แม้ว่าประเทศอย่างสิงคโปร์และกัมพูชาจะฉีดวัคซีนให้กับประชากรไปได้แล้วกว่า 80 เปอร์เซ็นต์และ 66 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ เมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด แต่ในอีกด้านหนึ่ง ประเทศอย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ กลับมีการฉีดวัคซีนที่น้อยกว่าอัตราหนึ่งในสี่ ขณะที่ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากที่สุด ก็พบว่ามีการฉีดวัคซีนครบโดสไปให้กับกลุ่มประชากรแล้วด้วยอัตราส่วนแค่หนึ่งในสามเท่านั้น
สืบเนื่องจากกระแสข่าวว่าประเทศไทยนั้นจะมีการปูทางเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ นับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. เป็นต้นไปนั้น ทำให้เกิดคำถามจากหลายภาคส่วนว่าประเทศไทยมีความพร้อมแล้วแน่หรือในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส ซึ่งเมื่อเปิดประเทศแล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะมีนักท่องเที่ยวกลับเข้ามายังประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งเมื่อประมาณสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น สำนักข่าว DW ของประเทศเยอรมนีเองก็ได้มีการเขียนบทความวิเคราะห์เรื่องพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากทวีปยุโรปว่าจะกลับมาเที่ยวยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกหรือไม่ โดยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเอาบทความดังกล่าวมานำเสนอ มีรายละเอียดดังนี้
เป็นเรื่องที่ไม่เหนือความคาดหมายมากนัก กับกรณีที่หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือว่าอาเซียนนั้นมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวกันอย่างเร่งรีบ โดยถ้าหากย้อนดูในช่วงปี 2562 ภาคส่วนการท่องเที่ยวของอาเซียนนั้นทำรายได้ให้กับเศรษฐกิจในภูมิภาคอยู่ที่กว่า 3.93 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (13,131,702,000,000 บาท) โดยในกรณีของประเทศกัมพูชานั้นภาคส่วนการท่องเที่ยวมีขนาดใหญ่คิดเป็นหนึ่งในสามของเศรษฐกิจทั้งหมด และในกรณีของประเทศไทยภาคส่วนการท่องเที่ยวมีขนาดใหญ่คิดเป็นหนึ่งในห้าของภาคเศรษฐกิจทั้งหมด
แต่อย่างที่ทราบกันว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 อันส่งผลอย่างรุนแรง ก็ทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวลดลงไปกว่า 81 เปอร์เซ็นต์ โดยข้อมูลจากประชาคมอาเซียนระบุว่าจากที่ในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังภูมิภาคนี้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 143 ล้านคน ก็ปรากฏว่าในปี 2563 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเหลืออยู่แค่ 26.1 ล้านคน ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนมากก็มาจากประเทศเพื่อนบ้านด้วยกันเอง
ในช่วงปี 2562 นั้นสหราชอาณาจักรถือว่าเป็นประเทศที่อยู่ในอันดับที่ 13 ที่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวยังภูมิภาคนี้ โดยคิดเป็นนักท่องเที่ยวจำนวนทั้งสิ้น 3.1 ล้านคน ขณะที่ประเทศเยอรมนีมีนักท่องเที่ยวมายังภูมิภาคนี้อยู่ที่ 2.1 ล้านคง และฝรั่งเศสมีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังภูมิภาคอยู่ที่ 2 ล้านคน โดยคิดเป็นสัดส่วน 5.9 เปอร์เซ็นต์ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด
@ชาวยุโรปไม่มีอาจจะไม่ได้นำเงินเข้ามามากเท่าที่คิด
นายเฟรดเดอริก เคลิม นักวิจัยจาก วิทยาลัยนานาชาติศึกษา เอส ราชา รัตนัม ในด้านต่างประเทศในประเทศสิงคโปร์กล่าวว่าตัวเขานั้นไม่คิดว่านักท่องเที่ยวจากยุโรปจะเป็นกุญแจสำคัญมากนักในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเอเชีย ณ เวลานี้
โดยสถานการณ์การเปิดประเทศในภูมิภาคอาเซียน ณ เวลานี้นั้น ประเทศไทยหลังจากที่ได้มีการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ไปแล้วในช่วงต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาก็มีการลดเวลาการกักตัวเหลือเพียงแค่ครึ่งหนึ่งเหลือแค่ 7 วันสำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการจะเข้าประเทศซึ่งฉีดวัคซีนครบโดสไปแล้ว
และในเดือน พ.ย.ที่จะถึงนี้ก็มีการเปิดให้ท่องเที่ยวได้อย่างเสรีในพื้นที่ จ.กรุงเทพและจังหวัดอื่นๆอีกรวม15 จังหวัด สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วซึ่งเดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ และตรวจไม่พบเชื้อโควิด และคาดว่าในเดือน ธ.ค.ก็จะมีการเปิดพื้นที่ส่วนมากตามมา
ส่วนที่ประเทศเวียดนามก็มีการเปิดเกาะฟูกว๊ก ขึ้นเป็นแซนด์บ็อกซ์ในเดือน พ.ย. เช่นเดียวกับกัมพูชาที่ถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงที่สุดในภูมิภาคก็จะเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งในปลายปีนี้
ขณะที่ประเทศมาเลเซียและประเทศฟิลิปปินส์ ก็ได้พยายามที่จะหาแนวทางการเปิดภาคส่วนที่สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งไม่นานมานี้กรุงกัวลาลัมเปอร์ก็ได้ผ่านร่างแผนการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวไป โดยเน้นที่การท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก
“ในช่วงก่อนการระบาดนั้น ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศในประเทศแถบอาเซียนส่วนใหญ่ก็มาจากประเทศแถบเอเชีย โดยประเทศจีนนั้นมีอัตราส่วนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 21 เปอร์เซ็นต์สำหรับนักท่องเที่ยวทั้งหมด ขณะที่สิงคโปร์มีอัตราส่วนนักท่องเที่ยวอยุ่ที่ 10 เปอร์เซ็นต์ และประเทศเกาหลีใต้มีอัตราส่วนนักท่องเที่ยวเข้ามาในภูมิภาคอาเซียนอยู่ที่ 7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนนั้นมีอัตราที่เพิ่มขึ้นจากในปี 2553 มีนักท่องเที่ยวจีนในอาเซียนอยู่ที่ 5.4 ล้านคน ก็เพิ่มขึ้นมาเป็น 32 ล้านคนในช่วงปี 2562”โฆษกของสภาการท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวโลก หรือ WTTC กล่าว
รายงานข่าวการผ่อนปรนการท่องเที่ยวในเอเชีย (อ้างอิงวิดีโอจากสำนักข่าว DW)
@ชาวจีนสำคัญอย่างยิ่งกับการท่องเที่ยวหรือไม่
คำถามที่สำคัญสำหรับทั้งภาคส่วนราชการและภาคธุรกิจก็คือว่าสิ่งที่เคยเป็นมาก่อนในปี 2560 จะกลับมาเป็นแบบนั้นอีกหรือไม่ ในช่วงหลายปีหลังจากนี้
ย้อนไปเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา หน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจ Economist Intelligence Unit (EIU) ของนิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ ได้มีการทำนายว่าประเทศจีนจะเข้าถึงการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มประชากรคิดเป็นปริมาณ 60 สำหรับจำนวนประชากรทั้งหมดภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 แต่เงื่อนไขเรื่องการกักตัวนั้นก็ไม่อาจที่จะผ่อนปรนได้จนกว่าจะถึงช่วงปลายปี 2565 โดยผู้เดินทางที่จะเริ่มได้รับข้อผ่อนปรมนี้จะเป็นผู้เดินทางจากเขตปกครองพิเศษฮ่องกงและเขตบริหารพิเศษมาเก๊า และหลังจากนั้นในปี 2566 ก็จะมีการผ่อนปรนให้กับนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นๆ ดังนั้นจึงมีการคาดกันว่าการท่องเที่ยวของประเทศจีนนั้นจะกลับมาอยู่ที่ระดับก่อนการแพร่ระบาดได้ก็น่าจะในช่วงต้นปี 2567
ดังนั้นนี่จึงกลายเป็นปัญหาสำคัญของเศรษฐกิจของอาเซียน อาทิ กรณีประเทศไทยที่มีอัตรานักท่องเที่ยวจีนลดลงไปถึง 88.6 เปอร์เซ็นต์ในปี 2563 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า โดยข้อมูลจากองค์การการท่องเที่ยวของสหประชาชาติ พบว่าในปี 2562 นักท่องเที่ยวจีนมีการใช้จ่ายเงินไปอยู่ที่ 254.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (8,503,640,000,000 บาท) หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ หนึ่งในห้าของการใช้จ่ายเกี่ยวกับการท่องเที่ยวทั่วโลก
ขณะที่เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา นายอิสมาเอล ซาบรี ยาคอบนายกรัฐมนตรีมาเลเซียก็ถูกวิจารณ์ทั้งในแง่บวกและแง่ลบเช่นกัน เมื่อเขาให้ความเห็นว่าอาเซียนควรที่จะสร้างทราเวลบับเบิลหรือฟองสบู่การท่องเที่ยวกับนักท่องเที่ยวจีนที่มีการฉีดวัคซีนครบโดสไปแล้ว ซึ่งนายยาคอบให้ความเห็นว่าการกระทำเช่นนั้นจะทำให้เราอยู่ในตำแหน่งที่ดีทั้งในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการฟื้นฟูความสัมพันธ์ในระหว่างบุคคลให้กลับมา
แต่อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนก็ได้ให้ความเห็นว่ามันยังเร็วเกินไปที่จะกล่าวว่าภาคส่วนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้นจะสามารถกลับมาเหมือนกับช่วงก่อนการระบาดได้หรือไม่
“การท่องเที่ยวแบบเดิมที่เรารู้จักคงจะไม่กลับมา ซึ่งหลังจากนี้ต่อไป สิ่งที่จะกลายเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งยวดก็คือการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนบูสเตอร์และการใช้แอปพลิเคชั่นติดตามการติดเชื้อ ซึ่งประเทศอย่างสิงคโปร์และประเทศมาเลเซียก็คงจะไม่มีการยกเลิกข้อกำหนดนี้เช่นกัน”นายเคลิมกล่าวและเน้นย้ำว่าการการท่องเที่ยวหลังจากนี้คงจะไม่มีทางกลับไปสู่การเดินทางซึ่งเป็นเรื่องง่ายและไม่มีข้อจำกัดแบบที่เราคุ้นเคยกันแต่ก่อนอีกแล้ว ซึ่งระเบียบการการท่องเที่ยวแบบใหม่อันเป็นเรื่องถาวรหลังจากนี้ ก็จะมีประเด็นทั้งภาระที่มากขึ้นและราคาที่สูงขึ้นตามมาด้วย
ประเทศออสเตรเลียเริ่มมีการใช้มาตรการยืนยันนานาชาติเพื่อยืนยันการฉีดวัคซีน (อ้างอิงวิดีโอจาก 7News Australia)
ซึ่งประเด็นนี้ก็จะมีความเกี่ยวพันไปถึงนักท่องเที่ยวชาวจีน โดยทาง EIU นั้นคาดว่าพวกเขาคงเลือกที่จะเดินทางไปยังประเทศที่เห็นว่าน่าจะมีทั้งความปลอดภัยมีกระบวนการยื่นขอวีซ่าที่ง่าย
@การเปิดพื้นที่การเดินทางแบบไม่มีการกักตัวอาจเป็นกุญแจสำคัญ
นักวิเคราะห์ได้ให้ความเห็นไว้ว่าถ้าหากนักท่องเที่ยวจีนนั้นไม่กลับมาอยู่ในระดับก่อนหน้าการระบาดเป็นระยะเวลานานหลายปี ดังนั้นก็มีความจำเป็นที่รัฐบาลและภาคอุตสาหรรมของประเทศอาเซียนจะต้องให้ความสำคัญกับตลาดการท่องเที่ยวน้อยลงไปด้วย
โดยสตีเว่น ชิปานี ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหลักสําหรับแผนกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียได้กล่าวว่าการระบาดของโควิด-19 นั้นได้แสดงให้เห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการกระจายตลาดเกิดขึ้น
“ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำเป็นจะต้องเพิ่มความพยายามขึ้นอีกเป็น 2 เท่าในการดึงเอานักท่องเที่ยวกลับมาจากตลาดที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึงจากทวีปยุโรป”นายชิปานีกล่าว
ปัญหาการฉีดวัคซีนที่ล่าช้าในประเทศอินโดนีเซียและในประเทศฟิลิปปินส์ (อ้างอิงวิดีโอจาก Channel News Asia)
“ภูมิภาคนี้นั้นเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับนักเดินทางจากยุโรปมานานหลายปี ดังนั้นการเปิดพรมแดนให้กับชาวยุโรปจึงมีความสำคัญยิ่งไม่แพ้กัน” โฆษก WTTC กล่าวและเน้นย้ำว่าทวีปยุโรปนั้นเป็นภูมิภาคซึ่งสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าอีกหลายภูมิภาคเพราะมีอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงมากและยังเป็นภูมิภาคที่เริ่มจะผ่อนปรนต่อการจำกัดการเดินทางแล้ว
ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ประเทศสิงคโปร์เองก็เริ่มที่จะเปิดโครงการการเดินทางเข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัวสำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วซึ่งมาจากทั้งประเทศเยอรมนี,และล่าสุดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีการเปิดช่องทางการเดินทางพิเศษสำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วให้กับประเทศฝรั่งเศส,อิตาลี,สเปน และประเทศอังกฤษ ซึ่งการผ่อนปรนมาตรการดังกล่าวนั้นก็จะทำให้มีการเดินทางได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องกักตัว
@บางประเทศนั้นเปิดพรมแดนเร็วเกินไปหรือไม่
ขณะที่ทางด้านของนายอภิชญ์ ริมมาล ผู้ประสานงานด้านสุขภาพฉุกเฉินแห่งเอเชียแปซิฟิก ณ สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศก็ได้กล่าวว่าอีกประเด็นหนึ่งซึ่งดูน่ากังวลกับสำหรับหลายประเทศในอาเซียนก็คือว่าประเทศเหล่านี้นั้นอาจจะเปิดพรมแดนรับนักท่องเที่ยวเร็วจนเกินไป เพราะ ณ เวลานี้ยังมีปัญหาสำคัญก็คือความไม่เท่าเทียมกันในด้านของวัคซีนในประเทศต่างๆ
เพราะแม้ว่าประเทศอย่างสิงคโปร์และกัมพูชาจะฉีดวัคซีนให้กับประชากรไปได้แล้วกว่า 80 เปอร์เซ็นต์และ 66 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ เมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด แต่ในอีกด้านหนึ่ง ประเทศอย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ กลับมีการฉีดวัคซีนที่น้อยกว่าอัตราหนึ่งในสี่ ขณะที่ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากที่สุด ก็พบว่ามีการฉีดวัคซีนครบโดสไปให้กับกลุ่มประชากรแล้วด้วยอัตราส่วนแค่หนึ่งในสามเท่านั้น
“มีประเด็นสำคัญที่ต้องคิดกันในทุกวันในเอเชีย ระหว่างอัตราการติดเชื้อที่ร้ายแรง,ยอดเสียชีวิต เปรียบเทียบกับการที่โรคระบาดนั้นได้ส่งผลกับภาคส่วนแรงงานและผู้ที่ได้รับค่าแรงงานรายวัน ซึ่งรวมไปถึงประชากรอีกเป็นจำนวนมากที่ยังคงต้องพึ่งพาค่าแรงรายวัน และรายได้หลักจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว” นายริมาลกล่าว
เรียบเรียงจาก:https://www.dw.com/en/covid-will-european-tourists-return-to-southeast-asia/a-59489912
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage