“…ถ้าเรามีความรู้ความเข้าใจด้านการเงินที่ถูกต้อง หรือที่เรียกว่า Financial Literacy เราจะมีความรู้ว่าการออมมีทางเลือกอะไรบ้าง และจะวางแผนการลงทุนอย่างไร โดยขอให้เรานึกถึงช่วงเวลา 300 เดือนหลังเกษียณด้วยว่าเราจะอยู่อย่างไร ซึ่งหากเราตั้งเป้าหมายจะใช้ชีวิตหลังวัยเกษียณเดือนละ 2 หมื่นบาท เราจะต้องมีเงินออมถึง 6 ล้านบาท เพราะฉะนั้น 456 เดือนที่ทำงาน เราต้องคิดเผื่อด้วยว่าจะต้องออมเงินเท่าใด…”
วันที่ 31 ต.ค. คือ วันออมแห่งชาติ (World Thrift Day) ซึ่งเป็นวันที่ถูกกำหนดขึ้นครั้งแรกในการประชุมที่มิลาน ประเทศอิตาลี ในปี 2467 เพื่อให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการออม
ต่อมาในปี 2539 องค์การสหประชาชาติได้เฉลิมฉลองครบ 50 ปี สถาบันธนาคารออมสินโลกและกลุ่มธนาคารทั่วทั้งยุโรป จึงประกาศให้วันที่ 31 ของสิ้นเดือน ต.ค. ของทุกปีเป็น ‘วันออมโลก’ ไปอย่างแพร่หลาย และสำหรับประเทศไทยคณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดให้มีวันออม ตั้งแต่ปี 2541 เพื่อปลูกฝังนิสัยรักการออม หัวใจสำคัญของการพัฒนาและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ
ผ่านมาแล้วราว 22 ปี ที่ไทยได้มีมติกำหนดให้มีวันออมแห่งชาติ แล้วการออมของคนไทยเป็นอย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมข้อมูลจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินที่จะมาวิเคราะห์การออมของคนไทย และเผยแนวทางการออมอย่างยั่งยืน รับวันออมแห่งชาติ
โดย ดร.อัจฉรา โยมสินธุ์ ผู้จัดการสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นนักคิด นักเขียน ที่ปรึกษา วิทยากรพิเศษด้านการเงินส่วนบุคคล กล่าวถึงการออมของคนไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาว่า ข้อมูลจากการสำรวจเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนไทยปี 2552-2562 พบว่า อัตราการออมของคนไทยลดลง โดยในปี 2552 คนไทยมีอัตราการออม 8 เท่า ก่อนจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในช่วงครึ่งแรกปี 2562 ลดลงมาเหลือ 6.4 เท่า
หมายความว่าหากเรามีเงิน 100 บาท เราสามารถออมได้ 6.4% หรือคิดเป็นเงิน 6.4 บาท ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐาน ที่ต่างประเทศแนะนำเอาไว้ว่าควรจะออมได้ 10% หรือคิดเป็นเงิน 10 บาท เมื่อเทียบกับรายได้ที่เรามี 100 บาท เพื่อให้เพียงพอในการใช้ชีวิตหลังวัยเกษียณ
อย่างไรก็ตามในประเทศไทย ที่ยังไม่มีสวัสดิการภาครัฐเพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตในช่วงวัยเกษียณ ดังนั้นโดยสถานการณ์เราจะต้องออมให้มากกว่า 10% ของรายได้ ซึ่งตัวเลขอัตราข้างต้นแสดงให้เห็นแล้วว่าหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ การใช้ชีวิตหลังวัยเกษียณจะลำบาก
ทั้งนี้ เมื่อเราพิจารณาภูมิคุ้มกันทางการเงิน หรือสินทรัพย์ทางการเงิน ในปี 2552 คนไทยมีเงินสำรองฉุกเฉิน 8.2 เท่า ซึ่งหมายความว่าในกรณีเราตกงานหรือไม่มีรายได้ เราจะมีเงินสำรองเอาไว้ใช้เพียงพอได้สำหรับ 8 เดือน แต่พอมาในปี 2560 กลับลดลงเหลือ 7.9 เท่า และในครึ่งปีแรก 2563 ลดลงมาอีกเป็น 7.3 เท่า แสดงให้เห็นว่าเราจะมีเงินเพียงพอ ยามไม่มีรายได้ เหลือ 7 เดือนเท่านั้น
แต่หากเจาะรายละเอียดลงไปในกลุ่มครัวเรือนที่มีหนี้ พบกว่ากลุ่มนี้จะมีเงินสำรองฉุกเฉิน เพียงพอใช้ 3 เท่า ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐาน ที่เราควรจะมีเงินออม 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน ดังนั้นหากเรามีค่าใช้จ่ายต่อเดือนอยู่ที่ 10,000 บาท เราจะต้องมีเงินออมในบัญชี 30,000-60,000 บาท เพื่อเก็บเอาไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน อย่างกรณีตกงานจากผลกระทบของโควิดกระทันหัน เราจะมีเงินสำรองเอาไว้ใช้ 3-6 เดือน ซึ่งจะทำให้เรามีเวลาตั้งหลัก ไม่จำเป็นต้องก่อหนี้ระยะสั้น
อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์หนี้สินที่ทำให้คนไทยไม่มีเงินสำรอง คือ มีเงินไม่พอใช้ต่ำกว่า 3 เดือน เมื่อมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นนั่นหมายความว่าจะมีการกู้เงินเข้ามาแล้ว
ทั้งหมดนี้คือสถานการณ์ก่อนเกิดเหตุการระบาดของโควิด ซึ่งคนไทยก็มีอัตราการออมและมีเงินสำรองต่ำกว่ามาตรฐาน
ข้อมูลปลายปี 63 ชี้คนไทยออมเงินเยอะขึ้น
ดร.อัจฉรา กล่าวถึง ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในช่วงไตรมาส 4 ปี 2563 พบว่า 1 ใน 4 หรือ 25.9% ของครัวเรือนไทยไม่มีเงินออม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่พอใช้จ่าย และครัวเรือนส่วนใหญ่กว่า 40% ก็จะมีทั้งออมเงินได้ และออมเงินไม่ได้บ้าง
โดยพฤติกรรมของคนไทย 1 ใน 3 จะใช้เงินก่อน แล้วส่วนที่เหลือจะเก็บไว้ออมต่อไป ซึ่งจะไม่ค่อยเหลือเงินออมเท่าไรแล้ว และจะมีเพียง 1 ใน 5 หรือ 20% เท่านั้นที่จะมีพฤติกรรมการออมก่อน นำเงินไปใช้จ่ายต่อไป
อย่างไรก็ตามสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดนี้ เทียบกับปี 2561 พบว่า จำนวนครัวเรือนมีพฤติกรรมการออมมากขึ้น 1.2% ข้อมูลนี้สอดคล้องกับผลสำรวจของธนาคารทหารไทยว่า เงินฝากในระบบธนาคารเพิ่มขึ้นเยอะมาก และคนไทย 42.8% ตอบแบบสอบถามว่าอยากออมเงินเอาไว้สำรองใช้ในยามเกษียณ และอีก 34% ออมเงินเอาไว้เผื่อฉุกเฉิน
สำหรับวิธีการออมเงินของคนไทยนั้น ดร.อัจฉรา กล่าวว่า โดยส่วนใหญ่มักออมเงินในบัญชีออมทรัพย์ 75.4% ส่วนอีกครึ่งหนึ่งราว 55.4% จะเปิดบัญชีสำหรับการออมโดยเฉพาะ และอีก 3% จะนำไปลงทุน โดยในจำนวนดังกล่าว พบว่า 0.2% นำไปลงทุนในตลาดคริปโตเคอเรนซี (Cryptocurrency)
ทั้งนี้กรณีไม่มีรายได้ พบว่า ครัวเรือนกว่า 54.1% มีเงินสำรองเอาไว้ใช้ได้ไม่ถึง 1 ปี ส่วนอีก 32.6% ยังไม่แน่ใจว่าเงินสำรองที่มีอยู่จะพอใช้ได้นานเท่าใด ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าถ้าเราเจอวิกฤตยาวๆ คนไทยจะลำบาก
ส่วนตัวเลข 62% ของครัวเรือนไทยประสบปัญหารายได้ไม่พอจ่าย โดยส่วนใหญ่จะแก้ไขปัญหาด้วยการลดรายจ่าย 47.9% ดึงเงินสำรองมาใช้ 37.3% และขอยืมเงินจากคนในครอบครัว 36.5%
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลล่าสุดจากธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงพฤติกรรมการออมของคนไทยที่ดีขึ้นด้วยว่า คนไทยมีพฤติธรรมและความรู้ด้านการออมดีขึ้น
“ข้อมูลนี้น่าชื่นใจมาก เพราะเราได้เห็นภาพสถานการณ์ของโควิด ที่เศรษฐกิจย่ำแย่ คนตกงาน โรงงานไฟไหม้ หรือมีการปิดโรงงานบ้าง แต่ก็ยังมีเรื่องราวที่ดีเกิดขึ้น คือ จำนวนเงินออมของคนไทยเยอะขึ้น” ดร.อัจฉรา กล่าว
เปรียบเทียบนิสัยการออมคนไทย-ต่างชาติ
ดร.อัจฉรา กล่าวเปรียบเทียบพฤติกรรมหรือลักษณะนิสัยการออมของคนไทยกับต่างชาติด้วยว่า การออมของคนไทย ด้วยพื้นฐานที่ชีวิตเราไม่ได้ลำบากมาก เพราะมีภูมิศาสตร์และภูมิประเทศที่เอื้ออำนวย ทำให้เราไม่ค่อยระมัดระวังการวางแผนการใช้ชีวิต มีการทำประกันเพียง 20% และด้วยค่านิยมที่มีการปลูกฝังให้รู้จักออม คือให้ใช้จ่ายอย่างประหยัดๆ แต่ยังขาดการสอนเรื่องการวางแผนการเงิน ทำให้เกิดเหตุการณ์ คือ เก็บเงินได้มากแล้ว โดยไม่ทราบว่าเก็บเงินเพื่ออะไร ท้ายที่สุดก็ไปทุบกระปุกออกหมด
ส่วนในประเทศญี่ปุ่น ด้วยภูมิประเทศที่อยู่บนพื้นที่เสี่ยง อย่างการเจอภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว หรือสึนามิบ่อย ทำให้เป็นคนที่มีความคิดรอบคอบ เป็นระเบียบ ต้องการความมั่นคง โดยมีการทำประกันถึง 300% แสดงให้เห็นว่าใน 1 คน อาจมีหลายกรมธรรม์ไว้ครอบครอง ส่วนเงินเก็บจะอยู่ในธนาคารจำนวนมาก เพราะไม่ชอบความเสี่ยง
สาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยคนจีนเป็นคนประหยัด แต่ชอบลงทุน และมีลักษณะกล้าได้กล้าเสีย เงิบเก็บส่วนใหญ่ก็จะถูกนำไปลงทุน
ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พ่อและแม่จะไม่มีการสอนให้ลูกประหยัด แต่จะสอนให้ลูกรู้จักคุณค่าของสิ่งของหรือเงิน และมีการสอนให้รู้จักวางแผนการเงิน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
และประเทศสหรัฐอเมริกา คนอเมริกันชอบหารายได้ เขาจะรับจ้างทำทุกอย่าง เขาจะไม่อายที่จะหารายได้ ไม่ว่าครอบครัวของเขาจะมีฐานะหรือไม่ก็ตาม
ข้อมูลเหล่านี้เป็นการวิเคราะห์กสถานการณ์ทางการเงินของแต่ละคนที่แตกต่างกันและสะท้อนออกมาให้เห็นเป็นภาพรวมของการออมแต่ละประเทศ
ดร.อัจฉรา โยมสินธุ์ ผู้จัดการสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง
มุมมองต่อการส่งเสริมการออมของรัฐ
การส่งเสริมการออมของรัฐนั้นเพียงพอหรือไม่ ดร.อัจฉรา กล่าวว่า การมีกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมคนไทยในกลุ่มเปราะบางรายได้น้อยให้รู้จักออมเงินในระยะยาวนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ในปัจจุบันยังพบว่ามีสมาชิกน้อยอยู่
ขณะเดียวกันในกลุ่มผู้มีเงินเดือนประจำ รัฐมีการส่งเสริมกองทุนประกันสังคม ม.33 การส่งเสริมการออมในกองทุน RMF หรือ SSF เป็นต้น หรือในภาคเอกชนมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่เมื่อเกิดภาวะวิกฤตโควิด เกิดปัญหาการเลิกจ้าง หลายคนต้องว่างงานโดยปริยาย ทำให้ขาดเงินส่งกองทุน
นอกจากนี้ยังมีการกระจุกตัวของเงินออม โดยคนไทยส่วนใหญ่จะออมเงินอยู่ในธนาคาร เป็นเงินฝาก ซึ่งจะได้รับดอกเบี้ยต่อปีเพียง 0.5% เท่ากับว่า หากเราฝากเงิน 100 บาท โดยไม่เคยถอนจะได้รับดอกเบี้ย ไม่ถึง 1 บาทด้วยซ้ำ ซึ่งจะได้รับผลตอบแทนโตไม่ทันเงินเฟ้อ ไม่พอใช้ในวัยเกษียณ ซึ่งในการออมควรจะมีการจัดสรรให้กระจายตัว อย่างการออมในกองทุนรวม หรือการลงทุนเป็นต้น เพราะจะได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่า
ดังนั้นภาครัฐควรส่งเสริมให้คนไทยมีภูมิคุ้มกันทางการเงิน คือ ส่งเสริมให้มีความรู้ความเข้าด้านการเงิน และควรมีนโยบายให้รู้จักการวางแผนทางการเงิน รวมถึงแก้ไขปัญหาการกระจุกตัวของเงินออมในธนาคาร
“ถ้าเรามีความรู้ความเข้าใจด้านการเงินที่ถูกต้อง หรือที่เรียกว่า Financial Literacy เราจะมีความรู้ว่าการออมมีทางเลือกอะไรบ้าง และจะวางแผนการลงทุนอย่างไร โดยขอให้เรานึกถึงช่วงเวลา 300 เดือนหลังเกษียณด้วยว่าเราเตรียมเงินไว้พอใช้หรือยัง ซึ่งหากเราตั้งเป้าหมายจะใช้ชีวิตหลังวัยเกษียณเดือนละ 2 หมื่นบาท เราจะต้องมีเงินออมถึง 6 ล้านบาท เพราะฉะนั้น 456 เดือนที่ทำงาน เราต้องคิดเผื่อด้วยว่าจะต้องออมเงินเท่าใด” ดร.อัจฉรา กล่าว
นอกจากนี้ ดร.อัจฉรา กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า อยากให้เราคิดถึงอนาคตทางการเงินของตัวเอง ตั้งแต่วันนี้ และทำทุกวันให้เป็นวันออมของตัวเอง ถ้าเราวางแผนการออมดี เราจะมีความสุขในทุกๆ วัน ซึ่งเป็นความสุขที่มาจากความมั่นคงทางจิตใจ การออมเงินนั้นไม่ใช่แค่การออม แต่การออมเงินคือการสร้างอนาคตและการสร้างความสุขในปัจจุบัน ถ้าเรามีความรู้ที่ถูกต้อง สิ่งนี้ไม่ต้องมีมากมาย แต่ต้องมีมากพอ
น.ส.ธาราทิพย์ ตั้งกาญจนภาสน์ เศรษฐกรอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย
ความเหลื่อมล้ำ-ค่าครองชีพส่งผล‘การออม’
ด้าน น.ส.ธาราทิพย์ ตั้งกาญจนภาสน์ เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวด้วยว่า สถานการณ์การออมเงินของคนไทยที่ยังไม่เพียงพอ เป็นตัวแปรสำคัญของหนี้ครัวเรือน เพราะเงินออมที่ไม่เพียงพอ ทำให้เวลากู้เงินจะต้องกู้เงินเต็มมูลค่า จะทำให้เป็นหนี้สูงและอาจมีการยืดเวลาผ่อนชำระตามมา เกิดเป็นภาวะที่เรียกว่า ‘เป็นหนี้นาน’
นอกเหนือจากปัญหาออมน้อยที่ลดลอย่างต่อเนื่อง หนี้สูง และเป็นหนี้นานแล้ว การที่เรามีเงินออมไม่เพียงพอยังทำให้เราไม่มีเงินออมไว้ใช้ยามฉุกเฉินอีกด้วย
ส่วนหนี้ครัวเรือนในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 อยู่ที่ 89.3% แม้ว่าจะลดลงมาแล้วจากไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ที่มีอัตราอยูที่ 90.6% เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ แต่ยังถือว่าสูงอยู่ หมายความว่า เราจะมีความเปราะบางทางการเงินสูงอยู่ และมีความสามารถในการรองรับเศรษฐกิจที่ผันผวนได้จำกัด เพราะจะมีการกู้ยืมเงินไปหมุนสภาพคล่อง
ทั้งนี้หากเราพิจารณาถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมและค่าครองชีพที่เพิ่มสูง มีผลต่อการออมหรือไม่นั้น พบว่าทั้ง 2 ปัจจัยนั้นส่งผลกระทบต่อการออมเงินหมด ยกตัวอย่างการประกอบอาชีพเกษตรกร อาจมีรายได้ไม่เพียงพอ ส่วนเรื่องค่าครองชีพ ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อการออม เพราะค่าครองชีพที่เพิ่งปรับเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เงินออมลดลงในทุกกลุ่มรายได้เหมือนกัน แต่ในช่วงหลังที่รายได้ปรับตัวลดลงมากกว่า เพราะการแพร่ระบาดของโควิด
ส่วนการฟื้นตัวทางการเงิน จะเกิดขึ้นเมื่อใดนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเศรฐษกิจฟื้นตัวหรือไม่ ประกอบกับยิ่งถ้ามีนโยบายการส่งเสริมการเงินเพิ่ม มีการสร้างรู้ความเข้าใจด้านการเงิน ทำให้ประชาชนเกิดพฤติกรรมรักการออมขึ้นมาด้วยนั้น จะยิ่งทำให้การฟื้นตัวทางการเงินดียิ่งขึ้น
น.ส.ธาราทิพย์ ได้กล่าวถึงแนวทางการออมเงินด้วยว่า ผลิตภัณฑ์ทางการออมนั้นมีอยู่ด้วยกันอย่างหลากหลายและมีสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกัน มีทั้งกองทุนผู้ประกันตน กองทุน RMF, LTF หรือ SSF เป็นต้น ดังนั้นแล้วแต่ละบุคคลสามารถศึกษารายละเอียดและเลือกผลิตภัณฑ์การออมเงินที่ตรงกับสายอาชีพ หรือตรงกับเป้าหมายของแต่ละบุคคล
โดยประชาชนสามารถติดตามข้อมูลความรู้ผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีการส่งเสริมให้มีการออมและวางแผนทางการเงินอย่างต่อเนื่อง มีการให้ความรู้ Financial Literacy, โครงการ Fin. ดี We Can Do!!! และ Fin. ดี Happy Life!!! ที่มุ่งเน้นการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่เหมาะสม ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกันทางการเงินให้กับประชาชนได้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/