"...จากนิติสัมพันธ์ในการเช่าโกดังระหว่าง อคส. กับบริษัทค้าข้าวชื่อดังแห่งนี้ อดีตผู้บริหาร อคส. กับพวก ได้ใช้โอกาสที่ตนมีอำนาจการจัดการองค์การคลังสินค้าตามกฎหมาย โดยการทำสัญญาเช่าคลังสินค้าและบันทึกต่อท้ายสัญญาเช่าคลังย้อนหลัง คือ ปี 2562 ย้อนหลังไปปี 2557 ณ วันที่มีคำสั่งให้ยุติโครงการข้าวสารบรรจุถุง ซึ่งการทำสัญญาย้อนหลังดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามระเบียบและขั้นตอนปฏิบัติ..."
กรณีการทำสัญญาจัดซื้อถุงมือยางระหว่างองค์การคลังสินค้า (อคส.) กับ บริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด มูลค่ากว่า 112,500 ล้านบาท ยังไม่ทันสิ้นกระแสความการสอบสวนดีนัก
เพราะแม้ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) อคส. เมื่อวันที่ 12 ต.ค.64 ที่ผ่านมา จะมีการลงมติเห็นชอบผลการสอบสวนความผิดทางวินัยร้ายแรง ชี้มูลความผิดลงโทษไล่ออกเจ้าหน้าที่ 3 คน คือ 1. พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ อดีตรักษาการผู้อำนวยการ อคส. 2. นายเกียรติขจร แซ่ไต่ 3. นายมูรธาธร คำบุศย์ ไปแล้ว แต่ยังมีการสอบสวนคดีความรับผิดชอบทางละเมิดผู้บริหารและเจ้าหน้า อคส. ที่ยังค้างคาอยู่
ขณะที่ผลการสอบสวนชี้มูลความผิดผู้เกี่ยวข้องของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ยังไม่มีบทสรุปเป็นทางการ
แต่ดูเหมือนว่า ภารกิจสะสางปัญหาการทุจริตภายในองค์กร บทใหม่ของ อคส. ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
เมื่อในช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฏข่าวว่า นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผอ.อคส. ได้เดินทางเข้าไปยื่นเรื่องสอบสวนปัญหาการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว กรณีการทำสัญญาฝากข้าวในโกดังสินค้าของเอกชนรายหนึ่ง ที่ทำให้รัฐเกิดความเสียหายเป็นจำนวนเงินกว่า 1,300 ล้านบาท เป็นทางการ
ปรากฏข้อมูลสำคัญว่า นับเป็นระยะเวลาเกือบสิบปี ที่ อคส. ได้ทำสัญญาฝากข้าวในโครงการรับจำนำไว้ในโกดังสินค้าของเอกชนแห่งหนึ่ง แต่ไม่สามารถนำข้าวออกมาระบายได้ เนื่องจากติดปัญหาการชำระค่าเช่าโกดังเก็บสินค้าและเบี้ยปรับจำนวนมาก ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลภายใน ของ อคส. พบว่า ผู้บริหาร อคส.บางราย มีพฤติการณ์ทุจริตไปทำบันทึกเงื่อนไขแทบท้ายสัญญาเรื่องการจ่ายเงินค่าเช่าคลังสินค้า จนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ อคส.เสียเปรียบในกรณีนี้ ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีปัญหาเรื่องนี้อยู่ คิดเป็นมูลค่าเงินทำให้รัฐเกิดความเสียหายเป็นจำนวนกว่า 1,300 ล้านบาท
ขณะที่ในช่วงบ่ายวันที่ 29 ต.ค.2564 พ.ต.อ.สุรพงศ์ เปล่งขำ รองผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) ก็เดินทางไปที่กองปราบ เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับอดีตผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า และพวกรวม 4 ราย หลังพบความผิดกรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว กรณีการทำสัญญาฝากข้าวในโกดังสินค้าของเอกชนรายหนึ่ง ที่ทำให้รัฐเกิดความเสียหายเป็นจำนวนเงินกว่า 1,300 ล้านบาทเช่นกัน
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากหน่วยงานตรวจสอบแห่งหนึ่ง เกี่ยวกับข้อกล่าวหาและพฤติการณ์การกระทำความผิดในคดีนี้ เบื้องต้นพบว่า อดีตผู้บริหาร อคส. 1 ใน 4 ผู้ถูกกล่าวหา กรณีการทำสัญญาฝากข้าวในโกดังสินค้าที่เข้าข่ายการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายหนึ่งดังกล่าว ก็เป็นหนึ่งในบุคคลที่ถูกสอบสวนคดีถุงมือยางแสนล้านเช่นกัน
ระบุรายละเอียดพฤติการณ์การกระทำความผิดว่า มีการใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งราชการเพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทค้าข้าวชื่อดังแห่งหนึ่ง
กล่าวคือ นับตั้งแต่ปี 2554 อคส. มีนิติสัมพันธ์กับบริษัทค้าข้าวชื่อดังแห่งนี้ ในการสัญญาเช่าคลังสินค้าสินค้าในโครงการรับจำนำข้าว ขณะที่ในช่วงปี 2556 -2557 อคส. ได้รับอนุมัติให้ทำโครงการข้าวสารบรรจุถุง ซึ่งบริษัทค้าข้าวชื่อดังแห่งนี้ก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้รับการพิจารณาให้ดำเนินการปรับปรุงข้าวสารเพื่อบรรจุถุงด้วย
อย่างไรก็ดีในระหว่างการดำเนินการโครงการข้างสารบรรจุถุงนั้นได้มีคำสั่งให้ยุติการดำเนินการโครงการฯ บริษัทค้าข้าวชื่อดังแห่งนี้ ได้นำข้าวสารไม่ทราบจำนวนแน่ชัดเข้าไปเก็บไว้ในคลังสินค้าโดยไม่มีสัญญาเช่าคลังสินค้ากับ อคส. ซึ่งคลังสินค้าเป็นคลังที่เก็บรักษาข้าวโครงการรับจำนำตามสัญญารวมอยู่ด้วย
ทั้งนี้ จากนิติสัมพันธ์ในการเช่าโกดังระหว่าง อคส. กับบริษัทค้าข้าวชื่อดังแห่งนี้ อดีตผู้บริหาร อคส. กับพวก ได้ใช้โอกาสที่ตนมีอำนาจการจัดการองค์การคลังสินค้าตามกฎหมาย โดยการทำสัญญาเช่าคลังสินค้าและบันทึกต่อท้ายสัญญาเช่าคลังย้อนหลัง คือ ปี 2562 ย้อนหลังไปปี 2557 ณ วันที่มีคำสั่งให้ยุติโครงการข้าวสารบรรจุถุง
ซึ่งการทำสัญญาย้อนหลังดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามระเบียบและขั้นตอนปฏิบัติ
กล่าวคือ การจะนำข้าวสารเข้าเก็บในคลังสินค้าใดและจะให้คลังสินค้านั้นเป็นคลังสินค้าที่ต้องผูกพันความรับผิดกับ อคส. จะต้องมีการเสนอเรื่องตามลำดับเพื่อขออนุมัตีให้คลังสินค้ารายใดรายหนึ่งเป็นคลังสินค้าเก็บข้าวสารของ อคส.
แต่กรณีดังกล่าวไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงและวิธีการที่ถูกต้อง
เนื่องจากข้าวสารที่กล่าวอ้างนั้นเป็นข้อกล่าวอ้างของบริษัทค้าข้าวชื่อดังแห่งนี้ ว่าเป็นข้าวสารในโครงการข้าวสารบรรจุถุง ซึ่งข้าวสารที่บริษัทฯ ใช้กล่าวอ้างนั้นยังเป็นข้าวสารที่มีข้อพิพาทในสำนักงาน ป.ป.ช. กรณีการทุจริตโครงการข้าวสารบรรจุถุง ซึ่งอดีตผู้บริหาร อคส. ทราบข้อเท็จจริงนี้อยู่ก่อนการที่บริษัทฯ จะกล่าวอ้าง
แต่เพื่อเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทฯ ได้รับค่าเช่าคลังสินค้าและไม่ต้องรอผลการชี้มูลในการไต่สวนคดีทุจริตโครงการข้าวสารบรรจุถุง หากรอผลการชี้มูลซึ่งบริษัทฯ เป็นบริษัทรายหนึ่งที่ต้องถูกตรวจสอบในกระบวนการไต่ส่วนคดีทุจริตโครงการข้าวสารบรรจุถุงอาจได้รับผลร้ายจากการชี้มูลคดี
อดีตผู้บริหาร อคส. กับพวก จึงได้ใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งราชการ จัดให้มีการทำสัญญาย้อนหลังโดยไม่มีการรายงานให้คณะกรรมการ อคส. รับทราบหรือไม่ได้มีข้อหารือยังสำนักงาน ป.ป.ช. หรือไม่ได้มีพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดที่จะเข้าใจได้ว่า ได้ใช้ความระมัดระวังต่อการดำเนินการทำสัญญาย้อนหลังให้บริษัท เพื่อไมให้เกิดความเสียหายกับรัฐ
ขณะที่ในสัญญาย้อนหลังทั้งสองฉบับมีการระบุ จำนวนข้าวที่นำเข้าเก็บไว้ในคลังสินค้าที่แน่นอน ทั้งที่ จำนวนข้าวสารในโครงการข้าวสารบรรจุถุงคงเหลือเท่าใดยังไม่เป็นที่ยุติ
พฤติการณ์ จึงเป็นที่แน่ชัดว่าเป็นการทำสัญญาย้อนหลังเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทค้าข้าวชื่อดังแห่งนี้
นอกจากนั้นแล้ว อดีตผู้บริหาร อคส. กับพวกได้ใช้โอกาสซึ่งตนเองมีอำนาจการจัดการ อคส. ตามกฎหมายทำบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาต่างหากจากสัญญา แต่ระบุให้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญา
โดยบันทึกข้อตกลงมีข้อความกำหนดเป็นเงื่อนไข 3 ข้อ กล่าวคือ
1. อคส.จะทยอยจ่ายเงินค่าเช่าคลังสินค้าและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามงบประมาณที่ได้รับจากรัฐบาลให้กับบริษัท ให้แล้วเสร็จไม่เกิน 30 วัน นับจากวันที่ 3 ธันวาคม 2563
2. สำหรับค่าใช้จ่ายค้างจ่ายคงเหลือ อคส. จะจ่ายหลังจากที่ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลแล้วให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วันหลังจากที่ได้รับงบประมาณ
3. บริษัทฯ ยินยอมให้ อคส. นำข้าวสารในคลังสินค้าต่าง.ๆ ของ บริษัท นำออกระบายโดยไม่ยึดหน่วงขัดขวาง แต่อย่างใด เว้นกรณีที่ อคส.ผิดนัดผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ให้บริษัท อคส .ยินยอมให้ บริษัท ยึดหน่วงข้าวจนกว่าจะได้รับชำระหนี้
ดังนั้น การที่มีบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาให้สิทธิบริษัทฯ จึงเป็นการให้สิทธิ์ที่ขัดหรือแย้งกับสัญญาหลัก อีกทั้งการกำหนดเงื่อนไขให้การชำระค่าเช่าคลังสินค้าเป็นการชำระหนี้ที่มีกำหนดระยะเวลา
ทำให้ อคส. เกิดความเสียหายเป็นเงินไม่น้อยกว่า 196,814,636 บาท นอกจากนั้น ยังมีความเสียหายจากการไม่สามารถส่งมอบข้าวสารให้กับผู้ซื้อได้เป็นเงินไม่น้อยกว่า 1,300 ล้านบาทด้วย
เบ็ดเสร็จรวมความเสียหายเป็นเงินกว่า 1,496 ล้านบาท
อันเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ผู้บริหาร อคส. ได้รับไฟเขียว ออกมาลุยสะสางคดีนี้ให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว
ส่วนอดีตผู้บริหาร อคส. และพวกรวม 4 ราย รวมไปถึงบริษัทค้าข้าวชื่อดังแห่งนี้ เป็นใครบ้าง?
อีกไม่นานสังคมคงได้รับทราบคำตอบที่ชัดเจนกัน
อ่านเรื่องประกอบ
ยื่น ป.ป.ช. สอบอดีตบิ๊ก อคส. ทำข้อตกลงเช่าโกดังเก็บข้าวเอื้อเอกชน รัฐเสียหาย 1.3 พันล.
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage