"...สำหรับข้อมูลประเทศเพื่อนบ้านของไทย พบในส่วนของประเทศสิงคโปร์ ว่ามีการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธีการที่หลากหลาย อาทิ การตรวจแบบพีซีอาร์ที่มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 150 -200 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 3,649 บาท- 4,865 บาท แต่ถ้าหากมีนายแพทย์เป็นผู้แนะนำให้ตรวจ ก็จะได้รับการตรวจพีซีอาร์ฟรี..."
............................
วิธีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ของประเทศไทย ผ่านชุดเครื่องมือตรวจสอบในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ใน 2 ประเด็นหลัก คือ 1. เข้าถึงได้ยาก 2. อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือหาซื้อได้ยาก และ 2. สินค้าที่มีขายกันอยู่ มีราคาแพง แถมยังสุ่มเสี่ยงเรื่องผลการตรวจสอบที่ออกมาว่าอาจจะไม่ตรงตามความเป็นจริง อันเนื่องมาจากประสิทธิของชุดตรวจ และความรู้ความเข้าใจในการใช้เครื่องมือของประชาชนที่ไม่เพียงพอเอง
พร้อมกระแสเรียกร้องให้รัฐบาล หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง รีบเข้ามาหาทางแก้ไขปัญหาโดยเร็ว
ภายใต้กระแสเรียกร้องเรื่องนี้ น่าสนใจว่าในประเทศต่าง ๆ มีแนวทางปฏิบัติ และนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นฐานข้อมูลในต่างประเทศ ทั้งเรื่องค่าใช้จ่าย ราคาชุดตรวจโควิด และนโยบายของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะเป็นทางการ พบข้อมูลในส่วนของประเทศชั้นนำในยุโรป และสิงคโปร์ ดังต่อไปนี้
@ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
สำหรับกรณีผู้ที่เดินทางเข้าประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทางการของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จะมีการให้บริการนัดหมายให้มีการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีเครือข่ายของโรงพยาบาลเอกชนฮิสลันเดน (Hirslanden) ที่ถือว่าเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศดำเนินการจัดทำศูนย์ตรวจโควิดที่ทันสมัยทั่วประเทศ
ดำเนินการตรวจหาเชื้อในรูปแบบการตรวจพีซีอาร์ (การตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส) ซึ่งจะให้ผลได้ภายในระยะเวลาประมาณ 24-48 ชั่วโมง และมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 180 ฟรังค์สวิส หรือประมาณ 6,479 บาท
ส่วนที่สนามบินในนครซูริคจะมีบริการให้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทั้งระบบพีซีอาร์และระบบแอนติเจนเช่นกัน ซึ่งการตรวจแบบพีซีอาร์นั้นจะใช้เวลาแจ้งผลประมาณ 5 ชั่วโมง มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 195 ฟรังค์สวัส หรือประมาณ 7,020 บาท และการตรวจแบบแอนติเจน จะอยู่ที่ 80 ฟรังค์สวิส หรือประมาณ 2,880 บาท โดยจะใช้เวลารอผลประมาณ 15-20 นาที
อย่างไรก็ตาม สำหรับพลเมืองสวิสนั้น รัฐบาลสวิสจะช่วยเหลือในเรื่องค่าใช้จ่ายการตรวจแบบพีซีอาร์ให้ ถ้าหากว่าบุคคลที่ตรวจมีอาการป่วยโควิดขั้นพื้นฐาน ได้รับคำเตือนจากแอปพลิเคชัน SwissCovid ได้รับคำแนะนำจากบุคลากรงการแพทย์ว่าจะต้องไปตรวจโควิด
สำหรับการตรวจแบบแอนติเจนนั้น รัฐบาลสวิสจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายการตรวจทั้งหมด หากมีการไปตรวจที่ศูนย์, ที่นายแพทย์ประจำในโรงพยาบาลหรือว่าในร้านขายยา ซึ่งการตรวจเหล่านี้จะไม่มีค่าใช้จ่าย
แม้ว่าผู้ไปตรวจจะไม่มีอาการก็ตาม โดยโควตาของการตรวจฟรีนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 5 ครั้ง ภายในระยะเวลา 30 วัน
การตรวจพีซีอาร์ที่สนามบินนครซูริค (อ้างอิงวิดีโอจาก Mama AMOR)
@ประเทศฝรั่งเศส
การตรวจพีซีอาร์และการตรวจแอนติเจนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายในประเทศ
โดยประชาชนฝรั่งเศสที่ได้รับการคุ้มครองในระบบประกันสังคม รวมไปถึงผู้ที่อาศัยอยู่ต่างประเทศที่กลับมายังประเทศนั้นสามารถร้องขอการตรวจโควิดได้ฟรี ถ้าหากเป็นกรณีที่ได้รับใบสั่งจากแพทย์และได้รับการยืนยันว่าเป็นกลุ่มที่เสี่ยงกับการติดเชื้อ
ส่วนในกรณีผู้ที่ไม่มีประกันสังคม การตรวจโควิดแบบพีซีอาร์จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 49 ยูโร (1,908 บาท) และการตรวจพีซีอาร์จะอยู่ที่ 29 ยูโร (1,129 บาท)
@ประเทศเยอรมนี
สำหรับที่ประเทศเยอรมนีนั้น สำนักข่าวอิศรา ได้เคยระบุรายละเอียดนโยบายการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในรายงานส่องคดีทุจริตโลกเอาไว้แล้วว่า เยอรมนีได้มีการตั้งศูนย์การตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ตามท้องถนนหลายเมืองในประเทศเยอรมนี อาทิ กรุงเบอร์ลิน มีศูนย์การตรวจโควิด-19 อยู่ถึง 400 แห่ง
ด้วยข้อบังคับในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ของประเทศเยอรมนี ที่ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า ผู้อยู่อาศัยในเมืองจะต้องมีการตรวจหาแอนติเจนแบบรวดเร็วอันไม่เสียค่าใช้จ่าย อาทิตย์ละอย่างน้อยหนึ่งครั้ง
โดยประชาชนที่มีผลตรวจโควิดที่อัปเดตรายสัปดาห์ว่าเป็นลบนั้นถึงจะสามารถดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวัน การจับจ่ายใช้สอย รับประทานอาหารที่ร้านอาหารได้ ส่วนรัฐบาลเยอรมนี จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายสำหรับกระบวนการทดสอบหาผู้ติดเชื้อโควิดดังกล่าว
ซึ่งผลจากการที่ประเทศเยอรมนีได้ดำเนินการด้วยวิธีนี้ สามารถทำให้ภาคธุรกิจของเยอรมนียังคงดำเนินกิจกรรมต่อไปได้
อย่างไรก็ดี มาตราการบางส่วน คาดระบบการตรวจสอบ จึงทำให้เกิดข้อครหาเรื่องความไม่โปร่งใสตามมาในภายหลัง
(อ่านประกอบ:ส่องคดีทุจริตโลก : สธ.เยอรมนี เจอข้อครหา 'ศูนย์ทดสอบทิพย์' ยักยอกเงินค่าตรวจเชื้อโควิด)
ศูนย์ตรวจโควิดที่ประเทศเยอรมนี (อ้างอิงวิดีโอจาก VOA NEWS)
@ประเทศสวีเดน
ถ้าหากผู้ที่ต้องการจะเข้ารับการตรวจไม่มีอาการของไวรัสโควิด สามารถซื้อชุดตรวจได้ที่ร้านขายยาหรือว่านัดหมายกับแพทย์ส่วนตัว ซึ่งจะได้ผลตรวจภายในไม่เกิน 1 ขั่วโมง
แต่ถ้าหากเป็นกรณีที่ผู้เข้ารับการตรวจนั้นมีอาการป่วย ทางรัฐบาลจะเสนอการตรวจแบบพีซีอาร์ให้ฟรี โดยผลการตรวจจะออกมาไม่เกิน 3 วันขึ้นอยู่กับท้องที่ต่าง ๆ
ส่วนกรณีถ้าหากต้องการจะเดินทางไปต่างประเทศ ผู้ตรวจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับการตรวจพีซีอาร์ด้วยตัวเอง
@ประเทศอิตาลี
ผู้ที่อาศัยในประเทศอิตาลีสามารถเข้ารับการตรวจโควิดโดยไม่จำเป็นต้องมีใบสั่งที่ร้านขายยา คลินิกเอกชน และห้องแล็ปทางการแพทย์ได้ โดยมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 20-30 ยูโร (778 บาท-1,167 บาท) และจะได้ผลภายในระยะเวลา 30-60 นาที
นอกจากนี้ประชาชนทั่วไปยังหาซื้อชุดตรวจเองได้ทั่วประเทศ
@ประเทศออสเตรีย
ผู้ที่อยู่อาศัย ทำงาน หรือว่าเรียนในประเทศออสเตรียนั้นสามารถเข้ารับการตรวจหาเชื้อได้ที่ศูนย์ตรวจซึ่งมีจำนวน 2,400 แห่งทั่วประเทศ
ซึ่งศูนย์ตรวจดังกล่าวนั้นถูกจัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลออสเตรีย และยังมีความเป็นไปได้ที่ในบางครั้งจะมีการตรวจแบบแอนติเจนฟรีให้กับนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ประชาชนรวมไปถึงชาวต่างชาติยังจะสามารถซื้อชุดตรวจได้เองที่ร้านยา ห้องแล็บ และร้านค้าเฉพาะทางถ้าหากไม่สามารถเข้าถึงการตรวจได้ฟรี
ขณะที่ภาคเอกชน มีหลายบริษัทที่เสนอการตรวจเช่นกัน อาทิ ที่สนามบินกรุงเวียนนามีการให้บริการตรวจแบบพีซีอาร์คิดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ใหญ่อยู่ที่ 69 ยูโร (2,683 บาท) เด็กต่ำกว่า 18 ปีอยู่ที่ 25 ยูโร (972 บาท) การตรวจแบบแอนติเจน คิดค่าตรวจสำหรับผู้ใหญ่อยู่ที่ 25 ยูโร (972 บาท) และคิดต่ำกว่า 18 ปี คิดค่าตรวจอยู่ที่ 15 ยูโร (583 บาท)
@สหราชอาณาจักร
มีการรายงานข่าวเมื่อตอนเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาว่า ร้านขายยาทั่วสหราชอาณาจักรคิดเป็นอัตราส่วน 9 ใน 10 นั้น ได้มีการแจกจ่ายชุดตรวจแบบรวดเร็วให้กับประชาชนเพื่อที่จะใช้ในบ้าน
โดยสหราชอาณาจักรนั้นมีหลักการว่าการตรวจโควิดจะต้องมีความพร้อมและเข้าถึงได้สำหรับประชาชนทุกคน จึงได้มีการเปิดให้บริการ Pharmacy Collect เป็นช่องทางเพิ่มเติมในการตรวจสอบผู้ติดเชื้อโควิด ซึ่งการให้บริการดังกล่าวนั้นจะทำให้ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่มีอาการสามารถเข้าถึงการตรวจหาเชื้อได้ประมาณ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งนโยบายดังกล่าวนั้น ทางสหราชอาณาจักรเชื่อว่าจะสามารถทำให้ระบุตัวผู้ติดเชื้อโควิดที่ไม่แสดงอาการออกมาได้
สำหรับบริการ Pharmacy Collect ดังกล่าวถือว่าเป็นบริการสำหรับประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป โดยประชาชนเหล่านี้สามารถเข้าไปที่ร้านขายยาในชุมชนเพื่อที่จะเอากล่องชุดตรวจโควิดแบบรวดเร็วจำนวน 7 กล่องได้ฟรี เพื่อนำไปใช้ตรวจเป็นระยะเวลา 2 ครั้งต่อสัปดาห์เมื่อพักอาศัยอยู่ที่บ้าน
โดยหน่วยงานสาธารณสุขของสหราชอาณาจักรได้มีการทำเว็บไซต์ https://maps.test-and-trace.nhs.uk/ เอาไว้เพื่อแจ้งให้กับประชาชนทราบว่าจะสามารถไปรับชุดตรวจได้หรือที่ไหนบ้าง
วิธีการตรวจโควิดด้วยตัวเอง (อ้างอิงวิดีโอจาก Department of Health and Social Care)
สำหรับข้อมูลประเทศเพื่อนบ้านของไทย พบในส่วนของประเทศสิงคโปร์ ว่ามีการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธีการที่หลากหลาย อาทิ การตรวจแบบพีซีอาร์ที่มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 150 -200 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 3,649 บาท- 4,865 บาท
แต่ถ้าหากมีนายแพทย์เป็นผู้แนะนำให้ตรวจ ก็จะได้รับการตรวจพีซีอาร์ฟรี
ขณะที่การตรวจแอนติเจนของประเทศสิงคโปร์นั้นจะมีราคาอยู่ที่ 10 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 243 บาทเป็นราคาต่ำสุด ควบคู่ไปกับการขายชุดตรวจแบบง่ายภายในร้านขายยาทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีกรณีการตรวจด้วยลมหายใจ ที่ใช้เวลาประมาณ 1 นาที โดยใช้วิธีการปล่อยลมผ่านตลับ ซึ่งการตรวจด้วยวิธีเปล่าลมนั้นจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 25 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 607 บาท และการตรวจด้วยวิธีดังกล่าวนั้นจะมีความแม่นยำอยู่ที่ 90 เปอร์เซ็นต์
การตรวจโควิดด้วยวิธีการหายใจ (อ้างอิงรูปภาพจากสำนักข่าวสเตรทไทม์)
ทั้งหมดเป็นข้อมูลเรื่องค่าใช้จ่าย ราคาชุดตรวจโควิด และนโยบายของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับภารกิจนี้ ที่สำนักข่าวอิศรา รวบรวมมาได้
ส่วนจะเหมือนหรือแตกต่างกับประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน ด้วยปัจจัยและเหตุผลอะไร และเราจะหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไร
คงเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันคิด ร่วมกันลงมือทำ เพื่อหาทางประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตโควิดครั้งนี้อย่างยั่งยืนต่อไปได้ในอนาคต
มิใช่ปล่อยให้ใช้ชีวิตอยู่กันตามยถากรรม หาทางรอด (ด้วยตนเอง) กันไปวัน ๆ
แบบที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้
เรียบเรียงจาก:https://www.bag.admin.ch/testing#1402824724,https://www.gov.uk/government/news/9-in-10-pharmacies-now-offering-free-rapid-coronavirus-covid-19-tests,https://www.myswitzerland.com/en-ae/planning/about-switzerland/covid-pcr-test/#InpageNavigation1_4,https://www.europe-consommateurs.eu/en/travelling-motor-vehicles/covid-19-testing-where-to-be-tested-in-europe.html
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage