"...ในการสุ่มตรวจผลการดำเนินงานโครงการในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 53 แห่ง มีการระบุว่า การใช้สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กยังไม่เป็นไปตามแนวทางการใช้สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกำหนดไว้ อีกทั้งสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาบางฐานไม่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัยจึงทำให้มีการใช้ประโยชน์น้อย นอกจากนี้เด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอาจได้รับอันตรายจากการเล่นในสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาหากครูผู้ดูแลมีการควบคุมดูแลการเล่นของเด็กปฐมวัยไม่ทั่วถึงด้วย..."
จากการตรวจสอบผลการดำเนินงานโครงการพบปัญหาสำคัญหลายประการที่อาจจะทำให้การใช้จ่ายงบประมาณเกิดความซ้ำซ้อน ไม่คุ้มค่า หรือไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ นอกจากนี้การดำเนินงานยังไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือแนวทางที่กำหนดไว้พิจารณาได้จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจตามโครงการ มีการส่งคืนเงินงบประมาณเป็นจำนวนมาก และมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการจัดสร้างสนามเด็กเล่นรูปแบบอื่นที่ไม่ตรงกับสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา การสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้แรงงานในชุมชน และดำเนินการสร้างไม่เป็นไปตามคู่มือสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา
ขณะที่จากการสอบถามผู้อำนวยการกองการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการดำเนินโครงการฯ จำนวน 31 แห่ง ถึงเหตุผลในการดำเนินโครงการฯ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 26 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 83.87 ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดให้ข้อมูลว่า ต้องการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
คือ สาระสำคัญที่ปรากฏอยู่ในรายงานผลการตรวจสอบโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เด็กปฐมวัย ท้องถิ่นไทย ผ่านการเล่น หรือที่เรียกว่า "สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา" ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นับตั้งแต่ปี 2561 -2564 รวมวงเงินกว่า 363.82 ล้านบาท ซึ่งมีเป้าหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ จำนวน 7,850 แห่ง สร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อย่างน้อยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นละ 1 แห่ง
โดยเบื้องต้น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 3 (จังหวัดนครปฐม) ได้สุ่มตรวจผลการดำเนินโครงการฯ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 53 แห่ง โดยเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 และ พ.ศ. 2563 – 2564 จำนวน 23 แห่ง รวมเป็นเงินงบประมาณจำนวน 3.56 ล้านบาท และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองหรืองบประมาณจากแหล่งอื่น ๆ ในการดำเนินโครงการฯ จำนวน 30 แห่งรวมเป็นเงินจำนวน 1.52 ล้านบาท จนพบปัญหาสำคัญหลายประการดังกล่าว
ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบรายงานผลการตรวจสอบของ สตง. พบว่าในการสุ่มตรวจผลการดำเนินงานโครงการในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 53 แห่ง มีการระบุว่า การใช้สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กยังไม่เป็นไปตามแนวทางการใช้สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกำหนดไว้ อีกทั้งสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาบางฐานไม่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัยจึงทำให้มีการใช้ประโยชน์น้อย นอกจากนี้เด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอาจได้รับอันตรายจากการเล่นในสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาหากครูผู้ดูแลมีการควบคุมดูแลการเล่นของเด็กปฐมวัยไม่ทั่วถึงด้วย
สตง.ระบุด้วยว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดการศึกษาระดับปฐมวัยในสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยสามารถรับเด็กปฐมวัย ตั้งแต่ช่วงอายุ 2 – 5 ปี เข้าศึกษาในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือโรงเรียนที่จัดการศึกษาปฐมวัย ทั้งนี้ต้องมีการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาให้สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ. 2560 ซึ่งตามปรัชญาการศึกษาปฐมวัย เป็นการพัฒนาเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปีบริบูรณ์ อย่างเป็นองค์รวมบนพื้นฐานการอบรมเลี้ยงดู และการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับธรรมชาติ และพัฒนาการตามวัยของเด็กแต่ละคนให้เต็มตามศักยภาพ
ซึ่งโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เด็กปฐมวัย ท้องถิ่นไทย ผ่านการเล่น (สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ร่างกาย อารมณ์ – จิตใจ สังคม และสติปัญญาเน้นการจัดให้มีอุปกรณ์การเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการทางสมอง กล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ผ่านการเล่นสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา สอดคล้องกับปรัชญาการศึกษาปฐมวัย
ขณะที่ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้กำหนดแนวทางการใช้สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาตามหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท 0816.4/ว 3919 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2563 เรื่อง แนวทางการใช้สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก แจ้งขอความร่วมมือจังหวัดแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาพิจารณาดำเนินการ ตามแนวทางการใช้สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. ให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาให้มีความสอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ.2560 และพิจารณาบูรณาการการใช้ประโยชน์จากสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ตามวัยทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ - จิตใจสังคม และสติปัญญา
2. กำหนดให้การเล่นสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาเป็นกิจกรรมประจำวันของการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย โดยให้มีตารางการเล่นสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาที่แน่นอนทั้งนี้ ให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ (Unstructured Play) เพื่อให้เด็กได้พัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมัดเล็ก อารมณ์ จิตใจ สังคม การคิด ภาษา และส่งเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์
3. จัดประสบการณ์เรียนรู้ เรื่อง การป้องกันจมน้ำในเด็กปฐมวัย โดยใช้ฐานของสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบ ได้แก่ ฐานสระน้ำอิน -จัน ฐานสระทารก และฐานหัดว่ายน้ำ ส่งเสริมให้เด็กเกิดความคุ้นเคยต่อน้ำ รู้จักวิธีป้องกันตนเอง และช่วยเหลือผู้อื่นจากการจมน้ำ
4. ส่งเสริมให้พ่อแม่ ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัยโดยใช้พื้นที่ของสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา เช่น ใช้พื้นที่ฐานเรือสลัดลิงจัด Workshop ถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น
5. จัดให้มีมุมหนังสือ ในพื้นที่สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา โดยเฉพาะในฐานเรือสลัดลิงเพื่อส่งเสริมการอ่านในกลุ่มเด็กปฐมวัย
6. ใช้พื้นที่สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา จัดกิจกรรมนอกห้องเรียน เพื่อให้เด็กปฐมวัยเกิดการเรียนรู้ภายใต้บรรยากาศการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น กิจกรรมเล่านิทาน เป็นต้น
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบการใช้สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวน 40 แห่ง ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 31 แห่ง สตง. พบว่า การใช้สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กยังไม่เป็นไปตามแนวทางการใช้สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกำหนดไว้และการดำเนินโครงการฯ ยังไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีรายละเอียด ดังนี้
1. การใช้ประโยชน์สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กยังไม่เป็นไปตามแนวทางที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกำหนดไว้จากการตรวจสอบการใช้ประโยชน์สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจำนวน 40 แห่ง ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 31 แห่ง พบว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้งหมดมีการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแต่ยังไม่มีความชัดเจนในการใช้สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาสำหรับจัดประสบการณ์แต่ละด้านให้กับเด็กปฐมวัย และไม่ได้กำหนดตารางในการเล่นสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาที่แน่นอนไว้ในตารางกิจกรรมประจำวัน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กส่วนใหญ่ไม่ได้สร้างฐานการเล่นที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบสำหรับใช้ในการจัดประสบการณ์เรื่องการป้องกันเด็กจมน้ำในเด็กปฐมวัย เนื่องจากฐานการเล่นที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบมีความยุ่งยากในการใช้งาน และการดูแลรักษาในเรื่องความสะอาดของสระและเชื้อโรคต่าง ๆ รวมทั้งครูผู้ดูแลเด็กจะต้องเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด โดยมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีการสร้างฐานการเล่นที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบเพียงจำนวน 14 แห่ง เท่านั้น และการใช้ประโยชน์ส่วนใหญ่จะเน้นให้เด็กได้สัมผัสกับน้ำ ซึ่งเป็นการเสริมประสบการณ์เรื่องการป้องกันการจมน้ำในเด็กปฐมวัยได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
สำหรับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีการสร้างฐานเรือสลัดลิงจำนวน 13 แห่ง พบว่า ไม่มีการดำเนินการจัดมุมหนังสือในพื้นที่สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาแต่อย่างใด
นอกจากนี้จากการตรวจสอบยังพบว่าผู้ปกครองของเด็กปฐมวัยส่วนใหญ่ยังไม่มีส่วนร่วมในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัยด้วยการใช้สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา เนื่องจากผู้ปกครองส่วนใหญ่มีภารกิจต้องทำจึงไม่ได้นำเด็กไปเล่นสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา และผู้ปกครองเห็นว่าในระหว่างวันเด็กได้มีการทำกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดทั้งวันอยู่แล้ว
นอกจากนี้สภาพพื้นที่บริเวณสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาส่วนใหญ่ไม่มีที่นั่งสำหรับเป็นที่พักคอยให้กับผู้ปกครองเมื่อนำเด็กปฐมวัยมาเล่นในสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาแต่อย่างใด
2. การดำเนินโครงการฯ ยังไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จากการตรวจสอบการใช้ประโยชน์สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจำนวน 40 แห่ง ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 31 แห่ง พบว่า การใช้ประโยชน์จากสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กปฐมวัยเท่านั้นและไม่ได้ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กปฐมวัยอย่างชัดเจนจากการมีหรือไม่มีการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ได้แก่
- ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กส่วนใหญ่มีการใช้ประโยชน์จากสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างพัฒนาการให้กับเด็กเท่านั้น พิจารณาได้จากข้อมูลความถี่ในการใช้ประโยชน์สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาฐานต่างๆ ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการสร้างฐานค่ายกลสไปเดอร์แมน มากถึงจำนวน 39 ฐาน โดยมีการใช้ระยะเวลาในการเล่นแต่ละครั้งเพียง11 – 20 นาทีเท่านั้น
ส่วนฐานที่มีความถี่ในการเล่นน้อยส่วนใหญ่จะเป็นฐานที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบทั้งนี้เนื่องจากการใช้ประโยชน์จากสนามเด็กเล่นสร้างปัญญามีข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยหลายประการ เช่น สนามเด็กเล่นสร้างปัญญามีการใช้ประโยชน์ได้เพียงบางช่วงเวลา ฐานการเล่นของสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาไม่เหมาะสมที่จะใช้ประโยชน์กับเด็กปฐมวัย เนื่องจากขนาดร่างกายของเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัย 2 – 4 ขวบ ยังมีขนาดของร่างกายเล็กเกินไปที่จะเล่นในฐานการเล่นของสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาที่มีการสร้างตามรูปแบบที่กำหนด และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กส่วนใหญ่มีการจัดประสบการณ์ในรูปแบบบูรณาการทั้งทักษะและสาระการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีความหลากหลาย ทั้งกิจกรรมที่ทำในร่มและกิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งสามารถเสริมสร้างพัฒนาการให้กับเด็กปฐมวัย เป็นต้น ซึ่งจะเห็นว่าการใช้ประโยชน์จากสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างพัฒนาการให้กับเด็กปฐมวัยเท่านั้น
- การใช้ประโยชน์สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาไม่ได้ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอย่างชัดเจน จากการสุ่มตรวจสอบข้อมูลผลการประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัยของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาในปีงบประมาณพ.ศ. 2560 – 2562 ซึ่งครูผู้ดูแลเด็กเป็นผู้ประเมิน จำนวน 16 แห่ง โดยมีเด็กปฐมวัยที่เรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กช่วงก่อนและหลังการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา จำนวน 190 ราย พบว่ามีเด็กปฐมวัยเพียงจำนวน 31 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 16.32 ของจำนวนเด็กปฐมวัยทั้งหมดมีระดับผลการประเมินทั้ง 4 ด้าน ดีขึ้น เด็กปฐมวัยที่เหลืออีกจำนวน 159 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ83.68 ของจำนวนเด็กปฐมวัยทั้งหมด มีระดับผลการประเมินเท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลงโดยอยู่ในระดับดี
นอกจากนี้จากการตรวจสอบข้อมูลผลประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัยของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ไม่ได้ดำเนินการจัดทำสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา จำนวน 22 แห่ง พบว่า เด็กปฐมวัยส่วนใหญ่มีระดับผลการประเมินพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน อยู่ในระดับดีเช่นเดียวกันการดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เด็กปฐมวัย ท้องถิ่นไทย ผ่านการเล่น ยังไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ส่งผลกระทบให้การใช้จ่ายงบประมาณในการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาอาจเกิดความไม่คุ้มค่า เนื่องจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีการใช้ประโยชน์จากสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยร่วมกับอุปกรณ์/เครื่องเล่นที่มีอยู่แล้ว อีกทั้งสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาบางฐานไม่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัยจึงทำให้มีการใช้ประโยชน์น้อยนอกจากนี้เด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอาจได้รับอันตรายจากการเล่นในสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาหากครูผู้ดูแลมีการควบคุมดูแลการเล่นของเด็กปฐมวัยไม่ทั่วถึง
ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่ทำให้การดำเนินโครงการฯ ยังไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ มีดังนี้
1. ฐานการเล่นของสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาที่กำหนดตามคู่มือฯ มีขนาดไม่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัย โดยตามคู่มือสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา มีการระบุฐานการเล่นแต่ละฐานเหมาะสมสำหรับเด็กในช่วงวัย 3 – 5 ขวบ จนถึง 10 ขวบ แต่เด็กปฐมวัยของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัย 2 – 4 ปี เท่านั้น
โดยจากการสอบถามความคิดเห็นของหัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและครูผู้ดูแลเด็ก จำนวน 93 ราย มีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 68 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 73.12 ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ให้ข้อมูลว่า สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาตามรูปแบบที่กำหนดไม่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัย เนื่องจากฐานการเล่นมีขนาดใหญ่เกินไปสำหรับเด็กปฐมวัยและการเล่นอาจเกิดอันตรายกับเด็กได้
2. การกำหนดนโยบายจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นยังขาดข้อมูลประกอบการพิจารณาอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับการจัดหาเครื่องเล่น และวัสดุสื่อการเรียนการสอนต่าง ๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กเพิ่มขึ้นจากในอดีตที่ผ่านมา และมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดหาเครื่องเล่นสำหรับเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กปฐมวัยเพียงพออยู่แล้ว
3. ข้อจำกัดของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในการจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาให้ได้ตามแบบที่กำหนด แม้ว่าบางแห่งจะมีพื้นที่และต้นไม้ใหญ่ แต่ก็ไม่ได้มีการพิจารณาทิศทางลมหรือแสงแดด จึงทำให้สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาบางแห่งสามารถใช้งานได้เฉพาะบางช่วงเวลาเท่านั้นแม้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาใต้ต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงาได้ตลอดทั้งวันก็ยังประสบปัญหาในเรื่องของมด แมลง จากต้นไม้ใหญ่
4. ครูผู้ดูแลเด็กมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของเด็กปฐมวัยในการเล่นสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา เนื่องจากเป็นเด็กเล็กอยู่ในช่วงวัยอยากรู้อยากเห็นและไม่หยุดนิ่ง โดยจากการสอบถามครูผู้ดูแลเด็ก จำนวน 50 ราย ถึงปัญหาอุปสรรคในการใช้สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ครูผู้ดูแลเด็กส่วนใหญ่ให้ข้อมูลว่า ในการนำเด็กไปเล่นสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาครูผู้ดูแลเด็กจะต้องมีการควบคุมการเล่นของเด็กอย่างใกล้ชิด เพราะเกรงจะเกิดอุบัติเหตุทำให้เด็กได้รับบาดเจ็บได้ จึงมีการพาเด็กปฐมวัยไปเล่นสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาบางช่วงเวลาและใช้ระยะเวลาในการเล่นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
5. แนวทางการใช้สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตามที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกำหนดเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ เนื่องจากสิ่งสำคัญในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัย คือ ยึดเด็กเป็นศูนย์กลางและจัดให้สอดคล้องเหมาะสมกับวัย ความสนใจความต้องการ และความสามารถตามวัยของเด็ก โดยใช้ การบูรณาการผ่านการเล่นอย่างหลากหลายการกำหนดแนวทางที่มีการเฉพาะเจาะจงไปยังสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา อาจไม่สอดคล้องกับหลักการในการจัดประสบการณ์ให้กับเด็กปฐมวัยเพื่อให้การดำเนินโครงการฯ เกิดประสิทธิผลตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
เบื้องต้น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีข้อเสนอแนะให้ท้องถิ่นจังหวัดสุพรรณบุรี พิจารณาดำเนินการดังนี้
1. เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาปฐมวัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการดำเนินโครงการฯ ให้เห็นความสำคัญของการเสริมสร้างประสบการณ์ให้กับเด็กปฐมวัยผ่านการเล่นตามธรรมชาติที่เหมาะสมกับช่วงวัย
โดยประยุกต์ใช้วัสดุอุปกรณ์ หรือ เครื่องเล่นเด็กและสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาที่มีอยู่ให้มีความหลากหลายในการกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยให้เกิดพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน
2. การขอรับการสนับสนุนงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจเพื่อดำเนินโครงการฯ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะดำเนินการในโอกาสต่อไป ควรปรับเพิ่มหัวข้อในแบบคำขอรับการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อสำรวจว่าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีเครื่องเล่นกลางแจ้งที่มีลักษณะการเล่นใกล้เคียงกับฐานการเล่นของสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาอยู่แล้วหรือไม่ เพื่อมิให้การสร้างสนามเด็กเล่นปัญญาเกิดความซ้ำซ้อน สร้างแล้วไม่เกิดประสิทธิผลตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ
3. ติดตามประเมินผลการใช้ประโยชน์จากสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ดำเนินการไปแล้วอย่างต่อเนื่อง ให้ทราบถึงปัญหา อุปสรรค ในการดำเนินการฯ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นประกอบการพิจารณาปรับปรุงการดำเนินโครงการฯ ในระยะต่อไปให้เหมาะสม
**********************
นับเป็นข้อมูลชุดที่สอง เกี่ยวกับปัญหาการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เด็กปฐมวัย ท้องถิ่นไทย ผ่านการเล่น หรือที่เรียกว่า "สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา" ที่ถูกเปิดเผยต่อสาธาธารณชนอย่างเป็นทางการครั้งแรก
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/