"..เมื่อพิจารณาจาก 4 ปัจจัยหลัก คือ สถานะทางเศรษฐกิจ รูปแบบการอยู่อาศัย สภาพการอยู่อาศัย และเข้าไม่ถึงบริการด้านสุขภาพที่มีอยู่ พบว่า กุลุ่มผู้สูงอายุยากจนมีความเปราะบางมากจากวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ โดยเฉพาะในเขตเมืองเปราะบางมากกว่าในเขตชนบท ดังนั้น จำเป็นต้องออกแบบระบบการดูแลและจัดบริการสนับสนุนให้กับกลุ่มผู้สูงอย่างทั่วถึงและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง.."
-----------------------------------------------------
เป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว ที่ทั่วโลกเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยสถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้ เป็นวิกฤติที่ทุกส่งผลกระทบทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราบาง ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ หรือเด็ก และยิ่งแย่ไปกว่านั้น ถ้ากลุ่มคนเหล่านี้อยู่ในสภาวะยากจน
เมื่อวันที่ 19 ส.ค.2564 สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและภาคีเครือข่าย จัดงานสัมมนาวิชาการ ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ 'ถอดบทเรียนการจัดการวิกฤตโควิด-19: ทำอย่างไรไม่ให้มีใครถูกทิ้ง'
@ คนแก่พึ่งพา 'เบี้ยผู้สูงอายุ' เพิ่มขึ้นเป็น 56%
ดร.มนทกานต์ ฉิมมามี นักวิจัยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ กล่าวถึงประเด็นผู้สูงอายุยากจนในภาวะวิกฤติโควิด-19 ว่า จากข้อมูลการวิจัยเรื่อง 'Covid-19 and Older persons: Evidence from the Survey in Thailand' โดยวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาฯ สนับสนุนโดย UNFPA พบว่า 81% ของผู้สูงอายุที่ทำงานในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ประสบกับความยากลำบากในการทำงานในช่วงวิกฤติโควิด-19 และมี 36% ที่ต้องตกงานหรือว่างงาน เนื่องจากไม่มีพื้นที่ค้าขาย หรือถูกบังคับให้รับค่าแรงที่ต่ำกว่าเดิม และพบมากในกลุ่มผู้สูงอายุในเขตเมืองมากกว่าชนบท
ผลการศึกษาพบว่า แหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุในช่วงโควิด มากจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยสัดส่วนของผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพาเงินจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เพิ่มขึ้นจาก 40% เป็น 56% ในขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุที่เคยมีเงินจากการทำงานเป็นแหล่งรายได้หลักกลับลดลงจาก 40% เหลือเพียง 22% เท่านั้น และ 1 ใน 4 ของผู้สูงอายุต้องประสบกับปัญหาทางสุขภาพจิตตั้งแต่บางครั้ง-บ่อยครั้งในช่วงวิกฤติโควิด-19 โดยส่วนใหญ่ 57.2% จะรู้สึกกังวล 47.3% ไม่อยากอาหาร 25% รู้สึกโดดเดี่ยว และ 23.3% ไม่มีความสุข โดยมีความกังวลเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของตนเองและครอบครัว กลัวว่าสุขภาพจะแย่ลงหากไม่ได้ไปพบแพทย์ตามนัด และกลัวว่าตนเองและคนในครอบครัวจะติดเชื้อ
@ บ้านที่อยู่ไม่เอื้อกับการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ
ดร.มนทกานต์ กล่าวว่า สำหรับผู้สูงอายุยากจนในภาวะวิกฤติโควิด-19 ข้อมูลจากโครงการสำรวจอุปสงค์และอุปทานด้านที่อยู่อาศัยและบริการสนับสนุนของผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยและจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยเก็บข้อมูลเมื่อเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2564 จำนวนตัวอย่างรวม 2,132 ชุด จาก 8 จังหวัด ได้แก่ กทม. เชียงราย ลำปาง นครสวรรค์ อยุธยา มหาสารคาม อุบลราชธานี และปัตตานี เป็นการสำรวจผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป และมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือมีรายได้น้อยกว่า 40,000 บาทต่อปี พบว่า สามารถแบ่งกลุ่มผู้สูงอายุเปราะบางได้ 2 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มเปราะบางด้วยสภาวะเศรษฐกิจ เป็นกลุ่มผู้สูงอายุยากจนที่ยังคงทำงานอยู่ประมาณ 33% ส่วนใหญ่อยู่ภาคนอกระบบ ได้แก่ รับจ้างทั่วไป ค้าขาย และทำงานในภาคเกษตร และ 71% ของผู้สูงอายุยากจนที่ทำงานอยู่มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 1,001-3,300 บาท
2. กลุ่มเปราะบางด้วยที่อยู่อาศัย เป็นกลุ่มผู้สูงอายุยากจนบางส่วนไม่มีความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย มีกลุ่มที่ไม่ได้เป็นเจ้าของทั้งบ้านและที่ดิน 19% และอีกลุ่มหนึ่งคือ เป็นเจ้าของเพียงบ้านหรือที่ดินอย่างใดอย่างหนึ่ง 15%
แม้ส่วนใหญ่กลุ่มผู้สูงอายุจะอาศัยอยู่ชั้นล่าง และมีห้องน้ำอยู่ชั้นล่าง แต่ยังมีกลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มที่อาศัยอยู่ใต้ถุนบ้าน และบางส่วนที่มีที่นอนและห้องน้ำอยู่ชั้นบนของบ้าน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการพลัดตกหก แต่สภาพบ้านและสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้สูงอายุยากจน ไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีในบ้านได้ รวมถึงไม่สามารถทำตามมาตรการเว้นระยะห่างในช่วงวิกฤติโควิด-19 ด้วย
@ ควรเพิ่มสวัสดิการให้ผู้สูงอายุเหมือนกับเพิ่มเงินบัตรคนจน
ดร.มนทกานต์ กล่าวถึงข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้สูงอายุยากจนอย่างยั่งยืน ว่า สำหรับผู้สูงอายุ เมื่อยิ่งสูงอายุ ยิ่งพึ่งพาสวัสดิการของรัฐเป็นหลัก โดยเฉพาะเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ดังนั้น ควรพิจารณาการพัฒนาระบบคุ้มครองทางสังคม (comprehensive social protestation system) สำหรับกลุ่มสูงอายุ รวมถึงการเพิ่มสวัสดิการให้กับกลุ่มนี้ในภาวะยากลำบากและภาวะวิกฤติ ดังเช่นกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่ม และมาตรการเยียวยากลุ่มเปราะบาง 3 กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ของ พม.
ออกแบบระบบดูแลและจัดบริการสนับสนุนสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงที่ต้องมีระบบการดูแลเป็นพิเศษ เช่น ระบบการดูแลโดยชุมชน รัฐ และอาสาสมัคร เพื่อให้สำมารถเข้าถึงบรี้การได้ในช่วงวิกฤต การพัฒนาระบบผู้ดูแลผู้สูงอายุ (caregivers) ให้มีความเข้มแข็งทั้งในเขตเมืองและชนบท เป็นต้น
รวมถึงการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ ผ่านโครงการจ้างงานโดยตรงจากภาครัฐและเอกชน และการพัฒนาทักษะฝีมือในการทำงานให้กับผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมการกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน รวมถึงยืนอายุการอยู่ในตลาดแรงงานสำหรับกลุ่มที่ยังต้องการและจำเป็นต้องทำงาน ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้สูงอายุยังคงสามารถพึ่งพารายได้จากการทำงานของตัวเองได้ ในกรณีไม่มีบุตรหรือครอบครัวสนับสนุนด้านการเงินในยามชราภาพ
"เมื่อพิจารณาจาก 4 ปัจจัยหลัก คือ สถานะทางเศรษฐกิจ รูปแบบการอยู่อาศัย สภาพการอยู่อาศัย และเข้าไม่ถึงบริการด้านสุขภาพที่มีอยู่ พบว่า กุลุ่มผู้สูงอายุยากจนมีความเปราะบางมากจากวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ โดยเฉพาะในเขตเมืองเปราะบางมากกว่าในเขตชนบท ดังนั้น จำเป็นต้องออกแบบระบบการดูแลและจัดบริการสนับสนุนให้กับกลุ่มผู้สูงอย่างทั่วถึงและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" ดร.มนทกานต์ กล่าว
@ โรงเรียน สถานที่แรกๆ ที่ถูกสั่งปิด
ด้าน นายธันยธรณ์ โรจน์มหามงคล ประธานฝ่ายพัฒนาสังคมและบำเพ็ญประโยชน์ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ กล่าวว่า โรงเรียนเป็นสถานที่มีมาตรการสั่งปิดเป็นอันดับแรกๆ หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เนื่องจากโรงเรียนเป็นสถานที่มีผู้คนมาพบเจอกันทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้ง่ายและเมื่อโรงเรียนถูกปิดไป แต่ว่าการศึกษา ก็ต้องเดินต่อไป ชีวิตของนักเรียน ความรู้ของนักเรียนก็ต้องพัฒนาต่อไป จึงมีการปปรับรูปแบบการเรียนการสอนมาทดแทนการเรียนในห้องเรียนตามปกติ เป็นการเรียนออนไลน์
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่กินระยะเวลามา 1 ปี 7 เดือน และมีการปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ต่างๆ มาพอสมควรแล้ว รวมถึง การเรียนวิถีใหม่ด้วย แต่ทั้งนี้ ก็ยังพบว่ามีบางคน บางกลุ่มที่ถูกทิ้งอยู่ข้างหลังอยู่ มีการคาดการณ์จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ว่า จะมีเด็กนักเรียนกว่า 2 ล้านคนเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา เนื่องจากภาวะวิกฤตโควิด และความเหลื่อมล้ำในปัจจุบัน
แม้ว่าทางกระทรวงศึกษาธิการได้มีการออกนโยบายสำหรับการจัดการเรียนการสอนในช่วงการระบาดของโควิด-19 หรือที่เรียกว่า 5 On ประกอบด้วย On-site On-air Online On-Demand และ On-hand โดยให้แต่ละสถานศึกษาเป็นผู้ตัดสินใจในการเลือกรูปแบบการสอนให้เข้ากับสถานการณ์และพื้นที่
@ ส่งต่อโทรศัพท์ เพื่อน้องได้เรียน
นายธันยธรณ์ กล่าวว่าปัญหาการเรียนออนไลน์ แบ่งเป็น 3 ด้าน คือ ด้านเด็ก ประสบปัญหาการเรียนไม่รู้เรื่อง อุปกรณ์ไม่พร้อม เป็นต้น ด้านผู้ปกครอง ประสบปัญหาด้านภาระค่าใช้จ่ายอุปกรณ์การเรียนต่างๆ ค่าอินเทอร์เน็ต รวมไม่ถึงไม่มีเวลาสอนเด็ก และด้านครูผู้สอน ในโรงเรียนขนาดใหญ่ ปัญหาไม่มากหนัก เนื่องจากมีความพร้อมของอุปกรณ์และมีเงินสนับสนุน แต่สำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก ไม่ว่าจะในเขตพื้นที่ชุมชนเมืองหรือต่างจังหวัด แม้ว่าในสภาวะปกติ ก็ประสบปัญหา เช่น ขาดแคลนครู อุปกรณ์การสอนไม่พร้อม เป็นต้น อีกทั้งเมื่อปรับมาเรียนออนไลน์ ผู้ปกครองไม่มีเวลา ทำให้เกิดความคาดหวังที่ครูจะต้องเป็นคนดูแลรับผิดชอบ
องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงจัดตั้ง โครงการ #น้องฉันต้องได้เรียน เพื่อช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่ประสบปัญหาไม่มีอุปกรณ์การเรียนในชุมชนรอบจุฬาฯ โดยเป็นสื่อกลางในการรับสมาร์ทโฟนเก่า หรือสมาร์ทโฟนที่ไม่ได้ใช้แล้ว เพื่อนำไปแจกจ่าย โดยจะนส่งให้โรงเรียนเพื่อให้โรงเรียนจัดสรรให้กับนักเรียนต่อไป โดยโครงการ ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ 1 เดือน ได้ส่งต่อโทรศัพท์แล้ว 274 เครื่อง มาจากการสนับสนุนของบริษัท 150 เครื่อง และรายย่อย 124 เครื่อง และจัดสรรให้โรงเรียนแล้วทั้งสิ้น 236 เครื่อง ใน 12 โรงเรียน ภายในเขตปทุมวันและเขตบางรัก ส่วนในเรื่องของอินเทอร์เน็ต เนื่องจากราคาซิมอินเทอร์เน็ตมีราคาที่ค่อนข้างสูง ทางโครงการจึงพยายามหาวิธีการช่วยเหลือ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการติดต่อ หาทางเพื่อช่วยเหลือต่อไป
ทั้งหมดนี้ คือการสะท้อนปัญหาของกลุ่มเปราะบางที่ได้เดิมก็มีปัญหาในเรื่องความยากจน ความเลื่อมล้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมเมือง เมื่อมีสถานกาณ์โควิด ยิ่งส่งผลกระทบมากขึ้นไปอีก จะต้องติดตามต่อไปว่ารัฐจะมีการบริหารจัดการสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไรให้ไม่ต้องมีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage