"...ในประเด็นเรื่องการทำสัญญากันระหว่างรัฐบาลกับทางบริษัทนั้น จะพบรายละเอียดเกี่ยวกับข้อตกลงทางด้านราคานั้นจะถูกระบุว่าเป็นความลับ หรือไม่ก็มีการป้ายดำในส่วนของรายละเอียดเอาไว้ และเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซีย.."
.......................
ปรากฏเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลกเมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จากกรณีที่ศาลอาญาคดีทุจริตในกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย พิพากษาจำคุก นายจูเลียรี บาตูบารา อดีตรัฐมนตรีกระทรวงสวัสดิการสังคมของอินโดนีเซีย เป็นเวลา 12 ปี พร้อมสั่งปรับเงิน 500 ล้านรูเปียห์ (ประมาณ 1.14 ล้านบาท) ในคดีทุจริตโครงการช่วยเหลือด้านอาหารแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19
โดยศาลอาญาคดีทุจริตในกรุงจาการ์ตา ตัดสินว่า นายบาตูบารา ถูกพิสูจน์แล้วว่ามีความผิดจริง ฐานรับเงินสินบนจำนวน 3.24 หมื่นล้านรูเปียห์ (ราว 74.58 ล้านบาท) จากเจ้าหน้าที่ในสังกัด ที่รับเงินดังกล่าวมาจากผู้รับเหมาหลายราย ซึ่งมีหน้าที่จัดสรรความช่วยเหลือด้านอาหารแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19
ล่าสุด เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ประเทศอินโดนีเซีย ได้มีจัดเวทีเสวนาออนไลน์เพื่อหารือกันถึงการแก้ไขปัญหาการทุจริตในช่วงวิกฤติโควิด-19 ว่า จะดำเนินการอย่างไร หลังเกิดกรณี นายจูเลียรี บาตูบารา โดยมีผู้ดำเนินการเสวนาคือเครือข่ายต่อต้านการทุจริตของประเทศอินโดนีเซีย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) แปลและเรียบเรียงรายละเอียดการเสวนาดังกล่าวมานำเสนอ ณ ดังนี้
“กรณีการทุจริตนั้นถือเป็นเรื่องปกติที่จะมีตัวเลขค่อนข้างสูงในช่วงเวลาวิกฤติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสถาบัน หน่วยงานกำกับดูแล และความเชื่อมั่นของสาธารณะนั้นมีต่ำมาก”นายเออร์รี่ ริยานา ฮาร์ดจาปาเมกาส (Erry Riyana Hardjapamekas) ประธานเครือข่ายแนวร่วมต่อต้านการทุจริตของสาขาประเทศอินโดนีเซียหรือ CAC และอดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของอินโดนีเซียหรือ KPK ระบุ
นายเออร์รี่ กล่าวต่อว่าจากกสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้นส่งผลทำให้รัฐบาลต่างประเทศทั่วโลกรวมทั้งที่ประเทศอินโดนีเซียมีความจำเป็นต้องจัดซื้อเวชภัณฑ์และการบริการต่าง ๆ อย่างเร่งด่วนเพื่อใช้สำหรับภารกิจทางด้านมนุษยธรรม
ซึ่งจากสถานการณ์ที่ว่ามานั้น ส่งผลทำให้กฎระเบียบต่าง ๆ ถูกผ่อนคลายลง เปิดทางให้เกิดช่องทางการทุจริตที่มาจากทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและจากภาคส่วนเอกชน และแน่นอนว่าการทุจริตที่เกิดขึ้นหลายกรณีนั้นก็จะกลายเป็นสิ่งที่กำหนดประสิทธิภาพความพยายามที่จะจำกัดโรคระบาดเอาไว้
เนื่องจากจะต้องไปเสียเงินจำนวนมากอย่างไม่มีความจำเป็น และส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขที่จะมีผลต่อผู้คนนับพัน
@งบประมาณขนาดใหญ่
ทั้งนี้ สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศอินโดนีเซียนั้น ทำให้รัฐบาลอินโดนีเซียต้องเพิ่มงบประมาณด้านสาธารณสุขคิดเป็นมูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์ โดยอยู่ที่ 132.2 ล้านล้านรูเปียห์ (302,588,273,717 บาท) ในปี 2563
ขณะที่นางนาตาเลีย โซบักโจ (Natalia Soebagjo) สมาชิกอาวุโสขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ กล่าวว่า ยิ่งงบประมาณการใช้จ่ายมีสูงเท่าไร นั่นหมายความว่าความต้องการที่จะมีความโปร่งใส,ความรับผิดชอบ,การมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจแต่ละขั้นตอนนั้นก็จะต้องมีมากขึ้นเท่านั้น
ในช่วงปี 2564 มีรายงานว่ามีการแบ่งงบประมาณจำนวนกว่า 169.7 ล้านล้านรูเปียห์ (388,223,732,297 บาท) เพื่อแบ่งมาใช้ทั้งในการจัดซื้อวัคซีนและเงินอุดหนุนให้กับระบบประกันสุขภาพแห่งรัฐ
“ในประเด็นเกี่ยวกับการจัดซื้อวัคซีนทางองค์กรเพื่อความโปร่งใสฯ ได้มีการทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้และดูเหมือนว่าจะมีแนวโน้มด้านการทุจริตเกิดขึ้น” นางนาตาเลียกล่าว
สมาชิกองค์กรเพื่อความโปร่งใสรายนี้ กล่าวอีกว่า ในประเด็นเรื่องการทำสัญญากันระหว่างรัฐบาลกับทางบริษัทนั้น จะพบรายละเอียดเกี่ยวกับข้อตกลงทางด้านราคานั้นจะถูกระบุว่าเป็นความลับ หรือไม่ก็มีการป้ายดำในส่วนของรายละเอียดเอาไว้ และเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซีย
บรรยากาศการเสวนาออนไลน์
“บางบริษัทนั้นมีสิ่งที่เรียกกันว่าข้อตกลงอันเป็นความลับเพื่อที่จะปกป้องพวกเขาจากข้อโต้แย้งในอนาคต และแน่นอนว่ามีประเด็นเรื่องการขาดความโปร่งใสเกิดขึ้นในช่วงเวลาระหว่างการวิจัยและพัฒนาหรือที่เรียกว่าอาร์แอนด์ดี”นางนาตาเลียกล่าว
ทั้งนี้ คำถามสำคัญอย่างยิ่งที่รัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดก็ตามจะต้องตอบให้ได้ในประเด็นเรื่องเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ก็คือว่า วัคซีนที่รัฐบาลได้จัดหามานั้นมีจำนวนเท่าไรกันแน่,วัคซีนจะมาจัดส่งเมื่อไร,มีการจ่ายเงินค่าวัคซีนเป็นจำนวนเท่าไรกันแน่เมื่อเทียบเป็นปริมาณต่อโดสและรัฐบาลจะมีข้อมูลรายงานการฉีดวัคซีนแบบเรียลไทม์หรือไม่
ซึ่งในกรณีของรัฐบาลอินโดนีเซียนั้นสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังมีหลายสิ่งมากที่ต้องกระทำ
โดยกระทรวงสาธารณสุขของอินโดนีเซียนั้นได้มีการทำเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลการฉีดวัคซีนแบบเรียลไทม์ และจำนวนสต็อกวัคซีนคงเหลือในแต่ละท้องที่แล้ว เพื่อจะให้เกิดความโปร่งใสในการกระจายวัคซีนยังท้องถิ่นต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม ในประเทศอินโดนีเซียนั้นยังมีกรณีทุจริตเกิดขึ้นอยู่ถึง 1,122 คดี ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ KPK โดย 66 เปอร์เซ็นต์นั้นเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดซื้อแล้วอีก 21 เปอร์เซ็นต์เป็นคดีการให้สินบน
ซึ่งก่อนที่จะมีการระบาดนั้นมีการจัดทำแบบสำรวจจากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ พบข้อมูลว่า มีประมาณ 3 ใน สิบราย ยอมรับว่าได้มีการจ่ายเงินสินบนเพื่อแลกกับการเข้าถึงบริการสาธารณะและกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามได้ออกมาสารถาพว่าพวกเขาเคยใช้เส้นสายสวนตัวเพื่อให้ได้รับการบริการสาธารณะที่ดีกว่าคนอื่น
@การดำเนินการร่วมกันเพื่อแก้ปัญหา
ทั้งนี้ ในการสัมมนาออนไลน์ มีตัวแทนจากทางรัฐบาลอินโดนีเซีย ที่กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลนั้นพยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดสภาพบรรยากาศการทางธุรกิจที่เป็นธรรม ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลและบุคคลในระดับสูงนั้นดำเนินการยากขึ้นในการเรียกรับสินบนและการกรรโชกทรัพย์จากบริษัท
ซึ่งการจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในนโยบายดังกล่าวได้นั้น บริษัทเอกชนแห่งเดียวไม่สามารถจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถ้าหากมีการรวมกลุ่มของบริษัทเกิดขึ้นมาหลายแห่งเพื่อทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง โอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย
โดยประเด็นเรื่องความเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจของบริษัทดังกล่าวนั้นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศอินโดนีเซียอย่างเดียวเท่านั้น
แต่ว่า หลายประเทศในโลกก็กำลังที่จะมีการหารือและดำเนินการเพื่อจะให้มีระบบการต่อต้านทุจริตที่ความบรรจบกันมากขึ้น ซึ่งหลักการก็คือว่าไม่ว่าบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่นั้นไปดำเนินธุรกิจที่ไหน ก็จะต้องมีมาตรฐานและกติกาในการต่อต้านการทุจริตเป็นกติกาเดียวกันทั่วโลก
ซึ่ง ณ เวลานี้มีหลายประเทศได้มีการรับเอากฎหมายการต่อต้านการให้สินบนที่เข้มข้นขึ้นมาปรับใช้ร่วมกันแล้ว อาทิ กฎหมายว่าด้วยการปฏิบัติที่ทุจริตที่ต่างประเทศหรือว่า Foreign Corrupt Practices Act ของประเทศสหรัฐอเมริกา,กฎหมายคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตที่ประเทศมาเลเซียและกฎหมายว่าด้วยเรื่องสินบนของสหราชอาณาจักร
ในขณะที่ประเทศอินโดนีเซีย ทางศาลฎีกาของอินโดนีเซียได้มีการออกระเบียบว่าด้วยความรับผิดทางอาญาของบริษัท ซึ่งจะทำให้บริษัทเอกชนต่าง ๆ ถูกลงโทษได้ถ้าหากมีพฤติกรรมทุจริต
ด้านนายกิ๊บสัน เฮเนส เจ้าหน้าที่โครงการศูนย์งานองค์กรเอกชนระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกาหรือ Center for International Private Enterprise (CIPE) กล่าวว่าการสร้างความบรรจบกันมากขึ้นในเรื่องของความพยายามต่อต้านการทุจริตระหว่างประเทศนั้น จะกลายเป็นสิ่งที่สร้างความเสี่ยงต่อธุรกิจของบริษัทที่มีพฤติกรรมประพฤติโดยไม่ชอบมากขึ้นตามไปด้วย
“ยกตัวอย่างในประเทศสหรัฐฯ มีกรณีที่มีการดำเนินการปรับและไกล่เกลี่ยบริษัทเอกชนที่ความผิดเป็นมูลค่ามหาศาลจำนวน 5 กรณีด้วยกันในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ นั้นจริงจังกับประเด็นเหล่านี้มากขึ้น และนั่นมีผลกระทบกับบริษัทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามมาด้วย” นายเฮเนสกล่าว
รายงานข่าวการจำคุก นายจูเลียรี บาตูบารา อดีตรัฐมนตรีกระทรวงสวัสดิการสังคมของอินโดนีเซีย (อ้างอิงวิดีโอจาก Balika News)
โดยบริษัทต่าง ๆ ที่มีการดำเนินธุรกิจในต่างแดนนั้นล้วนแล้วแต่มีความเข้าใจในเรื่องนี้ และในช่วงเหตุการณ์โควิดระบาด บริษัทเหล่านี้ก็เริ่มที่จะหาบริษัทคู่ค้าที่มีความโปร่งใสและปฏิบัติตามหลักกฎหมายต่อต้านทุจริตมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อที่บริษัทตัวเองจะได้มีความปลอดภัยและมีจริยธรรมให้มากที่สุด
ซึ่งเทรนด์ดังกล่าวนั้นก็หมายความว่าผู้ทุจริตจะมีพื้นที่ให้หลบซ่อนได้น้อยลงเรื่อย ๆ และหลังจากนี้ทาง CIPE ก็จะมีความร่วมมือร่วมกันในหลายด้านเพื่อที่จะแบ่งเป็นประสบการณ์เพื่อจะรับมือกับประเด็นขัดกันแห่งผลประโยชน์ที่อาจจะเกิดขึ้นในประเทศอินโดนีเซียด้วยเช่นกัน
ส่วนนายแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานงานฝ่ายเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ที่ร่วมงานเสวนาออนไลน์ ระบุว่า ตัวเขาเห็นด้วยกับการสร้างความพยายามร่วมกันในการแก้ไขปัญหาบริษัทติดสินบน พร้อมสนับสนุนกฎหมายเพื่อสนับสนุนการเสริมสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมสำหรับภาคธุรกิจ
“ความเสี่ยงจากการทุจริตและการให้สินบนนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลารวมไปถึงในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติโควิด-19 นี้ เนื่องจากมีปัจจัยหลายประการอาทิ ความผันผวนทางการเงิน การเปลี่ยนแปลงจุดสนใจของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และความเสี่ยงด้านสุขภาพจากไวรัสโควิด-19”นายแอร์ลังกากล่าว
และว่าภาคเอกชนเองก็กำลังเจอความท้าทายเช่นเดียวดังกล่าวเช่นเดียวกันไม่ต่างจากทางรัฐบาล ที่ ณ ตอนนี้มีความจำเป็นต้องออกกฎหมายฉบับใหม่แทนที่กฎหมายฉบับเก่าเมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อที่จะทำให้มีการตัดสินใจที่เร็วขึ้นเกี่ยวกับการรับมือสถานากรณ์โควิด-19
“อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติแล้ว การจัดการงบการเงินดังกล่าวนั้น ควรจะต้องมีการช่วยกันกำกับดูแลจากหลายหน่วยงาน เข้าช่วยกัน อาทิ หน่วยงานตรวจสอบเงินแผ่นดินหรือว่า BPK สำนักงานควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐหรือว่า BPKP หน่วยงานเจ้าหน้าที่ตำรวจแห่งชาติ และสุดท้ายก็คือหน่วยงานปราบทุจริตหรือว่า KPK จึงจะสามารถป้องกันการทุจริตได้” นายแอร์ลังกากล่าวทิ้งท้าย
เรียบเรียงจาก: https://jakartaglobe.id/news/corporate-bribery-risks-increase-during-pandemic
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage