“.. ทั้งหมดเป็นลำดับเหตุการณ์บางส่วนที่เกิดขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และเป็นที่น่าติดตามต่อไปว่าเป็นเรื่องราวของ “เก้าอี้อาถรรพ์” หรือมีการยื้อกระบวนการแต่งตั้ง อธิการบดี มสธ. ? ..”
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้รับทราบข้อมูลความคืบหน้าเกี่ยวกับการแต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) หลังจากเมื่อปี 2559 สภา มสธ.มีมติ 9 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ให้ถอดถอน รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ออกจากตำแหน่งอธิการบดี เนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา เนื่องจากใช้เวลาปฏิบัติราชการเข้ารับการศึกษาภายใต้หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) (อ่านประกอบ: ไม่เอกฉันท์! สภา มสธ. ถอดถอน 'นพ.ชัยเลิศ' พ้นอธิการบดี-ตั้ง 'รศ.สมจินต์' รักษาการ)
ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการเสนอขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีคนใหม่ โดยอ้างว่ามีคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด จึงยังไม่มีความชัดเจนและยังไม่ได้ข้อยุติทั้งเรื่องการถอดถอนและการแต่งตั้งอธิการบดี
และในช่วงเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมามีการ แต่งตั้งบุคคล “รักษาการแทนอธิการบดี” มาแล้ว 5 คน แต่ละคนดำรงตำแหน่งประมาณ 1 ปี และว่ากันว่าคนที่มีบทบาทในการนำเสนอให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งรักษาการอธิการบดี คือ “นายกสภามหาวิทยาลัย”
‘สภา มสธ.’ มีอำนาจตั้งอธิการบดี และเสนอขอโปรดเกล้าฯ
จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ศ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทำหนังสือถึงนายกสภามหาวิทยาลัย เพื่อขอหารือการดำเนินการเสนอขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดี มสธ. โดยระบุข้อหารือ 2 ประเด็น ดังนี้
-
กรณีการสรรหาอธิการบดี มีความเหมือนหรือแตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่น เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองและอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองหรือไม่ อย่างไร
-
สภามหาวิทยาลัยจะดำเนินการเสนอขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดี มสธ. โดยถูกต้องตามกฎหมายอย่างไร
อว.ขอเรียนว่า ข้อหารือดังกล่าว เป็นประเด็นปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องพิจารณาเพียงประเด็นเดียวว่า สภา มสธ.จะดำเนินการเสนอขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีโดยถูกต้องตามกฎหมายอย่างไร ทั้งนี้ เมื่อพิจารณา พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ.2521 มาตรา 15 กำหนดว่า “สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการ ทั่วไปของมหาวิทยาลัยและโดยเฉพาะมีอำนาจหน้าที่ พิจารณาแต่งตั้งและถอดถอนอธิการบดีและศาสตราจารย์ประจำ”
มารตรา 20 วรรคสอง กำหนดว่า “อธิการบดีจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งโดยคำแนะนำของสภามหาวิทยาลัยจากผู้ซึ่งได้รับปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งจากมหาวิทยาลัย หรือได้รับปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัย หรือสถานศึกษาชั้นสูงอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง”
จะเห็นว่า กฎหมายกำหนดให้สภามหาวิทยาลัย มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาแต่งตั้งอธิการบดี รวมถึงให้คำแนะนำเพื่อจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า อว.ได้มีหนังสือส่งคืนเรื่องเสนอขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีไปยังมหาวิทยาลัยแล้ว สภามหาวิทยาลัยย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการพิจารณาแต่งตั้งอธิการบดี และเสนอโปรดเกล้าฯ ตาม พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ.2563 มาตรา 15 (6) และ มาตรา 20 วรรคสอง และจะต้องดำเนินการเสนอขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดี ตามแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการเสนอขอโปรดเกล้าฯ ทั้งนี้ตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ที่ ศธ 0509 (5).7/ว293 ลงวันที่ 24 มีนาคม 2557
‘สภา มสธ.’มีมติถามอีกรอบ - ได้รับคำตอบไม่ครบ'
อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2564 ผศ.ดร.ธีรเดช มโนลีหกุล รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการสภามหาวิทยาลัย ในฐานะเลขานุการสภามหาวิทยาลัย ทำหนังสือถึง รศ.ดร.วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ ผู้ได้รับการสรรหาเป็นอธิการบดี มสธ. เพื่อแจ้งความคืบหน้าการดำเนินการเรื่องดังกล่าว
ระบุว่า ตามที่สภามหาวิทยาลัยได้ประชุมครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ได้พิจารณากรณีการขอหารือการเสนอโปรดเกล้านแต่งตั้งอธิการบดี เนื่องจากสภามหาวิทยาลัยได้เคยดำเนินการหารือเรื่องดังกล่าว กับ อว. และได้มีหนังสือขอทราบความคืบหน้าเรื่องดังกล่าวไปยังกระทรวงเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564
ต่อมา อว.มีหนังสือแจ้งการตอบรับข้อหารือให้ทางสภามหาวิทยาลัยได้พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
ทั้งนี้สภามหาวิทยาลัย พิจารณาแล้วเห็นว่า เนื่องจากยังไม่ได้รับทราบรายละเอียดตามประเด็นข้อหารือจาก อว. จึงมีมติให้ทำหนังสืออีกครั้ง โดยระบุประเด็นหารือที่ยังไม่ได้รับคำตอบกรณีแนวปฏิบัติที่ทางมหาวิทยาลัยได้เคยหารือไปแล้ว เพื่อให้ อว.ตอบข้อหารือ พร้อมให้เสนอเรื่องการดำเนินการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีฯ ต่อคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของสภามหาวิทยาลัยพิจารณาศึกษาวิเคราะห์ข้อเท็จจริงพร้อมให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อไป
ต่อมา รศ.ดร.วรรณธรรม ผู้ได้รับการสรรหาเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ทำหนังสือแจ้งนายกสภามหาวิทยาลัย โดยมีสาระสำคัญตอนหนึ่งระบุว่า เนื่องจากเลขานุการสภามหาวิทยาลัย ไม่ใช่ตัวแทนตามกฎหมายของสภามหาวิทยาลัย และเนื้อความในหนังสือแจ้ง มิได้อ้างถึงการได้รับมอบหมายหรือได้รับมอบอำนาจจากนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัย ประกอบกับมีการระบุข้อความในหนังสือว่า “ให้แจ้งการดำเนินการดังกล่าวให้ข้าพเจ้าทราบด้วย” ซึ่งมิได้ระบุว่าให้เลขานุการสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้แจ้ง
จึงขอให้นายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัย ทราบถึงหนังสือดังกล่าว หากมีผู้ใดประสงค์จะทักท้วง คัดค้านหรือมีความเห็นเป็นอย่างอื่น กรุณาแจ้งให้ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากพ้นกำหนดดังกล่าว จะถือว่าท่านได้ทราบการแจ้งความคืบหน้าการดำเนินการของสภามหาวิทยาลัยของเลขานุการสภาฯ และให้ความยินยอมและรับรองเนื้อหาของหนังสือการแจ้งความคืบหน้าดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ทำหนังสือแจ้งบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยให้รับทราบถึงความคืบหน้ากรณีการถอดถอนและการสรรหาอธิการบดี ซึ่งเป็นดำเนินการตามมติสภา มสธ. ครั้งที่ 11/2564 วันที่ 28 ตุลาคม 2564 มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
การถอดถอนอธิการบดี
9 มิถุนายน 2559 สภามหาวิทยาลัยได้มีมติถอดถอนอธิการบดีออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระ (กรณีของ รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย)
16 มิถุนายน 2559 รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง โดยอ้างว่า การถอดถอนผู้ฟ้องคดีออกจากตำแหน่งอธิการบดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีคำขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และคืนตำแหน่งอธิการบดีให้ตามเดิม และขอให้ศาลทุเลาการบังคับตามคำสั่งสภามหาวิทยาลัยได้ถอดถอนตำแหน่งอธิการบดีไว้ก่อน และขอให้ระงับการสรรหาอธิการดีไว้ก่อน
ซึ่งศาลปกครองกลาง ยกคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้ศาลมาคำสั่งทุเลาการบังคับ
17 ตุลาคม 2562 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งสภามหาวิทยาลัยเพิกถอนคำสั่งสภามหาวิทยาลัยที่ 9/2559 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2559 ที่ถอดถอนอธิการบดีออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระ
ส่วนในการประชุมสภามหาวิทยาลัยวันดังกล่าวที่มีมติถอดถอนอธิการบดีออกจากตำแหน่ง มีกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิท่านซึ่งมิได้เป็นกรรมการสภามหาวิทายลัย และไม่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาทางปกครองเข้าร่วมประชุม และร่วมลงมติในการประชุมของสภามหาวิทยาลัยด้วยจึงเสียไปทั้งหมด
โดยกรณีดังกล่าว สืบเนื่องมาจากกรณีที่มีกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิท่านหนึ่งได้แจ้งต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยครั้งที่ 9/2558 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2558 ว่า "ขออนุญาตยุติบทบาทและหน้าที่ และขออภัยที่ทำให้ต้องสรรหากรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิคนใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน"
ศาลเห็นว่า กรณีดังกล่าวถือว่ากรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิท่านนั้นได้แสดงเจตนาลาออกอย่างชัดแจ้งแล้ว และไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากนายกสภามหาวิทยาลัยก่อนแต่อย่างใด การลาออกจึงมีผลสมบูรณ์แล้วนับแต่วันที่ได้แสดงเจตนา
อย่างไรก็ตาม สภามหาวิทยาลัย ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น เพื่อสืบต่อกระบวนการทางกฎหมายของสภามหาวิทยาลัยชุดเดิม
ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างรอผลคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด จึงยังไม่ได้ข้อยุติว่าการถอดถอนอธิการบดีนั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
การสรรหาอธิการบดี
30 มิถุนายน 2559 ภายหลังสภามหาวิทยาลัยมามติถอดถอนอธิการบดีออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระ แต่ก่อนที่จะมีการนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงถอดถอน ตามมาตรา 20 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ.2521 มหาวิทยาลัยได้เสนอสภามหาวิทยาลัยให้มีการเริ่มกระบวนการสรรหาอธิการบดี โดยสภามหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้ลาออกไปแล้วนั้นเป็นประธานกรรมการสรรหาอธิการบดี ส่งผลให้การดำเนินการดังกล่าวอาจไม่ถูกต้องตามข้อบังคับมหาวิทยาลัย
แม้ต่อมาสภามหาวิทยาลัยจะมีมติเปลี่ยนแปลงประธานกรรมการสรรหาคนใหม่ ก็เป็นการทำหน้าที่ต่อจากกระบวนการเดิมที่ไสด้เริ่มไปแล้วหลายขั้นตอน หาใช่เป็นการเริ่มต้นกระบวนการสรรใหม่ตั้งแต่แรก
30 มีนาคม 2560 คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีเสนอรายชื่อผู้ดำรงตำแหน่งอธิการดีต่อสภามหาวิทยาลัย และวันที่ 31 ตุลาคม 2560 สภามหาวิทยาลัยมีมติเห็นชอบให้เสนอแต่งตั้งอธิการบดีคนใหม่ ต่อมาวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 มหาวิทยาลัยได้ส่งเรื่องเสนอขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.ในขณะนั้น) ตามขั้นตอนของกฎหมาย
4 เมษายน 2561 สกอ. มีหนังสือถึงนายกสภามหาวิทยาลัย แจ้งให้ทบทวนในประเด็นที่สรุปได้ว่า คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายได้เคยวินิจฉัยตีความว่า กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิได้พ้นจากตำแหน่งแล้วตั้งแต่วันที่ได้แสดงเจตนาลาออก คือ วันที่ 6 สิงหาคม 2558 แต่กรรมการดังกล่าวยังทำหน้าที่อยู่ต่อไป ทำให้เกิดปัญหาข้อกฎหมายว่า การดำเนินการใดๆ ภายหลังจากที่ลาออกไปแล้วนั้นชอบด้วยกฎหมายเหรือไม่ เช่น การร่วมลงมติถอดถอนอธิการบดีออกจากตำแหน่ง และการทำหน้าที่ประธานกรรมการสรรหาอธิการบดี ซึ่งประเด็นหนึ่งได้มีการยกขึ้นฟ้องร้องต่อศาลปกครองด้วย
รมว.ศึกษาธิการ ได้พิจารณาประเด็นดังกล่าวและเห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายประกอบความเห็นของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้บัญชาให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณาแก้ไขและทบทวนการถอดถอนอธิการบดีให้เป็นไปตามกฎหมาย รมว.ศึกษาธิการจึงได้มีข้อสั่งการให้ชะลอการเสนอขอโปรดเกล้าฯ ถอดถอนอธิการบดี และการเสนอขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดี และได้ส่งคืนเรื่องให้มหาวิทยาลัยดำเนินการต่อไป
25 ธันวาคม 2560 ผู้สมัครเข้ารับการสรรหาอธิการบดีและพวก ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางว่า กระบวนการสรรหาอธิการบดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลรับฟ้องเฉพาะผู้ฟ้องคดีที่หนึ่ง แต่มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีที่ 2 , 3 และ 4 และไม่รับคำขอให้ศาลกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องไว้พิจารณา
ต่อมาศาลปกครองกลางมีคำพาพกษายกฟ้องเนื่องจากมิใช่ผู้เสียหายในคดี
ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดียื่นอุทธรณ์ว่า สถานะของกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้ลาออกไปแล้ว มาเป็นกรรมการสรรหาอธิการบดี จึงทำให้กระบวนการสรรหาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกับคดีการถอดถอนอธิการบดี
ปัจจุบัน คดีอยู่ระหว่างรอผลคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด จึงยังไม่ได้ข้อยติว่า การสรรหาอธิการบดีนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
การเสนอขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดี
การถอดถอนและการสรรหาอธิการบดีได้มีการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด จึงยังไม่ได้ข้อยุติว่ากระบวนการที่ดำเนินการไปแล้วนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงคดีถอดถอนและการสรรหาอธิการบดี ศาลมีคำสั่งไม่คุ้มครองชั่วคราวทั้งสองคดี ข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญในคดีเป็นเรื่องเดียวกัน คือ สถานะของกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้แสดงเจตนาลาออกไปแล้ว ทำให้มีมติที่ท่านได้เข้าร่วมพิจารณาเสียไปทั้งหมด
ทำให้เมื่อทบทวนแนวปฏิบัติของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ได้อ้างถึงข้างต้นจะเห็นได้ว่า แนวปฏิบัติดังกล่าวอยู่ภายใต้แนวปฏิบัติที่กำหนดในหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นร 0508/ว 101 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561
กำหนดว่า การนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระมหากรุณา ส่วนราชการจะต้องตรวจสอบให้ได้ข้อยุติเสียก่อนว่าการดำเนินการในเรื่องนั้นๆ ถูกต้องตามกฎหมายระเบียบ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์หรือแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง และเรื่องที่เสนอต้องไม่เป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องต่อศาล อันเป็นเหตุให้ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เมื่อส่วนราชการได้พิจารณาเรื่องที่จะต้องเสนอฯ ตามแนวปฏิบัติข้างต้นแล้ว จึงจะสามารถส่งเรื่องเพื่อขอให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีดำเนินการนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระมหากรุณาได้
สภามหาวิทยาลัยเห็นว่ายังไม่มีความชัดเจนและยังไม่ได้ข้อยุติทั้งเรื่องการถอดถอนและการแต่งตั้งอธิการบดึ จึงเห็นควรให้รอผลคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดทั้งสองคดีที่ถึงที่สุดและให้ได้ข้อยุติเสียก่อน จึงจะสามารถพิจารณาดำเนินการเสนอเรื่องเพื่อขอพระราชทานพระมหากรุณาการเสนอขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีตามแนวปฏิบัติดังกล่าวได้
5 ปีตั้งรักษาการอธิการบดีแล้ว 5 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ภายหลังสภา มสธ.มีมติเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2559 ถอดถอน รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ออกจากตำแหน่งอธิการบดี มสธ. จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลารวมกว่า 5 ปี
มสธ.ได้แต่งตั้งบุคคล “รักษาการแทนอธิการบดี” มาแล้ว 5 คน ดังนี้
-
รศ.ดร.สมจินต์ สันถวรักษ์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการแทนอธิการบดี ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2559 - 24 มีนาคม 2560
-
รศ.ดร.ภาณุมาศ ขัดเงางาม กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้แทนสภาวิชาการ รักษาการแทนอธิการบดี ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2560 - 22 มีนาคม 2561
-
ศ.ดร.ประสาท สืบค้า กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการแทนอธิการบดี ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2561 - 4 ตุลาคม 2563
-
รศ.ดร.ปราณี สังขะตะวรรธน์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการแทนอธิการบดี ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2563 - 30 กันยายน 2564
-
รศ.ดร.มานิตย์ จุมปา กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการแทนอธิการบดี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน
ทั้งหมดเป็นลำดับเหตุการณ์บางส่วนที่เกิดขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และเป็นที่น่าติดตามต่อไปว่าเป็นเรื่องราวของ “เก้าอี้อาถรรพ์” หรือมีการยื้อกระบวนการแต่งตั้ง อธิการบดี มสธ. ?
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage