"… สำหรับสายพันธุ์มิวนั้น ยังถูกจัดชั้นให้อยู่ในขั้นเริ่มต้น หรืออยู่ในความสนใจ แต่ยังไม่ใช่สายพันธุ์ที่น่ากังวล รวมไปถึงสายพันธุ์ C.1.2 ก็ยังไม่ได้ถูกจัดชั้น และองค์การอนามัยโลกยังไม่ได้ตั้งชื่อภาษากลางที่เอาไว้เรียกด้วย ซึ่งปัจจุบันยังไม่เจอสายพันธุ์นี้ในประเทศ…"
………………………………………..
ไวรัสทุกชนิดสามารถกลายพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ และเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่ก่อโรคโควิดเองก็สามารถกลายพันธุ์ได้เช่นเดียวกัน โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีสายพันธุ์กลายพันธุ์ที่น่ากังวล หรือ Variants of Concern (VOC) อยู่ 4 สายพันธุ์ ประกอบด้วย สายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) สายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) สายพันธุ์แกมมา (บราซิล) และสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย)
และมีสายพันธุ์ที่อยู่ในความสนใจ หรือ Variants of Interest (VOI) อยู่ 5 สายพันธุ์ ประกอบด้วย สายพันธุ์อีตา สาย สายพันธุ์ไอโอตา สายพันธุ์แคปปา สายพันธุ์แลมบ์ดา และสายพันธุ์มิว
‘สายพันธุ์มิว’ เป็นสายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลกเพิ่งประกาศให้เป็นเชื้อไวรัสใหม่ที่น่าจับตามองเป็นลำดับที่ 5 เมื่อวันที่ 31 ส.ค.2564 ที่ผ่านมา เนื่องจากพบว่าเชื้อไวรัสนี้มีการกลายพันธุ์ที่บ่งบอกถึงความเสี่ยงว่าจะต้านภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้ และตอนนี้พบการระบาดในหลายประเทศ อาทิ ทวีปอเมริกาใต้ ทวีปยุโรป และที่ญี่ปุ่น ขณะที่โคลอมเบีย ตอนนี้แพร่ระบาดครอบคลุมทั่วประเทศแล้วกว่า 39%
ดังนั้นแล้วสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิดกลายพันปัจจุบันเป็นอย่างไร? พบการกระจายของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่อีกหรือไม่? สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมข้อมูลจากการแถลงข่าวการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์เชื้อไวรัสก่อโรคโควิดในประเทศไทย ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการตรวจสายพันธุ์กลายพันธ์ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวน 1,523 ตัวอย่าง ปัจจุบันยังพบ 3 สายพันธุ์กลายพันธุ์ในประเทศ แบ่งเป็น สายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) จำนวน 75 ตัวอย่าง สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) 1,417 ตัวอย่าง และสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) จำนวน 31 ตัวอย่าง
เมื่อวัดเป็นภาพรวมของประเทศ จะพบสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ครอบคลุมประเทศไทยแล้วกว่า 93% ส่วนในกรุงเทพมหานคร จาก 976 ตัวอย่าง พบสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) แล้ว 97.6% และสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) 2.4% และส่วนภูมิภาค จาก 547 ตัวอย่าง พบสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) แล้ว 84.8% สายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) 9.5% และสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) 5.7%
“ดังนั้นสถานการณ์ปัจจุบันเดลต้าครองเมือง โดยสายพันธุ์เดลต้าตอนนี้พบครบทุกจังหวัดแล้ว ในแต่ละสัปดาห์อาจพบมากพบน้อยไม่เท่ากัน ส่วนสายพันธุ์เบต้า ยังจำกัดวงอยู่ที่ภาคใต้ ส่วนที่เคยเจอในกทม. และบึงกาฬ จบไปแล้ว ไม่พบจังหวัดอื่นๆ โดยสัปดาห์ล่าสุดพบในเขตสุขภาพที่ 12 คือ นราธิวาส 28 ราย ปัตตานี 2 ราย และยะลา 1 ราย” นพ.ศุภกิจ กล่าว
ทั้งนี้ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ตรวจหาเชื้อกลายพันธุ์ไปแล้ว 13 ล้านตัวอย่างด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR ซึ่งมีบางส่วนที่ยังไม่ได้รายงานเข้าระบบจำนวนหนึ่ง เพราะในช่วงที่ชุลมุนมากๆ บางแล็ปอาจไม่ได้รายงานข้อมูลครบถ้วนเข้าใจว่าอาจถึง 15 ล้านตัวอย่างแล้ว นับเป็นตัวเลขไม่น้อย ยิ่งช่วงหลังการระบาดมากก็ตรวจมากขึ้น
ไทยพบโควิดกลายพันธุ์ 3 สายพันธุ์
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า การกลายพันธุ์สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งตอนนี้มีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นเป็นร้อยสายพันธุ์ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) มีการจัดชั้นเริ่มต้นเรียกว่า ‘การกลายพันธุ์ที่อยู่ในความสนใจ’ เช่น มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่มีปัญหาอาจแพร่ได้ มีการกลายพันธุ์ที่ดื้อต่อวัคซีน หรือมีความผิดปกติมากขึ้น
ส่วนชั้นต่อมา คือ ‘การกลายพันธุ์ที่น่ากังวล’ ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 4 ตัว แต่ภายในประเทศไทยตอนนี้ยังพบอยู่เพียง 3 ตัว ยังไม่พบสายพันธุ์แกรมม่า (บราซิล) ซึ่งเราเคยพบในเคสนักท่องเที่ยวที่มาสเตจควอรันทีนเท่านั้น แต่สามารถควบคุมได้ เพราะอยู่ในสถานกักกันตัวอยู่แล้ว ไม่ได้หลุดออกไปไหน
สำหรับสายพันธุ์มิวนั้น ยังถูกจัดชั้นให้อยู่ในขั้นเริ่มต้น หรืออยู่ในความสนใจ แต่ยังไม่ใช่สายพันธุ์ที่น่ากังวล รวมไปถึงสายพันธุ์ C.1.2 ก็ยังไม่ได้ถูกจัดชั้น และองค์การอนามัยโลกยังไม่ได้ตั้งชื่อภาษากลางที่เอาไว้เรียกด้วย
ยันยังไม่พบสายพันธุ์มิว - C.1.2 ในไทย
สำหรับสายพันธุ์ C.1.2 ที่เป็นที่น่าสนใจแต่ยังไม่ได้ถูกจัดชั้น เพราะพบว่ามีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่เคยอยู่ใน เบต้า แกรมม่า เช่น E484K ซึ่งสามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ดี หรือพูดง่ายๆว่าดื้อวัคซีน และยังมีส่วน N501Y ของอัลฟ่าเดิม ที่แพร่เร็ว เป็นต้น ดังนั้นการกลายพันธุ์ในหลายๆ ตำแหน่งของเขา ทำให้ C.1.2 เป็นที่น่าจับตาดู
อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังพบในพื้นที่ค่อนข้างจำกัด โดยพบมากในแอฟริกาใต้ 117 ตัวอย่าง คิดเป็น 85% ของกลุ่มตัวอย่างที่เจอทั้งหมด รองลงมาพบที่อังกฤษ 4 ตัวอย่าง คิดเป็น 5% นิวซีแลนด์ 1 ตัวอย่าง คิดเป็น 2% สวิตเซอร์แลนด์ 1 ตัวอย่าง คิดเป็น 2% และจีน 1 ตัวอย่าง คิดเป็น 2%
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า สายพันธุ์นี้มีอัตราการกลายพันธุ์สูงกว่าสายพันธุ์อื่น แต่ยังไม่ต้องกังวล เราเจอเพียง 3% ของกลุ่มตัวอย่างที่เจอทั้งหมดเท่านั้น ดังนั้นสายพันธุ์นี้จึงยังไม่ใช้สายพันธุ์หลัก สายพันธุ์ส่วนใหญ่ยังเป็นเดลต้า (อินเดีย) และที่สำคัญประเทศไทยมีการเฝ้าระวังมาตลอด ปัจจุบันยังไม่เจอสายพันธุ์นี้ในประเทศ
ส่วนสายพันธุ์มิว หรือ B.1.621 ทั่วโลกยังพบน้อยมากอยู่ 0.1% จากกลุ่มตัวอย่างที่เจอทั้งหมด โดยในสหรัฐอเมริกาเจอ 2,400 ตัวอย่าง คิดเป็น 37%โคลอมเบียเจอ 965 ตัวอย่าง คิดเป็น 13% เม็กซิโก 367 ตัวอย่าง คิดเป็น 13% ตัวอย่าง สเปน 512 ตัวอย่าง คิดเป็น 11% เอกวาดอร์ 170 ตัวอย่าง คิดเป็น 6% และที่ญี่ปุ่นเจอเล็กน้อย แต่ยังไม่ได้พบในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปัจจุบันสายพันธุ์นี้พบแล้วใน 39 ประเทศ โดยโคลอมเบียเป็นที่แรกที่เจอสายพันธุ์มิวประมาณ 40%และสายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง E484K ซึ่งพบว่าสามารถหลีกหนีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติได้ดีกว่าเดิม แต่ยังไม่มีรายงานเรื่องอื่น ส่วนข้อสงสัยที่ว่าแพร่เร็วหรือไม่ ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลยืนยันขนาดนั้นเมื่อเทียบกับเดลต้า (อินเดีย) ส่วนติดเชื้อง่ายหรือไม่ และคนที่ป่วยแล้วกลับมาป่วยอีกมากน้อยแค่ไหน ก็ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ โดยรวมจึงยังไม่น่าวิตก แต่เรายังติดตามต่อเนื่อง
ขยายการสุ่มตรวจให้ครอบคลุม ตั้งเป้า 10,000 ตัวอย่าง
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทยเราเฝ้าระวังสายพันธุ์กลายพันธุ์สัปดาห์ละพันกว่าราย ซึ่งรวมการตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR และการตรวจพันธุกรรมทั้งตัว จากเดิมเคยกำหนดว่าจะสุ่มตรวจกลุ่มคนที่มาจากต่างประเทศ ตามแนวชายแดน คนที่มีอาการหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจ ผู้เสียชีวิต และบุคลากรทางการแพทย์ เราจะขยายการสุ่มตรวจให้ครอบคลุม และเน้นกลุ่มการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ เพื่อให้การตรวจเป็นข้อมูลที่สามารถบอกได้ว่าเป็นภาพรวมของสายพันธุ์ในประเทศ
ขณะเดียวกันจะมีหารือกับผู้เชี่ยวชาญ และร่วมมือกับหลายหน่วยงานในการตรวจให้มากขึ้นเป็น 10,000 ตัวอย่าง เพื่อให้เพียงพอ เช่น จากกนี้จนถึง ธ.ค.2564 จะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สุ่มตรวจในพื้นที่ จังหวัดภูเก็ตมากขึ้น
ทั้งนี้ในการตรวจพันธุกรรมทั้งตัว จะมีที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และเครือข่ายของเรา ทั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลับ และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะตรวจประมาณ 9 พันตัวอย่าง เครือข่ายอีก 4 พันตัวอย่าง จากนั้นจะมีการคอนเนคศูนย์ข้อมูลระดับโลก หรือ GISAID โดยจะรายงานทุก 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามการรายงานบ่อยๆ อาจเจอสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทยได้ ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าตกใจ
“สำหรับสายพันธุ์ที่เราเคยแถลงก่อนหน้านี้ คือ AY ของเดลตานั้น มี AY 12 เพิ่มเล็กน้อย แต่ GISAID บอกว่า ตัวเลขรหัสอาจไม่ถูกต้อง จึงขอเคลียร์ระดับโลกก่อน และจะชี้แจงอีกครั้ง เพื่อป้องกันการสับสนวุ่นวาย หากเคลียร์ได้เรียบร้อยแล้ว จะมาชี้แจงอีกครั้งว่าลูกของเดลต้าหายไปถึงไหนอย่างไร แต่วันนี้ไม่มีปัญหา การรักษาพยาบาลยังเหมือนเดิม” นพ.ศุภกิจ กล่าว
สถานการณ์การเฝ้าระวังเชื้อโควิดกลายพันธุ์ในประเทศ ขณะนี้พบเพียง 3 สายพันธุ์ เป็นเดลต้ากว่า 93% และพบครบทุกจังหวัด เรียกได้ว่าครองเมืองหมดแล้ว ส่วนสายพันธุ์เบต้า ยังจำกัดวงอยู่ที่ภาคใต้ ขณะที่สายพันธุ์มิว และสายพันธุ์ C.1.2 ที่น่าจับตามองขณะนี้ยังไม่พบภายในประเทศ แต่เตรียมแผนเฝ้าระวังเข้มขยายการสุ่มตรวจให้ครอบคลุม ตั้งเป้าหมาย 10,000 ตัวอย่าง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/