"...มีการคำนวณเอาไว้ว่าเครื่องบิน SAAB 340 จะมีค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงอยู่ที่ 4.25 ดอลลาร์สหรัฐฯ (142 บาท) ต่อ 1 แกลลอน ค่าใช้จ่ายรายปีถ้าหากบินเป็นระยะเวลามากกว่า 450 ชั่วโมงต่อปี จะอยู่ที่ประมาณ 1,006,397 ดอลลาร์สหรัฐฯหรือประมาณ 33,674,043 บาทต่อปี คิดเป็นค่าใช้จ่ายรายชั่วโมงจะอยู่ที่ประมาณ 2,236.44 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 74,849 บาท แต่ถ้าหากบินน้อยกว่า 450 ชั่วโมงต่อปีนั้น ค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ประมาณปีละ 945,497 ดอลลาร์สหรัฐฯหรือประมาณ 31,636,329 บาทต่อปี คิดเป็นค่าใช้จ่ายรายชั่วโมงจะอยู่ที่ประมาณ 2,101 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 70,299 บาท..."
......................
เป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนในโลกออนไลน์!
สำหรับกรณีกองทัพอากาศ นำเครื่องบิน SAAB บรรทุกมังคุดเพื่อไปแลกกับลำไยที่ จ.เชียงใหม่และลำพูน ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาเรื่องความไม่คุ้มค่า ถึงขนาดเปรียบเปรยว่า เป็นการชี้ช้างจับตั๊กแตน
โดยนายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคไทยสร้างไทย ได้โพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์กรณีนี้ว่า "หลายคนชื่นชมออกมาอวยทหาร เรื่องที่กองทัพอากาศเอาเครื่องบิน SAAB 340 B (บ.ล. 17) บินขนมังคุดจากสุราษฎร์ธานีไปแลกเปลี่ยนกับลำไยที่เชียงใหม่และลำพูน ก่อนมีความเห็น ผมขอให้ข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องบิน ดังนี้
เครื่องบิน SAAB 340 B เป็นเครื่องบินที่ออกแบบมาเพื่อขนส่งผู้โดยสาร ใช้เชื้อเพลิงประมาณ 1.1 ไมล์ทะเล/แกลลอน หรือราว 0.538 กิโลกเมตร/ลิตร น้ำหนักบรรทุกสูงสุด (Max Payload) 3,400 กิโลกรัม
ดังนั้น การเอาเครื่องบินโดยสารมาขนผลไม้นอกจากจะเป็นการใช้ทรัพย์สินที่ผิดประเภทแล้วยังไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย เพราะเครื่องบินชนิดนี้รับน้ำหนักบรรทุกได้เพียง 3.4 ตัน แปลว่าถ้ามังคุดราคากิโลกรัมละ 20 บาท มูลค่าสินค้าที่นำไปแลกได้สูงสุดประมาณ 68,000 บาท แต่ค่าใช้จ่ายในการบิน (ค่าสึกหรอ/ค่าซ่อมบำรุง/ค่าเชื้อเพลิง/เบี้ยเลี้ยงนักบิน) เป็นเงินเท่าไรกองทัพอากาศช่วยบอกประชาชนเอง
ขณะที่ กองทัพอากาศ ได้ออกมาตอบโต้ข้อครหาดังกล่าวเช่นกัน โดย พล.อ.ท.ฐานัตถ์ จันทร์อำไพ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ ในฐานะโฆษกกองทัพอากาศ ระบุว่า กองทัพอากาศนั้นมีแผนการฝึกเดินทางระหว่างสนามบินในแต่ละพื้นที่อยู่แล้ว เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของนักบินและเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นตารางปฏิบัติปกติ
โดยการขนส่งมังคัดดังกล่าวนั้นเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ควบคู่ไปกับการฝึกบิน จึงถือเป็นการได้ประโยชน์และไม่ได้ทำให้งบประมาณค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และไม่ใช่เป็นการจัดเที่ยวบินเพิ่มเติมแต่อย่างใด เพราะนักบินต้องฝึกบินเดินทางอยู่แล้ว ประกอบกับแต่ละเที่ยวบินมีพื้นที่ว่างพอ สำหรับการบรรทุกสิ่งของ จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ร่วมกับภารกิจการช่วยลำเลียงผลผลิตทางการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรในการระบายสินค้าไปยังพื้นที่ปลายทาง
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สืบค้นข้อมูลในโลกออนไลน์เกี่ยวกับเครื่องบินรุ่น SAAB 340 ที่ประจำการในกองทัพอากาศไทย พบว่าเครื่องบิน SAAB 340 ของกองทัพอากาศไทยนั้น ถูกจัดซื้อมาจำนวน 7 ลำ และเริ่มประจำการมาตั้งแต่ปี 2555
โดยสามารถแบ่งเครื่องบิน SAAB-340 ในรุ่นที่ประจำการอยู่ในกองทัพอากาศไทยได้ออกเป็น 2 รุ่นหลัก ๆ ก็คือ
1.เครื่องบินรุ่น Saab 340 AEWCS ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเครื่องบินทำภารกิจเป็นเครื่องบินแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าหรือที่เรียกว่าเครื่องเอแวคส์ ซึ่งกองทัพอากาศไทยมีเครื่องบินรุ่นนี้อยู่ 2 ลำด้วยกัน
เครื่องบินรุ่น SAAB 340 AEW สำหรับใช้ในภารกิจเอแวคส์
2.เครื่องบินรุ่น SAAB 340 ซึ่งเป็นรุ่นลำเลียงทั่วไปสำหรับใช้ในการฝึกและรับส่งกำลังพลหรือ บ.ล.17 (หมายเลข 70204, 70205, และ 70206) และเครื่องบินข่าวกรองทางสัญญาณ (SIGINT หรือ Signal Intelligent) หรือ บ.ตล.17 (หมายเลข 70202 และ 70207) ซึ่งติดตั้งอุปกรณ์เกี่ยวกับข่าวกรองทางสัญญาณซึ่งมีขีดความสามารถทั้งงานข่าวกรองการสื่อสาร (COMINT) การดักฟังสัญญาณจากข่ายการสื่อสารของข้าศึก ข่าวกรองอิเล็กทรอนิกส์ (ELINT)
เครื่องบินรุ่น SAAB 340 B สำหรับภารกิจลำเลียงกำลังพล
(อ้างอิงข้อมูลส่วนนี้จากเว็บไซต์ https://thaiarmedforce.com/2021/02/21/rtaf-saab-340-erieye-aew-saab-340-sigint/,https://thaidefense-news.blogspot.com/2018/02/7-saab-340-b-2.html)
โดยเครื่องบิน บ.ล.17 หมายเลข 70206 ลำนี้เอง ที่ถูกนำไปใช้ในภารกิจเรื่องการบินขนส่งมังคุดตามที่ปรากฏเป็นข่าวในขณะนี้
(อ้างอิงภาพจาก https://www.thairath.co.th/news/politic/2162530)
ขณะที่ จากการสืบค้นข้อมูลบนเว็บไซต์ https://www.aircraftcostcalculator.com/AircraftOperatingCosts/60/Saab+SF+340https://www.aircraftcostcalculator.com/AircraftOperatingCosts/60/Saab+SF+340 เพิ่มเติมพบว่า เครื่องบินรุ่น SAAB SF 340 หรือว่าเครื่องบิน SAAB 340 ที่ใช้งานในภาคพลเรือน เป็นเครื่องบินใบพัดที่ต้องใช้นักบินจำนวน 2 คนในการปฏิบัติการณ์ มีขีดความสามารถในการขนส่งผู้โดยสารได้จำนวนอย่างน้อย 37 คน
โดยเครื่องบินรุ่นนี้สามารถที่จะบินไต่ระดับได้สูงถึง 25,000 ฟุต ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ ประมาณ 524 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความจุสูงสุดอยู่ที่ 3,400 กิโลกรัม พิสัยการบินอยู่ที่ 2,963 กิโลเมตร
ส่วนในเรื่องค่าใช้จ่ายนั้นมีการคำนวณเอาไว้ว่าเครื่องบิน SAAB 340 จะมีค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงอยู่ที่ 4.25 ดอลลาร์สหรัฐฯ (142 บาท) ต่อ 1 แกลลอน
ค่าใช้จ่ายรายปีถ้าหากบินเป็นระยะเวลามากกว่า 450 ชั่วโมงต่อปี จะอยู่ที่ประมาณ 1,006,397 ดอลลาร์สหรัฐฯหรือประมาณ 33,674,043 บาทต่อปี
คิดเป็นค่าใช้จ่ายรายชั่วโมงจะอยู่ที่ประมาณ 2,236.44 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 74,849 บาท
แต่ถ้าหากบินน้อยกว่า 450 ชั่วโมงต่อปีนั้น ค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ประมาณปีละ 945,497 ดอลลาร์สหรัฐฯหรือประมาณ 31,636,329 บาทต่อปี คิดเป็นค่าใช้จ่ายรายชั่วโมงจะอยู่ที่ประมาณ 2,101 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 70,299 บาท
อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้ เป็นราคาการใช้งานในส่วนของพลเรือน ซึ่งการใช้งานเครื่องบินในรุ่นทางการทหารอาจจะมีค่าใช้จ่ายแตกต่างจากนี้ขึ้นอยู่กับตัวแปรอื่น ๆ ประกอบกัน
"ส่วนการนำเครื่องบินรุ่น SAAB SF 340 มาใช้ในภารกิจการขนส่งมังคุดดังกล่าว เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ควบคู่ไปกับการฝึกบิน จึงถือเป็นการได้ประโยชน์และไม่ได้ทำให้งบประมาณค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และไม่ใช่เป็นการจัดเที่ยวบินเพิ่มเติมแต่อย่างใด เพราะนักบินต้องฝึกบินเดินทางอยู่แล้ว ประกอบกับแต่ละเที่ยวบินมีพื้นที่ว่างพอ สำหรับการบรรทุกสิ่งของ จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ร่วมกับภารกิจการช่วยลำเลียงผลผลิตทางการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรในการระบายสินค้าไปยังพื้นที่ปลายทาง "
ตามที่พล.อ.ท.ฐานัตถ์ จันทร์อำไพ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ ในฐานะโฆษกกองทัพอากาศ ออกมาชี้แจงไปแล้วหรือไม่
สาธารณชนคงจะสามารถใช้วิจารณญาณแสดงความเห็นต่อกรณีนี้ ว่าคุ้มค่า หรือเป็นการชี้ช้างจับตั๊กแตนหรือไม่ ได้ไม่ยากเย็นนัก
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/