“...หลายคนเป็นห่วงว่า ผมมาทำหน้าที่ในช่วงที่รัฐบาลขาลง แต่ผมรู้สึกว่านี่งานความท้าทายมากกว่า ผมเชื่อมั่นในตัวท่านนายกรัฐมนตรี ผมคิดว่าผมสามารถทำงานทุกอย่างได้ และผมสามารถช่วยสื่อสารให้กับประชาชนได้มากขึ้น วันหนึ่งกระแสรัฐบาลจะวัดกันด้วยผลงาน เมื่อผลงานได้รับการสื่อสารมากขึ้น ผมเชื่อว่า ประชาชนจะรู้สึกดีกับรัฐบาลเหมือนเดิม...”
ตลอด 2 ปีสถานการณ์โควิด การสื่อสารในภาวะวิกฤติ กำลังเป็นปัญหาให้รัฐบาลเผชิญหน้ากับวิกฤติในการสื่อสาร
เป็นเหตุให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) แต่งตั้งตั้งศูนย์บริหารสื่อสารในภาวะวิกฤต ที่มี ‘อนุชา นาคาศัย’ รัฐมนตรีประจำสำนักรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าศูนย์ฯ โดยมีอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็น เลขานุการ และมี ‘เสรี วงษ์มณฑา - เกษมสันต์ วีรกุล’ เป็นบรรณาธิการบริหาร เพื่อวางกลยุทธ์สื่อสาร ศบค.
ในห้วงเวลาใกล้เคียงกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ยังเปลี่ยนโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อปรับภารกิจด้านการสื่อสารของรัฐบาล
ตลอด 2 ปีกว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เปลี่ยนโฆษกรัฐบาลไปแล้ว 3 คน
แต่ละคนมีเงื่อนไขการปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน
คนแรก ‘นฤมล ภิญโญสินวัฒน์’ หรือ ‘อาจารย์แหม่ม’ ที่สละเก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เพื่อเข้ารับตำแหน่ง โดยมีรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 2 คนจาก 2 พรรค คือ ‘ไตรศุลี ไตรสรณกุล’ จากพรรคภูมิใจไทย และ ‘รัชดา ธนาดิเรก’ จากพรรคประชาธิปัตย์
ภาพที่ผู้จัดตั้งรัฐบาลหวัง คือ ภาพของ 3 สาวทีมงานโฆษกรัฐบาลช่วยลดทอนความแข็งกร้าวของรัฐบาลในเวทีการเมือง หลัง ‘พลเอกประยุทธ์’ ที่กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีจากการชนะการเลือกตั้ง แต่ภาพจำของคนบางกลุ่มยังมองว่าเป็นเรื่อง ‘สืบทอดอำนาจ’ จาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
คนที่สอง ‘อนุชา บูรพชัยศรี’ เข้ารับตำแหน่ง หลังจาก ‘นฤมล’ เปลี่ยนเวทีจากเก้าอี้โฆษกรัฐบาล ไปทำหน้าที่รัฐมนตรี - รมช.แรงงาน
โดย ‘อนุชา’ เป็นอดีต ส.ส.กรุงเทพฯ 2 สมัย สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนลาออกจากพรรค และปรากฏตัวร่วมงานกับรัฐบาลในฐานะเลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ ที่มี ‘ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ’ ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น
ภารกิจของ ‘อนุชา’ ถูกคาดหวังให้สื่อสารนโยบาย-ผลงานรัฐบาลเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มใหม่ในโซเชียลมีเดีย เพื่อหวังให้ให้ประชาชนเข้าใจในสิ่งที่รัฐบาลทำไปแล้วมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม หลังปฏิบัติหน้าที่ได้ 1 ปี ‘อนุชา’ ได้รับแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง โดยมีการแต่งตั้งโฆษกรัฐบาลคนใหม่ชื่อ ‘ธนกร วังบุญคงชนะ’
เหตุผลส่วนหนึ่งที่ต้องเป็น ‘ธนกร’ ก่อนหน้านี้เขาดำรงตำแหน่งโฆษกประจำศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ที่นอกจากจะสื่อสารนโยบายเศรษฐกิจ - มาตรการเยียวยาโควิด ขณะเดียวกันยังช่วยตอบโต้ข่าวบิดเบือน และชี้แจงประเด็นทางการเมืองได้อีกด้วย
‘ธนกร’ เปิดเผย สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ก่อนได้รับมอบหมาย ไม่มีสัญญาณล่วงหน้าใดๆ ก่อนทราบว่านายกรัฐมนตรีให้มาทำหน้าที่ตรงนี้
เขาเล่าว่า ตั้งแต่เป็นโฆษกกลุ่มสามมิตร ก่อนได้รับมอบหมายให้เป็นโฆษกพรรคพลังประชารัฐ และ โฆษก ศบศ.ในเวลาต่อมา ในการทำหน้าที่ทุกครั้ง ก็จะพูดถึง ‘พลเอกประยุทธ์’ อยู่เสมอ ด้วยเหตุผลความชื่นชอบส่วนตัว
“ส่วนตัว ผมชื่นชมท่าน เพราะท่านรักชาติ ศาสนา และเทิดทูนสถาบัน ผมไม่เคยรู้จักและไม่เคยเจอท่าน แต่ที่ผมให้สัมภาษณ์ทุกสิ่งทุกอย่าง พยายามปกป้อง เพราะท่านนายกรัฐมนตรีทำเพื่อประเทศชาติ”
‘ธนกร’ ยอมรับว่า ที่ผ่านมารัฐบาลอาจมีปัญหาในการสื่อสารบ้าง เพราะมีปัจจัยหลายประการ แต่ที่ผ่านมาผู้มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการสื่อสารก็พยายามทำงานกันอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่ารัฐบาลก็มีผลงานดีๆ ซึ่งที่ผ่านมาหลายอย่างอาจจะทำให้เกิดการติดขัดสื่อสารไม่ถึงประชาชน
“หลายคนเป็นห่วงว่า ผมมาทำหน้าที่ในช่วงที่รัฐบาลขาลง แต่ผมรู้สึกว่านี่งานความท้าทายมากกว่า ผมเชื่อมั่นในตัวท่านนายกรัฐมนตรี ผมคิดว่าผมสามารถทำงานทุกอย่างได้ และผมสามารถช่วยสื่อสารให้กับประชาชนได้มากขึ้น วันหนึ่งกระแสรัฐบาลจะวัดกันด้วยผลงาน เมื่อผลงานได้รับการสื่อสารมากขึ้น ผมเชื่อว่า ประชาชนจะรู้สึกดีกับรัฐบาลเหมือนเดิม”
ทั้งนี้มี 3 ภารกิจที่จะถูกขับเคลื่อนงานในทีมโฆษกรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้
หนึ่ง การสื่อสารสองทาง นอกจากจะทำหน้าที่ ‘ผู้พูด’ ขณะเดียวกันจะเป็น ‘ผู้ฟัง’ ไปด้วย โดยจะหาโอกาสลงพื้นที่พบประชาชน เพื่อรับฟังความคิดเห็นเพื่อสะท้อนไปถึงรัฐบาลนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่อไป
สอง การให้ความสำคัญกับแฟลตฟอร์มสมัยใหม่ โดยนอกจากสื่อสารนโยบายรัฐบาล ทีมโฆษกรัฐบาลจะเน้นเรื่องการชี้แจงข้อมูลที่ถูกบิดเบือนหรือเฟกนิวส์ที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์
สาม งานเชิงรุกด้านการสื่อสาร ที่จะ ‘เน้นชี้แจง ไม่ตอบโต้’ โดย ‘ธนกร’ ยอมรับว่า อาจจะมีการสื่อสารผ่านสื่อหลายครั้งต่อวัน เพราะหลายประเด็นต้องชี้แจงแก้ไขนาทีต่อนาที
“นอกจากเรื่องเฟกนิวส์ เรื่องประเด็นทางการเมืองก็ต้องชี้แจงด้วย โดยเฉพาะประเด็นสำคัญต่างๆ เราต้องทำความเข้าใจ ชี้แจงในสาระสำคัญมากกว่าตอบโต้ทางการเมืองเป็นหลัก”
‘ธนกร’ บอกด้วยว่า ในฐานะโฆษกรัฐบาลจะไม่ทำหน้าที่เฉพาะแถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่จะทำหน้าที่พูดในฐานะ ‘ตัวแทนนายกรัฐมนตรี – ตัวแทนรัฐบาล’ ที่จะต้องสื่อสาร ชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทันท่วงที
เรื่องด่วนที่สุดคือ โควิด ที่แม้จะมีทีมงานหลายชุดช่วยกันสื่อสาร แต่ ‘ธนกร’ ย้ำว่า ในฐานะโฆษกรัฐบาล-ตัวแทนนายกรัฐมนตรี หากสื่อสารเรื่องนี้ได้ชัดเจน ปัญหาอื่นๆ ก็จะเบาลง โดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเมือง
“ผมคิดว่าปัญหาโควิด มันก็ยังเป็นปัญหาหลัก แต่รัฐบาลเองพยายามแก้ทุกอย่าง ผมเชื่อว่าวันนี้สถานการณ์คลี่คลายขึ้น ต้องยอมรับว่าท่านนายกรัฐมนตรี มีความตั้งใจแก้ปัญหา บางอย่างติดขัดบ้าง แต่ท่านก็แก้ทันที ผมเชื่อว่าสิ่งที่ท่านดำเนินการจะคลี่คลายสถานการณ์ได้ในปีนี้”
“เมื่อแก้โควิดได้ทุกอย่างก็จะดีขึ้น สถานการณ์การเมืองมันจะถูกคลี่คลายตามไป ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไม่ต้องการความขัดแย้งในวิกฤติโควิด หากฝ่ายค้านหรือกลุ่มการเมือง ดั้นด้นชุมนุม ดั้นด้นสร้างความขัดแย้ง ก็จะถูกคนส่วนใหญ่ต่อต้านไม่เห็นด้วย”
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/