“...ไม่มีใครท้องเพื่อไปทำแท้ง และไม่มีใครเจตนาที่จะทำร้ายทารก อย่างไรก็ดีต้องมีสมดุล ในประมวลกฎหมายเก่าจะมีอัตราโทษสำหรับการทำแท้งโดยไม่เข้าเหตุยกเว้น คือ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนประมวลกฎหมายอาญาใหม่ลดโทษลงเหลือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แสดงให้เห็นว่ากฎหมายฉบับใหม่นี้ชี้ให้เห็นว่า การตั้งครรภ์ไม่พร้อมถือเป็นเรื่องที่ต้องเยียวยา แต่จะเยียวยาโดยไม่มีโทษเลย จะกลายเป็นเสรี จึงย้ำว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่มีเสรี...”
………………………………………………
จุดเริ่มต้นของการแก้กฎหมายทำแท้ง เริ่มมาจากคดี ‘พญ.ศรีสมัย เชื้อชาติ’ แพทย์อาสาของเครือข่ายอาสาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ซึ่งปรากฏเป็นข่าวดังเมื่อเดือน ก.พ.2561 หลังเกิดเหตุพนักงานเก็บขยะเทศบาลเมืองหัวหินพบศพทารก 4 ศพ อยู่ในถุงดำ ถูกนำมาทิ้งในถังขยะข้างร้านสะดวกซื้อ เป็นเหตุให้ตำรวจสืบขยายผลเข้าจับกุม พญ.ศรีสมัย เจ้าของคลินิกศรีสมัย พร้อมตั้งข้อกล่าวหา ‘ทำแท้งผิดกฎหมาย’ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 302 ในข้อหาผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูก โดยหญิงนั้นยินยอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมมากมายว่า แพทย์ที่ช่วยเหลือผู้หญิงให้สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัยจากการท้องไม่พร้อม ด้วยการถูกข่มขืน หรือป่วยเป็นโรคเอดส์ ทำไมถึงกลายเป็นผู้ต้องหา ขณะเดียวกันหญิงที่เป็นคนไข้ต่างถูกออกหมายจับฟ้องร้องคดีอาญาทำแท้งด้วย
เรื่องนี้จึงนำไปสู่การยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญถึงการแก้กฎหมายทำแท้งที่ไม่เป็นธรรม ผ่านมากว่าสองปีในการต่อสู้คดี จนวันที่ 19 ก.พ.2563 ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยชี้ขาดว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ที่กำหนดว่าหญิงที่ทำแท้งเป็นความผิดอาญานั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ต่อมาเมื่อวันที่ 11 พ.ย.2563 ศาลจังหวัดหัวหินมีคำพิพากษายกฟ้อง พญ.ศรีสมัย ในข้อกล่าวหาทำแท้งผิดกฎหมาย ส่งผลให้หญิงที่เป็นคนไข้เป็นผู้ไร้มลทินทุกคน จนนำมาสู่การแก้กฎหมายในเวลาไม่ถึง 1 ปี
อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากหยิบยกเรื่องหลักศีลธรรมขึ้นมา ‘การทำแท้ง’ ถือเป็นการฆาตกรรมทำลายชีวิตคน แต่หากมองในเจตนารมณ์ในการรักษาชีวิตและสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ดังนั้นแล้วเส้นทางร่วมกันที่เราควรจะเดินต่อไปควรเป็นอย่างไร สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวบรวมนานาทัศนะจากผู้เชี่ยวชาญในงานเสวนา ‘กฎหมายทำแท้งฉบับใหม่ : มองต่างอย่างไรให้ก้าวไปด้วยกัน’ มีข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
นพ.วรชาติ มีวาสนา แพทย์อาสาเครือข่ายยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย (Referral system for Safe Abortion : RSA) และสูตินรีแพทย์โรงพยาบาลพิมาย กล่าวถึงการก่อตั้งเครือข่าย RSA ว่าเริ่มมาจากการรวมกลุ่มของคนอยากช่วยส่งต่อหญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อมให้ปลอดภัย เนื่องจากปัญหานี้มีมานานมาก และผู้ที่ดูแลเรื่องนี้ยังแก้ไขปัญหาได้ไม่ดีมากนัก ประกอบกับเมื่อ พญ.ศรีสมัย แพทย์อาสาในเครือข่าย RSA ถูกฟ้องร้องด้วยข้อกล่าวหา ‘ทำแท้งผิดกฎหมาย’ จึงเป็นที่มาของการต่อสู้เพื่อการแก้กฎหมายทำแท้งที่ไม่เป็นธรรม
จากประสบการณ์ที่ได้เข้ามาช่วยในส่วนนี้ ทำให้ตนเองทราบว่ามีเหตุผลมากมายที่ทำให้เกิดการท้องไม่พร้อม ตนเองเชื่อว่าถ้าทุกคนพร้อม คงไม่มีใครอยากยุติการตั้งครรภ์ ทั้งนี้หากเราจะยัติการตั้งครรภ์ให้หรือไม่นั้น สุดท้ายคนไข้จะหาทางจนได้ แต่ทางออกมักจบออกมาที่การติดเชื้อ หรือตกเลือดจนเสียชีวิต
“ในบทบาทของความเป็นสูตินรีแพทย์ เราควรจะดูแลสุขภาพของสตรี ซึ่งปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ก็เป็นปัญหาหนึ่งของสตรี เราไม่สามารถตัดสินได้ว่าเขาควรท้องต่อ หรือควรทำอย่างไรต่อไป แต่เราแค่รับฟังเขา และดูแลเขาให้เขาดำเนินไปในทางที่ตัดสินใจเป็นอย่างดี จึงเป็นที่มาของการต่อสู้เพื่อแก้กฎประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301-305” นพ.วรชาติ กล่าว
นพ.วรชาติ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เรารู้ว่ากระบวนการยุติการตั้งครรภ์ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีเสมอ แต่เราควรจะให้หญิงคนหนึ่งสามารถเลือกได้บนพื้นฐานของคนแต่ละบุคคล โดยที่ไม่ต้องเลือกจากคำตัดสินใจของใคร ควรเปิดโอกาสให้เขาได้มีทางเลือกอย่างไม่ถูกตีตรา หรือรังเกียจ และควรได้รับฟังอย่างเป็นมิตร ไม่ว่าจะเป็นบุคคลกลุ่มปริญญาตรี พยาบาล แพทย์ หรือแม้แต่ผู้มีตำแหน่งทางการศึกษาอย่าง ดร. ทุกคนสามารถพลาดได้ เพียงแต่เมื่อเขาล้ม เขาไม่ควรจบตรงนี้ เราแค่ช่วยพยุงเขาขึ้น ให้เขาสามารถก้าวเดินต่อไปได้ นี่ก็เป็นที่มาของเครือข่ายจิตอาสา RSA
สำหรับอัตราการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ พบว่าลดลง โดย นพ.วรชาติได้กล่าวอีกว่า ที่โรงพยาบาลพิมายเองก็มีเคสไข้ที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 12 สัปดาห์ จนถึง 24 สัปดาห์ ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าหญิงตั้งครรภ์สามารถเข้าถึงบริการได้มากและเร็วขึ้น ทั้งนี้สาเหตุที่ลดอาจนั้นอาจมาจากการทำงานของทีมแพทย์จิตอาสาเครือข่าย RSA ที่ได้ประสานความร่วมมือกับกรมอนามัย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำงานกันอย่างหนักหน่วง
(นพ.วรชาติ มีวาสนา แพทย์อาสาเครือข่าย RSA และสูตินรีแพทย์โรงพยาบาลพิมาย)
@ กฎหมายทำแท้งฉบับใหม่ เยียวยา ‘ท้องไม่พร้อม’
นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวด้วยว่า จากประสบการณ์ในการทำงานส่วนนี้ ขณะนี้เราเชื่อว่าการแก้กฎหมายฉบับนี้เป็นโอกาสของประเทศ ซึ่งตนเองมองว่าเป็นเรื่องที่ยาก เพราะเมื่อใดที่เราพูดถึงเรื่องนี้จะทะเลาะกัน แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยน ตนเองมองเรื่องนี้มีโอกาสที่จะทำได้ดีว่าการจะทำได้
การต่อสู่ของภาคเอกชนเพื่อแก้กฎหมายทำแท้งที่ไม่เป็นธรรม ทำให้เกิด พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 พ.ศ.2564 ที่มีข้อกฎหมายที่น่าสนใจ 2 มาตรา ดังนี้
มาตรา 301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 305 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 301 หรือมาตรา 302 เป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาในกรณีดังต่อไปนี้ ผู้กระทำไม่มีความผิด
(1) หากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจ
(2) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากมีความเสี่ยงอย่างมากหรือมีเหตุผลทางการแพทย์อันควรเชื่อได้ว่าหากทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง
(3) หญิงยืนยันต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าตนมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ
(4) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์และยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์
(5) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่า พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายอาญา ฉบับใหม่นี้ ทำให้หญิงตั้งครรภ์มีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายที่จะยุติการตั้งครรภ์ได้ภายใน 12 สัปดาห์ ถือว่าไม่ผิดกฎหม่ย ซึ่งเป็นทางออกคนละครึ่งทางกับผู้ที่กังวลการเกิด ‘การทำแท้งเสรี’ นอกจากนั้นกฎหมายฉบับนี้ยังมุ่งเน้นการคำนึงถึงร่างกายของทารกเป็นสำคัญ ป้องกันการออกมาด้วยความผิดปกติด้วย
รวมถึงหากมองมาตรา 305 อย่างถี่ถ้วนจะเห็นว่า มาตรา 305 (1), (2) และ (4) จะรองรับปัญหาทางการแพทย์ ส่วน (3) จะรองรับปัญหาทางคดี และ (5) จะรองรับปัญหาหาเศรษฐกิจ ซึ่งในอดีตไม่เคยมีมาก่อน แต่จะทำได้ มีเงื่อนไขอยู่ว่าต้องได้รับการตรวจและให้รับคำปรึกษาทางเลือก ถือได้ว่านี่คือคำตอบที่จะพาสังคมขับเคลื่อนไปด้วยความละเอียดอ่อนและจะร่วมมือกันได้
“การทำแท้ง ไม่มีใครท้องเพื่อไปทำแท้ง และไม่มีใครเจตนาที่จะทำร้ายทารก อย่างไรก็ดีต้องมีสมดุล ในประมวลกฎหมายเก่าจะมีอัตราโทษสำหรับการทำแท้งโดยไม่เข้าเหตุยกเว้น คือ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนประมวลกฎหมายอาญาใหม่ลดโทษลงเหลือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แสดงให้เห็นว่ากฎหมายฉบับใหม่นี้ชี้ให้เห็นว่า การตั้งครรภ์ไม่พร้อมถือเป็นเรื่องที่ต้องเยียวยา แต่จะเยียวยาโดยไม่มีโทษเลย จะกลายเป็นเสรี จึงย้ำว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่มีเสรี” นพ.บัญชา กล่าว
นพ.บัญชา กล่าวอีกว่า ตอนนี้แพทย์หลายคนกังวลกับกฎหมายฉบับใหม่นี้มากว่าตนเองต้องรับคนไข้ตามมาตรา 305 (5) ด้วยหรือไม่ ซึ่งบางรายอาจไม่อยากทำ จึงขอยืนยันว่าหากแพทย์ไม่ทำนั้นไม่ผิด แต่ต้องมีการส่งต่อ เนื่องจากเรามีระบบดูแล ส่วนผู้ที่ทำตามนั้นก็ ถือว่าไม่ผิดเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้จากการสำรวจผลการประกาศกฎหมายฉบับใหม่ จำนวนผู้ยุติการตั้งครรภ์ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นมาก นับเป็นข่าวดี อย่างไรก็ตามกฎหมายฉบับใหม่นี้ประกาศบังคับใช้ตั้งแต่ 6 ก.พ.2564 แต่ที่กรมอนามัยได้รับมอบหมายทำประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการตรวจและการให้คำปรึกษาในส่วนมาตรา 305 (5) แต่ยังไม่มีการประกาศออกมานั้น เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งจะต้องเตรียมการอย่างดี โดยต้องรับฟังความคิดเห็นต่างๆ เตรียมความพร้อมรูปแบบบริการให้ได้มาตรฐาน และต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจ โดยประกาศกระทรวงสาธารณสุขนี้จะมีการจัดวงเสวนาในการรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศดังกล่าวในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.2564 ก่อนจะประกาศใช้เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนในช่วงต้นปี 2565
@ ‘ทำแท้ง’ มาจากปัญหาทางสังคมมากกว่าสุขภาพ
นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย กล่าวด้วยว่า การออกกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมา แน่นอนว่ามีเรื่องของความเห็นต่างอยู่แล้ว ซึ่งตนเองมองว่าปัญหาการทำแท้งมีหลายมิติมาก โดยบางส่วนมองว่า การทำแท้งคือการทำลายชีวิตในครรภ์ เนื่องจากถือว่าทารกไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของร่างกายผู้หญิง แต่เป็นอีกชีวิตที่อยู่ในครรภ์ของผู้หญิง แม้กระทั่งดีเอ็นเอยังต่างกัน อย่างไรก็ตามสังคมมีปัญหาการดังนั้นการทำแท้งจึงเหมาะสำหรับคนบางกลุ่ม
บางส่วนมองว่ามาจากปัญหาสังคมมากกว่าปัญหาทางสุขภาพ ซึ่งเรามองว่าต้องแก้ด้วยกฎระเบียบทางสังคม อาทิ การไม่มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การคุมกำเนิด หรือการป้องกันต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดการท้องไม่พร้อม เป็นต้น ส่วนการเลือกยุติการตั้งครรภ์ด้วยปัญหาทางสังคมนั้น เรามองเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุที่ไม่มีวันสิ้นสุด นอกจากนั้นเรายังมองการการตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ควรจะมองสิทธิ 3 ส่วน คือ สิทธิของหญิง ชาย และทารกในครรภ์ด้วย
@ กฎหมายใหม่ช่วยหยุดการตั้งครรภ์ แต่ไม่ช่วยแก้ปัญหาสังคม
สำหรับการมีบุคลากรการแพทย์ให้ความช่วยเหลือการยุติการตั้งครรภ์น้อยนั้น นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า เนื่องจากพวกเรากลัว กฎหมายฉบับนี้ยังมีข้อน่าสงสัยอยู่หลายส่วน อาทิ มีมาตราต่างๆ ที่หญิงต้องยืนยัน เราจึงกังวลใจว่าในอนาคตต่อไปจะมีปัญหาอีกหรือไม่ และเนื่องจากผู้ทำแท้งมีหลายประเภท หากเจอผู้เยาว์ เขามีสิทธิที่จะเซ็นด้วยตัวของเขาเองได้หรือไม่ และหากเขาเซ็น และเราทำ เราจะผิดหรือไม่
นอกจากนั้นในกรณียุติการตั้งครรภ์สูงๆ หากเด็กคนนั้นร้อง หรือหายใจได้ขึ้นมา จะถือว่าเขาเป็นบุคคลทางกฎหมาย แบบนี้เราจะผิดอีกหรือไม่ ทั้งนี้สิทธิของทารกในครรภ์มารดา มีในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นสิทธิที่เขาจะเป็นบุตรและได้รับมรดกโดยชอบธรรม แม้ว่าจะยังอยู่ในท้อง ดังนั้นหากเราไปละเมิดสิทธิเขา แน่นอนว่ากฎหมายทางอาญาเราไม่ผิด แต่ในในส่วนของทางแพ่ง เราจะถูกฟ้องร้องทางแพ่งได้หรือไม่ เช่น หญิงตัดสินใจทำแท้ง แต่สามีไม่ให้ แบบนี้สามีฟ้องร้องทางแพ่งได้หรือไม่
นพ.ประดิษฐ์ กล่าวอีกว่า ตนเองเห็นด้วยว่าหญิงหลายคนที่ท้องไม่พึงประสงค์น่าสงสาร กฎหมายฉบับนี้มีมาเพื่อช่วย แต่กฎหมายฉบับนี้ต้องใช้บังคับหญิงทั้งหมด ซึ่งอาจมีคนนำช่องโหว่ทางกฎหมายไปใช้โดยผิดเจตนารมย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่กรมอนานัยควรนำไปคิดอย่างถี่ถ้วน ไม่เช่นนั้นแพทย์เราจะกลายเป็นเหยื่อหรือถูกใช้เป็นเครื่องมือ
โดยตนเองมองว่า ควรมีการกำหนดอายุครรภ์ที่ชัดเจน และความผิดเกี่ยวกับเพศ เช่น หากหญิงโกหกแจ้งว่าตนเองได้รับความผิดเกี่ยวกับเพศ ก็มิอาจทราบได้ว่าจริงรือเท็จ ด้วยเหตุนี้แพทย์ส่วนใหญ่จึงยังไม่ได้เข้าร่วม เพราะมีความกังวลอยู่
“ผมมองว่ากฎหมายฉบับนี้ช่วยทำให้เกิดการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย แต่ปัญหาสังคมอื่นๆ ยังไม่ถูกแก้ด้วยกฎหมายฉบับนี้ ผมมองว่าเราต้องมาคุยกัน และหาแนวทางกันเยอะพอสมควร เรื่องนี้เป็นเรื่องของทัศนคติ ซึ่งเราไม่สามารถบังคับเขาได้ ผมคิดว่าเราควรก้าวคนละก้าว และอยากให้เริ่มปลูกฝังตั้งแต่การมีบริการในโรงเรียนแพทย์ เพื่อให้หมอสูตินรีแพทย์ที่จบออกมาได้เห็นเป็นตัวอย่างก่อน”นพ.ประดิษฐ์ กล่าว
@ ยัน ‘การทำแท้งเสรี’ ไม่มีในโลก ขอตัดมาตรา 301 ออก
ขณะที่ ด้าน รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม กล่าวถึงข้อสังเกตใน พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 พ.ศ.2564 ว่า มาตรา 301 ยังลงโทษผู้หญิงไปทำแท้งอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ให้จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งต้องเรียนว่าในความเป็นจริงที่เราต่อสู้กันมา เนื่องจากเราต้องการลบมาตรา 301 ออกไปจากระบบของประมวลกฎหมายอาญา
“มาตรา 301 เป็นมาตราเดียวในประมวลกฎหมายอาญาไทย ที่เรียกผู้กระทำผิดว่าผู้หญิง เนื่องจากมาตราอื่นๆ จะระบุว่าบุคคล ส่วนประเด็นเรื่องตัวอ่อนมีสิทธิ์ เป็นประเด็นที่ถูกสร้างขึ้นมาจากกลุ่มศาสนากลุ่มหนึ่ง เนื่องจากกฎหมายเรื่องสิทธิมนุษยชนอื่นในต่างประเทศทั่วโลก เขาคุ้มครองสิทธิเมื่อบุคคลเกิดขึ้นมาแล้ว ตนจึงมองว่าควรจะลบมาตรา 301 ออก”รศ.ดร.กฤตยา กล่าว
ส่วนมาตรา 305 (5) ซึ่งจะอยู่ในประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ตนเองเสนอว่าต้องบังคับให้ต้องผ่านกระบวนการให้คำปรึกษาทางเลือกก่อนที่จะทำแท้ง เนื่องจากเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้ท้องไม่พร้อม เราได้ทำงานด้านนี้มาเกือบ 10 ปี ร่วมกับศูนย์พึ่งได้ของรัฐมากกว่า 20 แห่ง และผลิตผู้ให้คำปรึกษาทางเลือกนับ 100 คน ปัจจุบันองค์กรเครือข่ายของเรามีมากกว่า 80 องค์กร อาทิ กลุ่มทำทาง สมาคมบ้านพักฉุกเฉิน สหทัยมูลนิธิ
นอกจากนั้น สำหรับนักกฎหมายบางคนกล่าวว่า กฎหมายนี้ให้ผู้หญิงทำแท้งอายุครรภ์ไม่เกิน 20 สัปดาห์ คือการทำแท้งตามคำขอของหญิง (์On Request) จริงหรือไม่ ตนเองขอยืนยันว่าไม่จริง พร้อมยืนยันด้วยว่า ‘การทำแท้งเสรี’ ไม่มีในโลกนี้ ทุกประเทศทั่วโลกต่างมีเงื่อนไข
@ เผยสถิติเดือน มี.ค.-มิ.ย. ยังมีหญิง 61 คน เข้าไม่ถึงการทำแท้งที่ปลอดภัย
สำหรับข้อท้าทายที่สำคัญที่สุดว่ากฎหมายฉบับใหม่นี้จะช่วยให้ผู้หญิงเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัยได้จริงหรือไม่ รศ.ดร.กฤตยา กล่าวว่า จากข้อมูลสายด่วน 1663 ตั้งแต่ 1 มี.ค.-20 มิ.ย.2564 ยังมีตัวเลขผู้หญิงจำนวน 61 ราย เข้าไม่ถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ เนื่องจากถูกโรงพยาบาลรัฐปฏิเสธ ด้วยเหตุผลที่ว่า ที่นี่ไม่รับทำ หรือไม่รู้เรื่องกฎหมาย ครรภ์สมบูรณ์ดีไม่ทำ โรงพยาบาลไม่มีนโยบายำแท้ง หรือไม่มีอุปกรณ์และเครื่องมือ หรือบุคคลากรที่ทำงานด้านนี้ ขณะเดียวกันปฏิเสธไม่พอ บางแห่งไม่ส่งต่ออีกด้วย จึงมีคำถามถึงกระทรวงสาธารณสุขว่า ปัญหาดังกล่าวนี้ยังมีผู้ไม่สามารถเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัยได้ จะแก้ปัญหานี้อย่างไร
ขณะเดียวกันได้ให้ข้อเสนอว่า กรมอนามัยควรรีบประสาน สปสช. 2 เรื่อง ได้แก่ 1.ให้หญิงตั้งครรภ์สามารถตรวจอายุครรภ์ด้วยการทำอัลตร้าซาวด์ เป็นหนึ่งในสิทธิสุขภาพพื้นฐานที่หญิงสามารถรับบริการได้ โดยไม่ต้องฝากครรภ์ เพื่อให้ผู้หญิงทราบอายุครรภ์ก่อนการตัดสินใจทางเลือกได้ ดังนั้นสิ่งนี้ควรจะต้องเป็นสิทธิ ไม่เช่นนั้นผู้หญิงจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง นอกจากนั้นควรได้รับการส่งต่อไปยังสถานบริการเพื่อยุติการตั้งครรภ์ที่สอดคล้องกับอายุครรภ์ได้
และ 2. ให้การอุดหนุนการยุติการตั้งครรภ์ และการคุมกำเนิดกึ่งถาวร โดยไม่ต้องคีย์เบิกจ่ายจากสถานบริการเดียวกัน เนื่องจากปัจจุบันบริการยุติการตั้งครรภ์ไม่ใช่บริการเบ็ดเสร็จในสถานบริการเดียว ทำให้มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก เข้ารับบริการในสถานบริกายุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ใช่หน่วยบริการสุขภาพที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ส่งผลให้ไม่ได้รับการคุมกำเนิดด้วยการใส่ห่วงหรือฝังยา
นอกจากนั้น ยังอยากให้มีหน่วยบริการนำร่องให้เห็นว่าระบบบริการทำได้จริง มีโมเดลการให้คำปรึกษา ส่งต่อ การให้บริการผู้หญิง และถอดบทเรียนออกมาเผยแพร่ให้โรงพยาบาลอื่นๆ และให้มีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนอย่างต่อเนื่องด้วย
ที่สำคัญควรจัดเตรียมงบประมาณให้สอดคล้องกับกิจกรรมที่ข้อสังเกตของกฎหมายกำหนดไว้ คือ จัดให้มีสายด่วน เพื่อให้บริการข้อมูล โดยมีข้อมูลสถานบริการที่อัพเดตและเน้นการให้บริการกับผู้รับบริการ จัดให้ศูนย์บริการภาครัฐทุกแห่งมีบริการปรึกษาทางเลือก เพื่อแก้ไขปัญหาและดูแลต่อเนื่อง จัดให้มีศูนย์บริการยุติการตั้งครรภ์ในโรงพยาบาลรัฐอย่างน้อย 1 แห่งต่อจังหวัด จัดให้มีการจัดทำรายงานการติดตามและประเมินผลระบบบริการยุติการตั้งครรภ์หลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้เป็นประจำทุกปี และต้องมีการกำหนดงบประมาณในการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่มีสถานการณ์โควิดเข้ามาเป็นตัวแปรด้วย
ศ.ดร.กฤตยา กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ในช่วงการระบาดของโควิดมีรายงานวิจัยและข้อเท็จจริงตรงกันทั่วโลกว่าผู้หญิงทุกชนชั้น อาชีพ ระดับการศึกษา ไม่ต้องการท้องในช่วงนี้ หญิงจำนวนมากจึงต้องการยุติการตั้งครรภ์ แต่สถานบริการในช่วงนี้น้อยลง จึงขอเสนอให้นำบริการโทรเวชกรรม (Telemedicine) มาปรับใช้กับบริการยุติการตั้งครรภ์ให้เร็วที่สุด
ทั้งหมดนี้เป็นทั้งหมดนี้เป็นนานาทัศนะของผู้เชี่ยวชาญหลากหลายหน่วยงานที่มาร่วมถกถึงกฎหมายทำแท้งฉบับใหม่ อย่างไรก็ตามกฎหายนี้จะเป็นทางแก้ปัญหาท้องไม่พร้อมได้อย่างสมดุลหรือไม่ คงต้องรอติดตามกันต่อไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage