"...วิธีหยุดการแพร่กระจายและติดเชื้อเชื้อได้ดีที่สุด คือการปฏิบัติตัวตามวิธีและมาตรการป้องกันการติดเชื้อ ประกอบกับ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชนิทร รองประธานที่ปรึกษา ศบค. เสนอให้รัฐบาลประชาสัมพันธ์สื่อสารเรื่องการป้องกันตัวเองทุกกรณี (Universal Prevention) สอดคล้องกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.กำธร มาลาธรรม ที่ปรึกษา ศบค. เห็นว่าต้องเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกิดการเตรียมพร้อม การระมัดระวังในการป้องกันตนเองขั้นสูงสุดโดยพร้อมเพรียงกันทั้งประเทศ..."
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้า กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2564 อนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น งบประมาณประจำปี 2564 จำนวน 105.59 ล้านบาท ให้กรมประชาสัมพันธ์ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการรณรงค์เอาชนะโควิดตามมาตรการเร่งด่วน (Thailand Prevention) สำหรับผลิตและเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์เพื่อการป้องกันและแก้ไขสถานการณ์อันมีผลกระทบอันเนื่องมาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) เฉพาะกิจกรรมที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการในระยะเร่งด่วน (ภายในเดือนธันวาคม 2564)
โดยแบ่งออกเป็น 2 กิจกรรม ดังนี้ 1.ผลิตและเผยแพร่ สปอตทางวิทยุ และโทรทัศน์ จำนวน 51,592,000 บาท 2.ผลิตและเผยแพร่ผ่านสื่อโฆษณา Online จำนวน 54,000,000 บาท
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เมื่อวันที่ 7-8 ก.ย.2564 กรมประชาสัมพันธ์ ได้เผยแพร่แผนการจัดซื้อจัดจ้าง ประกาศร่างข้อกำหนดคุณลักษณะเฉพาะ รวมถึงขอบเขตของงาน (ทีโออาร์ ) ของทั้ง 2 โครงการ ดังนี้
1.โครงการผลิตและเผยแพร่ สปอตทางวิทยุ และโทรทัศน์ ภายใต้โครงการรณรงค์เอาชนะโควิดมาตรการเร่งด่วน (Thailand Prevention) วงเงินที่ได้รับการจัดสรร 51,592,000 บาท กำหนดราคากลาง 51,570,000 บาท
โดยแหล่งที่มาของราคากลาง คือ 1.บริษัท ช็อกโกแลต แอคทิเวชั่น จำกัด 2.บริษัท ทริปเปิล เอท ไอเดียส์ จำกัด (สำนักงานใหญ่) แบะ 3.บริษัท หกสิบ หรรษา จำกัด
2.โครงการผลิตและเผยแพร่ผ่านสื่อโฆษณา Online โครงการรณรงค์เอาชนะโควิดมาตรการเร่งด่วน (Thailand Prevention) วงเงินที่ได้รับการจัดสรร 54,000,000 บาท กำหนดราคากลาง 53,950,000 บาท
โดยแหล่งที่มาของราคากลาง คือ 1.ใบเสนอราคา บริษัท ซิตี้ อินโนเวชั่น รีเซิร์ซ จำกัด ลงวันที่ 6 ก.ย.2564 2.ใบเสนอราคา บริษัท ไทยเคเบิ้ล แชนแนลส์ จำกัด ลงวันที่ 6 ก.ย.2564 และ 3.ใบเสนอราคา บริษัท ติงค์ ดิฟเฟอร์เร้นท์ จำกัด ลงวันที่ 3 ก.ย.2564
ทั้งนี้ การประกวดราคาจ้างทั้ง 2 โครงการ จะใช้วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิสก์ (e-bidding)
หวังเกิดการป้องกันตนเองขั้นสูงสุดโดยพร้อมเพรียงทั่วประเทศ
สำหรับทีโออาร์ โครงการผลิตและเผยแพร่ สปอตทางวิทยุ และโทรทัศน์ ภายใต้โครงการรณรงค์เอาชนะโควิดมาตรการเร่งด่วน (Thailand Prevention) มีรายละเอียด ที่น่าสนใจ ดังนี้
ความเป็นมาโครงการ ระบุตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วและกว้างขวางในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งตามข้อเท็จจริงที่พิสูจน์แล้วในต่างประเทศ พบว่าวัคซีนไม่ใช่ทางออกสุดท้ายสำหรับการแก้ปัญหา เพราะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ การฉีดวัคซีนเป็นเพียงการกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส ช่วยลดความรุนแรงของอาการติดเชื้อ และลดอัตราการเสียชีวิตได้
แต่วิธีหยุดการแพร่กระจายและติดเชื้อเชื้อได้ดีที่สุด คือการปฏิบัติตัวตามวิธีและมาตรการป้องกันการติดเชื้อ ประกอบกับ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชนิทร รองประธานที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) เสนอให้รัฐบาลประชาสัมพันธ์สื่อสารเรื่องการป้องกันตัวเองทุกกรณี (Universal Prevention) ผ่านทุกช่องทางสู่ประชาชน สอดคล้องกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.กำธร มาลาธรรม ที่ปรึกษา ศบค. ที่เห็นว่าต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้กับทุกคนปฏิบัติเพื่อให้เกิดการเตรียมพร้อม การระมัดระวังในการป้องกันตนเองขั้นสูงสุดโดยพร้อมเพรียงกันทั้งประเทศ
กรมประชาสัมพันธ์จึงได้จัดทำโครงการผลิตและเผยแพร่สปอตทางวิทยุและโทรทัศน์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ มาตรการ วิธีปฏิบัติ และแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน การใช้ชีวิตรูปแบบวิถีใหม่ (New Normal) รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและแก้ปัญหาการระบาดของโควิด
แพร่สปอตทีวี 100 ครั้ง - วิทยุ 2,220 ครั้ง - ไทอิน 1,640 ครั้ง
ผู้รับจ้างต้องเสนอแนวคิดความสร้างสรรค์ในการผลิตสื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุกระจายเสียง และพูดแทรก / เผยแพร่ VTR รวมถึงสื่อประชาสัมพันธ์อื่นๆ ในรายการ (Tie-in) เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้ประชาชน ตระหนักถึงการดูแลตนเองและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด พร้อมนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และวางแผนเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อที่กำหนด
- ผลิตสปอตโทรทัศน์ ความยาว 30 วินาที จำนวน 2 สปอต โดยเน้นเนื้อหาให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ โดยเผยแพร่สปอตจำนวนไม่น้อยกว่า 100 ครั้งในรายการหรือช่วงเวลาที่ได้รับความนิยมของสถานีโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงไม่น้อยกว่า 9 สถานี
- ผลิตสปอตวิทยุ ความยาว 30 วินาที จำนวน 12 สปอต โดยเน้นเนื้อหาให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อวิทยุกระจายเสียงที่มีชื่อเสียงในรายการหรือช่วงเวลาที่ได้รับความนิยมไม่น้อยกว่า 9 สถานี เผยแพร่จำนวนไม่น้อยกว่า 2,220 ครั้ง
- เผยแพร่ พูดแทรก , VTR รวมถึงสื่อประชาสัมพันธ์อื่นๆ ในรายการโทรทัศน์ (Tie-in) โดยต้องเป็นรายการหรือช่วงเวลาที่ได้รับความนิยมของสถานีโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงไม่น้อยกว่า 15 สถานี รวมจำนวนไม่น้อยกว่า 1,640 ครั้ง
3 Key message สื่อสารออนไลน์
สำหรับทีโออาร์ โครงการผลิตและเผยแพร่ผ่านสื่อโฆษณา Online โครงการรณรงค์เอาชนะโควิดมาตรการเร่งด่วน (Thailand Prevention) มีรายละเอียด ที่น่าสนใจ ดังนี้
ความเป็นมาโครงการ ระบุตอนหนึ่งว่า การแพร่ระบาดของโควิด ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของทุกคนในประเทศไทย ทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจของประเทศ จากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น รัฐบาลใช้งบประมาณไปแล้วมากกว่าล้านล้านบาท ในการดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขและทางสังคมอย่างหลากหลายเพื่อแก้ไข เยียวยา และบรรเทาผลกระทบต่อที่มีต่อประชาชนคนไทยในมิติต่างๆ
ทั้งนี้โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ รับและแพร่เชื้อได้ง่ายโดยไม่รู้ตัว การแก้ปัญหาให้ประชาชน สามารถ 'อยู่แบบรู้ คู่โควิด' ได้อย่างปลอดภัย ต้องอาศัยพลังการสื่อสาร ในรูปแบบการรณรงค์สร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่น ไปสู่การปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมผ่านสื่ออย่างเข้มข้น
จากผลการประชุม ครม.มีมติอนุมัติโครงการรณรงค์เอาชนะโควิดตามมาตรการเร่งด่วน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ มาตรการ วิธีปฏิบัติและแนวทางแก้ไขปัญหา โดยเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์เพื่อปรับวิธีคิดให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างรอบด้าน ให้กลายเป็นวิถีประชาที่พึงปฏิบัติร่วมกันของในชาติ 'เพื่อตัวเอง เพื่อครอบครัว เพื่อประเทศชาติ' อันจะส่งผลให้ตัวเรา ครอบครัว และคนที่เรารักมีความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น กรมประชาสัมพันธ์จึงกำหนดกิจกรรมผลิตและเผยแพร่ผ่านสื่อโฆษณาออนไลน์ ภายใต้โครงการดังกล่าว
สำหรับเนื้อหาในการสื่อสารกำหนด Key message 3 เรื่อง คือ ลดการแพร่เชื้ออย่างรวดเร็ว แก้โควิดที่ต้นเหตุ , อยู่แบบรู้ คู่โควิด , หยุดเชื้อเพื่อตัวเอง เพื่อครอบครัว เพื่อประเทศชาติ โดยให้สื่อสารสร้างความรู้และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด , มาตรการและการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ , วิธีการปฏิบัติตัวที่จะไม่ไปรับเชื้อหรือการไม่แพร่เชื้อ 12 ข้อ เป็นต้น
12 คลิป 2 เวอร์ชัน แชร์ผ่านเพจ-อินฟลูเอนเซอร์
ผู้รับจ้างจะต้องผลิตวิดีโอคลิป 12 เรื่อง แต่ละเรื่องประกอบด้วย 2 เวอร์ชั่น สำหรับเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ ให้เหมาะสมตามกลุ่มเป้าหมาย โดยมีความยาว 30 วินาที และ 15 วินาที รวมทั้งหมด 24 ชิ้นงาน
ทั้งนี้ให้ เผยแพร่วิดีโอคลิป ผ่านสื่อออนไลน์ที่เป็นที่รู้จัก จำนวนไม่น้อยกว่า 75 ช่องทาง แบ่งเป็น 4 ประเภท ดังนี้
ประเภทที่ 1 เผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มรูปแบบโฆษณาต่างๆ ไม่น้อยกว่า 22 ช่องทาง โดยต้องมีจำนวนครั้งที่แสดงโฆษณาไม่น้อยกว่า 240 ล้านอิมเพรสชัน (impressions) , จำนวนการเข้าถึงไม่น้อยกว่า 250,000 คลิก , ไม่น้อยกว่า 7.5 ล้านวิว และการเข้าถึง (Reach) ไม่น้อยกว่า 29 ล้านครั้ง
ประเภทที่ 2 เผยแพร่เนื้อหา (Content) ผ่านสื่อออนไลน์ที่มีชื่อเสียงไม่น้อยกว่า 33 ช่องทาง ที่มีผู้ติดตามรวมกันไม่น้อยกว่า 170 ล้าน followers โดยจำนวนการเผยแพร่รวมทุกช่องทางไม่น้อยกว่า 105 ครั้ง ทุกโพสต์ ทุกช่องทาง ต้องตั้งค่าเป็นสาธารณะ (Public) ไม่น้อยกว่า 60 วัน
ประเภมที่ 3 เผยแพร่เนื้อหา (Content) ผ่านเพจบุคคลที่มีชื่อเสียง ในรูปแบบที่สร้างสรรค์ เช่น Page Facebook , Instagram , Youtube หรือช่องทางสื่อโซเชียลที่เหมาะสมไม่น้อยกว่า 20 ช่องทาง ที่มีผู้ติดตามรวมไม่น้อยกว่า 19 ล้าน followers
ประเภทที่ 4 เผยแพร่เนื้อหา (Content) ผ่านอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ในรูปแบบที่สร้างสรรค์ ทั้งภาพนิ่งหรือภาพวีดีโอ และการแชร์โพสต์ ผ่านช่อทางออนไลน์ ไม่น้อยกว่า 500 คน ที่มีผู้ติดตามคนละไม่น้อยกว่า 3,800 followers และมีจำนวนการเข้าถึง ไม่น้อยกว่า 260,000 ครั้ง จำนวนเผยแพร่ไม่น้อยกว่า 500 ครั้ง (นับรวมถึงแพลตฟอร์ม) โดยทุกโพสต์ ทุกช่องทาง ต้องตั้งค่าเป็นสาธารณะ (Public) ไม่น้อยกว่า 60 วัน
ทั้งนี้รายละเอียดสื่อออนไลน์ และกรอบเวลาอาจมีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับสถานการณ์
โดยทั้ง 2 โครงการ แบ่งออกเป็น 3 งวดงาน กำหนดรวมระยะเวลาการดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับถัดจากวันที่ลงนามในสัญญา
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage