“..การทำงานของผู้สูงอายุ ถือได้ว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการสร้างระบบเศรษฐกิจของประเทศ ฉะนั้นหากต้องการให้ประเทศไทยมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง ผู้สูงอายุจะต้องมีรายได้ ต้องมีการส่งเสริมให้มีงานทำ พร้อมสร้างศักดิ์ศรีให้เป็นผู้สูงอายุที่มีบทบาทในสังคม..”
เดือน 'กันยายน' ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นโค้งสุดท้ายของการทำงานของข้าราชการที่มีอายุครบ 60 ปี หรือ ‘เกษียณอายุราชการ’ ถือได้ว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของชีวิต จากวัยทำงาน ไปสู่วัยผู้สูงอายุ
ปี 2564 ประเทศไทย ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ด้วยจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบันมีประชากรผู้สูงอายุราว 18% ของประชากรทั้งหมดเกือบ 70 ล้านคน เท่ากับว่ามีผู้สูงอายุมากถึงประมาณ 14 ล้านคน แต่ความจริง ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2548 แล้ว โดยในปีนั้น มีสัดส่วนผู้สูงอายุ 10.4%
หากดูสถิติย้อนหลังจะพบว่าอัตราการเกิดของเด็กไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ขณะที่ประชากรที่เกิดระหว่างปี 2506-2526 กำลังจะกลายเป็นผู้สูงอายุ เป็นปรากฏการณ์ ‘อัตราการเกิดที่ลดลงและผู้คนมีอายุยาวขึ้น’
มีการคาดการณ์ว่าอีก 12 ปีข้างหน้า หรือในปี 2576 ประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด มีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป จะสูงถึง 28% และประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปสูงถึง 20%
เป็นที่ทราบกันดีว่า การเข้าสู่ ‘สังคมผู้สูงอายุ’ จะเป็นปัญหาสำคัญของการพัฒนาประเทศในอนาคต เพราะรัฐบาลจะต้องรับภาระดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น ขณะเดียวกัน ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ก็จะลดลง เนื่องจากประชากรในวัยทำงานลดลงไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมข้อมูลการส่งเสริมอาชีพและพัฒนาผู้สูงอายุ มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
จากข้อมูลแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2545-2564) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 พ.ศ.2552 กล่าวถึงปรัชญา แนวคิดขั้นพื้นฐานของผู้สูงอายุ ระบุว่า ผู้สูงอายุไม่ใช่บุคคลด้อยโอกาสหรือเป็นภาระต่อสังคม แต่สามารถมีส่วนร่วม เป็นพลังพัฒนาสังคม จึงควรได้รับการส่งเสริมและเกื้อกูลจากครอบครัว ชุมชน และรัฐให้ดำรงชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี ความเป็นอยู่ที่ดีให้นานที่สุด ขณะเดียวกันผู้สูงอายุที่ประสบความทุกข์ยาก ต้องได้รับการเกื้อกูลจากครอยบครัว ชุมชน สั่งคม และรัฐอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
การสร้างหลักประกันในวัยสูงอายุเป็นกระบวนการสร้างความมั่นคงให้แก่สังคมโดยการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ได้แก่ ประชากรช่วยตนเอง ครอบครัวดูแล ชุมชนช่วยเกื้อกูล รวมถึงสังคม และรัฐสนับสนุน โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ควรมีการบูรณาการให้เหมาะสมกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
น.ส.สุทธิรัตน์ โทชนบท ผู้อำนวยการกลุ่มเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพเครือข่าย กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยกับ สำนักข่าวอิศรา ว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่้สังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์แล้ว แต่สถานการณ์ยังไม่เข้าขั้นรุนแรง แต่จากสถิติที่มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุราว 13 ล้านคน เป็นเหตุผลที่จะต้องมีการส่งเสริมอาชีพการทำงานและพัฒนาผู้สูงอายุ ควบคู่กับการรณรงค์เรื่องการออมเงิน และการจัดสวัสดิการ เพราะผู้สูงอายุ เป็นส่วนหนึ่งของประชากรในประเทศเช่นเดียวกับประชากรวัยอื่นๆ
“การทำงานของผู้สูงอายุ ถือได้ว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการสร้างระบบเศรษฐกิจของประเทศ ฉะนั้นหากต้องการให้ประเทศไทยมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง ผู้สูงอายุจะต้องมีรายได้ ต้องมีการส่งเสริมให้มีงานทำ พร้อมสร้างศักดิ์ศรีให้เป็นผู้สูงอายุที่มีบทบาทในสังคม”
น.ส.สุทธิรัตน์ กล่าวว่า ในส่วนการส่งเสริมอาชีพสำหรับผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ จะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในด้านการเสริมสร้างทักษะทางเลือกอาชีพ และบริการกองทุนผู้สูงอายุ เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายเกี่ยวกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิ สามารถนำมาสนับสนุนกิจกรรมและงานของผู้สูงอายุได้ โดยผู้สูงอายุสามารถเข้ามาแจ้งความประสงค์ได้
อีกทั้ง ยังมีกองทุนเพื่อการส่งเสริมอาชีพ ให้บริการกู้ยืมเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพ แบ่งเป็น การกู้ยืมรายบุคคล ได้ไม่เกิน 30,000 บาท และสำหรับรายกลุ่ม (ไม่น้อยกว่า 5 คน) กลุ่มละ 100,000 บาท โดยกำหนดระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 3 ปี และไม่มีการคิดดอกเบี้ยการกู้ยืม
นอกจากนี้ พม.ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือส่งเสริมการมีงานทำให้กับผู้สูงอายุกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงแรงงาน องค์การบริการส่วนท้องถิ่น เป็นต้น เอกชน เช่น สมาคมผู้ค้าปลีก ซีเอ็ด ปตท. โลตัส เป็นต้น และภาคประชาสังคม รวมแล้วกว่า 23 หน่วยงาน เพื่อขับเคลื่อนมาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุด้วยการส่งเสริมการมีงานทำและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ
โดยภาครัฐ จะให้การประสานงานและสนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดการชับเคลื่อนยุทธสาสตร์และนโยบายการส่งเสริมการมีงานทำและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ
ภาคเอกชน จะดำเนินการให้มีการกำหนดนโยบายเรื่องการจ้างงานผู้สูงอายุในสถานประกอบการของตนเอง ดังนี้
-
จ้างงานผู้สูงอายุตามกรอบนโยบายที่สถานประกอบการกำหนด
-
จัดทำแผนการเตรียมความพร้อมรองรับการจ้างงานผู้สูงอายุ
-
จัดส่งตำแหน่งานว่างสำหรับผู้สูงอายุให้หน่วยงานภาครัฐ (ถ้ามี)
ส่วนภาคประชาสังคม จะดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมการมีงานทำให้ผู้สูงอายุ อาทิ ประชาสัมพันธ์ให้ผู้สูงอายุและหน่วยงานในภาคีเครือข่ายร่วมกันส่งเสริมการมีงานทำให้ผู้สูงอายุ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต
น.ส.สุทธิรัตน์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ภาครัฐและเอกชนต่างๆ ได้มีการปรับนโยบายขยายอายุการจ้างงาน จาก อายุ 60 ปี เป็น 65 ปีด้วย แต่ทั้งนี้ การส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุจะต้องคำถึงอายุ สุขภาพ และความปลอดภัย เนื่องจากสภาพร่างกายของผู้สูงอายุที่อาจจะเสื่อมถอยตามกาลเวลาด้วย
สำหรับความต้องการทำงานของผู้สูงอายุ น.ส.สุทธิรัตน์ กล่าวว่า ประมาณ 25% ของผู้สูงอายุ มีความต้องการทำงานอยู่ แบ่งเป็น ผู้สูงอายุวัยต้น อายุ 60-69 ปี มีความต้องการทำงาน 35.1% ในขณะที่ผู้สูงอายุวัยกลาง อายุ 70-79 ปี มีความต้องการทำงาน 13.1% และผู้สูงอายุวัยปลาย อายุ 80-89 ปี มีความต้องการทำงานเพียง 3.4%
โดยผู้สูงอายุที่ยังทำงานส่วนใหญ่ ให้เหตุผลสำคัญที่สุดที่ยังทำงานว่า สุขภาพแข็งแรง หรือยังมีแรงทำงาน รองลงมา คือ ต้องหารายได้เลี้ยงครอบครัวหรือตนเอง หรือใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และอีกส่วนหนึ่ง ระบุว่า เป็นอาชีพประจำ เนื่องจากไม่มีผู้ดูลแทน
“ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุมากกว่า 80% จะทำงานนอกระบบ เช่น ค้าขาย ทำเกษตร ทั้งนี้ก็มีการส่งเสริมให้ทำงานในธุรกิจการบริการในภาคเอกชนเช่นเดียวกัน แต่ภาคเอกชน ก็รับเข้าทำงานไม่เยอะมากนัก เนื่องจากไม่ได้เป็นกฎหมายบังคับ และตัวผู้สูงอายุเองก็อยากทำงานอิสระมากกว่า เช่น ค้าขาย”
เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เนื่องจากปัจจุบันนี้ มีจำนวนผู้สูงอายุทั้งสิ้นประมาณ 12 กว่าล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุที่ทำงานประมาณ 4.7 กว่าล้านคน หรือคิดเป็น 36.91% รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเปราะบาง โดยการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย โดยปรับปรุงระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและเบี้ยยังชีพของประชาชน อาทิ ผู้สูงอายุและคนพิการที่มีรายได้น้อย ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
กระทรวงแรงงาน ได้มีนโยบายที่สำคัญในการสนับสนุนส่งเสริมแรงงานผู้สูงอายุ ให้มีงานทำการเตรียมรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ได้แก่ ด้านการพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ จำนวน 8,200 กว่าคน มีการขับเคลื่อนผ่านโครงการที่สำคัญ เช่น การฝึกทักษะอาชีพต่างๆ ทั้งรูปแบบการฝึกปกติและฝึกผ่านระบบออนไลน์ การฝึกอบรมแรงงานผู้สูงอายุ การส่งเสริมการตลาดสินค้าสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น
ด้านส่งเสริมการมีงานทำ ขับเคลื่อนผ่านโครงการสำคัญ เช่น การออกประกาศขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนสนับสนุนการจ้างงานรายชั่วโมง (Part -Time) สำหรับผู้สูงอายุ การจ้างงานผู้สูงอายุเข้าทำงานตามความเหมาะสม โครงการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ กิจกรรม 1 อำเภอ 1 ภูมิปัญญา โครงการขยายโอกาสการมีงานทำให้ผู้สูงอายุว่า ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีเป้าหมายรวม 17,615 คน
ประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่ ส่งเสริมการประกอบอาชีพให้ผู้สูงอายุ เป้าหมาย 2,580 คน และส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุในอาชีพที่เหมาะสมกับวัย และประสบการณ์ เป้าหมาย 15,035 คน กิจกรรมสานพลังประชารัฐ จัดหางานให้ผู้สูงอายุ ได้แก่ การสำรวจข้อมูลผู้สูงอายุ ประชุมนายจ้าง สถานประกอบการเพื่อรวบรวมตำแหน่งงานว่าง จัดหางานให้ผู้สูงอายุ และกิจกรรมสร้างโอกาสการมีงานทำให้ผู้สูงอายุ ด้วยการจ้างทำงานในหน่วยงานของกรมการจัดหางาน เป็นต้น
ในปี 2564 จากข้อมูลของกรมการจัดหางาน พบว่า มีผู้สูงอายุได้รับการส่งเสริมการประกอบอาชีพและส่งเสริมการจ้างงานแล้ว 10,514 คน แบ่งเป็นผู้สูงอายุได้รับการส่งเสริมการประกอบอาชีพ 1,113 คน สร้างรายได้ให้ผู้สูงอายุ 185,850 บาท ผู้สูงอายุได้รับการส่งเสริมการจ้างงาน 9,401 คน ผู้สูงอายุใช้บริการจัดหางาน 888 คน และได้รับการบรรจุงาน 739 คน
ด้านการคุ้มครองให้ได้รับสิทธิตามกฎหมาย ขับเคลื่อนผ่านโครงการสำคัญ เช่น การส่งเสริมความรู้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้าน การปฏิรูประบบบำนาญ ส่งเสริมสวัสดิการแรงงานสูงอายุเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต การออกหน่วยเคลื่อนที่ให้บริการสวัสดิการด้านสุขภาพแก่แรงงานผู้สูงอายุ การส่งเสริมความรู้และหน้าที่และความปลอดภัยในการทำงานแก่แรงงานนอกระบบสูงอายุในภาคเกษตร เป็นต้น
ด้านประกันความมั่นคงในชีวิต ขับเคลื่อนผ่านโครงการสำคัญ เช่น โดยการขยายการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 จากเดิม 60 ปีบริบูรณ์เป็นไม่กำหนดอายุขั้นสูง ประกันเงินบำนาญขั้นต่ำให้แก่ทายาท กรณีผู้ประกันตนเสียชีวิตภายใน 60 เดือน ปรับสูตรการคำนวณบำนาญของผู้ประกันตนเมื่อเกษียณอายุ และพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้ผู้รับบำนาญสามารถเป็นผู้ประกันตนต่อไป โดยได้รับสิทธิประโยชน์ 3 กรณี คือ เจ็บป่วย ทุพพลภาพและตาย และรณรงค์ให้แรงงานภาคอิสระและผู้สูงอายุสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ คือนโยบายและมาตรการที่ทางภาครัฐได้ออกมาเพื่อเตรียมรับมือการเปลี่ยนแปลงของสังคมในประเทศไทย ที่ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว
ภาพประกอบจาก: elcentronews.net, independent.co.uk
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage