"...เก็บฉากความขัดแย้งใน พปชร. ศึกโค่น 'ธรรมนัส' จบ ทุกอย่างสงบ เสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ มิถุนายน 2564 กินเวลา 4 เดือนที่เขาทำหน้าที่เลขาธิการพรรค พปชร.ต้องเผชิญมรสุมจากปัญหาภายในมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ศึกซักฟอก-ข้อกล่าวหาโหวตล้มนายกรัฐมนตรี จนถึงศึกนี้ต้องยอมรับว่าแผลเก่ายังฝังลึกมาจนถึงปัจจุบัน ศึกต่อไปจะมีหรือไม่ ใครจะแพ้หรือชนะ แต่ 'พลังประชารัฐ' ยังไม่มีทางเหมือนเดิมในเวลานี้..."
"ตั้งแต่มีกระแสข่าวเกิดขึ้นก็มีคนทักเข้ามาให้กำลังใจผมอย่างล้นหลาม ผมต้องขอขอบคุณทุกกำลังใจที่ทุกท่านมอบให้กับผมในวันนี้ด้วยครับ ผมจะไม่ลืมความรักและเมตตาที่ทุกท่านมอบให้กับผมครับ"
ข้อความแรกผ่านเฟซบุ๊ก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ หลังผ่านศึก-ชิงไหวพริบในพรรคอีกครั้ง
แม้ผลลัพธ์จะเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น คือ 'ร.อ.ธรรมนัส' ยังทำหน้าที่ต่อไปในฐานะเลขาธิการพรรค แต่ความเคลื่อนไหวตั้งแต่เริ่ม-จนจบตลอด 4 วัน ย่อมปรากฎร่องรอยให้ต้องตามติดคิดถึงตอนต่อไป
4 วัน 4 ฉากทัศน์ เริ่มจาก 'ตึกไทยคู่ฟ้า' จบที่ 'อาคารัชดา วัน' ที่ทำการพรรคพลังประชารัฐ แต่ความเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ กลับปรากฏอยู่ที่ 'มูลนิธิป่ารอยต่อฯ'
6 รัฐมนตรีขึ้นตึกไทย หารือปรับโครงสร้าง พปชร.
ฉากที่ 1 หลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 รัฐมนตรีในสังกัด พปชร. 6 คน เข้าพบ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่ตึกไทยคู่ฟ้า
เป็น 6 รัฐมนตรีที่ประกอบด้วย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม , นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน , นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม , นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม , นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง และนายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
หลังใช้เวลาหารือนาน 1 ชั่วโมง ไม่มีใครออกมาเปิดเผยผลการหารือดังกล่าว แต่รายงานข่าวว่า หัวข้อของการสนทนาว่าด้วยเรื่องปรับโครงสร้าง พปชร. และ 'ร.อ.ธรรมนัส'
แผนปรับโครงสร้างครั้งนี้ มีการเสนอให้ใช้วิธีให้กรรมการบริหารพรรคที่มีอยู่ 26 คน ลาออกเกินกึ่งหนึ่ง เปิดทางให้มีการจัดประชุมเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ตามข้อบังคับพรรค โดยปฏิบัติการจะเริ่มทันทีในวันรุ่งขึ้น
นอกจากการหารือร่วมกันที่ตึกไทยคู่ฟ้าแล้ว มีรายงานด้วยว่า 6 รัฐมนตรียังได้เดินทางไปที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ เพื่อเข้าพบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ร่วมวงสนทนาด้วย ซึ่ง พล.อ.ประวิตร กล่าวในวันดังกล่าวว่า "เรื่องเสียงไม่มีปัญหา เดี๋ยวจะเป็นคนไปจัดการเอง"
ก่อนที่ในเวลาต่อมาคนในกลุ่ม 6 รัฐมนตรี รวมถึงนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต่างยืนยันว่า การพบกันที่ตึกไทยคู่ฟ้าเป็นการหารือเกี่ยวกับการทำงานในฐานะรัฐบาล ไม่เกี่ยวข้อง่กับพรรคพลังประชารัฐแต่อย่างใด
ต่อสายล็อบบี้ เซ็น-ไม่เซ็นลาออก กก.บห.
ฉากที่ 2 เช้าวันที่ 26 ตุลาคม 2564 มีบุคคลยืนยันรายงานข่าวดังกล่าวอย่างน้อย 2 คน
หนึ่ง คือ 'พัชรินทร์ ซําศิริพงษ์' ส.ส.กทม. และโฆษกพรรค พปชร. เปิดเผยว่า พรรคกำลังพิจารณาการปรับโครงสร้างเร็ว ๆ นี้
สอง คือ 'พล.อ.ประวิตร' ที่ยอมรับคำว่า กำลังคิดอยู่ เกี่ยวกับแนวทางการปรับโครงสร้างพรรค
ตลอดทั้งวันมีความเคลื่อนไหวการ 'ล่าลายเซ็น' กรรมการบริหารพรรค ฝ่าย 6 รัฐมนตรี ต้องการรวบรวมลายชื่อผู้ประสงค์ลาออกให้เกินกึ่งหนึ่ง ส่วนอีกฝ่ายนำโดย 'ร.อ.ธรรมนัส' และ 'วิรัช รัตนเศรษฐ' ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค ยับยั้งการเซ็นใบลาออกดังกล่าว
บ่ายวันเดียวกันมีรายงานข่าวว่า 'ร.อ.ธรรมนัส' เดินทางเข้าพบ 'พล.อ.ประวิตร' ที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ หลังเพิ่งกลับจากเดินทางไปพักผ่อนกับครอบครัวที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา
กระทั่งช่วงเย็น 'พล.อ.ประวิตร' โทรศัพท์หากรรมการบริหารพรรคทุกคนว่า อย่าเพิ่งลาออก และได้นัดหมายพูดคุยกับกรรมการบริหารพรรค - ส.ส. ที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ ช่วงบ่ายวันที่ 27 ตุลาคม
'บิ๊กป้อม' ขู่ ไม่เลิกทะเลาะจะลาออก
ฉากที่ 3 แม้ว่าฉากสำคัญส่วนใหญ่ เคลื่อนไหวในมูลนิธิป่ารอยต่อฯ แต่ช่วงเช้าวันที่ 27 ตุลาคม 'ชัยวุฒิ' หนึ่งในกลุ่ม 6 รัฐมนตรี ยอมรับว่า ได้มีการพูดคุยกันเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างพรรค เพราะต้องการให้รัฐบาล-พรรคพลังประชารัฐ ทำงานเป็นเนื้อเดียวกัน เดินไปด้วยกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า การปรับโครงสร้างครั้งนี้ เพราะมองว่า ร.อ.ธรรมนัส มีปัญหาใช่หรือไม่ ทำให้นายชัยวุฒิ ถามกลับว่า "แล้วคุณคิดว่ามีปัญหาหรือไม่ ขอสื่อมวลชนดูกันเอง ว่าในอดีตเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง"
เมื่อถามย้ำว่าส่วนตัวมองว่า ร.อ.ธรรมนัส มีปัญหาหรือไม่ นายชัยวุฒิตอบว่า "ผมคิดว่ามีนะ ไม่เช่นนั้นไม่มีการพูดคุยกันเพื่อจะปรับโครงสร้าง แต่ไม่ขอพูดในรายละเอียดเพราะเชื่อว่าประชาชนและสื่อมวลชนรู้อยู่แล้วว่าคืออะไร ขอให้เดินไปข้างหน้า อย่าพูดถึงอดีต"
ส่วนกรณีที่ 6 รัฐมนตรีเดินทางเข้าพบนายกรัฐมนตรีที่ตึกไทยคู่ฟ้า เขายืนยันว่า เป็นการพูดคุยกันตามปกติระหว่างนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี เพราะหากไม่คุยกันจะบริหารประเทศกันอย่างไร เพราะสัปดาห์หน้าเปิดสภา มีกฎหมายสำคัญจะเข้า จะทำงานร่วมกันอย่างไรในสภา หากนายกรัฐมนตรีไม่มาคุยกับ ส.ส. หรือ รัฐมนตรีก็ทำงานไม่ได้ เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องปกติ คุยประจำ ไม่ใช่การครอบงำ หากจะครอบงำต้องเป็นการโฟนอินมาจากดูไบ
เช้าวันเดียวกันมีรายงานเกี่ยวกับบทสนทนา ระหว่างกรรมการบริหารพรรคบางส่วน อาทิ นายชัยวุฒิ , นายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช และนายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส.ชลบุรี กับ 'พล.อ.ประวิตร' ขณะรับประทานอาหารเช้าร่วมกันที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ
ช่วงหนึ่งได้มีการสอบถามความชัดเจนถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น หนึ่งในแกนนำได้พูดคุยว่า รัฐบาล และ พรรค พปชร. จำเป็นต้องเป็นเนื้อเดียวกัน หากเป็น ร.อ.ธรรมนัส คงทำงานกันลำบาก เพราะนายกรัฐมนตรีไม่เอา ร.อ.ธรรมนัส จึงควรปรับโครงสร้างให้ทำงานได้
พล.อ.ประวิตร ตอบสวนไปว่า "พวกคุณไปฟังความข้างเดียวกัน ถ้าไม่เอาธรรมนัส แล้วจะเอาใคร เขาทำงานได้ ทำงานเพื่อพรรค แล้วใครจะทำงาน คนอื่นก็เป็นคู่กรณีของเขา ถ้ายังไม่เลิกทะเลาะกัน จะลาออก ใครอยากมาเป็นก็มาเป็นเลย"
แกนนำคนเดิมกล่าวย้ำว่า หากยังเป็น ร.อ.ธรรมนัส ปัญหาจะไม่จบ เพราะนายกรัฐมนตรีอาจไปตั้งพรรคใหม่ ทำให้ พล.อ.ประวิตร ตอบอย่างมีอารมณ์ว่า "ถ้านายกรัฐมนตรีตั้งพรรคใหม่ ผมก็เลิก ไม่เล่นแล้วการเมือง"
เคลียร์รอยร้าว 'ธรรมนัส' ถูกถามให้เอาความจริงมาพูด
บ่ายวันเดียวกัน แกนนำ-ส.ส.ทยอยเข้าพบ 'พล.อ.ประวิตร' ที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ มีความเคลื่อนไหวที่สำคัญอย่างน้อย 3 เรื่อง
หนึ่ง มีการเปิดใจ – สะท้อนปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นภายในพรรค ร.อ.ธรรมนัส ถือโอกาสอธิบายว่า "ผมไม่มีอะไร ที่ผ่านมาทำงาน ใจถึงพึ่งได้ พร้อมช่วยทุกคน แต่เรื่องที่เกิดขึ้น มีบางคนที่ไม่ชอบผม เอาไปพูดนอกพรรค ทำให้สับสน ขอให้มาพูดกัน"
ขณะที่ นายชัยวุฒิ พูดสวนไปว่า "ให้เอาความจริงมาพูดกัน เมื่อครั้งที่จะโหวตสวนผมและนายกรัฐมนตรีคืออะไร" ร.อ.ธรรมนัส จึงตอบว่า "ที่ผ่านมาก็ขอโทษ ส่งข้อความและชี้แจงไปหมดแล้ว" ทำให้นายชัยวุฒิย้ำอีกครั้งว่า "ให้เอาความจริงมาพูดกันจะดีกว่า"
สอง นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ส.ส.ชัยภูมิ ลุกขึ้นระบายความรู้สึกต่อหน้า พล.อ.ประวิตร กรณีถูกกล่าวหาว่า ส.ส.ชัยภูมิของพรรค 2 คนจะย้ายไปอยู่ภูมิใจไทย พร้อมกับพูดถึงแกนนำภาคอีสานบางคนที่รับผิดชอบดูแลค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งว่า มีการดูแลไม่ทั่วถึง-ไม่ครบตามที่พูดคุยกัน ด้วยเหตุผลเพียงว่าเป็น ส.ส.หน้าใหม่ ซึ่งกรณีดังกล่าวมีแกนนำคนหนึ่งลุกขึ้นชี้แจง
สาม มีการแจกกระดาษลักษณะเป็นแบบสอบถาม 7-8 ข้อให้กับ ส.ส. เพื่อให้ตอบคำถามโดยไม่ต้องระบุชื่อ รายงานข่าวอ้างว่า 'พล.อ.ประวิตร' ได้อ่านข้อความด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม
คำถามว่า ต้องการให้ใครเป็นหัวหน้าพรรค ? คำตอบของทั้งพรรค คือ พร้อมสนับสนุน พล.อ.ประวิตร เป็นหัวหน้าต่อไป
คำถามว่า ต้องการใครเป็นเลขาธิการพรรค ? คำตอบ 80% ไว้วางใจให้ ร.อ.ธรรมนัส ทำหน้าที่ต่อ รองลงมาคือ นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ ลำดับสุดท้ายคือ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน
คำถามว่า รู้สึกอย่างไรกับรัฐมนตรีในสังกัดของพรรค ? รายงานข่าวอ้างว่า คำตอบส่วนใหญ่ แสดงความเห็นไม่พอใจไปที่ 2 กระทรวง คือ กระทรวงแรงงาน และ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
คำตอบทั้งหมดค่อนข้างชัด 'ธรรมนัส' มีแนวโน้มที่จะได้ทำหน้าที่ต่อไป แต่คืนเดียวกัน เขาระบายความรู้สึกผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "ต่อให้ผมไม่มีตำแหน่ง ผมก็จะอุทิศตนช่วยเหลือประชาชนตามเดิม"
ทุกอย่างสงบ จบที่ 'บิ๊กป้อม'
ฉากที่ 4 ตึกรัชดา วัน ที่ทำการพรรคพลังประชารัฐ วงประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค ที่ 'พล.อ.ประวิตร' นัดหารือด่วน เพื่อคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้น
รายงานข่าวระบุว่า ไม่มีใครพูด – แสดงความเห็นถึงความขัดแย้งภายในพรรคอีก และ 'พล.อ.ประวิตร' เป็นผู้พูดให้ทุกคนฟังเป็นส่วนใหญ่ บางถ้อยคำระบุว่า "ขอให้จบทุกอย่าง ไม่ต้องพูดเรื่องเดิมอีก"
ก่อนที่ความเคลื่อนไหวทั้งหมดจะปรากฏต่อหน้าสื่อมวลชน ‘ธรรมนัส’ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป ไม่มีกรรมการบริหารพรรครายใดยื่นลาออกจากตำแหน่ง
ส่วน 'วิรัช รัตนเศรษฐ' ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่เป็นรองหัวหน้าพรรค ควงแขน 2 จาก 6 รัฐมนตรี 'ชัยวุฒิ - สุชาติ' ร่วมแถลงข่าว - จับมือเคลียร์ใจ
นายชัยวุฒิ เผยว่า ที่ประชุมได้พูดคุยทำความเข้าใจกันแล้ว ต่อไปทุกอย่างไม่มีความขัดแย้งอะไร
นายสุชาติ เผยว่า ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องความขัดแย้ง แต่เป็นเรื่องที่ต้องหารือเพื่อทำให้พรรคเป็นสถาบันการเมือง เหลือเวลา 1 ปีที่ต้องเตรียมตัวสร้างพรรคพร้อมกับการเลือกตั้ง
ส่วนนายวิรัช เผยว่า ทุกอย่างสงบ จบที่ พล.อ.ประวิตร
เก็บฉากความขัดแย้งใน พปชร. ศึกโค่น 'ร.อ.ธรรมนัส' จบ ทุกอย่างสงบ เสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ มิถุนายน 2564 กินเวลา 4 เดือนที่ 'ร.อ.ธรรมนัส' ทำหน้าที่เลขาธิการพรรค พปชร.ต้องเผชิญมรสุมจากปัญหาภายในมาอย่างต่อเนื่อง
ศึกซักฟอกช่วง 31 สิงหาคม-3 กันยายน 2564 เผชิญข้อกล่าวหาโหวตล้มนายกรัฐมนตรี แม้คะแนนรวมจะผ่านเกณฑ์ แต่ 'บิ๊กตู่' ได้รับคะแนนไว้วางใจรองบ๊วย และถูกไม่ไว้วางใจมากสุดในบรรดา 6 รัฐมนตรี ผลสืบเนื่องสะเทือนให้ 'ร.อ.ธรรมนัส-นฤมล ภิญโญสินวัฒน์' ถูกปลดพ้นตำแหน่งรัฐมนตรี
มาจนถึงศึกนี้ต้องยอมรับว่าแผลเก่ายังฝังลึกมาจนถึงปัจจุบัน
แต่ศึกต่อไปจะมีหรือไม่ ใครจะแพ้หรือชนะ แต่ 'พลังประชารัฐ' ยังไม่มีทางเหมือนเดิมในเวลานี้
ข่าวประกอบ :
-
3 ป.ปิดห้องถก 6 รัฐมนตรี เขย่าโครงสร้าง พปชร.อีกรอบ - กก.บริหารฯเตรียมลาออก 26 ต.ค.
-
'ธรรมนัส' ไม่ตอบโต้ รอพรรคตัดสิน 'บิ๊กป้อม' เรียกประชุมด่วน 28 ต.ค.
-
'ทักษิณ'โต้ข้อหาครอบงำ'เพื่อไทย'-ชี้ กก.บริหารฯ พปชร.ลาออก ไม่จบปมขัดแย้ง'ธรรมนัส'
-
แบบสอบถาม พปชร.ไว้วางใจ 'ธรรมนัส' นั่งเลขาฯต่อ 'บิ๊กป้อม' ขู่ไม่เลิกทะเลาะจะลาออก
-
ปัญหา พปชร.ยุติ 'ธรรมนัส' นั่งเลขาฯต่อ ยันทุกอย่างจบที่ 'บิ๊กป้อม'
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage