"...จากการตรวจสอบของ สตง. ยังพบปัญหาการดำเนินงานก่อสร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราแล้วเสร็จล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด และยังไม่สามารถใช้งานได้ จึงยังไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ จำนวน 5 โรงงาน คือ โรงงานผลิตหมอนยางพารา, โรงงานผลิตที่นอนยางพารา, โรงงานอัดก้อนยางแผ่นรมควัน, โรงงานผลิตน้ำยางข้น และโรงงานสกิมยาง..."
..................................
สืบเนื่องสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอข่าวกรณี สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีคำสั่งให้ สำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดบึงกาฬ เข้าดำเนินการตรวจสอบการจัดซื้อครุภัณฑ์ในโครงการภาคการเกษตรที่เพิ่มศักยภาพการผลิตทางการเกษตรและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการแข่งขันและเป็นประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรที่ปลูกยางพารา ของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ประกอบด้วย 5 จังหวัด คือ จังหวัดอุดรธานี จังหวัดเลย จังหวัด หนองบัวลำภู จังหวัดหนองคาย และจังหวัดบึงกาฬ ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลวงเงินหลายร้อยล้านบาท โดยมีจังหวัดอุดรธานีเป็นที่ตั้งศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 มีผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีเป็นหัวหน้ากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1
หลังพบว่า การจัดซื้อครุภัณฑ์เครื่องจักรผลิตหมอนยางพารา ภายในโครงการเพิ่มมูลค่าจากน้ำยางสด (ก่อสร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา) ตามสัญญาเลขที่ บก 0006/9/2560 วงเงิน 38,800,000 บาท ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2560 เฉพาะรายการแม่พิมพ์หมอนยางพารา ทำการจัดซื้อจำนวน 500 ชุด ราคาชุดละ 20,500 บาท รวมเป็นเงิน 10,250,000 บาท
มีราคาสูงกว่าการจัดซื้อในโครงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการผลิตและแปรรูปยางพารา ตามสัญญาเลขที่ บก 0006/12/2560 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2560 วงเงินตามสัญญา 5,942,000 บาท เฉพาะรายการแม่พิมพ์หมอนยางพารา ทำการจัดซื้อจำนวน 120 ชุด ราคาชุดละ 13,933 บาท รวมเป็นเงิน 1,671,960 บาท
ทั้งที่ เป็นจัดซื้อในช่วงเวลาใกล้เคียงกันและเป็นการจัดซื้อภายในปีงบประมาณเดียวกันนั้น
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกพบว่า การจัดซื้อแม่พิมพ์หมอนยางพารา ตามสัญญาเลขที่ บก 0006/9/2560 วงเงิน 38,800,000 บาท ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2560 ที่ทำการจัดซื้อจำนวน 500 ชุด ราคาชุดละ 20,500 บาท รวมเป็นเงิน 10,250,000 บาท ดังกล่าว
เป็นการดำเนินการในกิจกรรมย่อยที่ 1 โครงการเพิ่มมูลค่าจากน้ำยางสด (ก่อสร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา) ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวน 193,947,000 บาท ซึ่งมีหน่วยดำเนินงานรับผิดชอบ คือ จังหวัดบึงกาฬ โดยสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดบึงกาฬ
วัตถุประสงค์เป็นการก่อสร้างโรงงาน จำนวน 8 หลัง คือ (1) โรงงานผลิตหมอนยางพารา จำนวน 1 หลัง (2) โรงงานผลิตที่นอนยางพารา จำนวน 1 หลัง (3) โรงงานอัดก้อนยางแผ่นรมควัน จำนวน 1 หลัง (4) โรงงานผลิตยางแผ่นรมควัน จำนวน 3 หลัง (5) โรงงานผลิตน้ำยางข้น จำนวน 1 หลัง และ (1) โรงงานสกิมยาง จำนวน 1 หลัง
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบของ สตง. ยังพบปัญหาการดำเนินงานก่อสร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราแล้วเสร็จล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด และยังไม่สามารถใช้งานได้ จึงยังไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ จำนวน 5 โรงงาน คือ โรงงานผลิตหมอนยางพารา, โรงงานผลิตที่นอนยางพารา, โรงงานอัดก้อนยางแผ่นรมควัน, โรงงานผลิตน้ำยางข้น และโรงงานสกิมยาง
สาเหตุของปัญหาเนื่องจากแบบแปลนก่อสร้างไม่สอดคล้องกับพื้นที่ก่อสร้างจริง แบบแปลนกำหนดฐานรากอาคารเป็นชนิดฐานแผ่ แต่เพื่อให้ฐานรากของอาคารมั่นคงแข็งแรงจำเป็นต้องแก้ไขแบบแปลนเป็นฐานรากชนิดเสาเข็ม แต่เนื่องจากเป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงบุคลากร การดำเนินการแก้ไขแบบแปลนโดยบุคลากรซึ่งไม่ใช่ผู้เขียนแบบเดิมจึงต้องใช้ระยะเวลานาน
ในรายงานผลการตรวจสอบของ สตง. ยังระบุด้วยว่า โรงงานผลิตยางแผ่นรมควัน อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง จำนวน 3 หลัง การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ โรงงานดังกล่าวอยู่ระหว่างการตอกเสาเข็ม คิดเป็นปริมาณงานร้อยละ 10 ของปริมาณงานก่อสร้างทั้งหมดของโครงการ ทำให้ไม่สามารถติดตั้งเครื่องจักร/ครุภัณฑ์ประกอบโรงงานที่ทำการจัดซื้อได้ กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากแบบแปลนก่อสร้างไม่สอดคล้องกับพื้นที่ก่อสร้างจริงขนาดของอาคารตามแบบแปลน จำนวน 3 โรงงาน มีขนาดไม่เท่ากันทำให้แบบแปลนขัดแย้งกับใบแจ้งปริมาณงาน แต่เนื่องจากเป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงบุคลากร การดำเนินการแก้ไขแบบแปลนโดยบุคลากรซึ่งมิใช่ผู้เขียนแบบเดิมและขาดความชำนาญ จึงต้องใช้ระยะเวลานาน
นอกจากนี้ การก่อสร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา ไม่มีระบบไฟฟ้าภายในโรงงาน ระบบน้ำประปา และระบบบำบัดน้ำาเสีย กรณีระบบไฟฟ้าภายในโรงงานไม่สามารถใช้งานได้ทำให้โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราที่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ ไม่สามารถดำเนินการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราได้
ส่วนกรณีไม่มีแหล่งน้ำที่จะนำมาใช้ในกระบวนการผลิต ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ จำกัด แก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยขุดเจาะบ่อบาดาลจำนวน 2 บ่อ แต่ไม่พบแหล่งน้ำเพื่อนำมาใช้ในโรงงานได้
สตง. ยังการตรวจสอบพบปัญหาการดำเนินการเมื่อภายหลังที่โครงการดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ เช่น ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ จำกัด ยังไม่ได้กำหนดแผนการบริหารจัดการโรงงานหรือ แผนธุรกิจของชุมนุมสหกรณ์ที่ชัดเจน การขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานผิดประเภทและไม่ครบถ้วนและความเสี่ยงในด้านกฎหมายจากสถานที่ก่อสร้างโครงการติดภาระจำนองด้วย
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้ติดต่อไปยังสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดบึงกาฬ เพื่อขอสัมภาษณ์ นายสุวิทย์ เศรษโฐ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดบึงกาฬ เกี่ยวกับปัญหาการดำเนินงานโครงการฯ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่แจ้งว่า นายสุวิทย์ เศรษโฐ ติดประชุมยังไม่สะดวกให้สัมภาษณ์ในขณะนี้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage