“..การเปิดร้านวันแรก ยังเงียบเหมือนเดิม รายได้หายไปเกือบ 90% แต่ยังต้องต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ เท่าเดิม และการสั่งซื้อส่วนใหญ่เป็นการสั่งซื้อแบบสั่งกลับบ้าน หรือเดลิเวอรี่ ส่วนลูกค้าที่จะนั่งในร้านน้อยมาก เนื่องจากพื้นที่ทางร้านก็มีน้อย อีกทั้งลูกค้ายังคงกังวล..”
---------------------------------------------------
เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2564 ที่ผ่านมาเป็นวันแรกที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ปรับมาตรการร้านอาหารเปิดให้บริการนั่งกินในร้านได้ ภายใต้ข้อกำหนด 'ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม' ออกความในมาตรการ 9 แห่งพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 32 แแต่ยังคงแบ่งระดับพื้นที่ควบคุมสถานการณ์การระบาดเหมือนเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขอให้ร้านอาหารในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดที่เปิดบริการยึดปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเข้มข้น พร้อมยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 ดังนี้
1) ทำความสะอาดโต๊ะทันทีหลังใช้บริการ
2) ทำความสะอาด จุดสัมผัสร่วม และห้องน้ำ ทุก 1-2 ชั่วโมง
3) จัดอุปกรณ์กินอาหารเฉพาะบุคคล กรณีที่ต้องรับประทานหม้อ/ภาชนะเดียวกัน ต้องจัดอุปกรณ์ตักอาหารเฉพาะบุคคลเช่นเดียวกัน และต้องไม่ใช้ช้อนกลางร่วมกัน
4) งดจัดบริการอาหารรูปแบบผู้บริโภคบริการตนเอง ในร้านอาหารประเภทบุฟเฟ่ต์/สลัดบาร์/หมูกระทะ เพราะจะทำให้คนไปรวมกันหนาแน่น เสี่ยงแพร่เชื้อ
5) จัดบริการเจลแอลกอฮอล์ประจำทุกโต๊ะ
6) เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลและโต๊ะรับประทานอาหาร 1-2 เมตร หากมีพื้นที่จำกัดมีระยะไม่ถึง 1 เมตร ให้ทำฉากกั้น กรณีพื้นที่มีเครื่องปรับอากาศ เว้นระยะห่างระหว่างโต๊ะ 2 เมตร และไม่นั่งตรงข้ามกัน พื้นที่มีเครื่องปรับอากาศ นั่งได้ 50% พื้นที่เปิด นั่งได้ 75% เและจำกัดระยะเวลากินอาหารไม่เกิน 1 ชั่วโมง
7) เปิดประตู หน้าต่าง อย่างน้อย 30 นาที ก่อนเปิดและปิดระบบปรับอากาศ มีการระบายอากาศที่เหมาะสมต่อจำนวนคน สำหรับพื้นที่ปรับอากาศให้เปิดระบายอากาศในพื้นที่กินอาหารทุก 1 ชั่วโมง ส่วนห้องน้ำควรมีระบบระบายอากาศที่ดี
นพ.สุวรรณชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเดือน ก.ย.นี้ ผู้ประกอบการสามารถเปิดร้านตามปกติ ไม่ต้องตรวจ ATK เป็นประจำ ให้ยึดมาตรการ DMHTT อย่างเข้มข้น ส่วนพนักงานไม่ต้องฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม แต่ให้เตรียมการและเตรียมความพร้อมไว้ก่อน
สำหรับการจะบังคับใช้ในอนาคตตั้งแต่ 1 ต.ค. 2564 เป็นต้นไป โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการปฏิบัตตามมาตรการด้านผู้ให้บริการ โดยให้พนักงานทุกคน ฉีดวัคซีนครบโดสหรือมีประวัติการติดเชื้อมาก่อนไม่เกิน 3 เดือน คัดกรองความเสี่ยงพนักงานทุกวันด้วยเว็บไซต์ 'ไทยเซฟไทย' หรือแอปพลิเคชันอื่นที่ทางราชการกำหนด พร้อมจัดหา ATK ให้พนักงาน และตรวจ ATK ทุก 7 วัน มีผู้รับผิดชอบกำกับติดตามพนักงานทุกคน และงดการรวมกลุ่มหรือกินอาหารร่วมกัน
ส่วนมาตรการด้านผู้รับบริการนั้น ให้คัดกรองความเสี่ยงก่อนเข้าร้านด้วยเว็บไซต์ 'ไทยเซฟไทย' หรือแอปพลิเคชันอื่นที่ทางราชการกำหนด ต้องมี COVID free pass ก่อนเข้าบริการ เฉพาะร้านที่มีเครื่องปรับอากาศ และสำหรับร้านอาหารแต่ละจังหวัดต้องปฏิบัติตามมาตรการหรือข้อกำหนดของจังหวัดด้วย
"ผู้ประกอบการพื้นที่สีแดงเข้ม ในวันที่ 1 ก.ย. เป็นต้นไป สามารถเปิดร้านได้ตามปกติ ไม่ต้องตรวจ ATK เป็นประจำ แต่ให้เตรียมความพร้อมและดำเนินการตามความพร้อม โยยึดหลัก DMHTT อย่างเข้มงวด โดยเดือน ก.ย. ให้เร่งรัดพนักงานไปฉีดวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสามารถกำหนดข้อบังคับที่เข้มงวดกว่าได้ตามสถานการณ์ระบาดและความสามารถที่ระบบสาธารณสุขแต่ละจังหวัดรองรับ” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้ลงพื้นที่ สำรวจบบรรยากาศร้านค้าต่างๆ ที่ได้รับอนุญาตให้เปิดบริการแบบนั่งในภายร้านได้ พบว่าบรรยากาศร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าค่อนข้างคึกคัก มีผู้คนเข้าใช้บริการเป็นจำนวนพอสมควร แต่ในทางกลับกันร้านค้ารายย่อยต่างๆ กลับเงียบเหงา
ราคาชุดตรวจสูงกว่าค่าแรงรายวัน
น.ส.ณัฐมนธร เจ้าของร้านอาหารเกาหลี โชกูจัง บริเวณซอยสวนอ้อย เปิดเผยว่า การเปิดร้านวันแรก ยังเงียบเหมือนเดิม รายได้หายไปเกือบ 90% แต่ยังต้องต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ เท่าเดิม และการสั่งซื้อส่วนใหญ่เป็นการสั่งซื้อแบบสั่งกลับบ้าน หรือเดลิเวอรี่ ส่วนลูกค้าที่จะนั่งในร้านน้อยมาก เนื่องจากพื้นที่ทางร้านก็มีน้อย อีกทั้งลูกค้ายังคงกังวล
"ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นหมอ บุคคลากรทางการแพทย์ซึ่งก็มีความเสี่ยง ส่วนใหญ่จึงเป็นการสั่งซื้อกลับไปกิน มากกว่าที่จะนั่งที่ร้าน"
น.ส.ณัฐมนธร กล่าวถึงในส่วนมาตรการที่จะมีขึ้นในเดือน ต.ค. เกี่ยวกับการตรวจหาเชื้อโควิดด้วย ATK เป็นประจำ และการฉีดวัคซีนว่า พนักงานแรงงานต่างชาติในร้านได้วัคซีนเข็มแรกแล้วทุกคน รวมถึงแม่ครัวที่ทำอาหาร ที่เป็นเจ้าของร้านร่วมเช่นกัน ในร้านจึงมีเพียงตนเท่านั้น ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เพราะรอจัดสรรตามเกณฑ์ของรัฐบาล ซึ่งตนก็มีความกังวล เนื่องจากวัคซีนขณะนี้มีไม่เพียงพอและน่ากังวลในประสิทธิภาพ จึงได้มีการซื้อชุดตรวจมาตรวจเองบ้างเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ชุดตรวจมีราคาค่อนข้างสูงในขณะนี้ ถ้าจะต้องดำเนินการตรวจหาเชื้อเป็นประจำทุกๆ 7 วัน หรือ 1 เดือน ตนมองว่าไม่น่ารับไหว เพราะมีค่าใช้จ่ายที่สูง และรายได้ลดลง
"ชุดตรวจที่ซื้อมากราคา 350 บาท ซึ่งแพงกว่ารายได้แรงงานขั้นต่ำต่อวันเสียอีก ถ้าต้องตรวจเป็นประจำจะเท่ากับว่าเสียค่าแรงไปหนึ่งวันเลย แต่รายจ่ายอื่นๆ เองก็ไม่ได้ลด ต่างจากรายได้ที่ลดลงกว่า 90%"
กำไรส่วนใหญ่มาจากลูกค้านั่งกินที่ร้าน
น.ส.อรุณพร ร้านลุงน้อยโภชนา กล่าวว่า การเปิดให้นั่งวันแรก ลูกค้ามีนั่งกินบ้าง แต่ยังบางตา อีกทั้งลูกค้าเองก็มีความกังวล แม้ว่าทางร้านจะรักษามาตรการคุมเข้มความสะอาดแล้วก็ตาม อีกทั้งที่ทำงานส่วนใหญ่ ยังมีนโยบายให้ทำงานที่บ้านอยู่ และลูกค้าประจำส่วนใหญ่เป็นพนักงาน แต่ทางร้านได้ปรับเปลี่ยนการขยายและปรับรูปแบบการขายผ่านทางแอปพลิเคชันเดลิเวอลี่ต่างๆ เพื่อให้พอมีรายได้มาจุนเจือ และดูแลร้านให้รอดต่อไปในสภาวะเช่นนี้
"กำไรส่วนใหญ่มาจากการนั่งกินในร้านของลูกค้า เพราะในการขายผ่านแอปฯ ต่างๆ โดนหักค่าธรรมเนียมสูง แต่ไม่ขายก็ไม่ได้ เพราะยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ลูกน้องต้องดูแล"
น.ส.อรุณพร กล่าวถึงส่วนมาตรการที่จะมีขึ้นหลังการซักซ่อมในเดือน ต.ค.ว่า ทางร้านได้วัคซีนกันครบทุกคนแล้ว โดยอย่างน้อยก็ 1 เข็ม แต่ทั้งนี้ก็ยังมีความกังวลอยู่เพราะยอดผู้ติดเชื้อก็สูงขึ้นเรื่อยๆ และวัคซีนในขณะนี้ ก็ดูว่าจะมีไม่เพียงพอและไม่มีประสิทธิภาพในการควบคุมการระบาดได้
"ลูกค้ากังวลที่จะนั่งที่ร้าน แม่ค้าก็กลัว ต่างคนต่างกลัว ต่างกังวลกัน เพราะยอดติดเชื้อที่ผ่านๆ มาสูงมาก และวัคซีนก็ยังมีไม่เพียงพอ"
ในส่วนบรรยากาศช่วงเย็น ลูกค้ามายืนรอคิวซื้ออาหารจากร้านลุงน้อยโภชนาแบบเว้นระยะห่างค่อนข้างมาก แต่เป็นการซื้อกลับไปกินที่บ้านเกือบทั้งหมด
ใช้ระบบจองคิว-จำกัดปริมาณเพื่อความปลอดภัย
น.ส.ผาสุข เจ้าของร้าน The nail up เปิดเผยว่า วันนี้เปิดให้บริการเป็นวันแรก แต่ทางร้านไม่เปิดบริการลูกค้าแบบวอล์กอิน แต่จะให้ลูกค้าจองคิวทางออนไลน์มาก่อน โดยขอให้เข้าร้านเพียงลูกค้าเท่านั้น งดรับผู้ติดตาม เนื่องจากพื้นที่ของร้านค่อนข้างจำกัด
น.ส.ผาสุข กล่าวว่า การเปิดร้านวันแรกยังเงียบอยู่ เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา มหาวิทยาลัยยังคงไม่เปิด อีกทั้งทางร้านสามารถให้บริการได้เพียงแค่ประมาณ 3 คนต่อวัน เนื่องจากการจำกัดเวลาเปิด-ปิดที่สั้นลง จากเดิมที่เคยเปิดตั้งแต่ 11.00 น. - 20.00 น. ก็จะต้องเร่งปิดร้านเร็วขึ้นในเวลา 16.00 น. เท่านั้น
บางแห่งยังไม่เปิดให้นั่ง เพราะยอดติดเชื้อยังสูง
น.ส.เจน เจ้าของร้าน Neko bake ร้านขนมและคาเฟ่ กล่าวว่า ขณะนี้ทางร้านยังไม่เปิดบริการให้นั่งรับประทานที่ร้าน และยังคงเปิดขายในรูปแบบเดลิเวอรี่เท่านั้น เนื่องจากมีความกังวลในด้านความปลอดภัยอยู่ เห็นได้จากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่ยังไม่ลดลง แต่ทั้งนี้ยอดขายของกลับสูงขึ้นในการระบาดระลอกที่ 3 ที่ผ่านมา
"คิดว่าต้องรอจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้นกว่านี้ ยอดผู้ติดเชื้อลงก่อน ถึงจะตัดสินใจกลับมาเปิดให้บริการนั่งรับประทานที่ร้านอีกครั้ง เพราะตอนนี้สถานการณ์อยู่ในช่วงที่น่ากังวลอยู่"
ทั้งหมดนี้ คือบรรยากาศการหลังผ่อนคลายมาตรการวันแรก ต้องติดตามต่อไปว่ารัฐจะมีนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อยอื่นๆ อีกหรือไม่ สำหรับมาตรการการตรวจหาเชื้อที่อาจจะทำให้ผู้ประกอบการต้องรับภาระมากขึ้น
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage