"..มีรายงานว่า กลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าที่ได้รับหนังสือเรียกเงินคืนนั้น เป็นกลุ่มร้านที่รับแลกเงินสด และร้านค้าออนไลน์ ซึ่งผู้ค้าบางรายถูกเรียกเงินคืนสูงถึง 17 ล้านบาท ขณะที่ผู้ได้รับหนังสือ มีความเห็นว่า เป็นการเรียกเงินคืนที่ไม่ยุติธรรม และควรเรียกคืนเฉพาะส่วนที่รัฐอุดหนุนมาเท่านั้น อีกทั้ง หนังสือเรียกคืนเงิน ก็ไม่ได้ระบุรายละเอียดว่า ทำผิดเงื่อนไขอย่างไร.."
โครงการ 'เราชนะ' มีวัตถุประสงค์ช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน และมีส่วนช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน และผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ภายใต้แผนงานเยียวยาตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พ.ศ. 2563
โดยประชาชนผู้ได้รับสิทธิ จำนวน 33.2 ล้านคน จะได้รับเงินช่วยเหลือจำนวนไม่เกิน 9,000 บาท ตลอดโครงการฯ ด้วยการใช้จ่ายกับผู้ประกอบการร้านค้าในโครงการ 1.3 ล้านราย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แอปพลิเคชัน 'เป๋าตัง' และบัตรประจำตัวประชาชน
เมื่อเร็วๆ นี้ เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จนกลายประเด็นติดอันดับ 1 ของเทรนด์ทวิตเตอร์ ในแฮชแท็ก #เรียกเงินคืนโครงการรัฐ หลังสังคมออนไลน์มีการเผยแพร่ข้อมูลผู้ประกอบการร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ 'เราชนะ' หลายราย ได้รับหนังสือจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เรียกคืนเงินโครงการ 'เราชนะ' ระบุว่า เนื่องจากมีพฤติการณ์ที่เข้าข่ายไม่ปฏิบัติตาม หรือฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ หรือเงื่อนไขของโครงการฯ และไม่ได้จัดส่งเอกสารชี้แจงโต้แย้งมาภายในระยะเวลาที่กำหนด
"มีรายงานว่า กลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าที่ได้รับหนังสือเรียกเงินคืนนั้น เป็นกลุ่มร้านที่รับแลกเงินสด และร้านค้าออนไลน์ ซึ่งผู้ค้าบางรายถูกเรียกเงินคืนสูงถึง 17 ล้านบาท ขณะที่ผู้ได้รับหนังสือ มีความเห็นว่า เป็นการเรียกเงินคืนที่ไม่ยุติธรรม และควรเรียกคืนเฉพาะส่วนที่รัฐอุดหนุนมาเท่านั้น อีกทั้ง หนังสือเรียกคืนเงิน ก็ไม่ได้ระบุรายละเอียดว่า ทำผิดเงื่อนไขอย่างไร"
ล่าสุด สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ชี้แจงถึงกรณีดังกล่าว ว่า โครงการฯ ได้มีการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือให้ประชาชนและผู้ประกอบการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ มาโดยตลอด รวมถึงขอให้ประชาชนที่พบเห็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการฯ สามารถแจ้งเบาะแสและส่งหลักฐานการกระทำที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขโครงการฯ ให้ สศค. ทราบ และได้มีประชาชนส่งเบาะแสและหลักฐานมาให้ ซึ่ง สศค.จะได้ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายสำหรับผู้ที่กระทำผิดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการฯ ต่อไป
โดย สศค. ได้กำหนดแนวทางเพื่อควบคุมและป้องกันการกระทำผิดวัตถุประสงค์ของโครงการฯ อย่างเข้มงวด เพื่อรักษาสิทธิของประชาชนที่ได้รับในโครงการฯ และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในโครงการฯ ที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคำยินยอม (Consent) ที่ได้ตกลงไว้ จึงได้จัดตั้งคณะทำงานพิจารณาตรวจสอบข้อมูลและเรื่องร้องเรียนสำหรับโครงการเราชนะ เพื่อติดตามตรวจสอบการกระทำที่เข้าข่ายฝ่าฝืนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ อย่างใกล้ชิด
ในกรณีที่พบการกระทำที่ฝ่าฝืน เช่น การรับแลกวงเงินสิทธิเป็นเงินสด เป็นต้น ก็จะดำเนินการระงับสิทธิการเข้าร่วมโครงการฯ และร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและขยายผลการสืบสวนสอบสวนต่อไป
สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานกับผู้ที่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการฯ มีดังนี้
1. การระงับสิทธิชั่วคราวการใช้แอปพลิเคชัน 'ถุงเงิน' เมื่อพบพฤติกรรมที่ผิดปกติในธุรกรรมการใช้จ่าย เช่น จุดรับเงินของแอปฯ 'ถุงเงิน' ขยับไปมาระยะไกล ธุรกรรมเต็มจำนวนวงเงินสิทธิเป็นจำนวนมาก เป็นต้น และแจ้งให้ผู้ประกอบการให้ติดต่อกลับเพื่อชี้แจงโต้แย้ง ภายใน 14 วัน ซึ่งเมื่อครบกำหนดแล้ว จะนำเอกสารชี้แจงโต้แย้งของผู้ประกอบการที่ได้รับเข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงานฯ
2. เมื่อได้พิจารณาเอกสารหลักฐานของผู้ประกอบการแล้วเห็นว่า ผู้ประกอบการกระทำการฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าวจริง หรือกรณีที่ผู้ประกอบการไม่ชี้แจงโต้แย้งพร้อมส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องภายในระยะเวลาที่กำหนด จะได้มีหนังสือประทับตราแจ้งผลวินิจฉัยและขอให้ชำระเงินคืนให้แก่โครงการฯ และผู้ประกอบการสามารถอุทธรณ์ได้ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือประทับตรา ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนดังกล่าวนี้
3. เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามข้อ 2. แล้ว กรณีไม่มีการชี้แจงหรือข้อมูลหลักฐานประกอบการอุทธรณ์ หรือไม่มีการชำระเงินคืนให้แก่โครงการฯ รวมถึงกรณีอุทธรณ์มาแต่คณะทำงานฯ พิจารณาแล้วเห็นว่ายังมีพฤติกรรมฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการฯ ก็จะได้มีหนังสือแจ้งผู้ประกอบการอีกครั้ง โดยหากผู้ประกอบการยังไม่ชำระเงินคืน ก็จะต้องดำเนินการเรียกร้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการต่อไป
ทั้งนี้ โครงการฯ ได้ระงับสิทธิถาวรผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ แล้ว จำนวน 2,099 ราย และได้ออกหนังสือประทับตราแจ้งผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และความยินยอมสำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ 'เราชนะ' เพื่อคืนเงินที่ได้รับโดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดให้ผู้ประกอบการขออุทธรณ์ได้ ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือประทับตรา
เพื่อเป็นการรักษาสิทธิ จึงขอให้ผู้ประกอบการชี้แจงเหตุผล พร้อมยื่นเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องต่อ สศค. ภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น ใบเสร็จรับเงินเพื่อแสดงต้นทุนสินค้า หลักฐานการจัดส่งสินค้า เอกสารแสดงสินค้าคงคลัง รวมถึงภาพถ่ายสถานประกอบการ เป็นต้น เพื่อนำสู่กระบวนการพิจารณาของคณะทำงานฯ และกระบวนการขั้นตอนตามกฎหมายต่อไป
สำหรับผู้ที่ประสงค์จะส่งเอกสารหรือหลักฐาน หรือกรณีมีความจำเป็นต้องรวบรวมเอกสารและหลักฐานก็อาจขอขยายเวลาการจัดส่ง โดยจัดทำคำร้องพร้อมชี้แจงเหตุผล โดยส่งมาทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ถนนพระรามที่ 6 สามเสนใน พญาไท กทม. 10400 หรือ อีเมล [email protected]
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมข้อมูลคุณสมบัติ และหลักเกณฑ์เงื่อนไข สำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 มีรายละเอียด ดังนี้
คุณสมบัติของผู้ประกอบการร้านค้าและหรือผู้ให้บริการ ที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการฯ
1. เป็นผู้ประกอบการประเภทใดประเภทหนึ่ง ดังต่อไปนี้
-
เป็นผู้ประกอบการร้านค้าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไปที่มีสัญชาติไทยและไมใช่นิติบุคคล หรือเป็นร้านค้ของกองทุนหมู่บ้านหรือกองทุนชุมขนเมืองตามพระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2547 หรือเป็นร้านค้าของวิสาหกิจชุมขนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือเป็นร้านค้าธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นร้านค้าที่มีลักษณะเป็นร้านสะ ดากขึ้อธุรกิจแฟรนไซส์และต้องมีการประกอบการที่สามารถตรวจสอบได้ (ผู้ประกอบการร้านค้า)
-
เป็นผู้ประกอบการบริการที่มีสัญชาติไทยและไม่ใช่นิติบุคคล หรือเป็นผู้ประกอบการบริการของกองทุนหมู่บ้านหรือกองทุนชุมชนเมืองตามพระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและซุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2547 หรือเป็นผู้ประกอบการบริการของวิสาหกิจชุมชนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 และที่แก้ขเพิ่มเติม ต้องมีสถานประกอบการเป็นหลักแหล่งและตรวจสอบได้ หรือเป็นผู้ประกอบการประเภทรถที่ตรวจสอบได้ (ผู้ประกอบการบริการ)
-
เป็นผู้ประกอบการด้านขนส่งสาธารณะที่มีสัญชาติไทยและไม่ใช่นิติบุคคล ต้องเป็น ผู้ประกอบการประเภทรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน (TAXI - METER) รถตู้โดยสารประจำทางที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย รถยต์สามล้อสาธารณะ รถสองแถวรับจ้าง และรถจักรยานยนต์สาธารณะ ทั้งนี้ ผู้ขับขี่ต้องมีใบขับขี่รถสาธารณะที่ถูกต้องตามกฎหมาย (ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะ)
-
เป็นผู้ประกอบการประเภทบริการต้านขนส่งมาลขนสาธารณะ ได้แก่ รถไฟฟ้าในเขตเมือง รถไฟ รถโดยสารประจำทางสาธารณะ และเรือโดยสารสาธารณะ (ผู้ประกอบการขนส่งมวลชนสาธารณะ)
2. รายการประเภทสินค้าและบริการที่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ ให้เป็นตามที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยสามารถตรวจสอบรายการประเภทสินค้าและบริการได้ที่ www.คนละครึ่ง.com
3. ไม่เป็นผู้ที่ถูกระงับสิทธิหรือถูกเรียกเงินคืนในมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ
4. ไม่เป็นผู้ฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการ/โครงการอื่น 1 ของรัฐ หรือฝ่าฝืนมาตรการใดๆ ของรัฐเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ
1. ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามสาระสำคัญของโครงการฯ รวมถึงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ และต้องมีคุณสมบัติตามที่โครงการฯ กำหนด
2. ห้ามผู้ประกอบการปฏิเสธการใช้สิทธิตามโครงการฯ ของลูกค้าหากยังมีสิทธิเหลืออยู่ เว้นแต่เป็นความผิดของลูกค้าหรือเป็นเหตุสุดวิสัยอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
3. ผู้ประกอบการเป็นผู้รับผิดชอบความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลการลงทะเบียน ข้อมูลธุรกรรม และข้อมูลอื่น ๆ ที่นำเข้าสู่ระบบเพื่อนำส่งให้ธนาคารกรุงไทยฯ
4. ห้ามผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงกรฯ กระทำการใด ๆ ที่สร้างความเข้าใจผิดต่อมาตรการและ/หรือโครงการของรัฐ หรือก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการดำเนินโครงการฯ หรือมาตรการ/โครงการใดๆ ของรัฐ
5. ผู้ประกอบการต้องรับชำระค่าสินค้าและ/หรือบริการโดยตรงจากประชาชนตามราคาของสินค้าและ/หรือบริการนั้น ๆ และมีการซื้อ-ขายสินค้าและ/หรือรับบริการกันจริง ทั้งนี้ ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องมีการทำ
ธุรกรรมซื้อขายและสแกน QR Code เพื่อชำระค่สินค้าและ/หรือบริการกันแบบพบหน้า (face-to-face) และไม่มีกระบวนการใด ๆ ในการซื้อขายที่ดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ หรือผ่านคนกลาง ไม่ว่าด้วยวิธีการใดและไม่ให้ทำซ้ำ ส่งต่อ หรือวิธีการอื่นใดกับ QR Code ในแอปฯ 'ถุงเงิน' เพื่อหลีกเสี่ยงการทำธุรกรรมแบบพบหน้าดังกล่าว
6. ในกรณีที่มีการจ่ายเงินตามโครงการฯ ให้แก่ผู้ไม่มีสิทธิได้รับอันเนื่องมาจากความผิดพลาดในการส่งข้อมูลหรือส่งข้อมูลเท็จหรือการไม่ปฏิบัติตามหลักกณฑ์หรือเงื่อนไขของผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการจะต้องจ่ายเงินคืนให้แก่รัฐภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งถึงการจ่ายเงินผิดพลาดดังกล่าว โดยจ่ายเงินคืนผ่านช่องทางที่กระทรวงการคลังกำหนด
7. หากผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่ฝืนหลักเกณซ์หรือเงื่อนไขของโครงการฯ ผู้ประกอบการจะต้องจ่ายเงินที่ได้รับจากโครงการฯ และ/หรือค่าเสียหายคืนให้แก่รัฐภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งถึง
การกระทำดังกล่าว โดยจ่ายเงินคืนผ่านช่องทางที่กระทรวงการคลังกำหนด
8. กระบวนการพิจารณาและดำเนินการตามข้อ 6 และ 7 ให้เป็นไปตามที่กระทรวงการคลังกำหนด
นอกจากนี้ โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ สามารถใช้สิทธิซื้ออาหารและเครื่องดื่มจากร้านที่เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มได้แล้ว ผ่าน Grab และ LINEMAN โดยมีผู้ประกอบการในโครงการฯ สามารถขายอาหารและเครื่องดื่มผ่านแพลตฟอร์มแล้วกว่า 54,000 ราย
ทั้งนี้ รัฐจะสนับสนุนเงินในส่วนค่าอาหารหรือเครื่องดื่มเท่านั้น ไม่รวมถึงค่าจัดส่งหรือค่าใช้จ่ายอื่นใด สามารถใช้บริการได้ตั้งแต่เวลา 06.00 – 20.00 น. ของทุกวัน
สำหรับความคืบหน้าการดำเนินโครงการรัฐจากข้อมูล ณ วันที่ 10 ต.ค. 2564 โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 มีผู้ใช้สิทธิสะสมจำนวน 24.92 ล้านราย จากผู้ได้รับสิทธิรวม 27.55 ล้านราย โดยมียอดการใช้จ่ายสะสมรวม 87,124.3 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่ายสะสม 44,291.7 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 42,832.6 ล้านบาท
โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีประชาชนผู้ใช้สิทธิจำนวน 80,793 คน จากจำนวนผู้ได้รับสิทธิกว่า 4.7 แสนราย โดยมียอดใช้จ่ายสะสมรวมทั้งหมด 2,551 ล้านบาท โดยมีมูลค่าการใช้จ่ายสะสมที่นำมาคำนวณสิทธิ e-Voucher 2,006 ล้านบาท และคิดเป็นมูลค่าสะสม e-Voucher ทั้งสิ้นกว่า 218 ล้านบาท และมูลค่าการใช้จ่ายส่วน e-Voucher สะสมกว่า 122 ล้านบาท
ส่วนข้อมูลการใช้จ่ายสะสมผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มล่าสุด เมื่อเวลา 08.00 น. โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 มีการใช้จ่ายสะสมประมาณ 214 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 110.3 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่าย 103.7 ล้านบาท สำหรับโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้มีการใช้จ่ายสะสมกว่า 176,000 บาท
ประชาชนสามารถใช้จ่ายในโครงการฯ ได้จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564 และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ยังสามารถลงทะเบียนอย่างต่อเนื่องได้ตั้งแต่เวลา 06.00 – 22.00 น. ของทุกวัน จนกว่าจะครบ 28 ล้านสิทธิ ซึ่งยังมีสิทธิเหลือกว่า 3.6 แสนสิทธิ ผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com หรือผ่าน g-Wallet บนแอปฯ 'เป๋าตัง' สำหรับโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ สามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ยิ่งใช้ยิ่งได้.com หรือผ่าน g-Wallet บนแอปฯ 'เป๋าตัง จนกว่าจะครบ 1 ล้านสิทธิ ซึ่งยังมีสิทธิคงเหลือกว่า 5.2 แสนสิทธิ
อ่านประกอบ:
โฆษกรัฐบาลแจงร้านค้า'เราชนะ'ถูกเรียกเงินคืน ปมทำผิดเงื่อนไข วอนเห็นใจส่วนราชการ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage