"…ทั้งหมดคือ ‘วีรกรรม’ ใหญ่ ๆ ของ ‘เนเน่’ หนึ่งใน ‘เยาวรุ่น’ ผู้มาก่อนกาล และเป็นหนึ่งใน ‘ไอคอน’ ของ ‘คนรุ่นใหม่’ ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ตอนนี้คงไม่ผิดนัก? ดังนั้นบทบาททางวิชาการ และทางการเมืองของ ‘เนติวิทย์’ ภายหลังเจ้าตัวเรียนจบ น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง!..."
ชื่อของ ‘เนเน่’ นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล อดีตนักกิจกรรม ‘ฝ่ายซ้าย’ กลับมาได้รับความสนใจจากสาธารณชนอีกครั้ง พลันที่องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ที่มีเจ้าตัวนั่งเป็น ‘นายก อบจ.’ ออกแถลงการณ์ ‘ยกเลิก’ กิจกรรมขบวนอัญเชิญ ‘พระเกี้ยว’ ในงานฟุตบอลประเพณีระหว่างจุฬาฯ และ ม.ธรรมศาสตร์
อบจ.วิพากษ์วิจารณ์ว่ากิจกรรมขบวนอัญเชิญ ‘พระเกี้ยว’ ดังกล่าว สะท้อนถึง ‘ระบอบอำนาจนิยม’ และสื่อนัยถึง ‘คนไม่เท่ากัน’ เนื่องจากเป็นภาพตัวแทนวัฒนธรรม ‘ศักดินา’ โดยมีสัญลักษณ์คือ ‘พระเกี้ยว’ นอกจากนี้การเกณฑ์คนมาแบกเสลี่ยงดังกล่าว มีลักษณะเหมือน ‘ทาส’
ขณะเดียวกันการคัดเลือกคนมาแบกเสลี่ยงอัญเชิญ ‘พระเกี้ยว’ นั้น มีกระบวนการสรรหา ‘นิสิตหอใน’ มาแบกเสลี่ยง โดยว่ากันว่ามีการบังคับผ่านการอ้างว่า มีผลต่อคะแนนการคัดเลือกให้มีสิทธิ์อยู่ในหอพัก ?
อย่างไรก็ดีเรื่องนี้มีหลายฝ่ายออกมาสนับสนุน-ต่อต้านจำนวนมาก ยกตัวอย่างฝ่ายต้าน นำโดยสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ออกแถลงการณ์ตอบโต้ อบจ. หลายข้อด้วยกัน โดยสาระสำคัญคือ ‘พระเกี้ยว’ เป็นสัญลักษณ์ที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 เป็นขวัญกำลังใจและความภาคภูมิใจของศิษย์เก่า ขณะที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ดีอีเอส) ในฐานะ ‘ศิษย์เก่า’ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ คัดค้านการยกเลิกกิจกรรมดังกล่าว โดยเห็นว่า ‘พระเกี้ยว’ คือสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของชาวจุฬาฯ หรือ ม.จ.จุลเจิม ยุคล ชี้ให้เห็นว่า รัชกาลที่ 5 ทรงมีวิสัยทัศน์กว้างไกลในการพระราชทานที่ดินให้เป็นสถานศึกษา เป็นต้น
ในขณะที่ฝ่ายหนุนการยกเลิกอัญเชิญ ‘พระเกี้ยว’ นอกเหนือจาก อบจ. และบรรดานิสิตจุฬาฯจำนวนไม่น้อยแล้ว ยังมีนายบรรยง พงษ์พานิช ที่ระบุว่าควรเคารพมติของ อบจ. ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของนิสิตจุฬาฯ ขณะเดียวกัน ‘ความเปลี่ยนแปลง’ เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้น พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่าการนำ ‘พระเกี้ยว’ มาร่วมงานแข่งขันกีฬาที่มี ‘ขบวนล้อการเมือง’ อยู่ด้วยนั้น เหมาะสมหรือไม่
การออกมาเคลื่อนไหวของ ‘เนติวิทย์’ และพวกครั้งนี้ สร้างความ ‘สั่นสะเทือน’ ไปทั่วจุฬาฯ บานปลายถึงความขัดแย้งในสังคมอีกครั้ง?
กล่าวถึงประวัติส่วนตัวของ ‘เนติวิทย์’ คร่าว ๆ เจ้าตัวคือ ‘ศิษย์ก้นกุฏิ’ ของ ‘ปัญญาชนสยาม’ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นับว่าเป็น ‘ลูกหม้อ’ คนหนึ่งของสำนักคิด ‘สวนเงินมีมา’ ที่มีปัญญาชน-นักกิจกรรม-นักการเมืองจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันเติบโตมาจากสำนักคิดนี้ นับตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงปัจจุบันเขาเป็นบรรณาธิการหนังสือ และเป็นผู้แปลหนังสือเกี่ยวกับปัญญาชน ‘ฝ่ายซ้าย’ หลายเล่ม
เจ้าตัวยังเป็นผู้ก่อตั้งสมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษา เพื่อวิพากษ์วิจารณ์และขับเคลื่อนเรื่องปฏิรูปการศึกษา และเป็นเลขาธิการฯคนแรก ตั้งแต่อายุ 16 ปี สมัยเป็นนักเรียนชั้น ม.4 ร.ร.นวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ปัจจุบันเพื่อนร่วมรุ่น-คนในเครือข่ายสมาพันธ์นี้หลายคน กระจายไปอยู่ในแวดวง ‘คนรุ่นใหม่’ ที่ขับเคลื่อนกิจกรรมทางการเมืองอยู่ตอนนี้
เกียรติประวัติส่วนตัว เมื่อปี 2556 เคยถูกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) เสนอรางวัล ‘สิทธิมนุษยชนประเภทเด็กและเยาวชนจากบทบาทการรณรงค์เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชนในโรงเรียน’ แต่เจ้าตัวปฏิเสธรับรางวัล ต่อมาปี 2561 สำนักข่าว Straits Times ของสิงคโปร์ยกย่องเป็น 1 ใน 50 บุคคลชาวเอเชียน่าจับตามองแห่งปี 2018 และได้รับเชิญเป็น 1 ในปาฐกงาน Oslo Freedom Forum ประจำปี 2018 จากมูลนิธิ Human Rights Foundation ซึ่งเป็นเวทีระดับโลกที่พูดถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน
เนติวิทย์ ร่วมปาฐกถาในเวทีการประชุมนานาชาติว่าด้วยเสรีภาพ ครั้งที่ 10
ที่มาภาพ : kapook
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ย้อน ‘วีรกรรม’ ของ ‘เนติวิทย์’ ในช่วงที่ผ่านมานับตั้งแต่ออกมาขับเคลื่อนกิจกรรมทางสังคมมาให้ทราบกันอีกครั้ง ดังนี้
เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง ศธ.-วิพากษ์ระบอบการศึกษาไทย
เมื่อครั้งเจ้าตัวเป็นนักเรียน ม.4 ร.ร.นวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ได้โพสต์จดหมายเปิดผนึกผ่านเฟซบุ๊ก วิพากษ์วิจารณ์ ‘ระบอบการศึกษาไทย’ อย่างเผ็ดร้อน จนกลายเป็นเรื่องดราม่าอย่างหนักในสังคมขณะนั้น รวมถึงเป็นตัวตั้งตัวตีในการยกเลิก ‘บังคับทรงผม’ ของนักเรียนด้วย เรียกได้ว่าเป็นวีรกรรมแรกที่ทำให้ใครหลายคนจดจำเขาได้
เขียนจดหมายถึง ‘สุเทพ’ คัดค้านการก่อตั้ง กปปส.
เมื่อเดือน ม.ค. 2557 ความเคลื่อนไหวของ ‘มวลมหาประชาชน’ กปปส. กำลัง ‘กระแสสูง’ ทว่า ‘เนติวิทย์’ คือหนึ่งในคนรุ่นใหม่ไม่กี่คนที่ออกตัวคัดค้านความเคลื่อนไหวของขบวนการนี้ โดยชี้ให้เห็นว่า ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เนื่องจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เคยปราศรัยเรียกร้องให้เกิดการรัฐประหาร และจะปิดล้อมคูหาหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น
เขียนจดหมายถึง ‘ปลัด ศธ.’ : อย่าวางยาพิษการศึกษาไทย
ภายหลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 นายเนติวิทย์ เป็นคนรุ่นใหม่คนแรก ๆ ที่ออกมาต่อต้านการรัฐประหารครั้งนั้น ขณะเดียวกันเมื่อเดือน ก.ค. 2557 ยังเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงปลัดกระทรวงศึกษาธิการ คัดค้านการสอดรับนโยบายของ คสช. ในเรื่อง ‘ค่านิยม 12 ประการ’ มาใส่ไว้ในหลักสูตรการศึกษา เจ้าตัวถึงขั้นระบุว่า “อย่าวางยาพิษการศึกษาไทยและนักเรียนไทย”
ต้านพิธีกรรมถวายสัตย์ฯนิสิตใหม่
หลังจากนั้นนายเนติวิทย์มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นระยะ ๆ กระทั่งเจ้าตัวเรียนจบชั้นมัธยมศึกษา และมาเข้าเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯ สร้างเรื่องราวสะเทือน ‘รั้วจามจุรี’ อีกครั้ง เมื่อเจ้าตัวและเพื่อน ‘วอล์คเอาท์’ งานถวายสัตย์ปฏิญาณตนของนิสิตใหม่ประจำปี 2560 ส่งผลให้เกิดดราม่าตามมาอย่างเผ็ดร้อน พร้อมด้วยแรงกดดันอย่างหนักจาก ‘ผู้บริหาร’ ภายในจุฬาฯ มีการตั้งกรรมการสอบสวน ท้ายที่สุดทำให้ ‘เนติวิทย์’ หลุดเก้าอี้ประธานสภานิสิตจุฬาฯ อย่างไรก็ดีเจ้าตัวยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากบรรดา ‘นักวิชาการ-นักการเมือง’ ฝ่ายซ้ายจำนวนมาก
เก็บตัวทำงานวิชาการกับ ‘สุลักษณ์’ ก่อนโผล่ต้านพิธีอัญเชิญ ‘พระเกี้ยว’
หลังจากเรื่องพิธีถวายสัตย์ ‘เนติวิทย์’ ค่อนข้างมีบทบาทลดลง เนื่องจากมีกลุ่ม ‘คนรุ่นใหม่’ จำนวนมากทำกิจกรรม-ปลุกม็อบต่อต้านรัฐประหารกัน เช่น นายรังสิมันต์ โรม นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ เป็นต้น โดยในช่วงเวลานี้ ‘เนเน่’ ไปร่วมกับนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ อย่างเต็มตัวเพื่อทำงานทางด้านวิชาการเป็นหลัก
กระทั่ง 4 ปีต่อมา เจ้าตัวกลับมามีบทบาทเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อีกครั้งจากเหตุการณ์ อบจ. มีมติควรยกเลิกพิธีอัญเชิญ ‘พระเกี้ยว’ ดังกล่าว
ทั้งหมดคือ ‘วีรกรรม’ ใหญ่ ๆ ของ ‘เนเน่’ หนึ่งใน ‘เยาวรุ่น’ ผู้มาก่อนกาล และเป็นหนึ่งใน ‘ไอคอน’ ของ ‘คนรุ่นใหม่’ ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ตอนนี้คงไม่ผิดนัก?
ดังนั้นบทบาททางวิชาการ และทางการเมืองของ ‘เนติวิทย์’ ภายหลังเจ้าตัวเรียนจบ น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง!
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage