"...ศาลเห็นว่า บทบัญญัติมาตราดังกล่าว กำหนดหน้าที่หัวหน้าพรรคที่พรรคสิ้นสภาพหรือยุบพรรค ต้องปฏิบัติหน้าที่จนกว่าชำระบัญชีแล้วเสร็จ มีหน้าที่ให้ข้อมูล ส่งบัญชีและงบดุล รวมถึงเอกสารเกี่ยวกับการเงินของพรรค ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่พรรคการเมืองสิ้นสภาพ และห้ามหัวหน้าพรรคนั้นดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในนาม พรรคที่ถูกยุบไปแล้วเท่านั้น แต่ไม่ห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในนามพรรคการเมืองอื่น..."
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 เวลา 15.20 น.ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งพิจารณาเพื่ออ่านคำวินิจฉัย เรื่อง ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่าด้วยสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายไพบูลย์ นิติตะวัน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ (รธน.) มาตรา 101 (10) ประกอบมาตรา 90 และ มาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่
ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มอบหมายให้ นายวิรุฬห์ แสงเทียน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้อ่านคำวินิจฉัย
โดยใช้เวลาอ่านคำวินิจฉัย 15 นาที ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส. ของนายไพบูลย์ ไม่สิ้นสุดลง ตาม รธน.รธน มาตรา 101 (10) ประกอบมาตรา 90 และ 91 วรรคหนึ่ง (5)
‘เลิกพรรค’โดยชอบตามขั้นตอน-ข้อบังคับ
ข้อเท็จจริงตามคำร้อง ระบุว่า นายไพบูลย์ เป็นหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป หลังการเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคประชาชนปฏิรูป เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2562 ในการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค 10/2562 และมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เลิกพรรค โดยมีหนังสือลงวันที่ 5 สิงหาคม 2562 แจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง
นายทะเบียนพรรคการเมือง ตรวจสอบข้อเท็จจริงเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งได้พิจารณาและประกาศความสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองของพรรคประชาชนปฏิรูปในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562 ต่อมาวันที่ 9 กันยายน นายไพบูลย์ สมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และจากนั้นหัวหน้าพรรค พปชร.แจ้งจำนวนสมาชิกต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ว่า นายไพบูลย์เข้ามาเป็นสมาชิก พปชร.แล้ว โดยมีมีข้อพิจารณาเบื้องต้นว่า การสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองของพรรคประชาชนปฏิรูป ชอบด้วย พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 91 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบวรรคสี่หรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่ากรรมการบริหารพรรคประชาชนปฏิรูปได้ประชุมและมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เลิกพรรค ตามข้อบังคับพรรค เป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการกำหนด กล่าวคือมีกรรมการบริหารพรรคการเมืองประชุม 16 คน ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการบริหารพรรคที่มีอยู่ 29 คน และผู้มาประชุมมีมติเอกฉันท์เป็นเสียงข้างมากมีมติที่ให้เลิกพรรคประชาชนปฏิรูป จึงเป็นไปโดยชอบตามข้อบังคับ มีเหตุผลในการเลิกพรรคว่า เนื่องจากกรรมการบริหารพรรคหลายคนลาออก และอีกหลายคนกำลังจะลาออก รวมทั้งขาดบุคลากรสนับสนุน ไม่สามารถดำเนินกิจการพรรคต่อไปได้
ไม่มีพยานหลักฐานปม ‘ไพบูลย์’ มีอำนาจเหนือ กก.บห.
เมื่อนายทะเบียนพรรคการเมืองได้รับแจ้งเรื่องการเลิกพรรค นายทะเบียนจึงได้ตรวจสอบกรณีดังกล่าว ตามอำนาจหน้าที่ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 91 วรรคสอง และให้กรรมการบริหารพรรคมาให้ถ้อยคำต่อ ปรากฏว่ากรรมการบริหารพรรค 15 คนให้ถ้อยคำยืนยันสอดคล้องว่าที่ประชุมีมติให้เลิกพรรคด้วยเหตุผลดังกล่าวจริง ส่วนอีก 1 คนไม่ได้มาให้ถ้อยคำ เนื่องจากอยู่ระหว่างเดินทางไปต่างประเทศ นายทะเบียนจึงเสนอให้ กกต.พิจารณา และมีมติเอกฉันท์ประกาศการสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ของพรรคประชาชนปฏิรูป และประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 กันนยายน 2562 สิ้นสภาพพรรคจึงเป็นไปโดยชอบ
ส่วนข้ออ้างของผู้ร้องที่ว่าการเลิกพรรคประชาชนปฏิรูป เป็นเหตุให้พรรคสิ้นสภาพความเป็นพรรค ตามประกาศของ กกต. เป็นการกระทำของผู้ถูกร้องมีเจตนาซ่อนเร้น อาศัยมติกรรมการบริหารพรรคที่ตนเองเป็นหัวหน้าซึ่งมีอำนาจเหนือกว่ากรรมการบริหารพรรค ศาลเห็นว่าไม่มีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานใดที่แสดงให้เห็นว่ามีกรณีเป็นไปดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง
กฎหมายคุ้มครองเหมือนยุบพรรค ส.ส.หาสังกัดใหม่ใน 60 วัน
กรณีเมื่อพรรคประชาชนปฏิรูปเลิกพรรคตามข้อบังคับ และ กกต.ประกาศการสิ้นสภาพของพรรคในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562 ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 90 (1) ประกอบมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (7) ทำให้สมาชิกภาพของนายไพบูลย์สิ้นสุดลง
ศาลเห็นว่า เมื่อพรรคสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง แต่นายไพบูลย์ ผู้ถูกร้องเป็น ส.ส. ซึ่งได้รับการคุ้มครองตาม รนธน. มาตรา 101 (10) ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 91 วรรคสี่ บัญญัติว่า การสิ้นสภาพพรรคการเมืองเป็นการถูกยุบพรรคโดยมีเจตนารมณ์คุ้มครอง ส.ส. ที่จะได้รับผลกระทบจากสิ้นสภาพพรรคการเมือง ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับการคุ้มครอง ส.ส.ที่สังกัดพรรคพรรคการเมืองที่ยุบตาม รธน. มาตรา 101 (10)
ดังนันสมาชิกที่สิ้นสภาพ ตามมาตรา 91 ที่เป็น ส.ส.จึงเข้าไปเป็นสมาชิกอื่นได้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่พรรคการเมืองสิ้นสภาพ ผู้ถูกร้องจึงสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่นภายใน 60 วัน นับตั้งแต่มีคำสั่งยุบพรรคการเมืองได้ ในคดีนี้คือ วันที่ 6 กันยายน 2562 เป็นวันที่พรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ถูกร้องสมัครเป็น 9 กันยายน 2562 เป็นระยะเวลาภายใน 60 วัน นับแต่พรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง
ห้ามทำกิจกรรมในนามพรรคที่ถูกยุบ ไม่เกี่ยวกับพรรคอื่น
สำหรับข้ออ้างของผู้ร้องที่ว่า ผู้ถูกร้องเป็นหัวหน้าพรรค ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ ตลอดจนพรรคชำระบัญชีเสร็จ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 95 บัญญัติว่า กรณีพรรคการเมืองสิ้นสภาพให้หัวหน้าพรรคการเมืองส่งบัญชีและงบแสดงฐานะทางการเงินรวมทั้งเอกสารภายใน 30 วัน นับแต่สิ้นสภาพหรือยุบ และวรรคสองให้หัวหน้าพรรคยังคงปฏิบัติหน้าที่จนกว่าการชำระบัญชีแล้วเสร็จ แต่ดำเนินกิจกรรมการในนามพรรคที่สิ้นสภาพหรือยุบไม่ได้
ศาลเห็นว่า บทบัญญัติมาตราดังกล่าว กำหนดหน้าที่หัวหน้าพรรคที่พรรคสิ้นสภาพหรือยุบพรรค ต้องปฏิบัติหน้าที่จนกว่าชำระบัญชีแล้วเสร็จ มีหน้าที่ให้ข้อมูล ส่งบัญชีและงบดุล รวมถึงเอกสารเกี่ยวกับการเงินของพรรค ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่พรรคการเมืองสิ้นสภาพ และห้ามหัวหน้าพรรคนั้นดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในนาม พรรคที่ถูกยุบไปแล้วเท่านั้น แต่ไม่ห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในนามพรรคการเมืองอื่น
หลักเกณฑ์การได้มาซึ่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อใช้บังคับก่อนเลือกตั้ง
ส่วนข้ออ้างผู้ร้องที่ว่า นายไพบูลย์ไม่ใช่บุคคลที่ พปชร. เสนอเป็นผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อต่อ กกต. ก่อนการปิดการรับสมัครเลือกตั้ง นายไพบูลย์จึงไม่สามารถเป็นสมาชิก ส.ส.บัญชีรายชื่อของ พปชร.ได้ตาม รธน.มาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง (10) ประกอบมาตรา 57
ศาลเห็นว่า รธน.มาตรา 90 กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5) กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการได้มาซึ่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ มีวัตถุประสงค์ใช้บังคับกรณีที่อยู่ระหว่างการจัดการเลือกตั้งและก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง เป็นคนละกรณีกับการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่น ตาม รธน.มาตรา 101 (10) ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2561 มาตรา 91 วรรคหนึ่ง (7) และมาตรา 91 วรรคสี่ ที่เกิดขึ้นภายหลังที่มีการเลือกตั้ง ผู้ถูกร้องได้รับประกาศผลการเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อแล้ว
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญลงมติเสียงข้างมา วินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส. ของนายไพบูลย์ ไม่สิ้นสุดลง ตาม รธน. มาตรา 101 (10) ประกอบ มาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5)
ข่าวประกอบ :
-
20 ต.ค.ชี้ชะตา 'ไพบูลย์ นิติตะวัน' สิ้นสภาพ ส.ส.หรือไม่ ปมยุบพรรคซบ พปชร.
-
ศาล รธน.มีมติเสียงข้างมาก'ไพบูลย์ นิติตะวัน'ไม่สิ้นสภาพ ส.ส.ปมยุบพรรคตัวเองซบ พปชร.
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage