“..โดยทุกโรงเรียนที่เปิดให้เรียนที่โรงเรียนจะต้องผ่านการประเมินความพร้อมและปฏิบัติตามมาตรการ Sandbox : Safety Zone in School ที่ ศบค.และกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดทั้ง 4 ด้านแล้ว ได้แก่ ด้านกายภาพ ด้านการมีส่วนร่วม ด้านการประเมินความพร้อมสู่การปฏิบัติ และด้านการดำเนินการของโรงเรียน..”
ครบ 1 สัปดาห์ หลังจากการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้โรงเรียนสามารถเปิดเรียนที่โรงเรียน หรือ 'ออนไซต์ (On-site)' เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 แต่ทั้งนี้พบว่าสถาการณ์ในหลายพื้นที่ยังพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน เด็กนักเรียนติดเชื้อโควิด-19 ต้องทำให้ เลื่อนการเปิดเทอม รวมทั้งปิดกั้นพื้นที่ เพื่อป้องกันการระบาด
แม้ว่าการเปิดเทอมที่โรงเรียนในครั้งนี้ โรงเรียนจำเป็นจะต้องผ่านการประเมิน ได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และกระทรวงศึกษาธิการ และปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด พร้อมจัดเตรียมแผนเผชิญเหตุ เพื่อความปลอดภัยของทั้งนักเรียนและครู รวมถึงผู้ปกครองด้วยเช่นกัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมสถานการณ์การเปิดเรียนในรูปแบบออนไซต์ จนนำไปสู่การพบ 'คลัสเตอร์โรงเรียน' มีรายละเอียด ดังนี้
คลัสเตอร์ฟันน้ำนม ติดเชื้อ 7 ราย ที่ร้อยเอ็ด
เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2564 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น 36 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 12,550 ราย รักษาหายเพิ่ม 20 ราย กำลังรักษาอยู่ 285 ราย เสียชีวิตสะสม 107 ราย ซึ่งผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่เดินทางมาจากต่างจังหวัด 9 ราย และเป็นผู้ติดเชื้อภายในจังหวัดร้อยเอ็ด 27 ราย
โดยพบการติดเชื้อในอำเภอโพธิ์ชัยถึง 7 ราย ในโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่ง (คลัสเตอร์ฟันน้ำนม) หลังการทดสอบการเปิดเทอมแบบ on site ในชั้นอนุบาล โดยพบว่า มีผู้ติดเชื้อ 7 คน เป็นเด็กนักเรียน ชั้นอนุบาล 2 คน ครู 2 คน โดยเด็กนักเรียนวัย 5 ขวบ
สำหรับผู้ติดเชื้อคนแรก มีประวัติการเดินทางไปหายาย ซึ่งเป็นผู้ป่วยยืนยันที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ตั้งแต่วันที่ 22- 24 ต.ค. 2564 ก่อนที่กลับมาเรียน จนเกิดการแพร่เชื้อ ติดเพื่อนและครูประจำชั้น
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้ดำเนินการตรวจค้นหาเชิงรุกในโรงเรียน ได้แก่ นักเรียนห้องอื่น ครู และผู้สัมผัสร่วมบ้านกับผู้ติดเชื้ออีก 162 คน แต่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ
ส่วนมาตรการควบคุมโรค สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด สั่งปิดโรงเรียน เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ทำความสะอาดห้องเรียนทุกชั้นเรีย ส่วนกลุ่มเสี่ยงสูงแยกกักตัว เป็นเวลา 14 วัน
ปิดเรียน 1 เดือน หลังพบ นศ.อาชีวะฯ ลำปาง ติดเชื้อ 10 ราย
จากกรณีการระบาดเป็นกลุ่มก้อน อ.เถิน จ.ลำปาง วันที่ 29 ต.ค. 2564 โรงพยาบาลเถินได้ออกตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยชุดตรวจ ATK ในวิทยาลัยอาชีวศึกษาเถินเทคโนโลยี จำนวน 84 ราย ตรวจไม่พบเชื้อ 83 ราย ตรวจพบเชื้อ 1 ราย และส่งตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR ผลพบเชื้อ
จากการสอบสวนโรคเบื้องต้น พบว่านักศึกษารายนี้มีประวัติการสัมผัสผู้ติดเชื้อที่จังหวัดตาก และพักในหอของวิทยาลัยฯ มีเพื่อนรวมห้องพัก 13 ราย ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง จึงส่งตรวจยืนยันด้วยด้วยวิธี RT-PCR ผลไม่พบเชื้อ 13 ราย
ทั้งนี้ ได้ให้กลุ่มเสี่ยงสูงแยกกักตัว ระหว่างวันที่ 30 ต.ค.- 3 พ.ย. 2564 เฝ้าระวังอาการและตรวจหาเชื้อโควิดซ้ำในกลุ่มเสี่ยงสูง 13 ราย พบเชื้อ 9 ราย ไม่พบเชื้อ 4 ราย รวมพบผู้ป่วยทั้งสิ้น 10 ราย
นอกจากนี้ ได้ดำเนินการเฝ้าระวังค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกเพิ่มเติม ในกลุ่มครูและ นักเรียนตรวจด้วยวิธี RT-PCR จำนวน 4 รายอยู่ระหว่างรอผล และตรวจด้วยวิธี ATK จำนวน 62 ราย ผลไม่พบเชื้อ จึงให้เฝ้าระวังตนเองอย่างเข้มงวด และนัดตรวจ ATK ครั้งที่ 2 ในวันที่ 10 พ.ย. 2564
สำหรับมาตรการควบคุมเชื้อได้ดำเนินการในพื้นที่คือ การทำ Bubble and sealed ทำความสะอาดอาคารสถานที่ด้วยแอลกอฮอล์และน้ำยาฆ่าเชื้อในสถานศึกษา ที่พัก และปิดสถานศึกษาเป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่ 29 ต.ค.- 28 พ.ย.2564
อุบลราชธานี สั่งปิดโรงเรียน 10 วัน
เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2564 นายจิรายุทธ อักษรพิมพ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนปทุมพิทยาคม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี มีหนังสือประกาศของโรงเรียนปิดสถานศึกษา เนื่องจากเหตุพิเศษระหว่างวันที่ 4-14 พ.ย. 2564 และให้จัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์แทนการมาเรียนที่โรงเรียน หลังเปิดเรียนได้เพียง 3 วัน
หลังได้รับแจ้งว่า มีนักเรียนชั้นมัธยมปลายคนหนึ่ง มีอาการไข้ได้มาพบกับเพื่อนนักเรียนห้องเดียวกัน เมื่อวันเปิดเทอม มีการกินข้าวร่วมกัน และได้กลับไปพักผ่อน โดยไม่ได้เข้ามาในชั้นเรียน
แต่ปรากฏว่านักเรียนรายนั้น ติดเชื้อโควิด-19 จึงเกรงเกิดการแพร่เชื้อสู่เพื่อนนักเรียนคนอื่น เพื่อความปลอดภัยของนักเรียนทั้งหมด จึงสั่งปิดโรงเรียนทำความสะอาดฆ่าเชื้อ พร้อมให้คำแนะนำนักเรียนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงใกล้ชิดเด็กนักเรียนคนดังกล่าว สังเกตอาการหลีกเลี่ยงเดินทางออกนอกพื้นที่ในช่วงนี้
บุรีรัมย์ เลื่อนเปิดเทอม 2 โรงเรียนสังกัดเทศบาล
บุรีรัมย์ หนึ่งในจังหวัดนำร่องท่องเที่ยว จากการสำรวจหลังจากที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้เปิดทำการเรียนการสอนแบบออนไซต์วันที่ 1 พ.ย. 2564 เป็นวันแรกพร้อมกันทั่วประเทศนั้น
โรงเรียนหลายแห่งในจังหวัดบุรีรัมย์ ก็ได้เปิดเรียนแบบออนไซต์ตามปกติแล้ว แต่พบว่าโรงเรียนเทศบาล 1 (บุรีราษฎร์ดรุณวิทยา) ซึ่งเป็นโรงเรียนในสังกัดของเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ยังไม่สามารถเปิดเรียนได้
เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้มีการตรวจพบนักเรียนที่เป็นนักฟุตบอลหญิงของโรงเรียนติดเชื้อโควิด-19 รวมจำนวน 48 คน ทั้งยังมีนักกีฬาทั้งนักฟุตบอล นักบาส สต๊าฟโค้ช ผู้ฝึกสอน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเข้าสู่ระบบตรวจหาเชื้อและกักตัวอีกกว่า 300 คนฃ
ทางเทศบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงยังกำหนดให้โรงเรียนเทศบาล 1 เป็นพื้นที่ควบคุมห้ามบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้า-ออก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ หลังจากมีการกักตัวครบตามกำหนดแล้ว คาดว่าจะสามารถเปิดเรียนได้ในวันที่ 15 พ.ย. ที่จะถึงนี้
นายสกล ไกรรณภูมิ นายกเทศมนตรีเมืองบุรีรัมย์ ได้กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนที่อยู่ในสังกัดว่า มีโรงเรียนที่อยู่ในความดูแลของเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ 4 แห่ง คือ โรงเรียนเทศบาล 1 , เทศบาล 2 เทศบาล 3 และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีนักเรียนอยู่กว่า 5,000 คน สำหรับวันนี้ที่ทางกระทรวงศึกษาธิการประกาศให้สามารถเปิดเรียนแบบออนไซต์ได้เป็นวันแรก
แต่โรงเรียนในสังกัดเทศบาลยังไม่สามารถเปิดเรียนได้ 2 แห่ง คือ ร.ร.เทศบาล 1 เนื่องจาก ก่อนหน้านี้มีการตรวจพบนักกีฬาฟุตบอลหญิงอคาเดมีของโรงเรียน ติดเชื้อโควิดรวม 48 คนซึ่งได้เข้าสู่กระบวนการรักษาตามระบบ ทั้งยังมีกลุ่มเสี่ยงอีกกว่า 300 คน ที่ต้องเฝ้าระวังและกัดตัวตามมาตรการ ดังนั้นจึงยังไม่สามารถเปิดเรียนได้
ส่วนโรงเรียนเทศบาล 2 ก็ยังมีครู ผู้ปกครอง รวมถึงนักเรียนบางคนอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของครู นักเรียน และบุคลากรเอง จึงหารือว่ายังไม่เปิดเรียนในวันนี้ จนกว่าจะมีความพร้อม
ATK เป็นบวก มุกดาหารกักตัวครู-นักเรียนกักตัวนับพัน
เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2564 นายภักดี สมคะเณย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนคำสร้อยพิทยาสรรค์ ประกาศเรื่อง ปิดสถานศึกษาเนื่องจากกรณีพิเศษ โดยระบุว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในอำเภอคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร ไม่เป็นที่น่าวางใจ เนื่องจากมีผู้ปกครองและนักเรียนบางส่วนอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง
เพื่อเป็นการปฎิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ทางโรงเรียนจึงประกาศปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษตั้งแต่วันที่ 5 – 11 พ.ย. 2564 โดยจัดการเรียนการโดยรูปแบบออนไลน์
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เข้าตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้กับครู นักเรียน และเจ้าหน้าที่ กว่า 1,200 คน ของโรงเรียนคำสร้อยพิทยาสรรค์ หลังเปิดเรียนมาได้ 3 วัน
เบื้องต้น พบผลบวก 80 คน ครู 11 คน และภารโรง 2 คน แต่ยังไม่เป็นทางการ ต้องรอผลทางห้องแล็บหรือห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ นอกจากนี้ ยังได้มีการกักตัวครูและนักเรียนกว่า 1,000 คน ให้อยู่ภายในโรงเรียนและห้ามออกไปไหน
ล่าสุด ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เขต 11 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวหลังลงพื้นที่ติดตามและตรวจหาเชื้อด้วย RT-PCR ซ้ำในผู้ที่พบผลบวกจาก ATK โดยผล RT-PCR ออกมาเป็นลบทุกราย ทำให้กรณีที่สงสัยว่าโรงเรียนนี้จะเป็นคลัสเตอร์ สรุปแล้วคือไม่มี และขณะนี้กลับมาเปิดการเรียนการสอนตามปกติแล้ว
ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ประกาศเรียนออนไลน์ต่อถึง 14 พ.ย.
เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 25647 นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดเชียงใหม่ ลงนามประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ฉบับที่ 41 เรื่อง มาตรการใช้อาคารเรียนหรือสถานที่เพื่อการจัดการเรียนการสอน โดยประกาศดังกล่าวระบุว่า ด้วยขณะนี้ยังคงพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นกลุ่มก้อน อย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้พิจารณาแล้วเห็นว่า
โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกประเภท/ทุกระดับ/ทุกสังกัด ที่ได้รับอนุญาตให้จัดการเรียนการสอน จากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ในเขตพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาดังกล่าว พิจารณาชะลอการใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา เพื่อจัดการเรียนการสอนในรูปแบบปกติ (On-site) โดยให้พิจารณาจัดการเรียนการสอนในรูปแบบอื่นแทน ตามมาตรการหรือแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ในห้วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1-14 พ.ย. 2564
ชัยนาท พบคลัสเตอร์ชุมชน อยู่ใกล้โรงเรียน
จังหวัดชัยนาท เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่โรงเรียนได้เลื่อนเปิดการเรียนการสอนในโรงเรียน เนื่องจากในพื้นที่ยังพบคลัสเตอร์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยโรงเรียนอนุบาลชัยนาท อ.เมือง สถานศึกษาระดับประถมศึกษาขนาดใหญ่ของจังหวัด ยังไม่เปิดการเรียนการสอนในโรงเรียน ในวันนี้ โดยปรับเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์แทน ตั้งแต่วันที่ 1-15 พ.ย.2564
นายประยูร เขียวอินทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลชัยนาท เปิดเผยว่า ตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการให้โรงเรียนเปิดการเรียนการสอนแบบ On-site ให้มากที่สุด ทางโรงเรียนอนุบาลชัยนาทได้เตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ทุกเรื่อง แต่ได้เกิดคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ชุมชนสุขใจ ซึ่งอยู่ใกล้กับโรงเรียน มีผู้ติดเชื้อ 57 คน และมีนักเรียนของโรงเรียนส่วนหนึ่งอาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงชุมชนสุขใจ
ทำให้ผู้ปกครองไม่มั่นใจ เป็นห่วงลูกหลานว่าหากเปิดเรียนจะไม่ปลอดภัย เพื่อลดความวิตกกังวล และเพื่อความปลอดภัย ทางโรงเรียนอนุบาลชัยนาทจึงยังไม่เปิดการเรียนการสอนแบบ On-site ในวันที่ 1 พ.ย.นี้ แต่ยังเปิดเรียนแบบออนไลน์ตามปกติ
ทั้งนี้ ทางโรงเรียนได้หารือกับคณะกรรมการสถานศึกษา ตลอดจนคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชัยนาท ได้เลื่อนเปิดโรงเรียนไปเป็นวันที่ 15 พ.ย. 2564 อย่างไรก็ตามก่อนถึงวันดังกล่าวจะประเมินสถานการณ์ให้ชัดเจนอีกครั้ง
กทม.เตรียมเปิดเรียน 15 พ.ย.นี้
เมื่อวันที่ 4 พ.ย.2564 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ผู้ว่าฯ อัศวิน ระบุว่า โควิด-19 ทำให้ลูกหลานของเราต้องเรียนออนไลน์ มานั่งเรียนในโรงเรียนก็ไม่ได้ เพราะกลัวว่าจะติดเชื้อ การฉีดวัคซีนให้เด็กนักเรียนและครูจะทำให้โรงเรียนได้กลับมาเปิดอีกครั้ง
ขณะนี้ ได้ฉีดวัคซีนให้กับนักเรียนชั้นมัธยมในโรงเรียนสังกัด กทม.แล้ว มีนักเรียนที่สมัครใจฉีดวัคซีน 34,287 คน คิดเป็น 92% ของนักเรียนทั้งหมดในชั้น ม.ปลาย ฉีดครบ 2 เข็มแล้ว 3,173 คน หรือประมาณ 76% ส่วน ม.ต้น ฉีดเข็มแรกไปแล้ว 27,039 คน คิดเป็น 90% และจะฉีดเข็ม 2 ในวันที่ 8-10 พ.ย.นี้ ซึ่งจะฉีดให้กับนักเรียนที่เปลี่ยนใจหรือพลาดการฉีดวัคซีนในรอบที่แล้วเพิ่มเติมด้วย
ส่วนครูในสังกัด กทม. 14,493 คน ได้ฉีดวัคซีนเข็ม 2 แล้วมากกว่า 96% และผู้ที่เกี่ยวข้องที่ทำงานในโรงเรียนก็ได้ฉีดวัคซีนเข็ม 2 แล้วมากกว่า 94%
เมื่อนักเรียนที่เรียนอยู่ชั้น ม.1-6 ใน โรงเรียนสังกัด กทม. ทั้ง 109 โรง ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว จะได้กลับมาเรียนในโรงเรียนอีกครั้งในวันที่ 15 พ.ย.นี้
โดยทุกโรงเรียนที่เปิดให้เรียนที่โรงเรียนจะต้องผ่านการประเมินความพร้อมและปฏิบัติตามมาตรการ Sandbox : Safety Zone in School ที่ ศบค.และกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดทั้ง 4 ด้านแล้ว ได้แก่ ด้านกายภาพ ด้านการมีส่วนร่วม ด้านการประเมินความพร้อมสู่การปฏิบัติ และด้านการดำเนินการของโรงเรียน
รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัยส่วนบุคคล 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) และ 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษาแบบไป-กลับ พร้อมมีแผนเผชิญเหตุกรณีพบผู้สัมผัสเสี่ยงสูงหรือผู้ป่วยยืนยัน และมีมาตรการตรวจ ATK เพื่อสร้างความปลอดภัยและมั่นใจเป็นระยะตามความเหมาะสม
ทั้งหมดนี้ คือภาพรวมสถานการณ์การเปิดเทอมทั่วประเทศ แม้ว่าโรงเรียนหลายแห่งจะเปิดเรียนออนไซต์แล้ว แต่หลายแห่งยังคงเลื่อน และใช้การเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ต่อไป เพื่อความปลอดภัยของครูและนักเรียน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage