"…การทำเกษตรในเมืองแม้ไม่ได้ตอบโจทย์ 100% เพราะคนกินอาหารหลากหลาย แต่อย่างน้อยการที่เรามาส่งเสริมความรู้เรื่องการเพาะปลูกผัก จะช่วยลดผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตของโควิดที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนได้ เพื่อให้ชุมชนเกิดความมั่นใจระดับนึงว่าสวนผักในเมืองนี้ จะดูแลพวกเขาได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยไม่ต้องรอรับของบริจาคอย่างเดียว…"
‘อาหาร’ ถือเป็นเรื่องสำคัญเมื่อเผชิญกับภาวะวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 หรือในวิกฤตโควิดนี้ ด้วยมาตรการควบคุมโรค ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ทำให้ตลาดหรือการขนส่งอาหารข้ามพื้นที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก ขณะที่หลายคนต่างต้องเผชิญกับภาวะรายได้ที่ถดถอย หรือขาดรายได้ เกิดวิกฤตขาดแคลนอาหารตามมา โดยเฉพาะพื้นที่สังคมเมือง
สำหรับสังคมเมือง เป็นสังคมที่ผู้คนส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตเป็นผู้บริโภคมาโดยตลอด เมื่อเผชิญกับภาวะวิกฤตโควิดได้รับผลกระทบแบบไม่ทันตั้งตัว จึงไม่สามารถดูแลตนเองด้านอาหารได้ เป็นที่มาของมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เข้าไปช่วยเหลือคนในชุมชนต่างๆ ภายใต้ ‘โครงการส่งเสริมเกษตรในเมือง’
น.ส.วรางคนางค์ นิ้มหัตถา ผู้จัดการโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า เครือข่ายสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างความมั่นคงอาหารในสังคมเมืองมาตลอดตั้งแต่ปี 2553 เพราะเราวิเคราะห์การเติบโตของเมืองและวิถีชีวิตของคนเมือง พบว่าคนเมืองต่างต้องเผชิญหน้ากับเรื่องความไม่ปลอดภัยของอาหาร เพราะอยู่ในฐานะของผู้บริโภคโดยตลอด และในอนาคตหากเมืองเติบโตไปเช่นนี้ มันจะไม่ใช่แค่ความปลอดภัยด้านอาหารแล้ว เพราะหากเกิดภัยพิบัติ หรือเกิดวิกฤต คนเมืองจะไม่สามารถดูแลตนเองด้านอาหารได้ จึงเป็นที่มาของโครงการสวนผักในเมือง ที่จะเข้าไปช่วยการฟื้นฟูทักษะชีวิตให้คนเมือง
"อาหารคือเรื่องพื้นฐานของชีวิต เป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่สำคัญของมนุษย์ เมื่อคนเมืองผลักภาระให้คนอื่นดูแลเรื่องการผลิต ยามเจอวิกฤตเกิดขึ้น เช่นในปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมหนัก เส้นทางอาหารถูกตัดขาด คนไม่สามารถเข้าถึงอาหารแบบปกติของตัวเองได้ หรือยามเจอวิกฤตอะไรก็แล้วแต่ เมืองจะได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนอาหารได้ทั้งสิ้น ฉะนั้นสิ่งสำคัญก็คือ การทำให้คนมีความรู้ มีทักษะในการเป็นผู้ผลิตอาหารเองบ้าง โดยเริ่มจากการทำเกษตร เช่น การปลูกผักก่อน เพราะเมื่อเขามีทักษะการเป็นผู้ผลิตแล้ว ก็จะนำไปสู่การสร้างพื้นที่อาหารของคนเมืองให้มีพื้นที่อาหารในบ้าน ในเมือง หรือในชุมชนต่อไป" น.ส.วรางคนางค์ กล่าว
ในช่วงวิกฤตโควิด โครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนได้สานพลังร่วมกับ สสส. เพื่อจัดทำ 'โครงการส่งเสริมเกษตรในเมือง' ที่จะช่วยส่งเสริมการเกษตรในระดับของชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มคนจนเมือง ชุมชนแออัด คนไร้บ้าน กลุ่มแคมป์คนงานก่อสร้าง เครือข่ายสลัม 4 ภาค หรือชุมชนที่ไม่ได้ทำเรื่องการผลิตอาหารมาก่อน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดสูง เพื่อให้เขามีความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤตที่อาจทำให้ขาดแคลน
โครงการนี้ จะมุ่งเน้นการสร้างพื้นที่เกษตรกรรมให้เป็นแห่งผลิตอาหารของชุมชน ปรับพื้นที่รกร้างหรือพื้นที่ว่างเปล่า ตั้งแต่ 100 ตารางเมตร ให้กลายเป็นพื้นที่ปลูกผักปลอดสารพิษอย่างครบวงจร โดยเรานำประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอด 10 ปี มาสอนคนในชุมชนเมืองเป็นเวลาราว 4 เดือน ลงพื้นที่ 5 ครั้ง โดยแบ่งกิจกรรมของโครงการออกเป็น 2 รอบ คือในเดือน พ.ค.-ส.ค. 2563 และ เม.ย.-ก.ค.2564 เข้าช่วยเหลือชุมชนรอบละประมาณ 30 พื้นที่
เราเริ่มสอนตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน คือ การเรียนรู้การปรับปรุงดิน การปลูกพืช การเลือกชนิดพืชในแต่ละฤดูกาล การดูแลสวน การทำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง การปรับปรุงดิน รวมไปถึงการจัดการขยะเพื่อนำมาทำเป็นปุ๋ยหมัก และแปรรูปผลิตผล
"สาเหตุที่เราสอนการปลูกผักในเมืองแบบครบวงจร เพราะว่าต้นทุนการผลิตอาหารของคนเมืองนั้นสูง ฉะนั้นถ้าไม่สามารถพึ่งตนเองในเรื่องปัจจัยการผลิตได้ การทำเกษตรในเมืองสำหรับกลุ่มคนรายได้น้อย จะไม่ตอบโจทย์ ที่สำคัญคือการทำเกษตรในเมืองอาศัยแรงกายแรงใจเยอะ ถ้าผลผลิตที่ออกมาไม่สมบูรณ์ หรือได้น้อย ไม่เท่ากับที่พวกเขาลงแรงลงใจ จะทำให้ท้อ" น.ส.วรางคนางค์ เปิดเผย
ดังนั้นเพื่อการเยียวยากลุ่มเปราะบางทางสังคมอย่างแท้จริง เราจะลดต้นทุนการผลิต ด้วยการสร้างความอุดมสมบูรณ์ของปัจจัยการผลิต เช่น การทำเกษตรอินทรีย์ทำปุ๋ยหมักใช้เอง ลดการใช้ปุ๋ยเคมี เป็นต้น ควบคู่ไปกับการเพาะปลูก ทำให้สวนผักนั้นสามารถออกผลผลิตได้สมบูรณ์ในปริมาณมาก
น.ส.วรางคนางค์ นิ้มหัตถา ผู้จัดการโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน
สานพลังทีมงาน 5 คน ช่วยชุมชนเปราะบาง
สำหรับทีมโครงการส่งเสริมเกษตรกรในเมือง น.ส.วรางคนางค์ เปิดเผยว่า แม้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่อยู่เพียง 3 คน ที่ทำหน้าที่บริหารจัดการและประสานงาน และมีทีมวิทยากรจากกลุ่มศูนย์อบรมเกษตรในเมืองอีก 2 คน ในการให้ความรู้กับชุมชน แต่ในวิกฤตโควิดที่เกิดขึ้น ปัญหานี้รุนแรงมาก เราเพียงแต่คิดว่าจะทำอย่างไรให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารและมีความมั่นคงทางอาหารได้ ดังนั้นต่อให้ทีมงานจะมีคนน้อย เราก็ไม่สามารถมองผ่านคนเปราะบางในหลายระดับไปได้
“ปัญหาข้างหน้ามันรุนแรงมาก เราก็เลยคิดแค่ว่าจะทำอย่างไรให้เราช่วยได้มากที่สุด ต่อให้คนน้อย เราเลยทำงานหลายอย่าง เพราะยังมีคนเปราะบางที่เราไม่สามารถละทิ้งไปได้ กลุ่มเปราะบางมากๆ หากไม่มีงบประมาณหรือความรู้ เขาก็ไม่สามารถเผชิญวิกฤตนี้ได้ เราก็เลยลงแรงกับกลุ่มนี้มากๆ” น.ส.วรางคนางค์ เปิดเผย
'สวนผักในเมือง' สร้างงาน-รายได้เสริมให้ชุมชน
น.ส.วรางคนางค์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเรานำร่องโครงการส่งเสริมเกษตรในเมืองไปแล้ว นับตั้งแต่ช่วงการระบาดระลอกแรกจนถึงปัจจุบันราว 65 พื้นที่ ประกอบด้วย ชุมชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 49 ชุมชน และเชียงใหม่ 11 ชุมชน ส่วนที่เหลืออีก 5 แห่ง คือ พื้นที่ของภาคธุรกิจโรงแรมที่สนใจเข้าร่วมโครงการ
ทุกพื้นที่เมื่อได้เรียนรู้กับเราไปแล้ว ต่างได้ผลผลิตที่สมบูรณ์จำนวนมาก โดยในระยะเวลา 45-60 วัน พื้นที่ปลูกผัก 1 ตารางเมตร แต่ละชุมชนต่างได้ผักอายุสั้น จำพวกกวางตุ้ง ผักบุ้ง หรือผักสลัด เฉลี่ยอย่างน้อย 2 กิโลกรัม ซึ่งบางพื้นที่ก็อาจได้มากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับพื้นที่และศักยภาพของการปลูก
เมื่อมีผลผลิต ในช่วงวิกฤตโควิดนี้ทุกชุมชนต่างมีวิธีบริหารจัดการอาหารที่เหมือนกัน คือนำเอาผลผลิตที่ได้ไปแบ่งปันกันกันเองภายในชุมชนก่อน เอาไปช่วยเหลือคนเปราะบางที่ต้องกักตัวเองที่บ้าน โดยนำจัดใส่ถุงเป็นวัตถุให้นำไปทำอาหารเองบ้าง หรือนำเข้าสู่ครัวกลางทำอาหารแจกจ่ายกันในชุมชน ส่วนผลิตผลที่เหลือก็นำออกจำหน่าย สร้างอาชีพและรายได้เสริม นำมาเป็นเงินหมุนเวียนในชุมชนต่อไป
ยกตัวอย่าง หมู่บ้านสินสมบูรณ์ จ.สมุทรสาคร หมู่บ้านที่ก่อนหน้านี้จะได้มาเข้าร่วมโครงการกับเรา พยายามปลูกผักพึ่งพากันเองภายในชุมชนมา 2 เดือน แต่กลับไม่ได้ผลผลิต เมื่อโครงการได้เข้าไปช่วยส่งเสริมความรู้ ส่งเสริมงบประมาณบางส่วน ทำให้ผลผลิตออกมาได้ดีขึ้น ดีขนาดที่ว่าสามารถเอาผลผลิตไปดูแลผู้ป่วยกักตัวในชุมชนได้ 70 ครัวเรือน วันละ 3 มื้อ
และยกตัวอย่าง สวนผักริมคลองบางมด พื้นที่ริมคลองบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร เดิมเคยทำการเกษตรพึ่งพากันเองภายในชุมชน แต่ยังไม่สามารถทำได้มากนัก เพราะข้อจำกัดด้านความรู้ ความเข้าใจด้านการทำเกษตรในเมือง และลักษณะเฉพาะของพื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่ที่น้ำทะเลท่วมถึง มีน้ำเค็ม น้ำกร่อยดันเข้ามาในพื้นที่ ทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเพาะปลูก
เมื่อโครงการได้เข้าไปช่วยส่งเสริมปัจจัยการผลิตพื้นฐานสำคัญ อาทิ ดินพร้อมปลูก ปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร เมล็ดพันธุ์อินทรีย์ อุปกรณ์การเกษตรที่จำเป็น รวมถึงมีวิทยากรด้านเกษตรในเมือง ลงพื้นที่จัดอบรมให้ความรู้ ปัจจุบันนี้ คนในชุมชนมีอาชีพเสริมขายชุดผักผลไม้ออกจำหน่ายสู้ผู้อื่น มีลูกค้าเป็นสมาชิกรายเดือนของตัวเองราว 50 ราย ที่จ่ายเงินล่วงหน้านำผลผลิตจากสวนนี้ไปบริโภค
ชุดผักผลไม้จากสวนผักริมคลองบางมด
พึ่งพาตนเองด้านอาหารได้เพิ่มขึ้น 50%
นอกจากนี้ น.ส.วรางคนางค์ เปิดเผยอีกว่า จากการเก็บผลสำรวจความสามารถพึ่งพาตนเองด้านอาหารของชุมชนที่มาเข้าร่วมกับโครงการส่งเสริมเกษตรในเมืองดังกล่าว จำนวน 30 ชุมชน ในช่วงการระบาดของโควิดระลอกแรกปี 2563 พบว่า มีความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้านอาหารได้จากเดิม 10% เพิ่มขึ้นเป็น 50% เมื่อได้เข้าเรียนรู้กับโครงการนี้
ล่าสุดจากการศึกษาแปลงเกษตรในเมือง 4 พื้นที่ คือ สวนผักคนเมืองชุมชนบูรพา 7 แปลงผักนักสำรวจน้อย เคหะชุมชนทุ่งสองห้อง 327 กลุ่มคนงานสมานฉันท์ และชุมชนภูมิใจ ในปี 2564 พบว่า แปลงเกษตรในเมืองดังกล่าวได้กลายเป็นพื้นที่อาหารสำคัญของกลุ่มและคนในชุมชนได้ดีทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต
กรณีสวนผักคนเมืองชุมชนบูรพา 7 เขตดอนเมือง และกรณีแปลงผักนักสำรวจน้อย ชุมชนเคหะทุ่งสองห้อง 327 เขตหลักสี่ ช่วงวิกฤตโควิดแปลงผักได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งอาหารให้กับสมาชิกจำนวน 13 ครัวเรือน และ 10 ครัวเรือนตามลำดับ สามารถลดค่าใช้จ่ายในการซื้อผักถึง 50% และผักบางชนิดไม่ต้องซื้อจากตลาดอีกเลย โดยสวนผักคนเมืองชุมชนบูรพา 7 ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อไข่ไก่ได้อีก 70-90 บาทต่อเดือน สำหรับแปลงผักนักสำรวจน้อย ชุมชนทุ่งสองห้อง 327 เมื่อคิดเป็นมูลค่าสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารวันละ 30-40 บาท
เช่นเดียวกับ กลุ่มคนงานสมานฉันท์ เขตบางบอน ได้ใช้พื้นที่ดาดฟ้าซึ่งเป็นโรงานตัดเย็บเสื้อผ้าปลูกผัก คนงานจำนวน 30 คน สามารถเก็บผักกินอย่างต่อเนื่องคิดเป็นมูลค่าเป็นตัวเงินเดือนละกว่า 1,000 บาท ผักบนดาดฟ้าพอที่จะนำมาประกอบอาหารร่วมกับการรับบริจาคพืชผัก ข้าวสารและวัตถุดิบในการปรุงอาหารจากกลุ่มปันอาหาร ปันชีวิต ในช่วงวิกฤตโควิด
ส่วนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการไล่รื้อ อย่างชุมชนภูมิใจ ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง และได้มาสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ในเขตคลองสามวา เมื่อมีวิกฤตโควิด รายได้ติดลบ หลายครอบครัวตกอยู่ในภาวะหามื้อกินมื้อ ชุมชนใช้พื้นที่ที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ พื้นที่ว่างรอบๆ บ้านชั่วคราว ที่ดินริมคลองเพื่อปลูกผักพอที่จะเก็บมาทำอาหารในบางมื้อ แต่ด้วยชุมชนตั้งอยู่ใกล้กับหนองน้ำขนาดใหญ่จึงหาอาหารธรรมชาติแล้วแบ่งปันมาทำกินกัน พอที่จะลดค่าใช้จ่ายลงไปได้ แต่ชุมชนต้องพึ่งพาอาหารจากการบริจาคภายนอก แล้วนำวัตถุดิบมาทำอาหารจำหน่ายราคาถูก เพื่อนำรายได้สำหรับการซื้อวัตถุดิบทำอาหารต่อไป
ดังนั้นการทำสวนผักในเมือง จึงเป็นการสร้างพื้นที่อาหาร ทำให้เกิดการพึ่งตนเองและลดภาระค่าใช้จ่ายด้านอาหารได้ โดยเฉพาะผัก มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นมูลค่าสำหรับการบริโภคและแบ่งปัน และมีบทบาทสำคัญในช่วงการแพร่ระบาดโควิดที่มีข้อจำกัดการเข้าถึงอาหาร และได้สร้างหลักประกันความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชนอย่างแท้จริง
“อย่างไรก็ตามการทำเกษตรในเมืองแม้ไม่ได้ตอบโจทย์ 100% เพราะคนกินอาหารหลากหลาย แต่อย่างน้อยการที่เรามาส่งเสริมความรู้เรื่องการเพาะปลูกผัก จะช่วยลดผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตของโควิดที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนได้ เพื่อให้ชุมชนเกิดความมั่นใจระดับนึงว่าสวนผักในเมืองนี้ จะดูแลพวกเขาได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยไม่ต้องรอรับของบริจาคอย่างเดียว” น.ส.วรางคนางค์ เปิดเผย
นอกเหนือจากการช่วยเหลือกลุ่มชุมชนเมืองเปราะบางแล้ว น.ส.วรางคนางค์ เปิดเผยด้วยว่า มูลนิธิเกษตรกรรมยั่นยืนยังเล็งเห็นความสำคัญของประชาชนในเมืองทุกระดับ จึงได้ออกแบบแผนช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่ม แบ่งออกเป็น กลุ่มผู้บริโภคที่พอมีงบประมาณ แต่ไม่รู้จะไปซื้อของที่ใด ทางมูลนิธิฯมีโครงการ City Farm Market เป็นอีกตลาดทางเลือกให้ประชาชนได้ซื้อผลิตผลจากเกษตรกรโดยตรง ส่วนกลุ่มที่อยากได้ความรู้ในการปลูกผักในเมืองแต่ไม่ต้องการเงินทุน ทางมูลนิธิฯก็ได้จัดอบอรมเป็นประจำ ซึ่งสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage