“…ปกติในกรุงเทพมหานคร เราจะเห็นการตั้งจุดตรวจหาเชื้อโควิดแบบใหญ่ๆ แต่จุดตรวจแบบนี้กลับเข้าไม่ถึงกลุ่มคนไร้บ้าน หรือยากไร้ เพราะไม่มีกำลังทางเศรษฐกิจที่จะไปบ้าง หรือบางคนมีอาชีพที่ต้องปิดบังซ่อนเร้น กลัวการถูกตีตราทางสังคม จึงไม่กล้าไป เพราะฉะนั้นเราจึงต้องรูปแบบการตรวจค้นหาเชิงรุกแบบใหม่ ด้วยคนกลุ่มคนขนาดเล็ก เพื่อเข้าถึงพี่น้องเหล่านี้ และเราจะไม่ตรวจหาเชื้อแค่ครั้งเดียว เราจะตรวจซ้ำอย่างน้อย 4 ครั้ง เพื่อลดอัตราการติดเชื้อจาก 6-7% ให้เหลือ 2% ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ระบบสาธารณสุขจะรองรับได้….”
สถานการณ์การระบาดของโควิดขณะนี้ ทุกคนต่างมีโอกาสที่จะติดเชื้อ แต่สำหรับกลุ่มผู้ไร้ที่พึ่ง ไร้บ้าน หรือผู้ยากไร้ เป็นกลุ่มหนึ่งที่เข้าถึงระบบบริการด้านสุขภาพยากอยู่แล้ว ในช่วงวิกฤตนี้เขาจึงไม่สามารถเดินทางเข้าไปตรวจหาเชื้อ หรือฉีดวัคซีนได้ ด้วยข้อกำจัดในเรื่องกำลังทางเศรษฐกิจ หรือการถูกตีตราทางสังคม
ภายใต้ความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเครือข่ายประชาสังคม จึงร่วมกันจัดทำ ‘โครงการริมคลองหลอด ปลอดโควิด’ ตั้งเป้าทำพื้นที่ริมคลองหลอดให้ปลอดโควิด 100% แห่งแรกของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงระบบบริการสุชภาพของกลุ่มไร้บ้าน หรือผู้ยากไร้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด
‘โครงการริมคลองหลอด ปลอดโควิด’ นับเป็นโครงการแรกที่ตั้งเป้าทำพื้นที่ให้ปลอดโควิด 100% ซึ่งยังไม่เคยมีพื้นที่ใดเคยประกาศมาก่อน ดังนั้นแล้วปฏิบัติการนี้จะเป็นอย่างไร? มีผลลัพธ์อย่างไรบ้าง? สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สัมภาษณ์เครือข่ายผู้ริเริ่มโครงการ มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า พื้นที่ริมคลองหลอดเป็นสถานที่สำคัญของประเทศ และเป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มคนไร้ที่พึ่ง ไร้บ้าน หรือผู้ยากไร้อยู่จำนวนมาก ด้วยนโยบายของนายกรัฐมนตรีในปัจจุบันที่จะให้มีการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ พม.จึงเริ่มคิดว่าทำอย่างไรให้ประชาชนชาวไทยหรือนักท่องเที่ยวต่างชาติรู้สึกว่า การมาเดินเล่นแถวนี้จะไม่ติดโควิด หรือเป็นพื้นที่ที่ความเสี่ยงต่ำมาก ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด
จึงร่วมมือกับหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุข ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สภากาชาดไทย สำนักงานเขตพระนคร มูลนิธิอิสรชน มูลนิธิเวชดุสิต มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ มูลนิธิ SWING เครือข่ายอาสา Co Care และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ทำโครงการ ‘ริมคลองหลอด ปลอดโควิด’ ขึ้นมา
(นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)
ตรวจเชิงรุก-ฉีดวัคซีน ทุกวันศุกร์ถึงสิ้นเดือนนี้
นางพัชรี กล่าวอีกว่า ปฏิบัติการนี้จะมีการลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชิงรุกต่อเนื่องทุกวันศุกร์จนถึงสิ้นเดือนนี้ ให้แก่กลุ่มคนไร้ที่พึ่ง คนไร้บ้าน กลุ่มอาชีพบริการอิสระ และประชาชนในพื้นที่ชุมชนริมคลองหลอด สัปดาห์ละ 200 ราย ซึ่งประชาชนในพื้นที่สามารถวอล์กอิน (Walk-in) เข้ามาได้เลย โดยเบื้องต้นจะตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจโควิดแบบแอนติเจน (Antigen Test Kit: ATK) กรณีพบผลเป็นบวกจะตรวจซ้ำด้วย RT-PCR และส่งเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป ส่วนกรณีไม่พบว่าติดเชื้อ จะให้เข้ารับวัคซีนจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับการส่งเข้าสู่ระบบการรักษา จะแยกออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยจิตเวช กรณีพบว่าติดเชื้อและอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว จะนำส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา หากเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง จะประสานศูนย์เอราวัณ เพื่อนำส่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครต่อไป และเมื่อคนไร้บ้านได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติแล้ว จะส่งตัวให้กลับไปอยู่กับครอบครัว บ้านมิตรไมตรี หรือบ้านปันสุข
ส่วนกลุ่มผู้ป่วยทั่วไป จะนำผู้ป่วยส่งที่ศูนย์พักคอยเขตสะพานสูง กรณีผู้ป่วยมีบัตรประจำตัวประชาชน จะส่งเข้าฮอสพิเทล (Hospitel) โรงพยาบาลปิยะเวท ในกรณีที่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน หากเป็นคนไทยจะนำส่งโรงพยาบาลสนามเอราวัณ 2 และหากเป็นคนต่างด้าว จะนำส่งโรงพยาบาลสนามเอราวัณ 1
ผลตอบรับดี เตรียมขยายปฏิบัติการลงพื้นที่อื่น
นางพัชรี กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้เราพยายามเปิดโอกาสให้กลุ่มเปราะบางในพื้นที่เข้าถึงได้ง่าย จะสังเกตได้ว่าเราให้เขาวอล์กอินเข้ามาได้เลย และจะมีการลงทะเบียน ณ จุดบริการ เพื่อให้ง่ายต่อการนัดหมายฉีดวัคซีนครั้งถัดไป และเรายังถือโอกานี้ นำประวัติของเขาเข้าไปอยู่ในสมุดพกครอบครัวด้วย เพื่อต่อยอดการดูแลคุณภาพชีวิตเขาใน 5 มิติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ พม.ทำอยู่แล้ว ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตครัวเรือนเปราะบาง
ทั้งนี้หากโครงการริมคลองหลอด ปลอดโควิดนี้ ประสบความสำเร็จ คือ ได้ผลตอบรับดี มีประชาชนกลุ่มเปราะบางมาตรวจหาเชื้อและฉีดวัคซีนกันเยอะ จนมีอัตราการติดเชื้อที่ต่ำแล้ว และเรายังคงได้รับการสนับสนุนวัคซีน และทีมแพทย์ เราจะขยายปฏิบัติการแบบนี้ไปพื่นที่อื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน อย่างหัวลำโพง เป็นต้น ต่อไป
นางพัชรี กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า พม.จะไม่หยุดแค่ให้กลุ่มเปราะบางเข้าถึงระบบบริการด้านสุขภาพเท่านั้น แต่จะดูแลเรื่องผลกระทบต่างๆ ของวิกฤตโควิดด้วย ให้เขากลับมามีวิถีชีวิตปกติได้
“วันนี้เราดูแลกลุ่มเปราะบางเรื่องโควิด และวัคซีน ในอนาคตเราจะดูเรื่องคุณภาพชีวิต อาทิ การรักษาพยาบาล วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเขา เรื่องของอาชีพ รายได้ ที่อยู่อาศัย และการศึกษา เราจะไปดูว่าเราจะไปช่วยเขาได้อย่างไร ให้เขากลับมาสู่ชีวิตวิถีปกติได้ ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ได้ 100% แต่อะไรที่เราสามารถเข้าไปช่วยเขาให้ดีขึ้น อย่างน้อยอย่างละมิติก็ยังดี” นางพัชรี กล่าว
(รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล กรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มอาสาสมัคร CoCare)
จากโมเดล ‘ลิเวอร์พูล’ สู่ ‘Smart Control’ สร้างพื้นที่ปลอดโควิด
ด้าน รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล กรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มอาสาสมัคร CoCare กล่าวถึงโครงการริมคลองหลอดปลอดโควิดด้วยว่า โครงการนี้เป็นปฏิบัติการเพื่อการควบคุมการระบาดที่แตกต่างจากที่อื่นหรือรูปแบบอื่น เพราะมี ‘Smart Control’ ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้ลุ่มคนไร้ที่พึ่ง ไร้บ้าน หรือผู้ยากไร้ได้มาตรวจคัดกรองโควิด พร้อมจ่ายยา และฉีดวัคซีนให้อย่างเบ็ดเสร็จ
สำหรับ ‘Smart Control’ คือปฏิบัติการที่ประยุกต์ใช้มาจากการถอดบทเรีบนเมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ เพราะเมืองลิเวอร์พูล เป็นเมืองท่าเรือสำคัญ ที่มีคนอาศัยอยู่หนาแน่นและมีความเลื่อมล้ำสูง เหมือนในกรุงเทพมหานคร จากผลการศึกษาของเมืองนี้ พบว่า ทางอังกฤษได้เข้าไปตรวจคัดเชื้อเชิงรุก ครั้งแรกเจอการติดแค่ 0.6% ทุกคนก็เย็นใจ เพราะอัตราการระบาดต่ำกว่า 2% ซึ่งคือค่ามาตรฐานของโรคระบาดทั่วไปที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้ และเมื่อตรวจสอบลึกเข้าไปอีก อังกฤษพบว่าคนที่มาตรวจคัดกรองส่วนใหญ่เป็นคนขาว หรือคนชนชั้นกลางเท่านั้น แต่แรงงานระดับรากหญ้า ไม่ได้มาตรวจ เพราะ 1. เขาเข้าไม่ถึงการตรวจ และ 2. ความหวาดกลัวต่อการหยุดงานและไม่มีรายได้ กรณีตรวจแล้วพบเชื้อ ด้วยเหตุนี้อังกฤษจึงปรับแผนใหม่
เป็นที่มาให้เราตั้งจุดตรวจแบบใหม่ด้วยการใช้บุคคลากรที่มีขนาดเล็กกว่า มีการตรวจหาเชื้อด้วย ATK และ ตามด้วย RT-PCR กรณีตรวจพบแล้วติดเชื้อ เพื่อส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาได้ทันที พร้อมจ่ายยาให้กรณีพบติดเชื้อแล้วเป็นผู้ป่วยสีเขียว ส่วนผู้ที่ไม่พบเชื้อ จะฉีดวัคซีนให้เลย และที่สำคัญยังเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มาตรวจหาเชื้อซ้ำได้ถึง 4 ครั้ง ทุกวันศุกร์ ตลอดเดือน ก.ย.2564
“ปกติในกรุงเทพมหานคร เราจะเห็นการตั้งจุดตรวจหาเชื้อโควิดแบบใหญ่ๆ แต่จุดตรวจแบบนี้กลับเข้าไม่ถึงกลุ่มคนไร้บ้าน หรือยากไร้ เพราะไม่มีกำลังทางเศรษฐกิจที่จะไปบ้าง หรือบางคนมีอาชีพที่ต้องปิดบังซ่อนเร้น กลัวการถูกตีตราทางสังคม จึงไม่กล้าไป เพราะฉะนั้นเราจึงต้องวางรูปแบบการตรวจค้นหาเชิงรุกแบบใหม่ ด้วยกลุ่มคนขนาดเล็ก เพื่อเข้าถึงพี่น้องเหล่านี้ และเราจะไม่ตรวจหาเชื้อแค่ครั้งเดียว เราจะตรวจซ้ำอย่างน้อย 4 ครั้ง เพื่อลดอัตราการติดเชื้อจาก 6-7% ให้เหลือ 2% ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ระบบสาธารณสุขจะรองรับได้”
ทั้งนี้ ในสิ้นเดือนนี้เราจะมีการประเมินตัวเลขอีกทีว่า หากมีอัตราการติดเชื้อลดได้ต่ำกว่า 2% เราอาจประกาศว่า พื้นที่ริมคลองหลอดนี้เป็นพื้นที่ปลอดโควิดแห่งแรกของ กทม.
ให้ผู้ด้อยโอกาสเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ
รศ.ดร.ธนพร กล่าวถึงการทำงานครั้งนี้ว่า การทำงานของเราสะท้อนให้เห็นว่าเรามองทุกคนเท่าเทียมกัน ทุกคนมีโอกาสติดเชื้อเท่ากัน เพราะฉะนั้นเราถึงให้ความสำคัญกับพี่น้องชายขอบ กลุ่มคนยากไร้ คนเร่ร่อน รวมถึงคนไร้สัญชาติ และผู้อพยพ ยิ่งเป็นเพื่อนมนุษย์ ไม่ว่าจะชนชาติไหน เรายิ่งต้องให้ความสำคัญและดูแลเป็นพิเศษ เพราะโดยโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม กลุ่มคนไร้บ้าน คนยากจน ก็ได้รับผลกระทบเยอะมากพออยู่แล้ว การให้คุณค่าชีวิตพี่น้องเหล่านี้ เขาก็มีค่าเท่ากัน เขาควรได้รับความปลอดภัยเช่นเดียวกัน
"ดังนั้นการที่พื้นที่ริมคลองหลอด จะกลายเป็นพื้นที่ปลอดโควิดแห่งแรกของกรุงเทพฯ จะย้อนแย้งกันมาก เพราะกลุ่มคนชนชั้นกลางไปจนถึงคนรวย ยังไม่มีการประกาศว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยเลย แต่ในพื้นที่ของคนชายขอบกลุ่มนี้ เรากล้าประกาศว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย” รศ.ดร.ธนพร กล่าว
ส่วนผลตอบรับของโครงการนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ทุกคนต่างดีใจ โดยเฉพาะกลุ่มคนไร้บ้าน คนเร่ร่อน และประชาชนที่มีอาชีพบริการอิสระ เพราะเดิมเขาเข้าไม่ถึงระบบบริการด้านสุขภาพเลย และในการตรวจหาเชื้อ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2564 ที่ผ่านมา ก็มีประชาชนเข้ามารับบริการแล้ว 243 ราย พบผลติดเชื้อ 8 ราย คิดเป็นอัตราการติดเชื้อ 3.3%
ผลตรวจโควิด 17 ก.ย. ไม่พบผู้ติดเชื้อ
ขณะที่ นางอัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานใกล้ชิดกับกลุ่มคนไร้บ้าน ยากไร้ และคนในชุมชนริมคลองหลอด กล่าวอีกว่า จากการลงพื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ กิจกรรมแบ่งปันอาหารให้กับกลุ่มเปราะบางทางสังคมทุกวันอังคาร ทำให้เรามีข้อมูลและสามารถชักชวนกลุ่มเปราะบางนี้ ให้มาตรวจหาเชื้อโควิดและรับวัคซีนได้ ซึ่งเราได้รับผลตอบรับที่ดี และประชาชนในพื้นที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างมาก
“ทุกคนต่างรู้สึกขอบคุณที่ทำให้เขาได้เข้าถึงการตรวจหาเชื้อ เข้าถึงวัคซีน และได้รับยารักษาโควิด เพราะในศูนย์พักคอยหรือโรงพยาบาลสนามส่วนใหญ่จะรับแต่คนที่ช่วยเหลือตัวเองได้ กรณีที่เป็นผู้ป่วยจิตเวช โดยเฉพาะผู้ที่นอนอยู่ริมถนน มักจะถูกละเลย ทีมจิตอาสามูลนิธิอิสรชนจึงเข้ามาช่วยในส่วนนี้ ช่วยจ่ายยารักษาโควิดให้เขาทุกวันทั้งช่วงเช้าและเย็น เพราะเรื่องนี้คือความความปลอดภัยสำหรับชีวิตเขา และอีกชีวิตนึง ก็คือคนรอบข้างที่ผ่านไปมาด้วย” นางอัจฉรา กล่าว
ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับยารักษาโควิดทุกคนตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ต่างมีอาการดีขึ้น มีหลายคนที่หายป่วยแล้ว และผลการตรวจหาเชื้อโควิดเมื่อวันที่ 17 ก.ย.2564 จำนวน 43 ราย ก็ไม่พบเชื้อเลย นับเป็นสัญญาณที่ดีที่เกิดในถนนพื้นที่สาธารณะ ขณะที่การฉีดวัคซีนก็สามารถฉีดให้ประชาชนได้แล้วกว่า 300 ราย
คนไร้บ้านมีโอกาสติดโควิดน้อย
นางอัจฉรา กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า คนส่วนใหญ่มักจะมีทัศนคติกับผู้ที่อยู่ริมถนนในเชิงลบว่า น่ารังเกลียด หรือสกปรก โดยน้อยคนจะมองถึงต้นตอ หรือสาเหตุ เราจึงอยากให้ทุกคนมองความเป็นคนเท่ากัน และอยากชวนให้คิดว่า กลุ่มเปราะบางนี้เขาอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นพื้นที่โล่ง โอกาสการติดเชื้อโควิดของเขา ในความเป็นจริงแล้วจึงน้อยมาก แต่จะป่วยด้วยโรคอื่นๆ มากกว่า ซึ่งการมีโครงการริมคลองหลอด ปลอดโควิด จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการการันตีว่า กลุ่มคนไร้บ้าน คนยากไร้ หรือคนประกอบอาชีพบริการอิสระ ไม่ได้น่ารังเกลียด หรือน่ากลัว อย่างที่สังคมภายนอกคิด
โครงการริมคลองหลอด ปลอดโควิด เป็นโครงการแรกที่ตั้งเป้าไว้เพื่อควบคุมการระบาดภายในพื้นที่ที่มีกลุ่มคนไร้บ้าน คนยากไร้ หรือพนักงานอาชีพบริการอิสระอาศัยอยู่ ให้มีอัตราการติดเชื้อที่ต่ำกว่า 2% หรือไม่พบผู้ติดเชื้อ ผ่านมาแล้วกว่า 3 สัปดาห์ ล่าสุดไม่พบผู้ติดเชื้อแล้ว หากสถานการณ์จนถึงสิ้นเดือนนี้ยังดีอย่างต่อเนื่อง เราคงจะได้เห็นการประกาศเป็นพื้นที่ปลอดโควิดแห่งแรกของ กทม. นับว่าเป็นข่าวดีและสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายคนคิด
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage