"...จากการตรวจสอบฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐ พบว่า ในช่วงปลายปี 2563 -2564 มี อปท.หลายแห่งที่มีการจัดประกวดราคาจ้างก่อสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา โดยใช้วิธีการเจาะจง ตั้งวงเงินงบประมาณเกิน 1.7 แสนบาทขึ้นไป อปท. บางแห่งในพื้นที่ภาคใต้ ใช้วิธีการประกวดราคาจ้างก่อสร้างงาน กำหนดวงเงินงบประมาณสูงถึง 1.8 ล้านบาทด้วย ..."
ประเด็นตรวจสอบผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เด็กปฐมวัย ท้องถิ่นไทย ผ่านการเล่น หรือที่เรียกว่า "สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา" ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณของ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แห่งละ 170,000 บาท ทั่วประเทศ ในส่วนของพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 53 แห่ง ที่ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 3 (จังหวัดนครปฐม) เข้าทำการสุ่มตรวจและพบว่ามีปัญหาในการดำเนินงานสำคัญหลายประการ
ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำข้อมูลเชิงลึกมานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้วนั้น
- ซ้ำซ้อนไม่คุ้มค่า! สตง.ชำแหละ 'สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา' สุพรรณ ละเลงงบ-เสริมพัฒนาการน้อย
- ไม่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัย! สตง.ชำแหละ 'สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา' สุพรรณ ละเลงงบ (2)
- ชำแหละต้นทุน 'สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา' แห่งละ 1.7 แสน ก่อน สตง.สุ่มเจอปัญหาสุพรรณเพียบ
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากแหล่งข่าวในจังหวัดสุพรรณบุรี ว่า เกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการฯ นี้ ตามข้อเสนอแนะของ สตง.นั้น จังหวัดสุพรรณบุรี ได้รับทราบเรื่องนี้และมีการทำหนังสือแจ้งเวียนให้ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอ ทุกอำเภอ ดำเนินการใน 2 ส่วนหลัก คือ
1. ตรวจสอบสภาพการใช้งานของฐานการเล่นต่าง ๆ ของสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ให้มีความแข็งแรงและปลอดภัย รวมทั้งให้มีการดำเนินการดูแลบำรุงรักษาฐานการเล่นต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายกับเด็กปฐมวัย
2. เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาปฐมวัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เห็นความสำคัญของการเสริมสร้างประสบการณ์ให้กับเด็กปฐมวัยผ่านการเล่นตามธรรมชาติที่เหมาะสมกับช่วงวัย โดยประยุกต์ใช้วัสดุอุปกรณ์ หรือเครื่องเล่นเด็กและสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาที่มีอยู่ให้มีความหลากหลายในการกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยให้เกิดพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน
พร้อม ให้สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอรายงานผลการดำเนินการดังกล่าวขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้จังหวัดสุพรรณบุรีทราบภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมาด้วย (ดูเอกสารประกอบ)
ขณะที่แหล่งข่าวจากจังหวัดสุพรรณบุรี ให้ข้อมูลยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า ผลตรวจสอบการดำเนินงานโครงการสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลออกมาในขณะนี้ เป็นการสุ่มตรวจที่มุ่งเน้นเรื่องประสิทธิภาพประสิทธิผลในการดำเนินงานโครงการฯ นี้ ของ อปท.เป็นหลัก ส่วนจะมีการขยายผลตรวจสอบไปในเรื่องการใช้จ่ายเงินงบประมาณ และขยายผลการตรวจสอบไปยังพื้นที่อื่น ๆ หรือไม่ ขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้บริหาร สตง. ว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไรต่อไป
"รูปแบบการดำเนินงานโครงการฯ นี้ ไม่ใช่การจัดซื้อจัดจ้างเหมือนโครงการก่อสร้างส่วนอื่น ๆ เพราะเป็นเรื่องการสนับสนุนเงินงบประมาณให้กับ อปท. นำไปใช้ในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์แล้วให้คนในชุมชนช่วยกันจัดสร้างสนามเด็กเล่นจำนวน 4 ฐาน ตามแบบที่กำหนดไว้แล้วเท่านั้น " แหล่งข่าวระบุ
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า สำหรับข้อมูลที่ สตง. สั่งการให้ อปท.ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ดำเนินการงานโครงการฯ นี้ นำส่งมาแล้ว ประกอบด้วย สำเนาเอกสารแจ้งการขอรับเงินหรือไม่ขอรับเงินอุดหนุนเฉพาะกิจสำหรับดำเนินการโครงการสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ที่มาโครงการ ความต้องการ ใบแจ้งจัดสรรเงินงบประมาณ สำเนาฏีกาการจัดซื้อวัสดุสำหรับการก่อสร้างทุกฎีกา สำเนาโฉนดที่ดิน หนังสือยินยอมอนุญาตให้ใช้พื้นที่ก่อสร้างสนาม สำเนาแบบแปลนการก่อสร้าง สำเนาประมาณการจัดซื้อวัสดุเพื่อมาก่อสร้างสนาม สำเนารายงานผลการดำเนินการก่อสร้าง สำเนาคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานด้านการดูแลรับผิดชอบอุปกรณ์และเครื่องเล่นสนามเด็กเล่นเป็นต้น
สำนักข่าวอิศรา รายงานเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐ พบว่า ในช่วงปลายปี 2563 -2564 มี อปท.หลายแห่งที่มีการจัดประกวดราคาจ้างก่อสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา โดยใช้วิธีการเจาะจง ตั้งวงเงินงบประมาณเกิน 1.7 แสนบาทขึ้นไป
อปท. บางแห่งในพื้นที่ภาคใต้ ใช้วิธีการประกวดราคาจ้างก่อสร้างงาน กำหนดวงเงินงบประมาณสูงถึง 1.8 ล้านบาทด้วย
รายละเอียดเป็นอย่างไร สำนักข่าวอิศรา จะนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage