"..หวังว่าถ้าเปิดพื้นที่ได้ทั้งหมด 10 พื้นที่ แม้ว่าประเทศไทยเองก็คิดว่ามีข้อจำกัดอยู่บ้าง เพราะเป็นประเทศที่ห้ามเดินทางเข้ามา เนื่องจากมีการระบาดอยู่สูง แต่เราก็ยังตั้งเป้าสูง ประมาณสัก 1 ล้านคนในปลายปีนี้ คิดเป็น 10 % ของนักท่องเที่ยวที่เคยเดินทางเข้ามาในประเทศไทย จากเดือนละ 3 ล้านคน ก็เหลือเดือนละ 3 แสน ในช่วงเวลาที่เหลือ และคิดว่าน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการท่องเที่ยวในประเทศไทยทั้งในปีนี้และปีหน้า.."
---------------------------------------------
จากนโยบายการขับเคลื่อนประเทศ โดยการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวใน 120 วัน ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่ประกาศเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา
รัฐบาลได้เดินหน้าตามแผนเปิดพื้นที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว และมีผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR เป็นลบ สามารถท่องเที่ยวได้แบบไม่ต้องถูกกักตัว ในรูปแบบ Sealed Area หรือเที่ยวในพื้นที่จำกัด โดยนำร่องระยะที่ 1 ในรูปแบบ 'แซนด์บ็อกซ์' เริ่มที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2564 เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี ในวันที่ 15 ก.ค.2564 และ 16 ส.ค.2564 ในพื้นที่จังหวัดพังงาและจังหวัดกระบี่
และในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ หรือวันที่ 1 ต.ค.2564 จะเริ่มดำเนินการในระยะที่ 2 เปิดพื้นที่เพิ่มอีก 5 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเชียงใหม่
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยกับ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า การเปิดพื้นที่รับนักท่องเที่ยวจะต้องดำเนินการไปตามขั้นตอน และคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ประกอบด้วย ประชากรในพื้นที่ดังกล่าว จะต้องได้รับวัคซีนโควิดครบโดส มากกว่า 70% ขึ้นไป และจะต้องมีแผนเผชิญเหตุ หากกรณีเกิดการระบาดขึ้น โดยนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬาได้มีการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบความพร้อมของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ ทุกพื้นที่ที่จะเปิดในไตรมาส 4 ยืนยันว่าจะฉีดวัคซีนได้ตามเป้าที่กำหนด เนื่องจากเป็นการเปิดพื้นที่เฉพาะไม่ใช่ทั้งจังหวัด เช่น จังหวัดเชียงใหม่ เปิดพื้นที่เพียงแค่ 4 อำเภอเท่านั้น
ส่วน กทม. การแบ่งเปิดพื้นที่นั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เช่น หากขับรถจากกระทรวงท่องเที่ยวฯ ขึ้นทางด่วนยมราช ก็ผ่านแล้ว 3 เขต อีกทั้งการดำเนินการฉีดวัคซีนยังไม่ครอบคลุมทั้ง 70% จึงได้เลื่อนการเปิดพื้นที่ออกไปก่อน
ไม่กังวลพื้นที่รอยต่อ ย้ำมีมาตรการระบบติดตาม
นายยุทธศักดิ์ กล่าวถึงข้อกังวลเรื่องการควบคุมการระบาด เนื่องจากเป็นพื้นที่จังหวัดที่จะเปิด เป็นพื้นที่รอยต่อว่า ที่ผ่านมาสำหรับการเปิดเกาะภูเก็ต เหตุผลมาจากเป็นการควบคุมเรื่องปริมาณการฉีดวัคซีน เนื่องจากในขณะนั้นพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย ยังได้รับวัคซีนไม่เพียงพอ แต่ขณะนี้ การดำเนินการฉีดวัคซีนทั่วประเทศเพิ่มขึ้นตามลำดับ จึงไม่ต้องกังวลเรื่องการบุคคลที่เดินทางเข้ามาว่าจะไม่ได้รับวัคซีน อีกทั้งมีระบบควบคุมและติดตาม
นายยุทธศักดิ์ กล่าวด้วยว่า จากข้อมูลการดำเนินการโครงการ 'ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์' ระหว่างวันที่ 1 ก.ค.-16 ก.ย.2564 รวม 78 วันที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าทั้งสิ้น 32,841 ราย มีผู้ติดเชื้อ 95 ราย คิดเป็น 0.28-0.29% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก และจากการหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า จากอัตราพบผู้ติดเชื้อดังกล่าว ค่อนข้างที่จะมั่นใจและแสดงให้เห็นว่า ไม่มีการติดเชื้อจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศมาที่คนไทย ขณะเดียวกัน คนไทยในภูเก็ต ก็มีการเร่งตรวจเชิงรุกต่างๆ โดยมีตัวเลขผู้ติดเชื้อประมาณ 230 ราย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว
"พื้นที่รอยต่อ แม้ไม่ใช่พื้นที่เกาะ จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่กระจาย คิดว่ามันขึ้นอยู่กับรูปแบบการระบาด และพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวมากกว่า และจากประสบการณ์ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ในภูเก็ต จะเป็นผู้ติดเชื้อสีเขียว จึงมีความเสี่ยงค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ติดเชื้อสีเหลืองหรือสีแดง"
เช่นเดียวกับ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่เป็นรอยต่อสู่จังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนพื้นที่ประจวบคีรีขันธ์ กำหนดเปิดพื้นที่เฉพาะอำเภอหัวหิน ประมาณ 80 ตารางเมตร อีกมีการวางมาตรการและระบบดูแลและติดตามบุคคล
"สิ่งที่เรากังวล อาจจะมีคนไทยที่มีการระบาดเยอะ แต่ขณะเดียวกัน ก็มีมาตรการ เพราะทุกคนไม่ได้ฟรีหมด อย่างคนต่างชาติเอง ก็มีระบบหมอพร้อม และมีการตรวจหาเชื้ออย่างสม่ำเสมอ ในส่วนของวันที่ 6 หรือวันที่ 7 วันที่ 12 วันที่ 13 อย่างที่อย่างที่เกิดขึ้นที่ภูเก็ต"
นายยุทธศักดิ์ กล่าวต่อว่า โรงแรมต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวเข้าพัก จะรับหน้าที่ดูแลติดตาม โดยตอนเช้าจะมีการยืนยันตัว ซึ่งจะทำให้โอกาสที่นักท่องเที่ยวจะปะปนหรือเข้าไปในพื้นที่อื่นๆ ค่อนข้างน้อย รวมถึงปัจจุบัน นักท่องเที่ยวเข้ามาแค่ประมาณหลักหมื่นคนต่อวัน ต่างจากในอดีตที่เข้ามาวันละ 3-4 แสนคนต่อวัน ทำให้สามารถควบคุมและจำกัดพื้นที่ได้ดีในระดับหนึ่ง
คาดรายได้ 6 หมื่นล้านบาทในปลายปีนี้
นายยุทธศักดิ์ กล่าวถึงจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ว่า นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่จะเข้ามาในช่วงปลายปีนี้ ในอดีตส่วนใหญ่ เป็นนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศระยะใกล้ เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น แต่ขณะนี้รัฐบาลของประเทศนั้นๆ ไม่อนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศได้ ทำให้เป้าหมายนักท่องเที่ยวที่วางแผนชักจูงและเชิญชวนเข้ามา จึงเป็นนักท่องเที่ยวที่ต้องการหนีหนาว เช่น ฝั่งยุโรป รัสเซีย เยอรมนี สหราชอาณาจักร เป็นต้น
"หวังว่าถ้าเปิดพื้นที่ได้ทั้งหมด 10 พื้นที่ จากข้อมูลเมื่อปี 2562 พื้นที่เหล่านี้ ในอดีตรับนักท่องเที่ยวประมาณ 70-80% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่แล้ว แม้ว่าประเทศไทยเองก็คิดว่ามีข้อจำกัดอยู่บ้าง เพราะเป็นประเทศที่ห้ามเดินทางเข้ามา เนื่องจากมีการระบาดอยู่สูง แต่เราก็ยังตั้งเป้าสูง ประมาณสัก 1 ล้านคนในปลายปีนี้ คิดเป็น 10 % ของนักท่องเที่ยวที่เคยเดินทางเข้ามาในประเทศไทย จากเดือนละ 3 ล้านคน ก็เหลือ เดือนละ 3 แสน ในช่วงเวลาที่เหลือ รวมประมาณ 1 ล้านคนพอดี และคิดว่าน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการท่องเที่ยวในประเทศไทยทั้งในปีนี้และปีหน้า"
ส่วนเรื่องรายได้ประเทศ นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ข้อมูลจากโครงการ 'ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์' โดยรายจ่ายต่อทริปของนักท่องเที่ยว เฉลี่ยอยู่ที่ 60,000 บาทต่อคน คิดว่าการเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวในปลายปีนี้ จะสร้างรายได้สะสมไม่น้อยกว่า 6 หมื่นล้านบาท
สำหรับมาตรการที่ยังคงจำกัดการเปิดกิจการและกิจกรรม ที่อาจจะเป็นเหตุผลของการติดสินใจของนักท่องเที่ยว นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า จะต้องถือหลักความปลอดภัยของคนไทยเป็นสำคัญ แต่ทั้งนี้ได้มีการหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากการกำหนดพื้นที่โซนสีการระบาด ทำให้มีข้อจำการของการเปิดกิจการและกิจกรรม แต่เพื่อเอื้อการท่องเที่ยว รวมถึงเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่ น่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการบางอย่าง ส่วนรายละเอียด SOP ของแต่ละพื้นที่ อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการปรับกันอยู่ ทั้งนี้ ศปก.ศบค.จะพิจารณาประเด็นเรื่องเปิดพื้นที่ก่อน ในวันที่ 20 ก.ย.นี้
(สำนักข่าวอิศรารวบรวมข้อมูลจาก ศบค.)
สำนักข่าวอิศรา ได้รวบรวมข้อมูจำนวนผู้ติดเชื้อแต่ละพื้นที่ 4 จังหวัด ที่จะเปิดพื้นที่รับนักท่องเที่ยวในเดือน ต.ค.นี้ มีรายละเอียดดังนี้
ชลบุรี
จังหวัดชลบุรี มียอดผู้ติดเชื้อระหว่างวันที่ 1- 15 ก.ย. รวม 13,417 ราย เฉลี่ยวันละ 849 ราย โดยยอดติดเชื้อสูงสุดอยู่ที่อำเภอศรีราช รองลงมาคือ อำเภอเมือง และบางละมุง ขณะที่ความคืบหน้าการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 50.59% ของประชากรในพื้นที่ แต่ทั้งนี้ จะเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวเฉพาะพื้นที่อำเภอเมืองพัทยา อำเภอบางละมุง และอำเภอสัตหีบ ภายใต้โครงการ 'นีโอ พัทยา'
เพชรบุรี
จังหวัดเพชรบุรี มียอดผู้ติดเชื้อระหว่างวันที่ 1- 15 ก.ย. รวม 1,409 ราย เฉลี่ยวันละ 94 ราย ขณะที่ความคืบหน้าการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 46.79% ของประชากรในพื้นที่ แต่ทั้งนี้ จะเปิดพื้นที่เฉพาะอำเภอชะอำเท่านั้น
ประจวบคีรีขันธ์
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มียอดผู้ติดเชื้อระหว่างวันที่ 1- 15 ก.ย. รวม 1,135 ราย เฉลี่ยวันละ 37 ราย ขณะที่ความคืบหน้าการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 39.44% ของประชากรในพื้นที่ แต่ทั้งนี้จะเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวเฉพาะพื้นที่หัวหินเท่านั้น
เชียงใหม่
จังหวัดเชียงใหม่ มียอดผู้ติดเชื้อระหว่างวันที่ 1- 15 ก.ย. รวม 550 ราย เฉลี่ยวันละ 94 ราย ขณะที่ความคืบหน้าการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 28.48% ของประชากรในพื้นที่ แต่ทั้งนี้จะเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวเฉพาะพื้นที่อำเภอเมือง แม่ริม แม่แตง ดอยเต่าเท่านั้น ภายใต้โครงการ 'ชาร์มมิ่ง เชียงใหม่'
จะต้องติดตามกันต่อไปว่า ข้อสรุปของแต่ละมาตรการและความพร้อมในการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในแต่ละพื้นที่จะเป็นอย่างไร
อ่านประกอบ:
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage