"...หลายประเทศในภูมิภาคตะวันตกมีอัตราการฉีดวัคซีนให้กับประชากรส่วนมากแล้ว โดยสหราชอาณาจักรนั้นมีอัตราการฉีดวัคซีนครบโดสอยู่ที่ 67.1 เปอร์เซ็นต์และประเทศแคนาดามีอัตราการฉีดวัคซีนครบโดสอยู่ที่ 71.2 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าประเทศเหล่านี้จะเปิดประเทศด้วยการมีอัตราฉีดวัคซีนที่สูง แต่ก็ยังมีรายงานการติดเชื้อพุ่งสูงให้เห็นเป็นระยะ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้เสียชีวิตและผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในประเทศตะวันตกนั้นอยู่ในอัตราที่ต่ำมาก ซึ่งนี่ก็เป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของวัคซีน ..."
...............................
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สิ่งที่รัฐบาลไทยมักสื่อสารให้คนไทยได้รับทราบเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19หรือโคโรน่าไวรัส ก็คือ ประเทศไทยเตรียมตัวที่จะเปิดประเทศแล้ว ด้วยข้อสรุปเบื้องต้นจากศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) โดยจะมีการเปิดพื้นที่เมืองพัทยา อ.บางละมุง อ.สัตหีบ พื้นที่อ.เมืองฯ อ.แม่ริม อ.แม่แตง อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ พื้นที่หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ชะอำ จ.เพชรบุรี และกรุงเทพฯในวันที่ 1 พ.ย.นี้
แต่กรณีการเปิดประเทศดังกล่าว ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่าแผนการเปิดประเทศของรัฐบาลไทยอาจจะเร็วหรือไม่เหมาะสม เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์การฉีดวัคซีน การตรวจหาเชื้อโควิด-19 และปัจจัยอื่นๆ
ล่าสุด สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นของสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่บทความเรื่องการท่องเที่ยว โดยมีความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ประเทศมาเลเซีย,ประเทศไทย และประเทศเวียดนามยังไม่พร้อมที่จะเปิดประเทศ
มีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
หลังจากการล็อกดาวน์ผ่านพ้นไปหลายเดือน ในหลายพื้นที่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือว่าอาเซียนนั้นกำลังที่จะถอยห่างจากนโยบายที่เรียกกันว่า “โควิดเป็นศูนย์” และกำลังมุ่งหน้าไปสู่การดำเนินนโยบายการอยู่ร่วมกันกับไวรัสโควิด-19
อย่างไรก็ตาม มีผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนว่ายังคงเร็วไปที่จะทำเช่นนั้น
การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทวีความรุนแรงขึ้นมากในช่วงเดือนฤดูร้อนที่ผ่านมา ผนวกกับการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธ์เดลต้าทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นมากในเดือน ก.ค. และถึงจุดสูงสุดในเดือน ส.ค.
ทว่าตอนนี้รัฐบาลในหลายประเทศทั้งอินโดนีเซีย,ไทยและเวียดนามกำลังหาแนวทางที่จะฟื้นฟุเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญให้กลับมาอีกครั้ง ด้วยการเปิดพรมแดนและพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ
แต่ประเด็นนี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญกังวลว่าอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำในหลายพื้นที่ของภูมิภาค และการฉีดวัคซีนซึ่งคุณภาพต่ำที่รวมไปถึงวัคซีนซิโนแวคของประเทศจีนนั้นอาจจะนำพาไปสู่หายนะก็เป็นได้
นายหยานจง หวง (Yanzhong Huang) ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านสุขภาพระดับโลกที่สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกาได้กล่าวว่า ถ้าหากมีอัตราการฉีดวัคซีนไม่สูงพอผนวกกับการมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพฉีดให้ไม่เพียงพอก่อนที่จะมีการยกเลิกมาตราการป้องกันโรคต่าง ๆ นั้น สิ่งที่ตามมาก็คือระบบสาธารณสุขในอาเซียนจะถูกท่วมท้นด้วยภาระหนักเนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่จะล้นห้องฉุกเฉิน อันจะนำมาสู่ปัญหาขาดแคลนเตียงและเครื่องช่วยหายใจที่จำเป็น
นายหยานจง หวง ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านสุขภาพระดับโลกที่สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา
แต่สำหรับประชาชนและผู้นำทั่วภูมิภาคอาเซียน ดูเหมือนว่าพวกเขานั้นจะมีทางเลือกที่น้อยมาก เพราะวัคซีนกำลังขาดแคลนอีกทั้งการฉีดวัคซีนให้กับประชากรหมู่มากนั้นก็ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่สิ่งที่จะบรรลุเป้าหมายได้ภายในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
ซึ่งเมื่อเวลาผ่านเรื่อย ๆ ประชาชน ก็จะเสียทั้งโอกาสในการทำงานและต้องอยู่กับบ้าน โดยที่ไม่มีเงินไปซื้อสิ่งที่จำเป็นมาประทังชีวิต
นายฌ็อง การิโต ผู้ดูแลโรงเรียนสอนประดาน้ำใน จ.ภูเก็ต ประเทศไทยได้เคยให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้เอาไว้ว่าธุรกิจทั้งขนาดเล็กและขนาดกลางกำลังสิ้นหวังและมีความต้องการเป็นอย่างยิ่งที่จะให้มีการเปิดประเทศขึ้น ซึ่งตัวเขาเองก็ไม่มั่นใจว่าภาคส่วนด้านธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทยจะสามารถเอาตัวรอดไปได้อีกนานเท่าไร และตัวเขาเองก็มีครอบครัวที่ต้องเลี้ยงดูเช่นกัน
“ถ้าหากรัฐบาลนั้นไม่สามารถที่จะชดเชยให้กับความสูญเสียของธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และก็ไม่สามารถที่จะเปิดประเทศได้อย่างเต็มรูปแบบ ถ้าเป็นแบบนี้เราคงตายกันหมด” นายการิโตกล่าว
หาดป่าตอง จ.ภูเก็ตเมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา (อ้างอิงวิดีโอจาก Steve Pannawit)
@การยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์
นับตั้งแต่เดือน มิ.ย.ถึง ส.คงที่ผ่านมา มีหลายประเทศในอาเซียนที่พยายามจะใช้นโยบายป้องกันโควิดอย่างเข้มข้น ด้วยความพยายามที่จะกลุ่มมาคุมระลอกของการระบาดอีกครั้ง
โดยประเทศอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียใช้นโยบายล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ขณะที่ประเทศไทยและเวียดนามใช้นโยบายล็อกดาวน์ในพื้นที่ซึ่งมีความเสี่ยง ซึ่งภายใต้มาตรการเหล่านี้ ประชากรนับหลายล้านคนต้องถูกสั่งให้อยู่แต่ในบ้านเท่าที่จะเป็นไปได้และห้ามไม่ให้มีการเดินทางภายในประเทศ,โรงเรียนถูกปิด,ระบบขนส่งสาธารณะถูกห้องและการรวมกลุ่มสาธารณะก็ถูกห้ามด้วยเช่นกัน
หลังจากนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อก็ดูเหมือนว่าจะลดลงในภูมิภาคนี้ แต่ตัวเลขที่ลดลงดังกล่าวนั้นก็ยังถือว่าสูงอยู่ดี
โดยข้อมูลจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ระบุว่าประเทศฟิลิปปินส์นั้นมีตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 20,000 รายต่อวัน ขณะที่ประเทศไทย,เวียดนามและมาเลเซียเคยมีตัวเลขประมาณ 15,000 รายต่อวัน ซึ่งประเทศอินโดนีเซียนั้นถือว่ามีตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงเป็นสัดส่วนมากที่สุด โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นมีตัวเลขอยู่ที่ไม่กี่พันรายต่อวัน
ชายหาด Double Six ที่เกาะบาหลีหลังจากมีการเปิดให้ท่องเที่ยวได้อีกครั้งหนึ่ง (อ้างอิงวิดีโอจาก ADLYA17 )
ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าว จุดสูงสุดของการติดเชื้อดูเหมือนจะเพิ่งผ่านไปไม่นานและอัตราการฉีดวัคซีนในพื้นที่ก็ยังคงต่ำอยู่ แต่ทว่ารัฐบาลบางแห่งนั้นก็เริ่มกระบวนการการเปิดประเทศแล้ว
โดยประเทศเวียดนามได้วางแผนจะเปิดเกาะฟู้โกว๊กให้นักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งทางการได้อ้างว่ามีแรงกดดันทางเศรษฐกิจจนนำไปสู่การตัดสินใจเปิดเกาะ ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวได้กล่าวว่าภาวะโรคระบาดนั้นได้ทำร้ายภาคส่วนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง ในขณะที่ทั่วประเทศเวียดนาม มีรายงานว่ามีประชากรแค่ 8.2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้ว โดยตัวเลขนี้นั้นถือว่าห่างไกลเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการบรรลุภูมิคุ้มกันหมู่ที่จะต้องมีการฉีดวัคซีนให้ได้เป็นจำนวนอย่างน้อยก็ในช่วง 70 เปอร์เซ็นต์ ถึง 90 เปอร์เซ็นต์
ส่วนที่ประเทศไทย ก็มีการวางแผนจะเปิดกรุงเทพมหานครและสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับชาวต่างชาติหลายแห่งในเดือน ต.ค.นี้เช่นกัน ด้วยความหวังว่าจะฟื้นฟูภาคส่วนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่อยู่ในภาวะลงเหวเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี 2562 ที่ภาคส่วนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยนั้นเคยมีสัดส่วนในจีดีพีของประเทศสูงถึง 11 เปอร์เซ็นต์ โดย ณ เวลานี้นั้นประเทศไทยมีอัตราการฉีดวัคซีนครบโดสแล้วอยู่ที่ประมาณ 22.8 เปอร์เซ็นต์
ตามมาด้วยประเทศอินโดนีเซียที่มีอัตราการฉีดวัคซีนครบโดส อยู่ที่ 17.8 เปอร์เซ็นต์ ก็เริ่มที่จะมีการผ่อนปรนนโยบายจำกัดต่าง ๆ นานา ซึ่งรวมไปถึงการอนุญาตให้เปิดพื้นที่สาธารณะและอนุญาตให้โรงงานกลับมาทำการผลิตได้อีกครั้ง โดยมีรายงานจากสำนักข่าวรอยเตอร์สว่านักท่องเที่ยวต่างชาตินั้นอาจจะที่เดินทางไปยังบางส่วนของประเทศได้แล้ว รวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่เกาะบาหลี
ขณะที่ประเทศมาเลเซียที่เป็นหนึ่งในประเทศซึ่งมีอัตราการฉีดวัคซีนสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยมีอัตราการฉีดวัคซีนครบโดสอยู่ที่ 61.5 เปอร์เซ็นต์ ก็เริ่มที่จะมีการเปิดหมู่เกาะท่องเที่ยวลังกาวี เพื่อให้มีการท่องเที่ยวภายในประเทศเมื่อช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตามมาด้วยอีกหลายรัฐที่ได้มีการผ่อนปรนมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว รวมไปถึงการออกมาตรการให้สามารถนั่งรับประทานอาหารได้ในร้านและอนุญาตให้เดินทางในประเทศได้
ซึ่งในแง่ของการเปิดประเทศดังกล่าวนั้น ในบางแง่มุมแล้วก็สะท้อนให้เห็นถึงแนวทาง “การใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19” ซึ่งในประเทศแถบตะวันตก อาทิ สหราชอาณาจักร และในหลายส่วนของสหรัฐอเมริกานั้นก็เริ่มที่จะกลับมาใช้ชีวิตประจำวันเป็นปกติกันแล้ว
ทั้งนี้ ในกลุ่มของประเทศในภูมิภาคอาเซียน ประเทศสิงคโปร์นั้นถือเป็นประเทศแรก ๆ ที่ออกมาเปิดเผยว่าได้ออกจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ โดยนายอภิเษก ริมาล (Abhishek Rimal) ผู้ประสานงานด้านสุขภาพฉุกเฉินระดับภูมิภาคของสหพันธ์กาชาดระหว่างประเทศกล่าวว่า แม้ว่าประเทศอื่นนั้นจะไม่ได้ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ แต่การที่ประเทศเหล่านี้ได้มีการเปิดประเทศอย่างรวดเร็วก็แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลหลายรัฐบาลกำลังให้น้ำหนักไปที่การสร้างความยั่งยืนในระยะยาวมากกว่า
“ที่ผ่านมามีการอภิปรายกันเป็นวงกว้างในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ในประเด็นที่ว่าชะตากรรมของโควิดในภายภาคหน้าจะเป็นอย่างไร ซึ่งหนึ่งในฉากทัศน์ที่เป็นไปได้ก็คือมันจะกลายเป็นโรคเฉพาะถิ่นต่อไปอนาคต และเรากำลังจะไปสู่ทิศทางที่ว่าโควิดนั้นจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา” นายริมาลกล่าว
นายอภิเษก ริมาล ผู้ประสานงานด้านสุขภาพฉุกเฉินระดับภูมิภาคของสหพันธ์กาชาดให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ของการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้าในอาเซียน
@ความอันตรายของการเปิดประเทศที่เร็วเกินไป
ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า อย่างไรก็ตาม อัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำในหลายภูมิภาคของอาเซียนรวมไปถึงที่ประเทศฟิลิปปินส์,ประเทศอินโดนีเซียและที่ประเทศไทยนั้นจะทำให้การเปิดประเทศมีความเสี่ยมมากกว่าประเทศในแถบตะวันตกเป็นอย่างยิ่ง
โดยหลายประเทศในภูมิภาคตะวันตกมีอัตราการฉีดวัคซีนให้กับประชากรส่วนมากแล้ว โดยสหราชอาณาจักรนั้นมีอัตราการฉีดวัคซีนครบโดสอยู่ที่ 67.1 เปอร์เซ็นต์และประเทศแคนาดามีอัตราการฉีดวัคซีนครบโดสอยู่ที่ 71.2 เปอร์เซ็นต์
แม้ว่าประเทศเหล่านี้จะเปิดประเทศด้วยการมีอัตราฉีดวัคซีนที่สูง แต่ก็ยังมีรายงานการติดเชื้อพุ่งสูงให้เห็นเป็นระยะ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้เสียชีวิตและผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในประเทศตะวันตกนั้นอยู่ในอัตราที่ต่ำมาก ซึ่งนี่ก็เป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของวัคซีน
อัตราการฉีดโดสวัคซีนต่อประชากร 100 คน ในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก
กลับมาที่ในอาเซียน อัตราการตรวจหาเชื้อเป็นบวกยังคงเป็นสิ่งที่น่ากังวล ซึ่งองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้ออกคำแนะนำเอาไว้ว่าในประเทศนั้นควรจะมีอัตราการตรวจหาเชื้อเป็นบวกอยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์หรือว่าต่ำกว่านั้นเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนที่จะมีการเปิดประเทศ
ซึ่งนายริมาลได้กล่าวว่าแต่ตัวเลขอัตราการตรวจหาเชื้อเป็นบวกในภูมิภาคอาเซียนนั้นยังคงอยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ และในบางประเทศก็พุ่งสูงไปถึง 30 เปอร์เซ็นต์
“นี่เป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นชัดเจนว่าจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เห็นอยู่นั้นไม่ใช่ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แท้จริง ซึ่งปัญหามาจากการขาดการตรวจและติดตามผู้ติดเชื้อเชิงรุก โดยการระบาดเมื่อไม่นานมานี้ได้ให้บทเรียนที่สำคัญอยู่ประการหนึ่งก็คือเราไม่จะปล่อยให้การ์ดของเราตกได้”นายริมาลกล่าว
ทั้งนี้ WHO ยังได้มีการกำหนดเกณฑ์อื่น ๆ ที่จำเป็นอีก ตัวอย่างเช่น การเปิดประเทศนั้นจะสามารถดำเนินต่อไปได้ถ้าหากการแพร่เชื้อนั้นถูกควบคุมได้,และระบบสาธารณสุขของประเทศมีศักยภาพมากพอที่จะตรวจหาเชื้อ,กักตัวและรักษาผู้ป่วย แต่ทว่าบางประเทศนั้นก็ตัดสินใจที่จะเปิดประเทศแม้ว่าจะยังไม่บรรลุมาตรฐานเหล่านี้
“นี่หมายความว่ามีทุกความเป็นไปได้ที่จะเกิดระบาดแบบพุ่งพรวดของโควิด-19 ขึ้นมาอีก” นายริมาลกล่าว
แต่ตามที่ได้นำเรียนไปแล้วว่า รัฐบาลหลายรัฐบาลในอาเซียนนั้นมีตัวเลือกไม่มากนัก โดยเฉพาะกับกรณีของทรัพยากรวัคซีนที่ยังคงต่ำในภูมิภาค ซ้ำเติมกับที่ปัญหาด้านความขาดแคลนวัคซีนนั้นรุนแรงขึ้นทั่วโลก ในบางประเทศยังคงประสบปัญหาด้านการจัดซื้อโดสวัคซีนที่ล่าช้า ส่งผลให้ประเทศเหล่านี้นั้นไม่มีความพร้อมเลยถ้าหากต้องปะทะกับคลื่นการระบาดระลอกใหม่ที่ และบางประเทศซึ่งมีรายได้ปานกลางรวมไปถึงประเทศมาเลเซียและประเทศไทยก็ไม่มีสิทธิ์ได้รับการอุดหนุนจากโครงการสนับความเท่าเทียมวัคซีนโลกโคแวกซ์อีกด้วย
ซึ่งการรอไปจนกว่าความต้องการวัคซีนทั่วโลกนั้นลดลงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีอย่างแน่นอน เนื่องจากชีวิตของผู้คนนั้นต้องชะงักงันอย่างรุนแรงเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว และถ้าหากภาวะชะงักงันนี้ยังดำเนินต่อไป ก็หมายความว่าจะมีผลกระทบที่ร้ายแรงตามมา
“ผู้คนหลายล้านคนกำลังดิ้นรนเพื่อจะเข้าถึงสิ่งที่พวกเขาต้องการในชีวิตประจำวัน มีภาคส่วนแรงงานในทวีปเอเชียจำนวนมากที่ต้องเพิ่งค่าแรงรายวัน และพวกเขากำลังได้รับผลกระทบจากความตกต่ำทางเศรษฐกิจนี้” นายริมาลกล่าว
โดยเมื่อการระบาดครั้งใหญ่เกิดขึ้นทำให้ไม่สามารถที่จะพบปะในชุมชนได้ การล็อกดาวน์ที่ผ่านมาเป็นระยะเวลาไม่กี่เดือนนั้นส่งผลให้หลายครัวเรือนต้องประสบภาวะหิวโหย ซึ่งต้องยอมรับว่าประชาชนนั้นกำลังประสบกับความอ่อนล้าอันมาจากโรคระบาด และปัญหาความตึงเครียดทางเศรษฐกิจดังกล่าวนั้นก็ส่งผลกลับมายังรัฐบาลที่เผชิญแรงกดดันจากสาธารณชนให้เปิดประเทศอีกครั้งหนึ่ง
นายริมาลกล่าวต่อไปว่า นี่ถือว่าเป็นภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกครั้งสำคัญ ที่ส่งผลต่อทั้งนักวิทยาศาสตร์ ผู้กำหนดนโยบายต่างๆทั่วเอเชีย
“เรารู้ว่าวัคซีนคือ คำตอบสำคัญแต่เราไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ในขณะที่เราเห็นคนกำลังทุกข์ยากและประสบปัญหาจากภาวะการว่างงาน” นายริมาลกล่าว
ซึ่งนี่ก็คือเหตุผลสำคัญที่หน่วยงาน,องค์กรด้านมนุษยธรรมต่างๆ อาทิเช่นกาชาดได้เรียกร้องให้เหล่าบรรดาผู้นำโลกได้จัดสรรวัคซีนให้กับประเทศที่มีรายได้ต่ำและประเทศที่ประสบปัญหากับการระบาดอย่างรุนแรงทั้งในภูมิภาคเอเชียใต้และในอาเซียน “แต่ถ้าหากในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ถ้าหลายประเทศได้ตั้งมั่นว่าอย่างไรเสีย ก็ต้องมีการเปิดประเทศ สิ่งเดียวที่พวกเขาพอจะทำได้ก็คือการเสริมสร้างในด้านต่าง ๆ อันเกี่ยวข้องกับการตอบสนองต่อโรคระบาดทั้งหมด อาทิ มาตรการด้านสาธารณสุขสาธารณะ การตรวจและติดตามเชื้อเชิงรุกเป็นต้น” นายริมาลกล่าวและเน้นย้ำว่าถ้าหากไม่ทำเช่นนี้ก็มีความเป็นไปได้สูงมากที่เราจะเห็นการพุ่งขึ้นของผู้ติดเชื้อในช่วงไม่กี่วันหรือว่าไม่กี่สัปดาห์ที่จะมาถึงนี้
@ข้อกังขาเรื่องวัคซีน
อีกประเด็นซึ่งต้องนำไปสู่การพิจารณาว่านโยบายเรื่องการอยู่กับโควิดที่กำลังจะเดินต่อไปในภูมิภาคอาเซียนนั้นอาจจะกลายเป็นสิ่งที่ยากจะบรรลุ ก็คือประเด็นเรื่องชนิดของวัคซีนที่ได้มีการแจกจ่ายในภูมิภาค
ซึ่งมีหลายประเทศในอาเซียนได้พึ่งพาวัคซีนจากประเทศจีนเป็นอย่างมาก และวัคซีนเหล่านี้ก็มีประสิทธิภาพต่ำกว่ามากถ้าหากเปรียบเทียบกับวัคซีนที่ผลิตในบริษัทจากประเทศตะวันตก
โดยข้อมูลจากมหาวิทยาลัยดุ๊กระบุว่าประเทศไทยนั้นได้มีการจัดหาซื้อวัคซีนจากบริษัทซิโนแวคเป็นจำนวนกว่า 40 ล้านโดส ขณะที่ประเทศฟิลิปปินส์และประเทศมาเลเซียได้มีการจัดหาวัคซีนจำนวนประเทศละ 20 ล้านโดส และประเทศกัมพูชาได้จัดหาวัคซีนซิโนแวคจำนวน 16 ล้านโดส ขณะที่ประเทศอินโดนีเซียได้จัดหาวัคซีนซิโนฟาร์มจำนวน 15 ล้านโดส และประเทศมาเลเซียได้มีการจัดหาวัคซีนจำนวนกว่า 5 ล้านโดส
ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้เห็นพ้องต้องกันว่าการเข้าถึงวัคซีนให้ได้นั้นย่อมดีกว่าการไม่มีวัคซีนอะไรเลย แต่ทว่าเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว วัคซีนจากประเทศจีนนั้นมีอัตราประสิทธิภาพต่ำกว่าเป็นอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์และจากบริษัทโมเดอร์นา
โดยข้อมูลการทดลองในประเทศบราซิลที่ส่งให้ WHO ระบุว่าวัคซีนซิโนแวคนั้นมีประสิทธิภาพอยู่ที่ 50 เปอร์เซ็นต์เมื่อต้องรับมือกับการติดเชื้อโควิด-19 แบบมีอาการ และมีประสิทธิภาพอยู่ที่ 100 เปอร์เซ็นต์เมื่อต้องรับมือกับอาการป่วยรุนแรง ขณะที่วัคซีนซิโนฟาร์มนั้นมีอัตราการป้องกันอาการป่วยแบบมีอาการและการเข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่ประมาณ 79 เปอร์เซ็นต์
และเมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์และจากบริษัทโมเดอร์นา ก็พบว่ามีอัตราประสิทธิภาพอยู่ที่มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม กรณีนี้นั้นทางด้านของนายหวาง เหวินปิน (Wang Wenbin) โฆษกประจำกระทวงการต่างประเทศจีนได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ข้อมูลประสิทธิภาพดังกล่าวแล้วว่ามีเจตนาบิดเบือนอย่างชัดเจน
ขณะที่นายหยานจง หวง (Yanzhong Huang) ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านสุขภาพระดับโลกที่สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวว่าความพยายามที่จะเปิดประเทศโดยมีจำนวนผู้ฉีดวัคซีนต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของประชากร และยังใช้วัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพนั้นอาจจะทำให้เกิดการไหลบ่าของผู้ติดเชื้อจนทะลักโรงพยาบาลและต้องกลับไปใช้มาตรการควบคุมโรคกันอีกครั้งหนึ่ง
แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ว่าทุกประเทศในอาเซียนจะพึ่งพาแต่วัคซีนซิโนแวคหรือว่าซิโนฟาร์ม ยกตัวอย่างเช่นที่ประเทศสิงคโปร์เองซึ่งมีอัตราการฉีดวัคซีนสูงสุดในโลกด้วยอัตราการฉีดวัคซีนครบโดส 79.2 เปอร์เซ็นต์ วัคซีนส่วนใหญ่ของประเทศสิงคโปร์นั้นก็คือวัคซีนจากไฟเซอร์และจากบริษัทโมเดอร์นา
ส่วนประเทศอื่น ๆ เองก็เริ่มขยับจากการใช้งานวัคซีนซิโนแวคเช่นกัน ด้วยข้อกังวลทางด้านประสิทธิภาพ อาทิ เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ประเทศมาเลเซียได้ประกาศหยุดใช้วัคซีนจากประเทศจีนทันทีหลังจากที่มีการฉีดวัคซีนจากประเทศจีนจำนวนกว่า 12 ล้านโดสหมดลง
ขณะที่ประเทศไทยก็ได้มีคำประกาศที่มีลักษณะคล้ายกันออกมาว่าจะมีการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 โดสไปแล้วด้วยวัคซีนไฟเซอร์ทันทีที่วัคซีนมาถึงยังประเทศไทย
“ผมคิดว่าถ้าหากรัฐบาลประเทศเหล่านี้สามารถจัดการให้มีการฉีดวัคซีนโดสที่ 3 หรือว่าบูสเตอร์และให้ประชากรส่วนมากซึ่งมีนัยยะสำคัญได้รับการฉีดวัคซีน ถ้าหากเป็นแบบนี้ ก็จะทำให้การเปิดประเทศครั้งใหม่นั้นมีความสมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้น”นายหวังกล่าว
แต่กว่าที่สิ่งนั้นจะเกิดขึ้นได้นั้น ความต้องการวัคซีนทั่วโลกมีความจำเป็นที่จะต้องลดลงมาก่อน หรือมิฉะนั้น ประเทศที่ร่ำรวยเองซึ่งมีจำนวนโดสวัคซีนพอแล้วจำเป็นที่จะต้องเข้ามาให้ความช่วงเหลือ อย่างไรก็ตามนี่คงไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้
“มันสำคัญมากที่ประเทศที่มีรายได้สูงนั้นจะจัดสรรปริมาณวัคซีนมาให้โดยเร็วแก่ประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้และในภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้เราสามารถออกจากภาวะโรคระบาดและเดินหน้าใช้ชีวิตปกติได้”นายริมาลกล่าว
เรียบเรียงจาก:https://edition.cnn.com/2021/09/21/asia/covid-zero-asia-vietnam-thailand-malaysia-intl-hnk/index.html
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage