“…ผลการศึกษาจากศูนย์ควบคุมโรคบริติชโคลัมเบีย และสถาบันสาธารณสุขแห่งชาติควิเบก ประเทศแคนาดา แสดงให้เห็นว่าการยืดระยะเวลาการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ออกไปนานถึง 4 เดือน ไม่ได้ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลงในกลุ่มประชาชนทั่วไป และยังคงป้องกันการติดเชื้อได้มากกว่า 80-90% …”
ขณะที่หลายประเทศต่างต้องการเร่งฉีดวัคซีนโควิดเข็มที่ 2 ให้ไวที่สุด เพราะวัคซีนเข็มที่ 1 กระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันไม่เพียงพอ การเว้นระยะห่างการฉีดวัคซีนไว้นานจะเป็นความเสี่ยงให้เกิดการติดเชื้อ ส่งผลให้มีการเว้นระยะห่างการฉีดวัคซีนโควิดทุกสูตรอยู่ที่ 3 - 4 สัปดาห์ แต่สำหรับแคนาดากลับใช้สูตรยืดเวลาการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ไปนานกว่า 16 สัปดาห์ หรือ 4 เดือน
และจากการศึกษาพบว่า การยืดเวลาฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ออกไป ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันได้ดีและสูงกว่าการเว้นระยะห่างการฉีดวัคซีนตามปกติ นอกจากนี้ยังสามารถสู้กับเชื้อโควิดกสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ได้ด้วย
นับว่าเป็นอีกความหวังใหม่ที่จะช่วยให้ภูมิคุ้มตกช้าลง และไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 กระตุ้นไวเกินความจำเป็น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้เรียบเรียงข้อมูลผลการศึกษาจากศูนย์ควบคุมโรคบริติชโคลัมเบีย (BCCDC) และสถาบันสาธารณสุขแห่งชาติควิเบก (INSPQ) จาก เว็บไซต์ CBC พบว่า จากการสำรวจประชากร 250,000 ราย ระหว่างวันที่ 30 พ.ค.-11 ก.ย.2564 สูตรวัคซีนโควิดที่ใช้ในแคนาดาทั้งหมด ได้แก่ วัคซีนวัคซีนไฟเซอร์ วัคซีนโมเดอร์นา วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีนสูตรผสมระหว่างแอสตร้าเซนเนก้ากับ mRNA เมื่อฉีดวัคซีนแบบยืดเวลาการฉีดเข็มที่ 2 พบมีประสิทธิภาพดลความรุนแรงโรค ป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเกือบ 95%
Dr.Danuta Skowronski ผู้เชี่ยวชาญด้านประสิทธิผลของวัคซีนและหัวหน้าระบาดวิทยา ศูนย์ควบคุมโรคบริติชโคลัมเบีย กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการศึกษาวิจัยดังกล่าวยังแสดงให้เห็นอีกว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนโควิดจะยิ่งมากขึ้นเมื่อระยะห่างระหว่างเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ห่างกันมากกว่า 16 สัปดาห์ โดยมีผลการศึกษาจำแนกตามสูตรวัคซีนดังนี้
-
วัคซีนไฟเซอร์ 2 โดส ห่าง 3-4 สัปดาห์จะมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อโควิดทั้งหมดอยู่ที่ 82% แต่เมื่อฉีด 2 เข็มห่างกันมากกว่า 16 สัปดาห์จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโควิดทั้งหมด 91% ป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 92% ป้องกันสายพันธุ์เดลต้า 98% และป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากสายพันธุ์เดลต้า 98%
-
วัคซีนโมเดอร์นา 2 โดส ห่างกันมากกว่า 16 สัปดาห์ จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโควิดทั้งหมด 92% ป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 93% ป้องกันสายพันธุ์เดลต้า 98% และป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากสายพันธุ์เดลต้า 98%
-
วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 โดส ห่างกันมากกว่า 16 สัปดาห์ จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโควิดทั้งหมด 72% ป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 70% ป้องกันสายพันธุ์เดลต้า 93% และป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากสายพันธุ์เดลต้า 93% ทั้งนี้แม้ว่าวัคซีนจะมีประสิทธิภาพน้อยกว่าวัคซีนสูตรอื่น แต่ประสิทธิภาพนั้นยังสูงพอที่จะป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้
-
วัคซีนเข็มที่ 1 เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ตามด้วยวัคซีนชนิด mRNA ห่างกันมากกว่า 16 สัปดาห์ จะมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการฉีดวัคซีน mRNA ทั้ง 2 เข็ม โดยมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโควิดทั้งหมด 91% ป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 91% ป้องกันสายพันธุ์เดลต้า 99% และป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากสายพันธุ์เดลต้า 99%
ภาพ : การศึกษาประสิทธิผลการยืดเวลาการฉีดวัคซีนของแคนาดา
ยืดเวลาฉีดเข็ม 2 มีประสิทธิภาพดี-สู้เดลต้าได้
เว็บไซต์ CBC เปิดเผยอีกว่า ในเมืองควิเบก ประเทศแคนาดา ซึ่งห่างไกลออกไปหลายพันกิโลเมตรและมีลักษณะประชาชกรที่แตกต่างกัน กลับมีผลการวิจัยที่คล้ายคลึงกัน โดยผลการวิจัยยังแสดงให้เห็นว่าวัคซีนทุกสูตร ได้แก่ วัคซีนไฟเซอร์ วัคซีนโมเดอร์นา วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีนสูตรผสมระหว่างแอสตร้าเซนเนก้ากับ mRNA มีประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงโควิดกลายพันธุ์ต่างๆ ป้องกันการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลได้มากกว่า 92% โดยมีผลการศึกษาจำแนกตามสูตรวัคซีนดังนี้
-
วัคซีนไฟเซอร์ 2 โดส มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโควิดทั้งหมด 91% ป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 87% ป้องกันสายพันธุ์เดลต้า 96% และป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากสายพันธุ์เดลต้า 97%
-
วัคซีนโมเดอร์นา 2 โดส มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโควิดทั้งหมด 93% ป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 80% ป้องกันสายพันธุ์เดลต้า 98% และป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากสายพันธุ์เดลต้า 98%
-
วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 โดส มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโควิดทั้งหมด 82% ป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 66% ป้องกันสายพันธุ์เดลต้า 94% และป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากสายพันธุ์เดลต้า 94% ทั้งนี้แม้ว่าวัคซีนจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโควิดทั้งหมดต่ำกว่าวัคซีนสูตรอื่นเล็กน้อย แต่ยังสูงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อโควิดทั้งหมดได้
-
วัคซีนเข็มที่ 1 เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ตามด้วยวัคซีนชนิด mRNA มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโควิดทั้งหมด 91% ป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 83% ป้องกันสายพันธุ์เดลต้า 97% และป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากสายพันธุ์เดลต้า 98%
ยังไม่ถึงเวลาฉีดเข็ม 3 ประชาชนทั่วไป
เว็บไซต์ CBC เปิดเผยด้วยว่า ท่ามกลางที่หลายๆ ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อิสราเอล และกาตาร์ เป็นต้น ต่างมีข้อมูลการศึกษาภายในประเทศว่าประสิทธิผลของวัคซีนโควิดลดลง แสดงให้เห็นว่าควรมีการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 แต่แคนาดากลับมองว่ายังมีปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างที่ควรพิจารณาด้วย คือ วัคซีนโควิดสามารถลดความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิตได้เป็นเวลานาน
“เราควรจับตามองปัจจัยที่สำคัญ ซึ่งก็คือการรักษาความสามารถของระบบสาธารณสุข เราจะไม่ป้องกันผลกระทบจากโควิดทุกรูปแบบ แต่เป้าหมายของเราคือการป้องกันผลลัพธ์ที่ร้ายแรงจากโควิด” Dr.Danuta Skowronski กล่าว
อย่างไรก็ตามจากผลการศึกษาจากศูนย์ควบคุมโรคบริติชโคลัมเบีย และสถาบันสาธารณสุขแห่งชาติควิเบก แสดงให้เห็นว่าการยืดระยะเวลาการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ออกไปนานถึง 4 เดือน ไม่ได้ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลงในกลุ่มประชาชนทั่วไป และยังคงป้องกันการติดเชื้อทั้งหมดได้มากกว่า 80-90%
ด้าน Assistant Professor Alyson Kelvin ผู้ช่วยศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย Dalhousie และนักไวรัสวิทยาที่ศูนย์วัคซีนแห่งแคนาดา กล่าวว่า ขอให้มั่นใจในการคำนวณประสิทธิผลของวัคซีนนี้ และเรายังต้องมีมาตรการทางด้านสาธารณสุขต่อไป คาดว่าเราอาจต้องการ การฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 แต่ข้อมูลที่เรามีอยู่ในมือตอนนี้ยังชี้ให้เห็นว่า เรายังไม่จำเป็นต้องฉีดกระตุ้นตอนนี้ อย่างไรก็ตามหากถึงเวลาที่ต้องฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 จะแจ้งให้ทราบต่อไป
ทางแก้วัคซีนไม่เพียงพอ
เว็บไซต์ CBC เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การยืดเวลาฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 เป็นแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ที่มีมาหลายทศวรรษแล้ว และจากการศึกษาล่าสุดพบว่าสามารถลดการเสียชีวิตในช่วงวิกฤติที่แคนาดามีวัคซีนไม่เพียงพอได้
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาการยืดเวลาการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในสหราชอาณาจักร พบว่าสามารถทำให้เกิดแอนติบอดี (Antibody) หรือภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น โดยจากการยืดเวลาการฉีดวัคซีนกลุ่มผู้สูงอายุออกไป 12 สัปดาห์ พบการตอบสนองแอนติบอดี ได้มากกว่าปกติ 3.5 เท่า และการเว้นระยะห่างระหว่างเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ออกไปนาน 16 สัปดาห์ ทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพได้ถึง 93% ซึ่งสูงมากกว่าการเว้นระยะห่างตั้งแต่ 3-15 สัปดาห์
ภาพ : การศึกษาประสิทธิผลการยืดเวลาฉีดวัคซีนไฟเซอร์ของอังกฤษ
“โดยทั่วไปการยืดเวลาเล็กน้อยระหว่างการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และวัคซีนเข็มที่ 2 ทำให้เกิดการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันโดยรวมและการป้องกันเชื้อโรคใดๆ ก็ตามที่วัคซีนสร้างขึ้นได้ดีขึ้น” Assistant Professor Alyson Kelvin กล่าว
ในขณะที่ผู้ผลิตวัคซีนแนะนำให้ยึดติดกับช่วงเวลาการฉีดวัคซีนตามการทดลองทางคลินิก เช่น วัคซีนไฟเซอร์ ให้ฉีดวัคซีนห่างกัน 21 วัน, วัคซีนโมเดอร์นาให้ฉีดวัคซีนห่างกัน 28 วัน และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้ฉีดห่างกัน 4-12 สัปดาห์ แต่ช่วงเวลาที่กำหนดเหล่านี้ ต่างถูกกำหนดขึ้นโดยเร็วในช่วงวิกฤติโควิด โดยไม่ได้คำนึงถึงช่วงเวลาการเว้นระยะห่างการฉีดวัคซีนที่ดี
อย่างไรก็ตามผลการศึกษาดังกล่าว ช่วยให้ชาวแคนาดาฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชาชนทั่วไปได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว ทั้งนี้แม้การยืดเวลาการฉีดวัคซีนเข็ม 2 จะสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญยังแนะนำให้ชาวแคนาดาได้รับวัคซีนไม่เกิน 16 สัปดาห์ หรือ 4 เดือน เพื่อให้แน่ใจว่าประชาชนจะได้รับการป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่อ่อนแอและผู้สูงอายุ
การค้นพบนี้อาจกลายเป็นความหวังใหม่ในการแก้ปัญหาภูมิคุ้มกันตกไวและอาจไม่จำเป็นต้องรีบฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3
ภาพ : การฉีดวัคซีนสะสมของประเทศแคนาดา
เรียบเรียงจาก:
https://www.cbc.ca/news/health/canada-covid-vaccines-moderna-pfizer-1.6027657
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage