"...ทั้งนี้ มีข้อกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยในวัคซีน mRNA เกิดขึ้น โดยคาดว่าวัคซีนนั้นจะมีผลข้างเคียง โดยเฉพาะกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปีได้มากกว่า เพราะว่าภูมิคุ้มกันของเด็กนั้นจะมีความกระเตื้องมากกว่า ดังนั้น แม้ว่าผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจะมีความคล้ายคลึงกับที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ใหญ่ แต่สำหรับเด็กแล้วผลข้างเคียงดังกล่าวอาจจะรุนแรงกว่ามาก ..."
..........................
สืบเนื่องจากสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ที่ ณ เวลานี้ มีการฉีดวัคซีนชนิด mRNA ในเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงในประเด็นเรื่องผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนดังกล่าว จนทำให้เกิดข้อเสนอแนะจาก นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า ควรฉีดวัคซีนเชื้อตายในเด็กแทน และฉีดวัคซีน mRNA เป็นวัคซีนบูสเตอร์ในเข็มที่ 3 เพื่อป้องกันภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
จากกรณีดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สำรวจข้อมูลการฉีดวัคซีนแบบ mRNA ในประเทศสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับประเด็นเรื่องของความปลอดภัยในการฉีดวัคซีน mRNA ให้กับเด็กกลุ่มเสี่ยง พบว่า เว็บไซต์ Clinical Trials Arena ซึ่งเป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับการทดลองทางการแพทย์ เคยนำเสนอรายงานพิเศษเรื่องนี้ไว้ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ปัจจุบันมีการประเมินกันว่า วัคซีน mRNA สำหรับไวรัสโควิด-19 นั้น มีความปลอดภัยโดยรวม และมีประสิทธิภาพสำหรับผู้รับวัคซีนที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี แต่ผู้เชี่ยวชาญก็มีการตระหนักว่าอาจจะมีจุดบอดและนำไปสู่ผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึงก็เป็นไปได้
ขณะที่บริษัทไฟเซอร์และบริษัทไบออนเทค และบริษัทโมเดอร์นา ก็กำลังพยายามที่จะให้มีการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้
ทั้งนี้ มีข้อกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยในวัคซีน mRNA เกิดขึ้น โดยคาดว่าวัคซีนนั้นจะมีผลข้างเคียง โดยเฉพาะกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปีได้มากกว่า
เพราะว่าภูมิคุ้มกันของเด็กนั้นจะมีความกระเตื้องมากกว่า ดังนั้น แม้ว่าผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจะมีความคล้ายคลึงกับที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ใหญ่ แต่สำหรับเด็กแล้วผลข้างเคียงดังกล่าวอาจจะรุนแรงกว่ามาก
รายงานข่าวการฉีดวัคซีน mRNA ในเด็ก (อ้างอิงวิดีโอจาก CGTN America)
ดังนั้น จึงมีข้อพิจารณาว่ามันควรจะเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะฉีดวัคซีนเป็นจำนวนโดสที่น้อยกว่าให้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ไป ไม่ว่าจะเป็นการฉีดวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ และวัคซีนของบริษัทโมเดอร์นา เนื่องจากเด็กนั้นจะมีปริมาณมวลกายที่น้อยกว่าผู้ใหญ่
อย่างไรก็ตามประเด็นเรื่องการฉีดวัคซีนในจำนวนโดสที่เท่ากับผู้ใหญ่นั้นก็ควรต้องเอามาพิจารณาด้วยเช่นกัน เพราะว่าภูมิคุ้มกันของเด็กนั้นอาจจะยังไม่สมบูรณ์เต็มที่
อนึ่งวัคซีน mRNA นั้นถือว่ายังเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่ จึงต้องมีความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งสำหรับการใช้งานในรูปแบบปกติ แต่ว่าในขณะนี้ ก็มีวัคซีนหลายชนิดที่มีความจำเป็นที่จะต้องฉีดให้กับเด็กเช่นกัน และถ้าหากการชะลอวัคซีนที่มีการเตรียมจะใช้งานอยู่ออกไปเพื่อจะหลีกทางให้กับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มเด็ก ก็อาจจะทำให้เกิดการระบาดของโรคอื่นที่ไม่ใช่โควิด-19 ตามมาได้ด้วยเช่นกัน
ย้อนไปเมื่อวันที่ 14 ก.ย. ที่ผ่านมา นายแฟรงค์ ดี อาเมลิโอ ผู้บริหารบริษัทไฟเซอร์ เคยให้สัมภาษณ์ว่าตัวเขาคาดหวังว่าจะมีข้อมูลการทดลองวัคซีน Comirnaty (BNT162b2) ซึ่งเป็นชื่อทางการของวัคซีนบริษัทไฟเซอร์ ทั้งการทดลองทางคลินิกในระยะที่ 1/2/3 ในกลุ่มเด็กที่อายุ 5-11 ปีออกมาในช่วงสิ้นเดือน ก.ย. และทางสหรัฐฯ จะได้อนุมัติวัคซีนดังกล่าวในช่วงต้นเดือน ต.ค.
ส่วนโฆษกบริษัทไฟเซอร์ได้กล่าวว่าการอนุมัตินั้นอาจจะนานกว่าเพราะต้องเผื่อระยะเวลา 6 เดือนในขั้นตอนของการอนุมัติการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กอายุ 5 ปีไปด้วย
ขณะที่ข้อมูลเมื่อวันที่ 9 ก.ย.ได้มีการระบุเกี่ยวกับบริษัทโมเดอร์นาในการนำเสนอเช่นกันว่าทางบริษัทได้มีการทดลองวัคซีน Spikevax (mRNA-1273) ระยะ 2 และระยะ 3 ในกลุ่มทดลองซึ่งมีช่วงอายุระหว่าง 6-11 ปี จำนวน 3 กลุ่ม
อย่างไรก็ตามทางบริษัทก็ไม่ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้แต่อย่างใด
ข้อมูลเปอร์เซ็นต์ช่วงอายุของผู้ป่วยโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกา
@ข้อมูลการฉีดวัคซีนที่เกี่ยวข้องในเด็กซึ่งอายุมากกว่า 12 ปี
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจาก พญ.อินซี อิลดิริม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการฉีดวัคซีนและยังเป็นศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์และสุขภาพระดับโลกจากมหาวิทยาลัยเยล ที่ระบุว่า ถ้าหากยึดโยงข้อมูลการฉีดวัคซีนกับกลุ่มที่ได้รับวัคซีนซึ่งอายุมากกว่า 12 ปี การฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี ควรจะมีผลออกไปในทางที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งก็คือวัคซีน mRNA นั้นจะมีประสิทธิภาพในเชิงบวกเป็นอย่างยิ่ง เมื่อมีการใช้เป็นปริมาณนับหลายล้านโดส และวัคซีนก็สามารถจะก่อให้เกิดการตอบสนองต่อของระบบภูมิคุ้มกันอันจะนำไปสู่การป้องกันอาการต่าง ๆ ที่เกิดจากไวรัสโควิด-19 ได้
ขณะที่ นพ.สตีเว่น เซคเนอร์ ศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย ได้ให้ข้อมูลว่าวัคซีน mRNA จะมีผลข้างเคียงในกลุ่มผู้ใหญ่โดยทั่วไปก็คืออาการปวดในบริเวณที่ถูกฉีด,อ่อนเพลีย,ปวดศรีษะ และเป็นไข้ควบคู่กับอาการอื่นๆ แต่ทั้งนี้อาการผลข้างเคียงอันหายากของการอักเสบของหัวใจนั้นมีแนวโน้มจะพบในกลุ่มเด็กที่มีช่วงอายุระหว่าง 16-18 ปี และจะพบอาการนี้น้อยลงในกลุ่มเด็กที่มีช่วงอายุระหว่าง 12-15 ปี
แต่ นพ.ดักลาส ดิเอเคมา ผู้อำนวยการศูนย์เทราท์แมน แคทซ์ ซึ่งเป็นศูนย์ที่ดำเนินการเกี่ยวกับชีวจริยธรรม ระบุว่า แม้ว่าจะมีข้อมูลเป็นเชิงบวกกับการฉีดวัคซีนให้ผู้มีอายุน้อย จนทำให้มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการใช้งานวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์นอกฉลาก แต่ทางด้านศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกาหรือว่าซีดีซีก็ยังคัดค้านในประเด็นการนำวัคซีนนี้ไปฉีดให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี
บริษัทไฟเซอร์ยืนยันว่าวัคซีน mRNA ปลอดภัยสำหรับฉีดในเด็ก (อ้างอิงวิดีโอจากสำนักข่าวเอบีซี)
@ความเสี่ยงที่มากขึ้นในกลุ่มเด็กเล็ก
นพ.เซคเนอร์ได้กล่าวเสริมนประเด็นนี้ว่าความเสี่ยงที่สูงขึ้นของการเกิดผลข้างเคียงอันร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้นถี่กว่าสำหรับผู้รับวัคซีนซึ่งมีอายุต่ำกว่า 12 ปี
โดยเด็กนั้นจะเป็นผู้ที่มีการตอบสนองภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งมากขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ที่มีอายุมากกว่า และนี่อาจจะเป็นได้ทั้งผลบวกในแง่ของระสิทธิภาพวัคซีน แต่มันก็อาจจะเป็นประเด็นเรื่องของความปลอดภัยวัคซีนได้ด้วยเช่นกัน
“เด็กจะเป็นผู้ที่มีอาการป่วยอันรุนแรงน้อยกว่ามาก เมื่อติดไวรัสโควิด-19 เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ ดังนั้นกรณีผลข้างเคียงจากวัคซีน mRNA ก็อาจจะมีความเป็นไปได้ว่าจะไม่รุนแรงในเด็กได้ด้วยเช่นกัน” นพ.ดิเอเคมากล่าว
นพ.ดิเอเคมา กล่าวต่อว่าการศึกษาที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างในประเด็นเรื่องความร้ายแรงของโรคทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นมาจากกรณีของสารภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีที่ร่างกายแต่ละคนมีอยู่ก่อนหน้าที่จะติดไวรัสโควิด-19,ปัจจัยของภูมิคุ้มกันหรือโรคอื่นๆที่เกิดควบคู่กันไป รวมไปถึงปัจจัยอื่น ๆ ก็เป็นไปได้
ขณะที่ นพ.นิโคไล เพตรอฟสกี้ ศาสตราจารย์วิทยาลัยการแพทย์มหาวิทยาลัยฟลินเดอร์ ในเมืองเอดิเลด ประเทศออสเตรเลียกล่าวว่า ประเด็นเรื่องผลข้างเคียงอันรุนแรงที่สามารถรับได้เมื่อเกิดกับประชากรกลุ่มผู้ใหญ่นั้นอาจจะไม่เป็นที่รับได้เมื่อเกิดกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี
โดยในปี 2553 ที่ผ่านมา มีกรณีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่ไม่ได้ถูกนำมาฉีดให้กับผู้ที่เป็นเด็กอายุ 6 เดือนถึง 8 ปี ด้วยเหตุผลเรื่องความกังวลว่าอาจจะมีอาการชักเนื่องจากเป็นไข้ แม้ว่าจะมีการอนุมัติวัคซีนดังกล่าวให้กับผู้รับซึ่งเป็นผู้มีอายุมากกว่าก็ตาม
เนื่องจากประเด็นที่ว่าความรุนแรงของโควิด-19 นั้นลดต่ำลงเป็นอย่างยิ่งกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี ดังนั้น มาตรฐานเรื่องของความปลอดภัยของวัคซีนก็ควรที่จะมีการกำหนดให้สูงขึ้นด้วยเช่นกัน
ด้าน พญ.อิลดิริม ได้กล่าวว่าในวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการร่วมด้านการฉีดวัคซีนและการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของสหราชอาณาจักรได้ออกมาระบุชัดเจนว่าทางคณะกรรมการไม่แนะนำเลยที่จะให้ฉีดวัคซีนในระดับเป็นวงกว้างอย่างแพร่หลายกับกลุ่มผู้รับวัคซีนซึ่งเป็นเด็กที่มีช่วงอายุ 12-15 ปี เพราะเหตุผลว่าอัตราส่วนเรื่องผลประโยชน์ของการฉีดวัคซีนนั้นยังคงมีน้อยเกินไป
รายงานข่าวสหราชอาณาจักรไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนในเด็กที่สุขภาพแข็งแรง (อ้างอิงวิดีโอจาก Sky News)
@ ประเด็นเรื่องความปลอดภัยจำเพาะที่จะต้องจับตามอง
ขณะที่ นพ.เซคเนอร์ กล่าวถึงประเด็นนี้เอาไว้ว่า การติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กนั้นอาจจะมีความแตกต่างทางด้านของอาการ ถ้าหากเทียบกับการติดเชื้อในกลุ่มผู้ที่มาอายุมากกว่า ซึ่งนี่ก็หมายความว่าผลข้างเคียงในเด็กอันมาจากวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 นั้นก็จะมีความแตกต่างกันออกไปด้วย
โดยภาวะอาการอักเสบของอวัยวะหลายระบบในเด็ก (multi-system inflammatory syndrome หรือ MIS-C) ดูเหมือนว่าจะเป็นอาการที่จำเพาะเจาะจงที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยโควิดรุ่นเยาว์ ซึ่งสาเหตุของอาการนี้นั้นก็มาจากการที่ระบบภุมิคุ้มกันของร่างกายนั้นตอบสนองต่อการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 และอาการที่ว่านี้นั้นจะเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาหลายสัปดาห์หลังจากที่มีการติดเชื้อแบบเฉียบพลัน
ข้อมูลเปอร์เซ็นต์การป่วยด้วยภาวะอาการอักเสบของอวัยวะหลายระบบในเด็ก นับตั้งแต่เดือน ม.ค.2563-ส.ค.2564 ในสหรัฐอเมริกา
ซึ่ง นพ.แรนดี้ ครอน ศาสตราจารย์กุมารเวชศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแอละบามากล่าวว่า สาเหตุของการเกิดอาการ MIS-C นั้น ยังคงไม่เป็นที่ชัดเจนและการคาดคะเนว่าผู้ติดเชื้อคนใดจะมีอาการนี้นั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่ง เพราะว่าก่อนหน้าที่อาการดังกล่าว ผู้ป่วยหลายคนก็ถือว่าเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง
โดย พญ.อิลดิริม ได้กล่าวเสริมว่า ดังนั้นการฉีดวัคซีนให้กับเด็กจำนวนมาก ก็อาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงอันหายากเกิดขึ้นมากตามไปด้วย ซึ่งสิ่งนี้ก็เคยเกิดขึ้นกับผู้ที่ได้รับวัคซึนซึ่งมีอายุมากกว่าเช่นกัน
ขณะที่ พญ.มาเรีย เอเลน่า บอตตาซซี่ รองคณบดีจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์เบย์เลอร์ว่าด้วยเวชศาสตร์เขตร้อน และยังเป็นผู้ที่ศึกษาด้านวัคซีนโปรตีนซับยูนิตกล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ผู้ปกครองยังคงมีความกังวลและลังเลเกี่ยวกับการให้เด็กไปฉีดวัคซีน ก็เนื่องมาจากประเด็นเรื่องความปลอดภัย และวัคซีน mRNA นั้นก็เป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่เหล่าบรรดาผู้ปกครองจะหันไปเลือกวัคซีนซึ่งใช้เทคโนโลยีดั้งเดิมแทน
อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ยังคงไม่มีการอนุมัติการใช้งานวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ใช้เทคโนโลยีดั้งเดิม อาทิวัคซีนเชื้อตายหรือว่าวัคซีนโปรตีนซับยูนิตเป็นต้น
@ประเด็นการศึกษาการฉีดวัคซีนให้กับเด็กด้วยปริมาณโดสที่ต่ำกว่า
ทั้งนี้ เด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปีนั้นย่อมมีมวลกายที่ต่ำกว่าช่วงอายุอื่น ดังนั้น เด็กที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนเหล่านี้ ก็มีความเป็นไปได้เช่นกันที่จะต้องการจำนวนโดสวัคซีนที่น้อยกว่าเพื่อที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้เกิดขึ้นในระดับเดียวกับผู้ใหญ่
ซึ่งทางด้านของ พญ.อิลดิริมกล่าวว่า กรณีการลดปริมาณเศษส่วนของวัคซีนนั้นไม่ใช่เรื่องที่เป็นปกติมากนัก
ขณะที่ นพ.เซคเนอร์ ได้กล่าวเสริมว่า แต่ก็มีความเป็นไปได้เช่นกันที่เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี อาจจะต้องการปริมาณโดสวัคซีนที่อาจจะสูงกว่าผู้ใหญ่ เพราะว่าระบบภูมิคุ้มกันของเด็กนั้นอาจจะยังทำงานไม่เต็มที่และไม่ตอบสนองในรูปแบบเดียวกันกับที่ตอบสนองในผู้ใหญ่
“จากผลของการล็อกดาวน์ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 เด็กจำนวนมากถูกกักตัวจากการสัมผัสกับเชื้อโรคทั่วไปเป็นระยะเวลา 18 เดือน ในสหรัฐฯ ซึ่งนี่ก็อาจจะทั้งส่งผลกระทบและไม่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีนได้เช่นกัน” พญ.อิลดิริมกล่าว
อนึ่ง การอนุมัติวัคซีน Comirnaty ของบริษัทไฟเซอร์ในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น มีการฉีดด้วยปริมาณ 30 ไมโครกรัม สำหรับผู้รับวัคซีนซึ่งเป็นผู้ใหญ่ ขณะที่ในกลุ่มผู้รับวัคซีนซึ่งเป็นเด็กนั้นมีการทดลองการฉีดวัคซีนด้วยปริมาณทั้งสิ้น 10,20 และ 30 ไมโครกรัม กับกลุ่มทดลองซึ่งเป็นเด็กใน 3 ช่วงอายุได้แก้ 5-11 ปี,2-5 ปี และ 6 เดือน-2 ปี
ขณะที่วัคซีน SpikeVax ของบริษัทโมเดอร์นานั้นก็ได้มีการศึกษาการฉีดที่ปริมาณ 50 ไมโครกรัมต่อโดสในกลุ่มทดลองซึ่งมีช่วงอายุ 6-11 ปี, มีการศึกษาการฉีดอันไม่ระบุปริมาณ และการฉีดวัคซีนที่ปริมาณ 25 ไมโครกรัมกับกลุ่มทดลองเด็กที่อายุ 6 เดือน-2 ปี ในขณะที่กลุ่มซึ่งเป็นผู้ใหญ่นั้นจะได้รับการฉีดวัคซีนด้วยปริมาณทั้งสิ้น 100 ไมโครกรัม
ซึ่งที่ผ่านมา ทางบริษัทโมเดอร์นา ได้ออกมาระบุว่าบริษัทมีผลการทดลองการฉีดวัคซีนที่ปริมาณ 50 ไมโครกรัมออกมาในเชิงที่เป็นบวกในกลุ่มทดลองที่เป็นผู้ใหญ่ และตอนนี้ก็กำลังรอผลการทดลองวัคซีนจำนวน 2 โดสในกลุ่มทดลองที่เป็นเด็กดังกล่าว
@การเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของวัคซีนซึ่งใช้ในกลุ่มผู้ใหญ่ให้มาใช้กับเด็ก
นพ.เซคเนอร์ ยังกล่าวถึงความเป็นได้ว่าเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ที่ได้รับการฉีดวัคซีนนั้นอาจจะมีความต้องการวัคซีนในปริมาณเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ เพราะความเข้มข้นของแอนติบอดี้นั้นมีความจำเป็นที่จะต้องเหมือนกันในกลุ่มผู้รับทุกกลุ่ม ไม่ว่าแต่ละกลุ่มนั้นจะมีความแตกต่างหรือว่าเหมือนกันของอายุและน้ำหนัก
ขณะที่ นพ.ดิเอเคมากล่าวเสริมว่าการเปลี่ยนแปลงปริมาณวัคซีนในเด็กต่ำกว่า 12 ปี หลังจากที่มีการทดลองในกลุ่มผู้ใหญ่ก่อนหน้านี้นั้นจะถือว่าเป็นเรื่องที่มีความท้าทายอย่างยิ่ง
โดย นพ.เดวิด เบงเกเซอร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านชีวสถิติและชีวสารสนเทศจากมหาวิทยาลัยเอมอรีได้กล่าวว่าการทดลองวัคซีน mRNA ในกลุ่มเด็กนั้นจำเป็นจะต้องให้มีผู้เข้าร่วมที่มากกว่านี้เพื่อให้เกิดการประเมินความปลอดภัยที่ดีขึ้นด้วยปริมาณกลุ่มทดลองเช่นเดียวกับในผู้ใหญ่
@ควรจะต้องมีการตรวจสอบให้ดีเสียก่อนที่จะมีการแจกจ่ายวัคซีน
หนทางที่ดีที่สุดที่จะดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับเด็กได้นั้นก็คือการต้องบูรณาการการฉีดวัคซีนกับตารางการฉีดวัคซีนที่มีอยู่เดิมแล้วสำหรับเด็ก เพราะประเด็นเรื่องการฉีดวัคซีนที่แตกต่างการออกไปนั้นอาจจะทำให้เกิดผลลัพธ์ในแง่ลบได้ เพราะวัคซีน mRNA ก็ยังคงเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่ ดังนั้น ประเด็นที่สำคัญก็คือจะต้องมีการทิ้งช่วงเวลาที่เหมาะสมระหว่างวัคซีนด้วย
“แต่ประเด็นสำคัญก็คือว่า ช่วงเวลาที่จะต้องทิ้งห่างระหว่างการฉีดวัคซีนแต่ละชนิดนั้นยังเป็นเรื่องที่ไม่มีความชัดเจน ณ เวลานี้” พญ.อิลดิริมกล่าว
อย่างไรก็ตาม นพ.เซคเนอร์ เน้นย้ำว่า การให้วัคซีนที่แตกต่างกันไปกับเด็กนั้นไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติแต่อย่างใด เพราะปัจจุบันก็มีการอนุมัติให้วัคซีนแบบ Tdap และแบบ MMR ฉีดกับเด็กเพื่อที่จะป้องกันโรคหลายชนิดอยู่แล้ว การทิ้งช่วงเวลาที่นานเกินไปสำหรับตารางการฉีดวัคซีนเพื่อจะให้มีการฉีดวัคซีนสำหรับไวรัสโควิด-19 นั้นอาจจะทำให้เกิดการระบาดของโรคที่ไม่ได้มาจากไวรัสโควิด-19 ได้เช่นกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลานี้ที่การระบาดนั้นส่งผลทำให้การฉีดวัคซีนอื่นๆตามตารางที่มีอยู่เดิมล่าช้าไปด้วยแล้ว ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้นั้นส่งผลทำให้มีการฉีดวัคซีนทั้งวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปพร้อมกันเลยในวันเดียวกันในกลุ่มผู้รับวัคซีนซึ่งเป็นผู้ใหญ่
เรียบเรียงจาก:https://www.clinicaltrialsarena.com/analysis/covid-19-mrna-vaccines-in-children/
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/