“..ในภาพรวมที่เกิดขึ้นตอนนี้ คนในสังคมต่างความชื่นชมและเข้าใจบุคคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ทำหน้าที่เสียสละ และปฏิบัติเต็มกำลังความสามารถ และผมเชื่อว่าไม่มีใครคิด และยังไม่เห็นใครที่ฟ้องร้องแพทย์หรือบุคลลากรทางสาธารณสุข ที่ไม่สามารถช่วยชีวิตครอบครัวได้ ทุกคนไม่ติดใจเอาผิดจากคนกลุ่มนี้ เพราะเขาทำหน้าที่เต็มที่..”
------------------------------------------------------
สืบเนื่องจาก ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโควิด กระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 282 เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2564 โดยมี นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน มีมติมอบกรมสนับสนุนบริการสุขภาพพิจารณาการปรับปรุงกฎหมายเพิ่มเติมในประเด็นการคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์สำหรับการปฏิบัติงานตามข้อสั่งการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนเป็นที่มาของ 'พระราชกำหนดจำกัดความรับผิด สำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ…'
สำหรับสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.ก.จำกัดความรับผิด สำหรับบุคลากรสาธารณสุขฯ ระบุว่าบุคคลที่ได้การคุ้มครองไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย 7 กลุ่ม ประกอบด้วย
1. ผู้ประกอบโรคศิลปะตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ
2. ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุข
3. ผู้ปฏิบัติการตามกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉิน
4. อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
5. อาสาสมัครเฉพาะกิจ
6. บุคคลที่ได้รับการร้องขอจากผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อให้ปฏิบัติงานตามพระราชกำหนด
7. บุคคลหรือคณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งหรือมอบหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหาหรือบริหารวัคซีน
และ 3 สถานพยาบาล ดังนี้
1. สถานพยาบาลซึ่งดำเนินการโดยกระทรวง ทบวง กรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษาของรัฐ หน่วยงานอื่นของรัฐ สภากาชาดไทย
2. สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล และให้หมายความ
3. สถานที่ซึ่งบุคลากรสาธารณสุขปฏิบัติงานตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย เพื่อให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโควิด
ที่จะได้รับการคุ้มครอง ไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย ทั้งความรับผิดทางแพ่ง ความรับผิดทางอาญา ความรับผิดทางวินัย และความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ รวมถึงกรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นจากผลสืบเนื่องหรือภาวะแทรกซ้อน อันเนื่องมาจากการปฏิบัติงาน ภายหลังจากสถานการณ์ฉุกเฉินสิ้นสุดลง และไม่ตัดสิทธิขในการได้รับการช่วยเหลือหรือเยียวยาตามมาตรการของรัฐหรือตามที่กฎหมายกำหนด
ยกเว้น การกระทำนั้นเป็นไปโดยไม่สุจริต การกระทำนั้นเป็นไปโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และการกระทำนั้นเกิดหรือมูลเหตุมาจากการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
เป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจและจับตามอง และเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว โดยเฉพาะบุคลากรในกลุ่มที่ 7 บุคคลหรือคณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งหรือมอบหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหาหรือบริหารวัคซีน จนเกิดแคมเปญ ‘คัดค้าน พ.ร.ก.นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง’ นำโดยเครือข่าย Nurses Connect ระบุว่า หยุดอ้างว่านี่คือการปกป้องคนทำงาน หยุดอ้างว่านี่คือการให้กำลังใจบุคลากรด่านหน้า เพราะบุคลากรด่านหน้า และอาสาสมัครต่างๆ ทำงานเต็มที่โดยอยู่บนมาตรฐานวิชาชีพอย่างสูงสุดเท่าที่สถานการณ์จะเอื้อให้ทำได้ และพวกท่านทั้งหลายจงหยุดอ้างว่า ทั้งหมดเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน แต่พวกท่านจงระลึกว่า เพราะการทำงานของพวกท่านนั่นเองที่นำพาประเทศและการสาธารณสุขให้ดิ่งลงเหวมาจนถึงจุดนี้ และพวกท่านนั่นแหละต้องรับผิดชอบกับการกระทำของตนเอง
@ ไม่เข้าเงื่อนไขหลักเกณฑ์การออกพระราชกำหนด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สอบถามไปยัง รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงประเด็นดังกล่าวว่า ร่าง พ.ร.ก.จำกัดความรับผิด สำหรับบุคลากรสาธารณสุขฯ ที่เผยแพร่ออกมานั้น มีการตั้งคำถามถึงจุดประสงค์ของกฎหมายฉบับดังกล่าวว่า เป็นการให้ความคุ้มครองบุคลากรทางสาธารณสุข หรือว่าเป็นเรื่องการพยายามเอาตัวรอดในทางการเมืองของคนบางกลุ่มเท่านั้น
รศ.ดร.มุนินทร์ เปิดเผยว่า ระบบการออกกฎหมายในระบอบประชาธิปไตยนั้น การออกกฎหมาย จะต้องผ่าน รัฐสภา ที่ทำหน้าที่ทางนิติบัญญัติ เพื่อใช้บริหารราชการแผ่นดิน ทำหน้าที่ควบคุมตรวจตราดูแลการบริหารงานของรัฐบาลให้เป็นไปตามนโยบาย แต่ในกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนฉุกเฉินที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ รัฐบาล ที่ทำหน้าที่ทางฝ่ายบริหาร สามารถใช้อำนาจออก พระราชกำหนด (พ.ร.ก) ได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 กำหนดถึงเหตุความจำเป็นในการออกพระราชกำหนดไว้ว่า จะต้องเป็นกรณีเพื่อประโยชน์ในการที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ และให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้
แต่ พ.ร.ก.จำกัดความรับผิด สำหรับบุคลากรสาธารณสุขฯ ไม่เข้าเงื่อนไขใดในรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 เพราะจุดประสงค์ของร่างกฎหมายฉบับนี้ บ่งชี้ว่า เพื่อปกป้องคุ้มครอง จำกัดความรับผิดของบุคลากรบางกลุ่มเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อรักษาผลประโยชน์โดยรวมของสังคม
รศ.ดร.มุนินทร์ กล่าวว่า ที่ผ่านประเทศไทยมีการออก พ.ร.ก.หลายฉบับ เช่น พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่ออกมาเพื่อปกป้องความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง สถานการณ์ความปลอดภัยของประเทศ และ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พ.ศ. 2555 ที่ออกมาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนกับคนทั้งประเทศที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ภัยพิบัติสาธารณะ
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในปัจจุบัน ศ.ดร.มุนินทร์ กล่าวว่า พ.ร.ก.ที่รัฐบาลควรจะออก และเงื่อนไขตรงกับเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ ม.173 คือ พ.ร.ก.ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ก็อาจจะเข้าเงื่อนไขความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศได้ หรือ พ.ร.ก.การจัดการวัคซีน เพื่อแก้ไขอุปสรรคที่อาจจะเกิดจากกฎหมายเดิมที่มีอยู่ ก็จะเข้าเงื่อนไขป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะได้ เพราะการจัดการวัคซีน เป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนทั้งประเทศ
นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2563 บุคลกรทางการแพทย์ก็ปฏิบัติหน้าที่ทำการรักษา และด้านอื่นๆ เช่น การจัดหาวัคซีน มาแล้วเกือบ 2 ปี ดังนั้น ร่างกฎหมายฉบับนี้ ก็ไม่เข้าเงื่อนไขเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากถ้าจะมีการจัดทำควรจัดทำตั้งแต่ปีที่แล้ว หรือต้นปีที่ผ่านมา
“เหตุการณ์โควิดเกิดขึ้นเกินครึ่งปีแล้วในปีนี้ เห็นปัญหาความผิดพลาด และคนเริ่มเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบ คนเริ่มฟ้องร้องภาครัฐหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทำให้เรามองเห็นว่า การที่ต้องการ พ.ร.ก.ฉบับนี้ ก็เพื่อคุ้มครองเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือผู้กำหนดนโยบายทั้งหลาย เป็นเกมที่ต้องการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการฟ้องร้องเท่านั้นเอง”
(รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์)
@ แพทย์-พยาบาลฝ่ายปฏิบัติ มีความผิดอะไร?
รศ.ดร.มุนินทร์ กล่าวถึงความจำเป็นของ พ.ร.ก.จำกัดความรับผิด สำหรับบุคลากรสาธารณสุขฯ ว่า จุดประสงค์ของกฎหมายฉบับนี้ เพื่อป้องกันความรับผิดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ แต่คำถามคือ ภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน บุคคลากรทางแพทย์สาธารณสุขที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ขณะนี้ มีความรับผิดหรือมีความผิดอะไรหรือไม่
อีกทั้งในระบบกฎหมาย มีพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 8 วรรคหนึ่ง ได้ให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตไว้แล้ว กล่าวคือ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ หน่วยงานของรัฐต้องเป็นผู้รับผิดต่อผู้เสียหาย ผู้เสียหายต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐโดยตรง จะฟ้องเจ้าหน้าที่ที่กระทำละเมิดไม่ได้ และในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ไปแล้ว หากเจ้าหน้าที่ผู้นั้นได้กระทำละเมิดไป โดยไม่ใช่ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หน่วยงานของรัฐก็ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคืนให้แก่หน่วยงานของรัฐได้
ดังนั้น บุคลากรสาธารณสุขหากปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ ที่จะไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิดของตนอยู่แล้ว
“ในภาพรวมที่เกิดขึ้นตอนนี้ คนในสังคมต่างความชื่นชมและเข้าใจบุคคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ทำหน้าที่เสียสละ และปฏิบัติเต็มกำลังความสามารถ และผมเชื่อว่าไม่มีใครคิด และยังไม่เห็นใครที่ฟ้องร้องแพทย์หรือบุคลลากรทางสาธารณสุขที่ไม่สามารถช่วยชีวิตครอบครัวได้ ทุกคนไม่ติดใจเอาผิดจากคนกลุ่มนี้ เพราะเขาทำหน้าที่เต็มที่”
@ พ.ร.ก.เอื้อประโยชน์คนกลุ่มเดียว
รศ.ดร.มุนิทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยสรุปตามระบบกฎหมายในปัจจุบันและภาพรวม บุคลากรทางแพทย์สาธารณสุขที่ปฏิบัติหน้าที่ส่วนใหญ่ไม่มีความรับผิดอะไร และในเมื่อไม่มีความรับผิดอะไรเลย จึงไม่มีความจำเป็นต้องยกเว้นความผิดหรือได้รับการคุ้มกันทางกฎหมายใด
แต่ถ้าดูตามข้อเสนอ ร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้ จะเห็นได้ว่ามีกลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์ด้วย คือ กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง ผู้กำหนดนโยบาย เช่น ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด (ศบค.) คณะกรรมการจัดหาวัคซีน ถือว่าเป็นคนกลุ่มน้อยที่จะได้รับประโยชน์ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้อง จากการตัดสินใจหรือปฏิบัติหน้าที่บริหารผิดพลาด ทำให้เกิดความเสียหาย
ขณะนี้ ประชาชนส่วนใหญ่มองเห็นถึงปัญหาได้อย่างชัดเจนว่า ปัญหาไม่ได้มาจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติ แต่เป็นปัญหาที่ฝ่ายกำหนดนโยบาย เช่น การจัดหาวัคซีน การกระจายวัคซีน นโยบายการรักษา เป็นต้น โดยพยานหลักฐานที่ชัดเจน คือ จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นในทุกวัน
“กฎหมายฉบับนี้ มีจุดประสงค์อย่างชัดเจน คือเพื่อป้องกัน ปกป้อง คนกลุ่มฝ่ายนโยบายไม่ให้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติส่วนใหญ่ที่ทำงานอยู่ตอนนี้ เพราะว่าคนกลุ่มนั้นไม่ได้มีความรับผิดอะไร”
@ การออกกฎหมายต้องไม่ขัดหลักนิติธรรม
รศ.ดร.มุนินทร์ กล่าวด้วยว่า ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ไม่เข้าเข้าหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 จึงไม่สามารถออกในรูปแบบ พ.ร.ก.ได้ และถ้าหากจะออกในรูปแบบ พ.ร.บ.ตามกระบวนการนิติบัญญัตินั้น ก็สามารถทำได้ แต่ต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ซึ่งคำถามคือ การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ควรจะออกกฎหมายเพื่อจำกัดความรับผิดของตนเองหรือไม่ คำตอบคือไม่สามารถทำได้ เพราะขัดต่อหลักนิติธรรม และไม่เป็นไปตามหลักการที่ควรจะเป็น เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีความรับผิดชอบสูงสุดต่อนโยบายที่ตนเองออก ถ้าเกิดความเสียหาย ก็ต้องรับผิดชอบ ทั้งทางกฎหมายและทางการเมือง
“ถ้าเรายอมรับที่รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ สามารถใช้กลไกกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายผ่านรัฐสภา หรือพระราชกำหนดเพื่อจำกัดหรือยกเว้นความผิดตัวเองได้ หลักนิติธรรมก็ล่มสลาย เพราะต่อไปนี้ทุกครั้ง ถ้าเห็นว่ามีความเสี่ยงจะถูกฟ้องร้องในการบริหารจัดการผิดพลาด ก็จะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการยกเว้นความรับผิดให้ตัวเอง”
@ นิรโทษกรรมให้กับผู้จงใจ ขัดหลักความเสมอภาค
ผศ.ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า พ.ร.บ.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขฯ ไม่มีความจำเป็น เพราะถ้าบุคลากรมีการกระทำโดยสุจริต ไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายในฐานะปัจเจกบุคคล ส่วนหน่วยงาน ยังต้องชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นแม้กระทำโดยสุจริต
ผศ.ดร.ทศพล กล่าวด้วยว่า แต่ถ้าจะนิรโทษกรรมให้กับความรับผิดที่เกิดจากการจงใจทำให้เกิดความเสียหาย หรือประมาทเลินเล่ออย่างแรง จะกระทำมิได้ เพราะไปตัดสิทธิของบุคคล (ผู้เสียหาย) ที่จะเรียกร้องให้มีการเยียวยาตามกฎหมาย เช่นเดียวกับ การนิรโทษกรรมให้กับผู้จงใจ ทำให้เกิดความเสียหายโดยเลือกปฏิบัติโดยปราศจากเหตุอันชอบธรรม ก็เป็นเรื่องที่นิรโทษกรรมไม่ได้ เพราะขัดกับหลักความเสมอภาคของบุคคล ไม่ถูกเลือกปฏิบัติในการได้รับสิทธิทางสาธารณสุข อันเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญเช่นกัน
“เพราะฉะนั้น ถ้าไม่นับหลักกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว คนที่ได้ประโยชน์จริงๆ ตาม พ.ร.ก.ฉบับนี้ ที่เพิ่มมานอกเหลือหลักกฎหมายเดิม คือ บุคคลและคณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งหรือมอบหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหาหรือบริหารวัคซีน ซึ่งเป็นการนิรโทษกรรมแก๊งจัดการวัคซีน เพื่อให้พ้นจากความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่”
ผศ.ดร.ทศพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งที่คนทั้งประเทศและคนทั้งโลกเห็นชัดว่า กลุ่มบุคลากรที่ทำหน้าที่ในการจัดหาหรือบริหารวัคซีนนั้น ทำหน้าที่บกพร่อง และโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เนื่องจากมีข้อมูลออกมามากมายทั้งทางวิชาการ การติดต่อจากโครงการโคแว็กซ์ และรัฐบาลประเทศอื่น แต่ประเทศไทยกลับไม่เข้าร่วมโครงการ และไม่รับความช่วยเหลือ อีกทั้งไม่ทำสัญญาซื้อวัคซีนหลากหลาย อันเป็นเหตุให้วัคซีนขาดแคลน ทั้งที่โดนเตือน และมีวิถีทางอื่นที่ทำได้เพื่อป้องกันผลร้ายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
จึงสรุปได้ว่า พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโควิด ยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ในการตราพระราชกำหนดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 และอาจจะยังไม่มีความจำเป็นในสำหรับการนิรโทษบุคลกรทางการแพทย์และสาธารณสุข เนื่องจากมีกฎหมายคุ้มครองอยู่แล้ว อีกทั้ง พ.ร.ก.ฉบับนี้อาจจะเอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลเพียงกลุ่มเดียว
ต้องติดตามต่อไปว่าจะมีการออก พ.ร.ก.ฉบับนี้หรือไม่และมีสาระสำคัญเป็นอย่างไร
(ผศ.ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage