“..นโยบายรัฐสวัสดิการ เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า จึงเป็นความหวังของหลายครอบครัว ที่จะมาช่วยแบ่งเบาและลดปัญหาค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่ในทางปฏิบัติ พบว่า การลงทะเบียนรับเงินอุดหนุนในเงื่อนไขเดิมมีปัญหาและล่าช้า และจากสถานการณ์โควิด การลงพื้นที่เพื่อคัดกรอง นับว่ามีความเสี่ยงอีกด้วย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งรีบจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กอายุ 0-6 ปี แบบถ้วนหน้า ให้ทันในปีงบประมาณ 2565..”
--------------------------------------------------
'โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด' เป็นสวัสดิการหนึ่งเดียวที่รัฐจัดสรรให้เฉพาะตามช่วงวัยให้เฉพาะกลุ่มเด็กอายุ 0-6 ปี ในครัวเรือนยากจน มีฐานรายได้รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท จากการดำเนินการที่ผ่านมา พบปัญหาตกหล่น มีเด็กยากจนมากถึง 30% ที่ไม่สามารถเข้าถึงเงิน 600 บาทต่อเดือน เนื่องจากความยุ่งยากในการลงทะเบียนกับเกณฑ์การพิสูจน์ตัวเอง จึงเป็นที่มาของการเสนอให้มีการจัดสรรแบบถ้วนหน้า เช่นเดียวกับรัฐสวัสดิการอื่นๆ เช่น โครงการเรียนฟรีสำหรับเด็กวัยเรียน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้า สำหรับวัยสูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป เป็นต้น
ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ได้มีมติเห็นชอบการให้ 'เงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า' 2 ครั้ง โดยเมื่อวันที่ 2 ก.ค.2563 มีมติเห็นชอบในหลักการให้เงินอุดหนุนเด็กอายุ 0-6 ปี เดือนละ 600 บาท แบบถ้วนหน้า เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 และวันที่ 29 ก.ย.2563 เห็นชอบต่อแนวทางจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กฯ
แต่ในการเสนอ ร่าง พ.ร.บ งบประมาณปี 2565 ของรัฐบาลล่าสุด มีการเสนอเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด อยู่ที่ 16,659 ล้านบาท ตามโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กเล็กที่ยังคงอยู่ในเงื่อนไขเดิม จากงบประมาณที่ตั้งไว้ จะดูแลเด็กเล็กได้เพียง 2 ล้านคนเท่านั้น คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายฯ จึงมีข้อเสนอแนะว่า รัฐบาลควรต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มอีกประมาณ 14,000 ล้านบาท เพื่อให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กได้เพิ่มอีก 2.2 ล้านคน ซึ่งจะครอบคลุมเด็กเล็กทุกคนรวม 4.2 ล้านคน
เป็นเวลากว่า 1 ปี แล้ว มติ กดยช.ก็ยังไม่ถูกเสนอเข้าที่ประชุม ครม. พิจารณา ขณะเดียวกันกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เตรียมหารือกระทรวงการคลัง อาจเลือกใช้ 2 แนวทางคือ เพิ่มฐานรายได้ต่อปีให้เป็น 2 หรือ 3 แสนบาท และการคัดเด็กที่ครอบครัวมีฐานะร่ำรวยออก โดยให้เหตุผลว่าที่ยังไม่เสนอ ครม.พิจารณาจัดสรรแบบถ้วนหน้า เนื่องจากจะเป็นภาระทางงบประมาณที่ต้องนำมาแก้ปัญหาโควิดก่อน
@ อัตราความยากจนกระจุกตัวมากสุดในภาคใต้
เมื่อวันที่ 11 ส.ค.2564 สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดเวทีขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า (ภาคใต้) โดยมีวงอภิปราย 'คุณภาพชีวิตเด็กปฐมวัยภาคใต้ สถานการณ์เปราะบางในสถานการโควิด' ระบุว่า พื้นที่ภาคใต้ มีเด็กประสบภาวะทุพโภชนาการ หรือ ภาวะซึ่งเกิดขึ้นจากการรับประทานอาหารไม่สมดุลกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เด็กเล็กมีภาวะเตี้ย แคระแกร็น เกินค่ามาตรฐาน และระดับ IQ มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าของประเทศ และจัดอยู่ในอับดับรั้งท้าย โดยหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเร่งให้ปัญหารุนแรงมากขึ้น คือปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน จากการรายงานพบอัตราความยากจนกระจุกตัวมากที่สุดในจังหวัดทางภาคใต้
@ โควิดกระทบรายได้ลดลงกว่า 81% รายจ่ายเพิ่มกว่า 50%
นอกจากนี้ จากสถานการณ์การระบาดของโควิดที่รุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม เกิดคนจนใหม่และมีคนว่างงานเพิ่มอย่างรวดเร็ว ครอบครัวที่มีเด็กเล็กอายุ 0-6 ปี ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจในสัดส่วนที่สูงกว่าครอบครัวที่ไม่มีเด็กเล็ก เช่น รายได้ลดลงมากกว่า 81% และมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นกว่า 50% ทำให้ต้องกู้ยืม และเป็นหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น อีกทั้งมาตรการสั่งปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทำให้เด็กเข้าถึงสวัสดิการสังคมและสาธารณสุขยากยิ่งขึ้น ส่งผลให้มีเด็กขาดสารอาหารและทุพโภชนาการเพิ่มสูงขึ้น มีปัญหาพัฒนาการทางร่างกาย สมอง และการเรียนรู้ถดถอย มีความเสี่ยงต่อความรุนแรงและคุณภาพชีวิต ขณะนี้มีเด็กเล็ก และครอบครัวที่มีเด็กเล็กได้ติดเชื้อโควิดเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
@ 'เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า' ความหวังของครอบครัว
นโยบายรัฐสวัสดิการ 'เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า' จึงเป็นความหวังของหลายครอบครัว ที่จะมาช่วยแบ่งเบาและลดปัญหาค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่ในทางปฏิบัติ พบว่า การลงทะเบียนรับเงินอุดหนุนในเงื่อนไขเดิมมีปัญหาและล่าช้า และจากสถานการณ์โควิด การลงพื้นที่เพื่อคัดกรอง นับว่ามีความเสี่ยงอีกด้วย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งรีบจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กอายุ 0-6 ปี แบบถ้วนหน้า ให้ทันในปีงบประมาณ 2565 ตามมติคณะกรรมการส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชน (กดยช.) ในการที่จะสร้างระบบการคุ้มครองทางสังคมเป็นพื้นฐานให้แก่เด็กเล็ก ซึ่งให้ผลตอบแทนกลับคืนมาในอนาคตได้มากถึง 7-10 เท่า
นางสุนี ไชยรส หนึ่งในคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายฯ กล่าวว่า กดยช.มีข้อมูลและงานวิจัยรองรับมากพอ ที่จะเสนอรัฐบาล ให้พิจารณาจัดสรรแบบถ้วนหน้าได้ ไม่ว่าจะเสนอเข้า ครม. หรือใส่ในร่างงบประมาณปี 2565 แต่รัฐบาลกลับไม่สนใจเอง กระทั่งเมื่อฝ่ายค้านเสนอตัดงบกลางที่ไม่จำเป็น 1.6 หมื่นล้านบาท มาให้เลือกจัดสรรเป็นสวัสดิการประชาชนแล้ว ก็ยังถูกตีตกอีก
“การให้แบบถ้วนหน้าเป็นทางออกเดียวที่แก้ปัญหาตกหล่น วันนี้ต้องบอกเด็กไทยเสียสิทธิไปมากกับเกณฑ์วัดความยากจน เราเจอตลอดเวลาลงพื้นที่ไปตามภูมิภาค เป็นเด็กยากจนทั้งนั้น ยากจนจริงๆ มีตั้งแต่หลักสิบถึงหลักร้อยคน สาเหตุมาจากความไม่รู้ ขั้นตอนการลงทะเบียนเยอะ ต้องเดินทางหลายรอบ ต้องมีคนรับรองความยากจน แล้วคนจนจริงๆ ที่ไหนเขาจะมีปัญญาเดินทางมาลงทะเบียนได้หลายๆ รอบ เขาจะรู้จักใครให้มารับรองความยากจนได้ กับโครงการเรียนฟรี บัตรทอง เบี้ยผู้สูงอายุ พวกคุณให้เขาถ้วนหน้าได้ แต่ทีกับเด็กเอาเรื่องความยากจนมาวัด” นางสุนี กล่าว
@ 7 แถลงการณ์ประกาศเจตนารมณ์ภาคี 'เด็กเท่ากัน'
เครือข่าย 'เด็กเท่ากัน' มากกว่า 100 องค์กรในพื้นที่ภาคใต้ มีข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. ขอให้รัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินการเรื่องการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กอายุ 0-6 ปี แบบถ้วนหน้า เดือนละ 600 บาทต่อคน ให้เป็นไปตามมติ ของ กดยช. โดยให้เริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2565
2. ขอให้รัฐบาลโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เร่งดำเนินการเรื่องการถ่ายโอนภารกิจแนวทางการปฏิบัติสนับสนุนเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการ เพื่อให้ดำเนินการสนับสนุนเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าใด้ครอบคลุม และรวดเร็ว เกิดประโยชน์แก่เด็กเล็กและครอบครัว
3. ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 14 จังหวัดของภาคใต้ นำวาระสถานการณ์ปัญหาสุขภาวะ เด็ก 0-6 ปี ในพื้นที่ของแต่ละจังหวัด บรรจุเรื่องนี้เป็นวาระของจังหวัด และสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด เช่น สาธารณสุขจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ฯลฯ บูรณาการการดำเนินงานร่วมกัน และสนับสนุนงบประมาณตามแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาสุขภาวะเด็ก 0-6 ปี ในระดับจังหวัด
4. ขอให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดมาตรการเชิงรุกสำหรับครอบครัว และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลเด็กเล็ก โดยกระจายอุปกรณ์ป้องกันโรคโควิดสำหรับเด็กและครอบครัว รวมทั้งการดำเนินงานเพื่อให้เด็ก 0-6 ปี ในพื้นที่ภาคใต้ได้รับวัคซีนขั้นพื้นฐานที่จำเป็นให้ครอบคลุมมากขึ้น
5. ขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กำหนดนโยบายให้หน่วยงานในสังกัด ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาล ร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ ดำเนินการจัดมาตรการลดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตเด็กเล็ก ในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย เช่นศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือสถานรับเลี้ยงเด็กเล็กที่ถูกปิด ให้สามารถเข้าถึงการดูแลด้านอาหาร การส่งเสริมโภชนาการแก่เด็กเล็กอย่างเต็มที่ รวมถึงการส่งเสริมพัฒนาการให้แก่เด็กเล็กระหว่างรอสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยเปิดบริการ
6. ขอให้คณะทำงานเครือข่ายประเด็นความมั่นคงทางมนุษย์ ระดับภาคใต้ นำวาระเรื่องเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าและการจัดการพัฒนาสุขภาวะเด็กในภาวะวิกฤติโควิดหรืออื่น ๆ เช่น เรื่องอาหาร ภาวะทุพโภชนาการ พัฒนาการทั้งทักษะด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ไปเป็นประเด็นขับเคลื่อนงานของเครือข่ายภาคใต้ และให้เชื่อมประสานงานในการขับเคลื่อนเรื่องนี้กับเครือข่ายประเด็นเด็กและเยาวชนของทั้ง 14 จังหวัด
7. ขอให้คณะทำงานเครือข่ายสื่อสร้างสุขภาคใต้ โดยสมาคมสื่อชุมชนภาคใต้ และเครือข่ายสื่อทั้ง 14 จังหวัด ดำเนินการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้แก่กลุ่มเป้าหมาย ทั้งระดับครอบครัว องค์กรที่เกี่ยวข้องด้านการพัฒนาเด็ก อย่างกว้างขวางและทั่วถึง และออกแบบการสื่อสารเพื่อผลักดันให้มีการดำเนินงานตามมติ กดยช. ในการสนับสนุนรัฐสวัสดิการ นโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าเพื่อให้เด็กใต้เข้าถึงได้ 100%
ทั้งหมดนี้ คือสถานการณ์ผลกระทบของกลุ่มเด็กเล็กจากสถานการณ์โควิด และการขับเคลื่นนโยบายเงินอุดหนุนถ้วนหน้า จะต้องติดตามต่อไปว่า นโยบายดังกล่าวจะได้รับจัดสรรในร่างงบประมาณปี 2565 นี้หรือไม่
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage