"…ทั้งชิลีและเดนมาร์ก ฉีดวัคซีนครบโดสครอบคลุมประชากรทั้งหมดกว่า 70% ก่อนที่จะปลดล็อคการใช้ชีวิตหรือเปิดประเทศ แต่ประเทศไทยยังมีอัตราการฉีดครบโดสได้ราวครึ่งนึงของประเทศชิลี และเดนมาร์ก ดังนั้นด้วยอัตราการฉีดวัคซีนของไทยที่น้อยกว่าชิลีและเดนมาร์ก การเปิดประเทศนั้นย่อมมีความเสี่ยงสูงต่อการระบาดซ้ำรุนแรง และมีโอกาสป่วย เสียชีวิตมากกว่าเขาอย่างแน่นอน…”
หลายประเทศทั่วโลกต่างเริ่มต่อสู้กับโควิดด้วยนโยบาย ‘ผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์’ มีการออกมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดแทบหยุดชะงัก แต่ด้วยการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้าที่รวดเร็วและรุนแรง การยุติการแพร่ระบาดจึงทำได้ยาก ล่วงเลยมากว่า 18 เดือน ก็ไม่สามารถทำให้กลับเข้าสู่ภาวะปลอดโควิดได้
แนวคิดการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับโควิดถูกหยิบมาพูดถึงกันมากขึ้น เพื่อคลายล็อกมาตราการต่างๆ และเริ่มเปิดประเทศ โดยไม่ได้มุ่งเน้นการออกมาตรการควบคุมประชาชนอย่างเคร่งครัด เพื่อทำให้ผู้ติดเชื้อกลายเป็นศูนย์อีกต่อไป
ขณะเดียวกันในประเทศไทย แม้จะยังมีผู้ติดเชื้อรายวันอยู่หลักหมื่นราย แต่เมื่อไม่นานมานี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงการณ์เปิดประเทศ โดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) มีมติตอบรับ วางแผนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้อวกักตัว แต่ต้องมีเงื่อนไขการฉีดวัคซีนครบโดส
ส่วนในประเทศได้เตรียมความพร้อม 15 จังหวัดนำร่อง อย่างภูเก็ต สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ กทม. สนามบินสุวรรณภูมิ ชะอำ และหัวหิน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในเดือน พ.ย.นี้
ทำให้บุคลากรการแพทย์บางรายออกมาโพสต์เฟซบุ๊กเพื่อเตือนประชาชนวางแผนด้านการเงิน และการจัดการความเสี่ยง รับมือกับยอดผู้ติดเชื้อที่อาจเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า หลังจากเปิดประเทศ โดยกบทเรียนจากชิลีและเดนมาร์ก หนึ่งในประเทศที่คลายล็อกมาตรการต่างๆ หรือเปิดรับนักท่องเที่ยวแล้วมาเป็นตัวอย่าง
-
ศบค.ปรับโซนสีแดงเข้มเหลือ 23 จังหวัด ลดเวลาเคอร์ฟิว 5 ทุ่ม-ตี 3 เริ่ม 16 ต.ค.
-
'หมอธีระ'ยกบทเรียนของชิลี-เดนมาร์ก ชี้หลังเปิดประเทศ ยอดติดเชื้ออาจเพิ่ม 2 เท่า
สำนักงานอิศรา (www.isranews.org) สำรวจสถานการณ์ทั่วโลก อาทิ เดนมาร์กหนึ่งในประเทศแรกๆ ของยุโรปที่เริ่มคลายล็อก เริ่มพบจำนวนผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในสถานการณ์ด้านการแพทย์รับมือได้
โดยเว็บไซต์ SBS News เปิดเผยว่า เดนมาร์กเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ของยุโรปที่ประกาศคลายล็อกมาตรการต่างๆ ตั้งแต่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา หลังฉีดวัคซีนครบโดสครอบคลุมประชากรตั้งแต่อายุ 12 ปี กว่า 76.4% จากประชากรทั้งหมด 5.8 ล้านคน
ขณะนี้ชาวเดนมาร์กสามารถเข้าไปใช้บริการไนต์คลับได้โดยไม่ต้องแสดงบัตรฉีดวัคซีนโควิด หรือเดินทางด้วยระบบรถขนส่งสาธารณะได้อย่างสะดวก โดยไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย และสามารถเข้าร่วมงานที่มีคนจำนวนมากได้อย่างไร้ข้อจำกัด ถือเป็นการกลับไปใช้ชีวิตตามปกติเหมือนสมัยก่อนเกิดการระบาดของโควิด
อย่างไรก็ตามหลังจากประกาศคลายล็อกเป็นต้นมา ข้อมูลจาก Our Wolrd in Data แสดงให้เห็นว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ของเดนมาร์กกลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 2-9 ต.ค.2564 มีผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ย 528 รายต่อวัน แต่จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนั้นลดลงอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นอัตรา 14.11 ต่อประชากร 1 ล้านคน
เดนมาร์กถือเป็นประเทศตัวอย่างที่ดีของประเทศที่คลายล็อกมาตรการต่างๆ เพราะมีอัตราการฉีดวัคซีนที่ดี ประชาชนปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทางสังคม และระบบสาธารณสุขสามารถรองรับการเข้ารักษาในโรงพยาบาลอยู่ในระดับที่จัดการได้
ภาพ : กราฟแสดงจำนวนผู้ติดเชื้อของประเทศเดนมาร์ก
ภาพ : จำนวนผู้ป่วยโควิดที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของประเทศเดนมาร์ก
หลังเปิดประเทศ ชิลีเจอยอดติดเชื้อเพิ่ม
ส่วนสถานการณ์การระบาดของโควิดในประเทศชิลีนั้น เว็บไซต์ CNN เปิดเผยว่า ชิลีเป็นประเทศที่ได้รับการชื่นชมจากนานาประเทศถึงความสำเร็จในการฉีดวัคซีนโควิดครบโดสครอบคลุมประชากรผู้มีสิทธิได้รับวัคซีนทั้งหมดเกือบ 87%
และที่ผ่านมา รัฐบาลเซบาสเตียน พิเนรา ได้เริ่มแจกวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งเป็นเข็มที่ 3 ให้กับประชากรที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว และอนุมัติให้ฉีดวัคซีนซิโนแวคกับเด็กตั้งแต่อายุ 6 ปี ไปตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย.2564
อย่างไรก็ตามแม้ว่าชิลียังประสบปัญหาการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้า แต่รัฐบาลชิลียังคงประกาศกลับมาเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2564 ซึ่งเป็นช่วงเวลาของฤดูร้อนในทวีปอเมริกาใต้พอดี
โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ไม่มีถิ่นพำนักถาวรสามารถเดินทางเข้ามาได้ หากผ่านคุณสมบัติและข้อกำหนดที่รัฐบาลวางไว้ แต่ต้องทำการกักตัวเป็นเวลา 5 วันหลังเดินทางเข้าประเทศ
แต่หลังจากประกาศคลายล็อกเมื่อต้นเดือน ต.ค. เป็นต้นมา ข้อมูลจาก Our Wolrd in Data แสดงให้เห็นว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ของชิลีกลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 2-9 ต.ค.2564 มีผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ย 784 รายต่อวัน
ขณะเดียวกันล่าสุดเว็บไซต์ Travel Pulse เปิดเผยอีกว่า จำนวนยอดผู้ติดเชื้อดังกล่าว เจ้าหน้าที่รัฐของชิลีมองว่ายังอยู่ในระดับที่ต่ำ เมื่อเทียบจากยอดผู้ติดเชื้อที่เคยพุ่งสูงกว่า 7,000 รายก่อนหน้านี้ ทำให้มีการประกาศมาตรการรับนักท่องเที่ยวใหม่ เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วและมีผลตรวจคัดกรองโควิดเป็นลบ เข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว แต่ยังคงปฏิบัติตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขชิลีตลอด 14 วัน รวมถึงต้องรายงานผลตรวจสุขภาพและการทดสอบด้วยตนเองผ่านอีเมลทุกวัน มีผลตั้งแต่ 1 พ.ย.2564
ภาพ : กราฟแสดงจำนวนผู้ติดเชื้อของประเทศชิลี
4 ประเทศร่วมจัดการโควิด ด้วยกลวิธี ‘Live with covid’
นอกจากประเทศเดนมาร์กและชิลีแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่เปลี่ยนนโยบายจัดการโควิดแบบ ‘ผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์’ มาสู่นโยบาย ‘อยู่ร่วมกับโควิด’ หรือ ‘Live with covid’ โดยประเทศที่คลายล็อกและเปิดเสรีการเดินทางของคนในประเทศไปแล้ว ได้แก่ มาเลเซีย ส่วนประเทศที่กำลังจะเปิดประเทศในเร็ววันนี้ ประกอบด้วย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีข้อมูลดังนี้
- มาเลเซีย
ข้อมูลจากเว็บไซต์ CNN Travel เปิดเผยว่า มาเลเซียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีประชาชนได้รับวัคซีนครบโดสจำนวนมาก ครอบคลุมประชาชนผู้มีสิทธิรับวัคซีนทั้งหมด 66% ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อจึงลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้นายกรัฐมนตรี ดาโต๊ะ สรี อิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ ประกาศว่ามาเลเซียจะไม่บังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ในวงกว้างอีก หากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เมื่อ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา
เปิดโอกาสให้ชาวมาเลียเดินทางข้าม 13 รัฐ รวมทั้งลังกาวี ซึ่งเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำคัญสำหรับชาวมาเลเซีย โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ นอกจากนั้นยังปลดล็อกการเดินทางข้ามประเทศของชาวมาเลเซีย โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองด้วย แต่ยังไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาภายในประเทศ
อย่างไรก็ตามแม้จะเปิดให้ชาวมาเลเซียเดินทางได้อย่างเสรี แต่ขณะนี้ยังมีตัวเลขลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับยอดผู้ติดเชื้อช่วง 24-31 ส.ค.2564 ที่มีผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ย 21,807 รายต่อวัน โดยยอดผู้ติดเชื้อระหว่างวันที่ 4-11 ต.ค.2564 มีผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ย 8,666 รายต่อวัน
- สิงคโปร์
ข้อมูลจากเว็บไซต์ Fortune เปิดเผยว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่ตัดสินใจอยู่ร่วมกับโควิดตั้งแต่เดือน มิ.ย.2564 ที่ผ่านมา โดยพยายามควบคุมการระบาดด้วยการฉีดวัคซีนและจับตาการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันชาวสิงคโปร์ได้รับวัคซีนครบโดสครอบคลุมทั้งหมด 83% แล้ว แต่การติดเชื้อยังเพิ่มสูง มีผู้ป่วยมากกว่า 3,000 รายต่อวัน ซึ่งสูงกว่าระดับสูงสุดก่อนหน้านี้ในฤดูใบไม้ผลิปี 2563 ถึง 3 เท่า แต่โดยส่วนใหญ่ 98.5% ของผู้ป่วยในสิงคโปร์ติดเชื้อไม่รุนแรงหรือไม่แสดงอาการ
อย่างไรก็ตามจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มตามมา ปัจจุบันสิงคโปร์มีผู้เสียชีวิตจากโควิดเฉลี่ย 7 รายต่อวัน โดยในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากโควิดรวม 104 ราย คิดเป็นเกือบ 2 ใน 3 ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดของสิงคโปร์นับตั้งแต่เริ่มมีการระบาด
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สิงคโปร์จึงได้ชะลอแผนการเปิดประเทศใหม่ แต่ยังคงเดินหน้าเปิดการเดินทางนักท่องเที่ยวจาก 11 ประเทศที่ได้รับวัคซีนครบโดส ในวันที่ 19 ต.ค.นี้ ได้แก่ เดนมาร์ก ฝรั่งเศส อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สเปน เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร เยอรมนี และบรูไน โดยไม่ต้องกักตัว เพื่อขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของสิงคโปร์ แต่ยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข เช่น การเว้นระยะห่าง และการไม่รับประทานอาหารร่วมกัน
“ประเทศที่กลับมาเปิดใหม่ที่เปลี่ยนนโยบายผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ มาสู่การอยู่ร่วมกันกับโควิดเป็นโรคเฉพาะถิ่น ต้องคาดการณ์ว่าจะมียอดผู้ติดเชื้อมหาศาล และส่วนน้อยจะเสียชีวิต ซึ่งเป็นธรรมชาติของไวรัส ขอความนี้เป็นข้อความที่น่ากลัวสำหรับการสื่อสารทางการเมือง แต่ถ้าเราไม่สื่อสารกันจริงจัง จะทำให้การเปิดประเทศนั้นยุ่งยาก” Associate Professor Jeremy Lim, สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์
- ออสเตรเลีย
ข้อมูลจากเว็บไซต์ Aljazeera เปิดเผยอีกว่า กว่า 18 เดือนที่ผ่านมาที่ประเทศออสเตรเลียปิดตัวเองออกจากโลก ปิดพรมแดน และบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด เพื่อควบคุมการระบาดของโควิดให้ผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ แต่ล่าสุดออสเตรเลียได้เปลี่ยนกลยุทธ์การควบคุมการระบาดใหม่ เป็นการเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิดให้ได้ แม้จะยังเผชิญกับการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้า ระหว่างวันที่ 2-9 ต.ค.2564 พบผู้ติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 2,252 ราย
โดยออสเตรเลียได้ปลดล็อกให้ชาวซิดนีย์ที่ได้รับวัคซีนครบโดส ซึ่งมีอยู่มากกว่า 70% ของประชากรผู้มีสิทธิ์ฉีดวัคซีนทั้งหมด สามารถกลับไปร้านอาหาร บาร์ และยิมได้ รวมถึงสามารถกับไปพบปะกับผู้สูงอายุในครอบครัวได้
ขณะเดียวกันในอีกไม่กี่สัปดาห์ คาดว่าในช่วงต้นเดือน พ.ย.2564 จะปิดให้ชาวออสเตรเลียสามารถกลับบ้านและเดินทางข้ามประเทศได้ โดยอาจเริ่มคลายล็อกที่รัฐนิวเซาท์เวลส์ก่อน เพราะมีแนวโน้มที่จะได้รับวัคซีนตามเป้าหมาย 80% ก่อนรัฐอื่น
- นิวซีแลนด์
ข้อมูลจากเว็บไซต์ Dailymail เปิดเผยอีกว่า นิวซีแลนด์ประกาศกำลังจะเริ่มนโยบายอยู่ร่วมกับโควิด แม้จะยังเผชิญกับการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้าอยู่ เพราะนโยบายแบบเดิมที่มุ่งเน้นการทำให้ยอดผู้ติดเชื้อกลายศูนย์นั้นยาก และข้อจำกัดที่เข้มงวดเป็นเวลานานไม่สามารถลดการติดเชื้อได้เมื่อเจอกับสายพันธุ์เดลต้าที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว
โดยปัจจุบันมีผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ย 43 รายต่อวัน และกำลังเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุขของนิวซีแลนด์ เปิดเผยว่า ชาวนิวซีแลนด์ผู้มีสิทธิ์ฉีดวัคซีน ได้รับวัคซีนครบโดสครอบคลุมแล้วกว่า 57% และฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ได้ครอบคลุมแล้วกว่า 80%
ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย.2564 นิวซีแลนด์จะคลายล็อกกิจกรรมสาธารณะ แต่จะให้มีใบรับรองการฉีดวัคซีน เพื่อการเข้าถึงกิจกรรมต่างๆ เข่น เทศกาลดนตรี และงานชุมนุมใหญ่อื่นๆ นอกจากนี้ในช่วงคริสต์มาสอาจมีการผ่อนปรนมาตราการเดินทางข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้ โดยไม่ต้องกักตัว แต่อาจต้องฉีดวัคซีนครบโดสก่อน
‘หมอธีระ'วิเคราะห์บทเรียนชิลี-เดนมาร์กแบบเจาะลึก
ขณะเดียวกันประเทศไทย เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ดำเนินนโยบายอยู่ร่วมกับโควิด เตรียมตัวเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.2564 ด้วย โดย รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยโพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat เพื่อเตือนประชาชนชาวไทย รับมือกับการเปิดประเทศ ระบุว่า ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาได้เห็นรายชื่อประเทศที่ประกาศนโยบายการอยู่ร่วมกับโควิด อย่างชิลี เดนมาร์ก และสิงคโปร์ เป็นต้น
เพื่อให้ไทยที่กำลังจะเปิดประเทศ ได้เห็นบทเรียนของประเทศที่คลายล็อกมาตรการและเปิดประเทศแล้ว อย่างชิลี และเดนมาร์ก เพื่อเป็นประโยชน์ในการเตรียมรับมือกับสิ่งที่เราจะเจอในอนาคต จึงได้วิเคราะห์ข้อมูลดังนี้
1. ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 2 เท่า หลังชิลีและเดนมาร์กปลดล็อกและเปิดประเทศราว 3 สัปดาห์ ดังนั้นในขณะนี้ประเทศไทยยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันสูงระดับหมื่นคนต่อวัน ซึ่งยังไม่นับรวมผู้ติดเชื้อเข้าข่าย (ATK) หากคำนวณจำนวนผู้ติดเชื้อหลังการเปิดประเทศที่อาจเพิ่มขึ้น 2 เท่าแบบเดียวกับชิลีและเดนมาร์ก ก็คงคาดการณ์ได้ว่าจำนวนติดเชื้อรายวันอาจสูงจากหมื่นคน เป็นสองหมื่นคนหรือสี่หมื่น ไปเรื่อยๆ ทุก 3 สัปดาห์ หากควบคุมไม่อยู่
2. อัตราการตรวจพบว่าติดเชื้อจากการตรวจคัดกรองโรคสูงขึ้น ชิลีเคยมีอัตราตรวจพบต่ำสุด 0.8% แต่เพิ่มขึ้นเป็น 1.3% ขณะที่เดนมาร์กเคยต่ำสุดที่ 0.9% แต่เพิ่มขึ้นมาเป็น 1.4% ทั้ง 2 ประเทศมีอัตราการตรวจพบเพิ่มขึ้นราว 60% โดยใช้เวลา 3 สัปดาห์ และจากข้อมูลของ Our World in Data เมื่อ ก.ย.ที่ผ่านมา ไทยจะอยู่ราว 20-25% ซึ่งสูงกว่าชิลีและเดนมาร์กอย่างมาก ดังนั้นหากธรรมชาติหลังเปิดเสรีเหมือนกัน ก็อาจถีบตัวเองสูงไปถึง 32-40% ในเวลา 3 สัปดาห์ หรืออาจเร็วและแรงกว่านั้นก็เป็นได้
3. จำนวนการตรวจคัดกรองโรค หากเทียบจำนวนการตรวจที่ทำต่อจำนวนประชากร 1,000 คน พบว่าชิลีและเดนมาร์กตรวจมากกว่าไทย 3-12 เท่า ทั้งๆ ที่จำนวนการตรวจพบว่าติดเชื้อของเขาน้อยกว่าไทย ดังนั้นหากเกิดการระบาดหนักปะทุขึ้นมา ศักยภาพของระบบตรวจคัดกรองโรค หากทำได้น้อย ไม่มากพอ ไม่ทันต่อความต้องการ ก็จะยากที่จะหยุดยั้งการระบาดวงกว้างได้ คุมไม่ได้ หรืออาจไล่ตามจนหมดแรง
4. ความครอบคลุมของการฉีดวัคซีน ทั้งชิลีและเดนมาร์ก ฉีดวัคซีนครบโดสครอบคลุมประชากรทั้งหมดกว่า 70% ตั้งแต่ ส.ค.ที่ผ่านมา ก่อนที่จะปลดล็อคการใช้ชีวิตหรือเปิดประเทศ แต่ประเทศไทยยังมีอัตราการฉีดครบโดสได้ราวครึ่งนึงของประเทศชิลี และเดนมาร์ก ดังนั้นด้วยอัตราความครอบคลุมวัคซีนของไทยเราที่น้อยกว่าชิลีและเดนมาร์ก การเปิดประเทศของไทยนั้นย่อมมีความเสี่ยงสูงต่อการระบาดซ้ำรุนแรง และมีโอกาสป่วย เสียชีวิตมากกว่าเขาอย่างแน่นอน
ปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นเหตุผล จากหลักฐานเชิงประจักษ์ ที่นำมาแสดงให้ดู เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงสิ่งที่ตนเองกำลังจะผลักดันให้เกิดขึ้น และอย่างน้อยที่สุด สิ่งที่นำมาแจ้งให้รับรู้รับทราบกันนี้ ก็เพื่อให้ประชาชนอย่างพวกเราทุกคนได้รู้เท่าทันสถานการณ์ และเตรียมวางแผนชีวิต รับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้
ช่วงเวลาถัดจากนี้ เป็นไปตามที่ย้ำมาตลอดว่า ความใส่ใจสุขภาพของตนเองและครอบครัวนั้นสำคัญมาก ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดเรื่องสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของพวกเราแต่ละคน ขอให้มีสติในการใช้ชีวิตและป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด
เรียบเรียงจาก:
-
https://edition.cnn.com/travel/article/malaysia-singapore-travel-covid-intl-hnk/index.html
-
https://fortune.com/2021/10/11/singapore-covid-cases-reopening-travel-us-canada-uk-covid-zero/
-
https://edition.cnn.com/2021/09/16/world/covid-countries-opening-up-cmd-intl/index.html
-
https://www.travelphttps://www.livemint.com/news/world/singapore-reopens-for-travellers-from-11-countries-india-not-included-for-now-11634011416872.html
ภาพจาก: Freepik
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage