“...ติดอาวุธให้ผู้หายป่วยโควิด ให้ความรู้เขา ให้เขาสามารถทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครได้ เปลี่ยนจากคนที่หายป่วยแล้วก็กลับบ้าน ให้กลายเป็นคนทำประโยชน์ให้คนในสังคม แบ่งเบาภาระให้กับชุมชน เราเชื่อว่าตรงนี้จะเป็นการสร้างคุณค่าให้เขา ให้เขาได้รับการยอมรับในสังคมมากขึ้น ช่วยลดอคติและการตีตราในสังคมได้..."
………………………………
‘โควิด’ เป็นโรคอุบัติใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครพบมาก่อน ซึ่งมีความสามารถแพร่กระจายได้ไว ผ่านทางลมหายใจ ละอองฝอย และจากการสัมผัสโดยตรง ที่สำคัญมนุษย์และสัตว์สามารถติดเชื้อและเป็นพาหะได้ ทำให้เกิดการระบาดไปได้ในกว้าง เป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้นแล้วเมื่อมีการติดเชื้อของคนใดคนหนึ่งเกิดขึ้น มักมีการกล่าวโทษกันว่าเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดเชื้อ และถูกสังคมรอบข้างหวาดกลัว
ซึ่งโรงพยาบาลรามาธิบดี พบด้วยว่า ผู้ป่วยหลายรายที่หายจากการติดเชื้อโควิด ยังไม่อยากกลับบ้าน เพราะบางส่วนถูกคนรอบข้างหวาดกลัว และห่วงว่าเข้าใกล้และจะติดเชื้อ โดยรศ.ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ด้วยว่า ผู้ที่หายป่วยจากการติดเชื้อโควิด พบหลายรายไม่อยากกลับบ้าน เพราะถูกสั่งห้ามไม่ให้ขึ้นตึก หรือบางคนกลับไปแล้ว คนรอบตัวยังไม่ไว้วางใจ บางคนถูกสเปรย์ฉีดทั่วร่างกายก็มี แม้แพทย์จะให้การยอมรับว่า ผู้ที่หายป่วยโควิด จะไม่มีมีการแพร่เชื้อก็ตาม
เป็นที่มาของโครงการ ‘ติดอาวุธนักรบเส้นด้าย’ เพื่อช่วยพัฒนาความรู้ให้ผู้ที่หายป่วยโควิด พร้อมให้เป็นเป็นอาสาสมัคร ดูแลผู้ติดเชื้อที่ไม่สามารถเข้าถึงสถานพยาบาลได้
รศ.ดร.พูลสุข กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เราเคยดูแลเรื่องการตีตรามาแล้วครั้งหนึ่งในกลุ่มผู้ป่วยโรคเอดส์ พวกเขามักที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนไม่ดี มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ซึ่งเคยปรากฏให้เห็นในหน้าข่าวด้วยว่า มีผู้ป่วยโรคเอดส์เดินทางกลับบ้าน แต่คนภายในชุมชนขับไล่ กลัวว่าถ้าเข้ามาภายในชุมชนแล้วจะเกิดการแพร่ระบาดของเอดส์ ขณะนั้นเราทำเพียงภาพหรืออินโฟกราฟิกเพื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อลดความเข้าใจผิดระหว่างกัน
ครั้งนี้ในช่วงการระบาดของโควิด มีโอกาสได้พบกับกลุ่มเส้นด้าย พบว่า มีผู้หายป่วยจากโควิดหลายคนที่อยากผันตัวมาเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ป่วย แต่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ จึงเกิดไอเดียจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับผู้หายป่วยโควิดขึ้นมา นับเป็นครั้งแรกที่ทางโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีได้ทำโครงการอบรมให้ความรู้แบบนี้ จากเดิมที่ทำเพียงภาพหรืออินโฟกราฟิกเท่านั้น
ผู้หายป่วยโควิดยังเป็นผู้มีประสบการณ์ เขาเคยผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากมาแล้ว หากเขาได้เข้าไปช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ เขาจะเข้าใจผู้ติดเชื้อได้เป็นอย่างดีและสามารถดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นเราจึงได้จัดโครงการนี้ขึ้นมา
“เราคิดว่า ถ้าเราได้ติดอาวุธให้ผู้หายป่วยโควิด ให้ความรู้เขา ให้เขาสามารถทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครได้ เปลี่ยนจากคนที่หายป่วยแล้วก็กลับบ้านเฉยๆ ให้กลายเป็นคนหายป่วยแล้วสามารถทำประโยชน์อื่นๆให้บุคคลในสังคม แบ่งเบาภาระให้กับชุมชนได้ เราเชื่อว่าตรงนี้จะเป็นการสร้างคุณค่าให้เขา ให้เขาได้รับการยอมรับในสังคมมากขึ้น ช่วยลดอคติและการตีตราในสังคมได้” รศ.ดร.พูลสุข กล่าว
(รศ.ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ดูแลผู้ป่วยโควิดทั้งร่างกาย-จิตใจ
รศ.ดร.พูลสุข กล่าวอีกว่า หลักสูตรนี้เราตั้งใจอย่างเต็มที่ที่จะมอบความรู้ความเข้าใจให้ได้อย่างครบถ้วน โดยได้จัดกิจกรรม 2 วันเต็ม เพื่อเริ่มสอนตั้งแต่การประเมินอาการ การประเมินไข้หรือออกซิเจน การใช้อุปกรณ์ดูแลผู้ป่วยโควิด รวมถึงการดูแลสภาพจิตใจ ไปจนถึงการดูแลผู้ป่วยโควิดในระยะสุดท้าย
ซึ่งการจัดอบรม เราได้จัดออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบออนไซต์ (ON-SITE) และรูปแบบออนไลน์ (ONLINE) โดยมีผู้เข้าร่วมเรียนทั้งหมด 220 คน แบ่งเป็น ออนไซต์ 20 คน และออนไลน์ 200 คน ทั้งนี้ในการเรียนผ่านช่องทางออนไลน์ เราได้จัดส่งเครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็นในการเรียนรู้เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดแบบมีส่วนร่วม เช่น ชุด PPE ถุงมือยาง เครื่องวัดอุณหภูมิ และเครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือด เพื่อทดลองใช้ประกอบการเรียนด้วย ซึ่งผลตอบรับจากการสอบถามหลังการอบรม พบว่าผู้เรียนทุกคนมีความเข้าใจมากขึ้น และสามารถนำไปปฏิบัติจริงได้
“เราสอนหลายอย่างมาก ทั้งการประเมินอาการตนเองและอาการคนไข้ว่าอาการแบบนี้ใช่โควิดไหม สอนการวัดออกซิเจน สอนการประเมินไข้ว่าอยู่ระดับสีใด รวมถึงสอนการประเมินออกซิเจน สอนการช่วยชีวิต สอนดูแลผู้ป่วยติดเตียง สอนการดูแลจิตใจ และสอนดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายด้วย แม้เขาอาจจะไม่มีความเชี่ยวชาญเท่าแพทย์และพยาบาลได้ แต่สิ่งเหล่านี้จะทำให้เขาเป็นผู้ที่ช่วยเหลือคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี” รศ.ดร.พูลสุข กล่าว
สำหรับการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนนี้ รศ.ดร.พูลสุข กล่าวว่า สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ที่มีแผนดึงทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ ซึ่งไม่ได้เป็นบุคลากรการแพทย์หรือพยาบาล มาช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดในยามวิกฤตการระบาด และยังช่วยให้ชุมชนสามารถช่วยเหลือดูแลตัวเองอย่างยั่งยืนตามเป้าหมาย SDGs แห่งสหประชาชาติ (United Nations: UN) ข้อที่ 11 ว่าด้วยเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน (Sustainable Cities and Communities) ด้วยเหตุนี้จึงขอยืนยันให้ประชาชนมั่นใจในตัวโครงการ ว่าจะสามารถพัฒนาอาสาสมัครเข้าช่วยเหลือผู้ติดเชื้อในชุมชนได้อย่างดี และยังปฏิบัติตามแนวทางที่ทั่วโลกยอมรับด้วย
เรียนรู้ประเมินอาการ-ปฐมพยาบาลเบื้องต้น
ด้าน นางสวิราศจี พงศะบุตร อดีตผู้ป่วยโควิดที่เข้าร่วมโครงการ เปิดเผยว่า โครงการนี้เป็นการจัดอบรมให้ความรู้ที่ดีมากๆ เปิดโอกาสให้เราได้มาเรียนรู้กับผู้มีประสบการณ์โดยตรง ที่ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้มาเจอกับอาจารย์หมอ โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านสุขภาพชั้นนำของประเทศ
นางสวิราศจี เป็นผู้สมัครเข้าร่วมเรียนโครงการติดอาวุธนักรบเส้นด้ายผ่านช่องทางออนไลน์ เมื่อวันที่ 21-22 ส.ค.2564 ที่ผ่านมา พร้อมเล่าให้ฟังว่า ในการอบรม นักเรียนแต่ละคนจะถูกจัดกลุ่ม แบ่งออกเป็นกลุ่มละ 10 คน โดยจะเปิดห้องเรียนเป็นห้องๆ ภายในโปรแกรม zoom แบ่งตามกลุ่ม เพื่อให้ใกล้ชิดกับอาจารย์ประจำห้องเรียนมากขึ้น หากมีข้อสงสัยก็สามารถถามได้หลังอบรมแต่ละบทเรียนจบ
“การอบรมครั้งนี้ช่วยให้เรานำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งภายในบ้านและในชุมชนได้ แม้ว่าขณะนี้ภายในชุมชนที่อาศัยอยู่จะยังไม่มีเคสผู้ติดเชื้อ แต่เราก็ได้นำความรู้ที่เรียนมา ถ่ายทอดออกไป อย่างบางคนที่เพิ่งหายป่วยจากโควิดกลับมา มีอาการหายใจลำบาก เราก็ได้เข้าไปช่วยสอนวิธีการบริหารปอด ทำให้เขาหายใจได้ดีขึ้น” นางสวิราศจี กล่าว
นางสวิราศจี กล่าวอีกว่า ความรู้ในการดูแลผู้ติดเชื้อที่ทางโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีนำมาสอน มีความสำคัญมากในชีวิตประจำวัน โดยเราได้รับความรู้ตั้งแต่การประเมินอาการ การดูแลรักษาผู้ป่วย การใช้อุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งบางอย่างแม้ดูเป็นเรื่องผิวเผิน แต่มีความสำคัญมาก เช่น การใช้เครื่องวัดออกซิเจน หากเราใช้ไม่เป็น เช่น เสียบอุปกรณ์ไม่เป็นก็อาจทำให้การอ่านค่าออกซิเจนผิดพลาด ซึ่งออกซิเจนถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการประเมินอาการผู้ติดเชื้อโควิด หากประเมินไม่ถูกต้อง อาจส่งผลร้ายแรงตามมาได้
นอกจากนั้นยังมีการสอนครอบคลุมไปถึงสภาพจิตใจด้วย ซึ่งมีหลายคนที่ต้องเผชิญกับความเครียด หรือการโทษตัวเองมาตั้งแต่ตอนรู้ผลติดเชื้อ ระหว่างการรักษา และหลังหายป่วยด้วย บางคนมีอาการเสียใจว่าบุคคลในครอบครัวสูญเสียหมด แต่เหลือตัวเองเพียงคนเดียว หรือบางคนโทษตัวเองที่นำเชื้อเข้าไปแพร่ภายในครอบครัว รวมถึงการดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้าย ให้เขาได้สบายมากที่สุด
“สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญมาก ยกตัวอย่างเช่น การเรียนปฐมพยาบาลปั๊มหัวใจ แม้เราจะได้เรียนผ่านหน้าจอ ไม่ได้สัมผัส หรือฝึกจริงๆ แต่หากเจอสถานการณ์เฉพาะหน้าที่ไม่มีใครสามารถทำได้ เราจะมีความกล้าในการเดินหน้าช่วยเหลือผู้อื่นมากขึ้น” นางสวิราศจี กล่าว
(นางสวิราศจี พงศะบุตร ผู้เรียนในโครงการติดอาวุธนักรบเส้นด้าย)
ลดอคติ-ความหวาดระแวงในสังคม
ไม่เพียงแต่ช่วยรักษาผู้ติดเชื้อได้เท่านั้น โครงการติดอาวุธนักรบเส้นด้ายยังช่วยสร้างบทบาทของผู้หายป่วยให้มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น โดย นางสวิราศจี กล่าวว่า การที่สมาชิกในชุมชน ได้เห็นเราออกไปช่วยเหลือ และได้การพูดคุยกัน เปิดใจกัน ความมีอคติต่างๆต่อผู้หายป่วยโควิดจะลดลงได้
ซึ่งตนเองก็เป็นบุคคลหนึ่งที่เคยประสบกับความหวาดกลัวของคนภายในชุมชน อย่างไรก็ตามแม้ตอนนี้ภายในชุมชนจะยังไม่มีเคส ยังไม่ได้ออกไปช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดอย่างเต็มอัตรา ทำได้เพียงถ่ายทอดความรู้ แต่ก็ยังเชื่อว่าหากให้เวลาอีกสักพัก คนภายในชุมชนจะหายระแวงได้
ทั้งนี้ นางสวิราศจี กล่าวแนะนำอีกว่า หากเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มาเรียนรู้ ได้มาทำความเข้าใจ รู้จักกับโควิดมากขึ้น อาจเป็นอีกแนวทางช่วยลดอคติในสังคมได้ ซึ่งตนเองมองว่าสื่อองค์ความรู้ที่ทางโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีจะจัดทำออกมาในช่วงสิ้นเดือนนี้ จะตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันอยากให้มีการเพิ่มแบบทดสอบพร้อมเฉลยท้ายสื่อองค์ความรู้นั้นลงไปด้วย เพื่อให้ผู้ชมสามารถประเมินตนเองได้ว่าเข้าใจในบทเรียนนั้นจริงๆ หรือไม่ นอกจากนั้นยังช่วยเพิ่มการจดจำ เอาไว้ไปใช้ในชีวิตประจำวันด้วย
ทั้งหมดนี้เป็นการถอดบทเรียนจากโครงการติดอาวุธนักรบเส้นด้าย นำผู้เคยป่วย มาช่วยผู้ป่วยโควิด โครงการที่ไม่ได้เป็นเพียงการช่วยเหลือ แต่ยังช่วยลดการตีตราหรืออคติทางสังคม ซึ่งขณะนี้กำลังก้าวไปสู่การจัดทำสื่อความรู้ให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าถึงมากยิ่งขึ้น ขอให้รอติดตามความเคลื่อนไหวได้ในช่วงสิ้นเดือนนี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/