้วแต่เนื้องานที่ได้รับมอบหมาย
-
งานประเมิน ซึ่งขณะนี้ครูทุกคนจะต้องทำข้อตกลงร่วมกับผู้บริหารเพื่อคงวิทยฐานะทุกปี
-
การประชุม หรืออบรมต่างๆ ที่ต้องเข้าร่วม
ครูคอมพิวเตอร์ท่านนี้ เล่าถึงภาระงานที่ตนรับผิดชอบว่า นอกจากงานประจำชั้น งานโครงการ ICT และงานสอน โดยที่โรงเรียน มีครูสอนวิชาคอมพิวเตอร์แค่ 1 คน จึงต้องรับผิดชอบสอนทุกระดับชั้น ตั้งชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 และมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ซึ่งต้องเตรียมการสอนค่อนข้างหลายห้อง
อีกทั้ง ในการสอนออนไลน์ ที่ทำให้การติดตามงานค่อนข้างยาก และต้องเตรียมบทเรียน สื่อการสอนที่มากขึ้นกว่าเดิม เพราะกลัวเด็กนักเรียนจะเรียนไม่เข้าใจ
ส่วนตอนนี้ โรงเรียนเปิดเทอมแล้ว โดยที่โรงเรียนจะเปิดให้นักเรียนระดับมัธยม มาเรียนแบบ on-site ส่วนระดับประถมศึกษา ยังคงให้เรียนออนไลน์ ทำให้ต้องสอนทั้ง 2 รูปแบบ และ ในระดับชั้นมัธยม นักเรียนไม่ได้มาเรียนที่โรงเรียนทุกคน ทำให้เมื่อสอนนักเรียนที่โรงเรียนแล้ว ก็ยังต้องสอนออนไลน์ควบคู่ด้วยอยู่ดี เท่ากับงานหนักมากขึ้น
สำหรับผลกระทบที่ตามมา ครูท่านนี้ เปิดเผยว่า บางครั้งงานที่รับมอบหมาย ก็เกินเวลาล่วงเวลาคาบสอน ทำให้ต้องฝากคาบสอนกับครูท่านอื่น ซึ่งผลกระทบดังกล่าว ส่งผลต่อนักเรียนโดยตรง
“ถ้าต้องเลือกจริงๆ ก็อยากจะโฟกัสที่สอน อบรมให้น้อยลงก็จะดี ส่วนพวกงานเอกสาร ถ้าเป็นประจำชั้น ก็คงต้องเป็นครูประจำชั้นทำเอง การจ้างบุคลากร อาจไม่ตรงจุดเท่าไหร่ แต่สิ่งที่อย่างให้ลดคือ พวกการสำรวจต่างๆ อยากให้สำรวจแค่เท่าที่จำเป็น บางงานที่มาแบบเร่งด่วน สำรวจแล้ว ก็ไม่ได้มีการแก้ปัญหาอะไร ทำให้เป็นภาระครูมากยิ่งขึ้น บางทีอาจทำให้มีปัญหากับผู้ปกครองบางคน ที่คุยยากๆ เวลาเราโทรหรือไลน์ไปสอบถามข้อมูล แล้วผู้ปกครองบางคนก็ไม่ให้ความร่วมมือ”
สำหรับเรื่องเงินเดือนที่เกี่ยวข้องกับการประเมินวิทยาฐานะ ทำให้ครูสอนได้ไม่เต็มที่ ครูท่านนี้ กล่าวว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกัน เพราะในปัจจุบันต้องประเมินทุกปี เพื่อให้คงวิทยฐานะ เหมือน ทำให้ครูต้องมุ่งเก็บผลงานให้ครบด้าน
เมื่อถามว่าคิดเห็นอย่างไรกับ ‘เพราะครูรุ่นใหม่ไม่อดทน’ ครูท่านนี้ กล่าวว่า คิดว่าไม่จริง ยิ่งครูเด็กๆ งานยิ่งเยอะ อีกทั้งยังต้องช่วยรับภาระงานของครูท่านอื่นๆ ในโรงเรียนอีก บางครั้งอาจจะต้องทำงานที่ไม่ใช่งานของตัวเอง จนบางทีไม่มีเวลาทำงานตัวเองด้วยซ้ำ
นายธนวรรธน์ สุวรรณปาล หรือ ครูทิว ตัวแทนจากกลุ่ม ครูขอสอน กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จนเกิดการรวมตัวติดแฮชแท็ก #ทำไมครูไทยอยากลาออก ในทวิตเตอร์ที่พุ่งติดอันดับ 1 ของประเทศไทย และเปิดวงเสวนาพูดคุยในคลับเฮ้าส์ ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น ส่วนครูที่ออกมาพูดสะท้อนปัญหาที่พบเจอ ก็ไม่ได้หมายถึงครูทุกคนอยากลาออก แต่ก็ไม่ได้อยากจะทนอยู่กับปัญหา สถานการณ์ที่เป็นอยู่
“หรือแม้แต่กลุ่ม 'ครูขอสอน' ที่เคลื่อนไหวมาตลอด2-3 ปี เหตุผลที่เคลื่อนไหว ก็คือสิ่งที่ทุกคนออกพูดนี่แหละ เป็นสิ่งที่ไม่ใช้เพิ่งเกิดตอนที่เราตั้งกลุ่ม แต่เป็นสิ่งที่สั่งสมมานานแล้ว แต่ด้วยบริบทสังคม และสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นตัวเร่ง ทำให้ครูออกมาส่งเสียงกันมากขึ้น”
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ปัญหาที่ครูกำลังเผชิญอยู่ หรือเรียกว่าสิ่งที่ขาดหายไป 3 อย่าง หรือ 3A ประกอบด้วย
1) Academic ความเป็นวิชาการของงานครูที่ขาดหายไป เนื่องจากครูจะต้องไปทำงานอื่นๆ เช่น งานเอกสาร งานพัสดุ ส่วนที่อ้างว่าแต่ก็มีผลงานจากการประเมินที่ผ่านมา นั่นเป็นผลงานตามนโยบายเท่านั้น อาจจะไม่ใช่ผลงานที่จับต้องได้ หรือนำมาใช้ได้จริง ส่วนการแก้ไข คือ กระจายอำนาจ กระจายทรัพยากร ปรับโครงสร้างใหม่
“มีคนบอกว่ากระทรวงศึกษาธิการได้งบประมาณเยอะสุด โดย 62% เป็นงบบุคลากร ประเด็นก็คือ คำว่าเยอะที่สุดมันพอแล้วหรือยัง หรือไปอยู่ตรงไหนที่ควรจะมาอยู่ตรงนี้”
2) Accountability ความรับผิดชอบที่ขาดหายไป การประเมินผลการสอน จำเป็นต้องมีคุณภาพมากกว่านี้ เนื่องจากการประเมินเป็นเรื่องสำคัญทางการศึกษา เมื่อผลลัพธ์การเรียนรู้ออกมาอย่าง หรือเมื่อครูต้องเผชิญปัญหาในการทำงาน ควรที่จะมีคนเข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือ
โดยแนวทางการแก้ไข ควรจะต้องไปปรับเปลี่ยนข้อบังคับที่จะมาปลดล็อก ให้มีบุคลากรฝ่ายสนับสนุน ให้มีบุคคลากรครบถ้วนทุกระดับชั้น ทุกวิชา ตัวอย่างที่ผ่าน จะเจอปัญหา เช่น ขาดฝ่ายการเงิน ก็บรรจุครูผู้ช่วยสอนฝ่ายการเงิน ก็รับหน้าที่ทั้งการสอนและงานเงิน มันก็เป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด
3) Authority การขาดอิสระในอำนาจการตัดสินใจของโรงเรียน แม้ว่าจะมีการระบุว่า ใน พ.ร.บ.การศึกษาฯ ว่า โรงเรียนมีอำนาจอิสระในการตัดสินใจ แต่แท้จริงแล้ว ต้องกลับมามองว่าทรัพยากร งบประมาณได้ถูกจัดสรรหรือกระจายให้อย่างทั่วถึงหรือเต็มที่แล้วหรือไม่ ถ้ายังไม่ครบถ้วน กลไกอำนาจรัฐที่จะต้องจัดสรรให้ทั่วถึงเท่าเทียมหายไปไหน?
“การให้อำนาจโรงเรียนมีตัดสินใจ แต่ไม่ให้ทรัพยากร งบประมาณ ไม่ให้บุคคลกร โรงเรียนจะทำได้อย่างไง สุดท้ายแล้วภาระหน้าที่ก็ตกอยู่ที่ครู ด้วยวิธีคิดแบบเสรีนิยมใหม่ ที่ทำทุกอย่างเป็นเรื่องปัจเจก ว่าจะต้องบริหารจัดการทุกอย่างภายใต้ข้อจำกัดให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ทำให้ตกกลายเป็นภาระครู ครูเลยต้องแบกรับ พอทำไม่ได้ ครูก็ตกเป็นจำเลย”
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา นายธรวรรน์ กล่าวว่า จะต้อองมีกลไกบางอย่างในการปกป้องสิทธิของครู อาจจะต้องเป็นการรวมตัวกัน อย่างเช่น ในต่างประเทศที่มีการรวมตัวกันที่เรียกว่า สหภาพครู ที่รวมตัวกันแล้ว ทำให้มีอำนาจต่อรองกับอำนาจที่ไม่เป็นธรรม โดยในสหภาพครู ก็จะมีนักกฎหมาย สำหรับสนับสนุนช่วยเหลือเวลาที่ครูเกิดปัญหาด้วย
นายธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่า นอกเหนือจากเรื่องระบบโครงสร้าง การจำกัดของทรัพยากรที่เป็นปัญหาแล้ว สังคมไทย ยังมีเรื่องของวาทกรรม เช่น ครูคือผู้เสียสละ พระคุณที่ 3 ครูคือพ่อแม่คนที่ 2 ครูคือผู้ให้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่เมื่อรู้ไม่เท่าทัน จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือกดทับครู เช่น เมื่อครูตั้งคำถาม จะมีคนบางกลุ่มพูดขึ้นมาว่าทำไมครูไม่อดทน เป็นต้น ซึ่งเป็นวิธีคิดที่อันตราย
ซึ่งกลุ่มที่พูดเช่นนั้น แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ไม่รับรู้ถึงปัญหาของครู และกลุ่มที่รับรู้ และอยู่ในระบบครูเช่นเดียวกัน แต่เป็นคนที่ได้ประโยชน์จากโครงสร้างอันบิดเบี้ยวนี้แล้ว ทำให้พูดได้เพราะว่ามีคนเข้ามาอยู่ได้ใต้อำนาจให้กดขี่แล้ว ลอยตัวแล้ว
เมื่อวิธีคิดนี้ถูกปลูกฝังจนทำให้เป็นเรื่องเคยชิน ไม่ว่าจะผู้บริหารทั้งในกระทรวงศึกษา และในโรงเรียนต่างที่พูดแบบนี้ มองว่า ‘ทำไมครูไม่อดทน คนอยากเป็นครูเยอะแยะ ถ้าไม่อยากเป็นก็ลาออกไปสิ เดี๋ยวก็เอาคนใหม่เข้ามาแทนก็ได้’ เป็นวิธีคิดที่มองครูเป็นแค่ฟันเฟืองในกลไกเท่านั้น ถ้าเฟืองตัวนี้ไม่หมุน เฟืองตัวนี้ตั้งคำถาม ก็เพียงแค่นำออกไป และหาเฟืองตัวใหม่มาใส่แทน
“คำถามคือ ครูบางคนที่ทำหน้าที่มา 5 ปี 10 ปี คุณค่าหรือประสบการณ์การเป็นครูที่สั่งสมมา ไม่ได้มีค่าเลยเหรอ หรือไม่ได้เป็นความเชี่ยวชาญชำนาญที่สำคัญเลยหรือ ถึงจะถูกนำมาแทนที่ได้ หรือจิตใจคุณค่าความเป็นมนุษย์ของครูและนักเรียน มันสามารถถอดเปลี่ยนใหม่ได้อย่างอะไหล่รถยนต์จริงๆ หรือ?”
นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จะเห็นกลุ่มนักเรียนออกมาประท้วงสะท้อนถึงปัญหาครู และปัญหระบบการศึกษาต่างๆ ซึ่งปัญหาครู ถือว่าเป็นรากของปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อนักเรียนโดยตรง เพราะทุกการกระทำของครูในการจัดการเรียนการสอน ทุกบทสนทนาล้วนส่งผล คุณค่า ค่านิยม วิธีคิดต่อผู้เรียน แต่ครูอยู่ในสังคมอำนาจนิยม ถูกกดทับ ทำให้ต้องจำยอมจำนน เช่น โดนกดดันว่าต้องการผลประเมินที่เป็นตัวเลข เป็นกระดาษเอกสาร เป็นชิ้นงานยิ่งใหญ่อลังการ แต่ไม่ได้ตอบโจทย์ผู้เรียน สุดท้ายแล้ว ครูก็ใช้วิธีเดียวกัน ใช้อำนาจเข้ามาควบคุม สั่งนักเรียน เพื่อให้ผลิตชิ้นงานออกมา ทำอะไรออกมาเพื่อที่ครูจะเอาไปตอบในแบบประเมินต่อไป ซึ่งส่งผลต่อวิธีคิด วิธีการสอนที่แสดงออกมาถึงนักเรียน
“ในระบบการทำงานที่มันไม่เป็นประชาธิปไตย ครูจะสร้างบรรยากาศหรือพื้นที่ในห้องเรียนที่เป็นประชาธิปไตย เป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นความสัมพันธ์แนวราบได้อย่างไร ในเมื่อสังคมครู หรือระบบการทำงานยังไม่เป็นแบบนั้น หรือครูที่พยามเปลี่ยนแปลง ก็จะต้องเจอกับแรงเสียดทานเป็นอย่างมาก”
นายธนวรรธน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในส่วนของเงินเดือนครูนั้น มีการปรับขึ้น แต่ขึ้นน้อย ตนรับราชการมา 6 ปี ตอนนี้เงินเดือน 22,000 บาท ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับเพื่อนรุ่นเดียวกันที่ทำงานเอกชน แต่ก็เป็นเงินเดือนมาตรฐานของราชการ
ส่วนถ้าถามว่า การขึ้นเงินเดือนให้ครูจะแก้ปัญหาทั้งหมดไหม ก็คงไม่ใช่ ถ้าขึ้นเงินเดือนแล้ว แต่ปัญหาเรื่องโครงสร้างระบบยังเป็นเหมือนเดิม ครูก็ยังไม่สามารถสอนได้เต็มที่ แต่ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะครูอาจจะไม่ต้องไปให้ความสำคัญที่จะเร่งทำวิทยฐานะ เพราะวิทยาะฐานมันไม่ใช่หน้าที่ครู ไม่ใช่เรื่องบังคับ เป็นสิทธิเฉยๆ ว่า ณ วันหนึ่งที่คุณมีความเชี่ยวชาญชำนาญแล้ว ต้องการที่จะทำเพื่อแบกรับภาระบางอย่าง เช่น ไปดูแลครูคนอื่นต่อ จากประสบการณ์ที่ได้สั่งสมมา 5-10 ปี
“ในต่างประเทศ เงินเดือนครูเริ่มต้นเยอะ แต่ขึ้นน้อย และขึ้นแค่ 10 ปี พอทำงานถึงช่วง 10 ปี เงินเดือนตัน เพราะว่าหลังจาก 10 ปีไปแล้ว ต้องเอาประสบการณ์ที่สั่งสมมาไปทำ Master/Professional ต่อ กลายเป็นตัวเลือกให้ว่า ถ้าอยากเติบโตก็ทำ แต่ในระหว่างทางก็สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวได้แล้ว ไม่ต้องรอว่า ต้องปากกัดตีนถีบ ต้องทำวิทยฐานะ ถ้าไม่ทำ เงินก็ไม่พอใช้ จึงเป็นเหตุผลที่ครูต้องดิ้นรนทำวิทยฐานะ กลายเป็นภาระ และไม่ตอบโจทย์ผู้เรียน ถ้าอยู่ได้ด้วยเงินเดือนครูที่สมเหตุสมผล วิทยาฐานะก็ไม่จำเป็นต้องทำก็ได้”
ทั้งหมดนี้คือ เสียงจากครูผู้อยู่ในระบบการศึกษาที่ออกมาสะท้อนถึงปัญหา และแนวทางแก้ไข ต้องติดตามต่อไปว่ากระทรวงศึกษาจะมีท่าทีอย่างไรกับปัญหานี้
นายธนวรรธน์ สุวรรณปาล
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage