“..จากการแพร่ระบาดระลอกล่าสุดของสายพันธุ์เดลต้า ท่ามกลางความกังวลว่าวัคซีนเข็มแรกที่ฉีดให้ประชาชนไปก่อนหน้านี้อาจเริ่มลดประสิทธิภาพลง รัฐบาลอังกฤษได้ออกมาตรการฉีดวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้น หรือเข็มที่ 3 ให้ประชาชน 32 ล้านคน คาดว่าจะเริ่มฉีดอย่างเร็วที่สุดในวันที่ 6 ก.ย.ที่จะถึงนี้..”
-----------------------------------------------------------
ขณะนี้ ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่มีความรุนแรงมากขึ้น และสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว หลายประเทศมีอัตราการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นจนน่ากังวล และไม่รู้ว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 จะอยู่กับเราอีกนานเท่าไหร่
มีการคาดการณ์ว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 จะไม่หายไป แต่จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น เช่นเดียวกับ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ที่สามารถรักษาและลดอาการรุนแรงของโรคได้
แต่กว่าจะถึงเวลานั้น นอกจากมาตรการป้องกันตัวเองจากการรับเชื้อหรือแพร่กระจายเชื้อ เช่น การสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม การฉีดวัคซีน เป็นอีกหนทางการควบคุมการแพร่ระบาด สร้างภูมมิคุ้มกันหมู่ให้กับสังคม รวมถึงการสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย เพื่อลดอัตราการป่วยหนักอาการรุนแรงของโรคและเสียชีวิต
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษามาตรการรับมือเชื้อโควิด-19 รวมถึงแนวทางการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ในประเทศที่มีขนาดใกล้เคียงกับประเทศไทย 3 ประเทศ คือ เยอรมนี ฝรั่งเศส และอังกฤษ
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวบรวมแนวทาง - ความคืบหน้าการรับมือเชื้อโควิด-19 จากทั้ง 3 ประเทศมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
@ เยอรมนี
ประเทศเยอรมนี ฉีดวัคซีนแล้วกว่า 100 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรแล้วกว่า 60% แต่ยอดผู้ติดเชื้อก็ยังคงพุ่งสูงขึ้น สวนทางกับอัตราการฉีดวัคซีนที่ชะลอตัวลง โดยทางการเยอรมนีเกรงว่า ชาวเยอรมันที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว อาจติดเชื้อและแพร่เชื้อไวรัสในอีกไม่กี่สัปดาห์และหลายเดือนข้างหน้า
โดยในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ความต้องการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประชากรในเยอรมนีลดลงอย่างมาก และภาครัฐมีความพยายามผลักดันให้มีการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น โดยตั้งจุดฉีดวัคซีนที่ร้านค้าขนาดใหญ่สถานที่ยอดนิยมใจกลางเมือง หรือเสนอสิ่งจูงใจต่างๆ
และเพื่อเป็นการกระตุ้นให้คนรับวัคซีนมากขึ้น รัฐบาลจึงมีนโยบายยกเลิกบริการตรวจโควิด-19 ฟรี ยกเว้นสำหรับบุคคลที่ไม่ได้รับคำแนะนำให้รับวัคซีนด้วยเหตุผลทางการแพทย์ เช่น เด็ก สตรีมีครรภ์
นโยบายยกเลิกการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ฟรี มีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ต.ค.นี้ โดยประชาชนจะต้องจ่ายค่าตรวจหาเชื้อเอง เพื่อไม่ให้เป็นการพึ่งพาระบบการทดสอบมากเกินไป จนกลายเป็นข้ออ้างในการหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีน เนื่องจากคาดว่า ประชาชนบางส่วนอาศัยว่า มีผลตรวจไม่ติดโควิด-19 จึงคิดว่าตัวเองปลอดภัย และไม่เห็นว่าการฉีดวัคซีนเป็นเรื่องจำเป็น แต่ทั้งนี้ สำหรับมาตรการป้องกันตนเอง เช่น การสวมหน้ากากอนามัย ยังคงต้องสวมใส่เมื่ออยู่ภายในอาคาร เช่น สำนักงาน โรงเรียน ร้านค้า และการขนส่งสาธารณะ
อีกทั้งขณะนี้ รัฐบาลได้มีข้อกำหนดว่า หากประชาชนต้องการเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ก็ตาม หรือเข้าใช้บริการพื้นที่สาธารณะ ตั้งแต่การรวมกลุ่มในอาคาร การไปร้านอาหาร การไปโบสถ์ โรงละคร หรือสนามฟุตบอล จะต้องมีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน หรือยืนยันผลตรวจโควิด-19 ซึ่งผลการตรวจหาเชื้อเพื่อใช้บริการต่างๆ จะต้องมีการอัพเดตทุกๆ 2-3 วันหรือ 1 สัปดาห์ เพื่อให้ข้อมูลเป็นปัจจุบัน
“ข่าวร้ายคือ อัตราการฉีดวัคซีนของเราลดลงอย่างมาก รัฐบาลหวังว่า ประชากร 75% จะได้รับวัคซีนครบโดส ซึ่งขณะนี้เยอรมนีมีวัคซีนโควิด-19 เพียงพอสำหรับประชากรทั้งหมด โดยมีประชากรมากกว่าครึ่งประเทศได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว และผลการศึกษาพบว่า วัคซีนที่เยอรมนีมี มีประสิทธิภาพในการป้องกันกรณีป่วยหนักจากโควิด-19 รวมถึงจากการติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าได้” นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าว
ด้าน นายมาร์คุส โซเดอร์ ผู้ว่าการรัฐบาวาเรีย กล่าวว่า การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้ประชาชนฟรีในปัจจุบัน อาจจะไม่ยุติธรรมกับผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว หากจะต้องจ่ายเงินภาษีมาเป็นค่าตรวจหาเชื้อฟรีให้กับคนที่ไม่ยอมฉีดวัคซีน
ภาพจาก: straitstimes.com
@ ฝรั่งเศส
สำหรับประเทศฝรั่งเศส จัดการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เมื่อนับถึงวันที่ 27 ส.ค.2564 ฉีดวัคซีนครบโดสให้กับประชนครอบคลุมแล้ว 66% ของประชาการทั้งหมด ถือได้ว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด 67 ล้านคน ฉีดวัคซีนครบสองโดสแล้ว แต่ยอดผู้ติดเชื้อรายวันก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 11 ส.ค.2564 นายกาเบรียล อัตตัล โฆษกรัฐบาลฝรั่งเศส ประกาศปรับเปลี่ยนมาตรการใหม่เพื่อควบคุมโควิด-19 หลังมีการประชุมหารือกันร่วมกับนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยระบุว่า จะยกเลิกการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 สำหรับประชาชนฟรี ยกเว้นผู้ที่มีใบสั่งจากแพทย์ ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะเริ่มปฏิบัติสอดคล้องกันในหลายประเทศของสหภาพยุโรป นำร่องด้วยเยอรมนี โดยมาตรการนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการฉีดวัคซีน
นอกจากนี้ ฝรั่งเศส ยังดำเนินมาตรการอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะ มาตรการแสดงใบรับรองสุขภาพ หรือ Health Pass เป็นเอกสารการแสดงผลตรวจเชื้อโควิด-19 ว่าเป็นลบ ในช่วง 48 ชั่วโมงที่ผ่าน รับรองการฉีดวัคซีน หรือเคยติดเชื้อโควิด-19 และหายดี ก่อนเข้าใช้บริการสถานที่ต่างๆ พื้นที่สาธารณะ ที่มีผู้ใช้บริการตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป หรือมีผู้เข้าร่วม 1,000 คนขึ้นไป รวมถึงขนส่งสาธารณะ และโรงพยาบาล และสำหรับการตรวจสอบชายแดนของฝรั่งเศสจะมีความเข้มงวดมากขึ้น และจะมีการทดสอบแอนติเจนกับทุกคนที่เดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยง (อ่านประกอบ: ทำความรู้จัก 'Health Pass' บัตรผ่านก่อนเข้าใช้พื้นที่สาธารณะ-ร้านอาหารยุคโควิด)
“การตรวจหาเชื้อซ้ำๆ ไม่ได้หมายความว่าคุณไม่แพร่เชื้อให้คนอื่น หรือป้องกันการเข้าโรงพยาบาลได้ ภายในกลางเดือน ต.ค.นี้ ประชาชนทุกคนจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง รัฐได้ตัดสินใจที่จะยุติการทดสอบฟรีโดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ ตามประกาศของประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา และเป็นมาตรการในหลายประเทศเพื่อนบ้านในสหยุโรปเช่นกัน” โฆษกรัฐบาลฝรั่งเศสกล่าว
นอกจากนี้ ฝรั่งเศสยังมีมาตรการการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงและผู้สูงอายุในช่วงกลางเดือน ก.ย.นี้ โดยทางกระทรวงสาธารณสุขจะแจ้งรายละเอียดของกลุ่มเสี่ยงว่าจะเป็นกลุ่มใดบ้างอีกครั้ง และจะเปิดให้ลงทะเบียนจองคิวตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ส.ค.นี้เป็นต้นไป
นายอเลน ฟิชเชอร์ หัวหน้าสภาการจัดการวัคซีน กล่าวว่า ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา มีแนวโน้มที่จะมีความสำคัญอันดับแรกควบคู่ไปกับผู้ที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน
สำหรับการสวมหน้ากากอนามัย ยังคงเป็นสิ่งที่ยังคงต้องปฏิบัติอยู่ แม้ว่ากฎหมายจะไม่ได้กำหนด แต่สถานที่หลายแห่งทั่วประเทศ ยังคงขอให้ผู้เข้าใช้บริการสวมหน้ากากอยู่
ภาพจาก: bbc.com
@ อังกฤษ
ประเทศอังกฤษเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อที่สูงขึ้น แต่อัตราการเสียชีวิตกลับลดลงจากการระบาดระลอกที่ผ่านมา เนื่องจากความพยายามระดมฉีดวัคซีนของรัฐบาล โดยนับจนถึงขณะนี้ ราว 67% ของประชากรที่มีอายุ 18-29 ปี ได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้วอย่างน้อย 1 เข็ม ขณะที่กว่า 72% ของประชากรวัยผู้ใหญ่ ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ส่วนอีก 88% เพิ่งได้รับวัคซีนเข็มแรก
จากการแพร่ระบาดระลอกล่าสุดของสายพันธุ์เดลต้า ท่ามกลางความกังวลว่าวัคซีนเข็มแรกที่ฉีดให้ประชาชนไปก่อนหน้านี้อาจเริ่มลดประสิทธิภาพลง รัฐบาลอังกฤษได้ออกมาตรการฉีดวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้น หรือเข็มที่ 3 ให้ประชาชน 32 ล้านคน คาดว่าจะเริ่มฉีดอย่างเร็วที่สุดในวันที่ 6 ก.ย.ที่จะถึงนี้
โดยคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกำลังวางแผนที่จะฉีดวัคซีนเข็ม 3 เฉลี่ยเกือบ 2.5 ล้านโดสต่อสัปดาห์ ให้แก่ประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยทุกวัยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ จากรายงานระบุว่า มีการร่างข้อเสนอให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยจะฉีดที่แขนคนละข้าง สำหรับรายละเอียดขั้นสุดท้ายยังคงต้องรอการสรุปจากคณะกรรมการร่วมด้านการฉีดวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกัน (JCVI)
โครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นได้รับการประกาศครั้งแรกเมื่อปลายเดือน มิ.ย. และขณะนี้การฉีดเข็ม 3 อยู่ระหว่างเตรียมการ โดย JCVI จะพิจารณาดำเนินการตามคำแนะนำล่าสุดและตามสถานการณ์การติดเชื้อทั่วประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
“จุดยืนเรื่องการฉีดวัคซีนกระตุ้นของ JCVI คือ เพื่อให้แน่ใจว่าภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นในหมู่ประชากรจะไม่ลดลงตลอดช่วงฤดูหนาว และเพื่อที่จะเพิ่มการต้านทานไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ แต่เนื่องจากประชากรวัยผู้ใหญ่ตอนต้นหรือวัยหนุ่มสาวส่วนใหญ่จะได้รับวัคซีนป้องกันโควิดเข็มที่ 2 ในช่วงปลายฤดูร้อน ด้วยเหตุนี้ JCVI จะพิจารณาประโยชน์ของการฉีดวัคซีนกระตุ้นในประชากรกลุ่มนี้ในภายหลัง เมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติม” กระทรวงสาธารณสุขระบุ
ที่ผ่านมา รัฐบาลอังกฤษ ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนต่างๆ ในการจัดกิจกรรม แคมเปญเพื่อกระตุ้นและจูงใจให้ประชาชนในการเข้ารับวัคซีน เช่น กิจกรรมลุ้นชิงโชคตั๋วชมการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2020 รอบชิงชนะเลิศเพื่อเป็นการกระตุ้นให้กลุ่มวัยรุ่นเข้ารับวัคซีน
กรมอนามัยและบริการสังคมของอังกฤษ (DHSC) เปิดเผยว่า บริษัทผู้ให้บริการจัดส่งอาหารและบริการเรียกยานพาหนะหลายแห่ง อาทิ อูเบอร์ โบลท์ เดลิเวอรู พิซซ่า พิลกริมส์ และอื่นๆ จะมอบข้อเสนอสุดพิเศษ เช่น ส่วนลดค่าเดินทางและค่าจัดส่งอาหารบนแพลตฟอร์ม เพื่อจูงใจกลุ่มคนหนุ่มสาวให้เข้ารับการฉีดวัคซีน นอกจากนี้ยังมีบัตรกำนัลหรือรหัสส่วนลด สำหรับผู้ที่เดินทางยังสถานที่ฉีดวัคซีนชั่วคราวอีกด้วย
รวมถึงยังมีเสนอส่วนลดจูงใจวัยรุ่นที่ฉีดวัคซีน และผู้ที่จองฉีดวัคซีนผ่านเว็บไซต์ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ว่า บริษัทต่างๆ จะไม่เก็บรวบรวมข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ร่วมโครงการแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้ร่วมกับแอปพลิเคชันหาคู่ออนไลน์ เช่น ทินเดอร์ แมตช์ และฮินจ์ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ใหญ่ในประเทศฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กันมากขึ้น โดยการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่บนแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ เพื่อสนับสนุนโครงการรณรงค์ 'การฉีดวัคซีนโควิด-19 ทุกโดส ทำให้เรามีความหวัง' ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานแอปพลิเคชันสามารถแสดงการสนับสนุนวัคซีนในโปรไฟล์หาคู่ของตน และมอบโบนัสแก่ผู้ที่ระบุว่าฉีดวัคซีนแล้วอีกด้วย
ทั้งหมดนี้คือ สถานการณ์ของแต่ละประเทศ รวมถึงมาตรการการควยคุมการแพร่ระบาด ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งเน้นการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศเพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ทั้งนี้อาจจะแตกต่างกันตามนโยบายการกระตุ้นหรือสร้างแรงจูงใจ
ภาพจาก: bbc.com
เรียบเรียงจาก:
Germany to abolish free Covid testing in bid to get more people vaccinated
Merkel prods Germans to get COVID-19 vaccine as 4th wave worries mount
End of free tests, third vaccine dose: France’s tighter Covid measures
Covid booster jabs for 32m to begin next month
ภาพประกอบจาก: bbc.com
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage