"..การผลักดันนโยบายที่ผ่านมา ตามมติ ครม. 20 ส.ค. ร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่า คณะกรรมการขับเคลื่อนมติ ครม. 5 รัฐบาล เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนรัฐธรรมนูญมาตรา 70 วิถีชีวิตและสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติติพันธ์กฎหมายทุกฉบับ นโยบายทุกระดับที่คุ้มครองสิทธิประชาชนเผ่าพื้นเมืองกันมาหมดแล้ว แต่ว่าปัญหาเหล่านี้ก็ยังไม่จางหายไปจากพวกเราโดยเฉพาะปัญหาในที่ดินป่าไม้ เรื่องทรัพยากร..."
----------------------------------
องค์การสหประชาชาติ (United Nations) กำหนดให้วันที่ 9 ส.ค.ของทุกปี เป็น 'วันชนเผ่าพื้นเมืองโลก' (Indigenous Peoples’ Day) เพื่อเตือนใจว่ายังมีกลุ่มชาติพันธุ์ ชนพื้นเมืองกลุ่มน้อยอีกไม่น้อยที่มีเอกลักษณ์วัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่แตกต่าง แต่ถูกผลักไสให้เป็นคนชายขอบของสังคม ได้รับสิทธิไม่เท่าเทียมกับคนส่วนใหญ่ของสังคม ตกอยู่ในภาวะด้อยโอกาส
จากการประเมินของสหประชาชาติประเมิน มีชนเผ่าพื้นเมือง เป็นชนกลุ่มน้อยอยู่ 370 ล้านคน กระจายใน 90 ประเทศทั่วโลก มีภาษาราว 7,000 ภาษา ที่อยู่ในต่างวัฒนธรรมมากถึง 5,000 วัฒนธรรม
แม้จะอยู่ในสังคม หรือภูมิภาค และมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่ชนเผ่าพื้นเมืองประสบปัญหาคล้ายคลึงกันคือ ขาดการยอมรับถึงเอกลักษณ์ ตัวตน วิถีชีวิต ตลอดจนสิทธิเหนือที่ดิน หรือทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ต้องถูกละเมิดสิทธิมาโดยตลอด
สำหรับประเทศไทย มีชนเผ่าพื้นเมืองประมาณ 60 กลุ่ม ประชากรกว่า 4.2 ล้านคน และมีการรวมตัวกันจัดตั้งสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และได้สถาปนาให้วันที่ 9 ส.ค.เป็น 'วันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย' ตามสากลด้วย
ในปี 2564 นี้ สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย จัดงานรณรงค์และเฉลิมฉลองเนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ภายใต้กรอบแนวคิด 'สัญญาประชาคมใหม่: คุ้มครองวิถีชีวิต สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง' (A New Social Contract: Protecting Indigenous Peoples’ Life and Rights) โดยภายในงานมีการจัดเวทีเสวนาหัวข้อ 'สานพลังผลักดันกฎหมายคุ้มครองวิถีชีวิตและส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง'
@ ปัญหาที่อยู่อาศัย ปมที่ยังแก้ไม่จบ
นายวิทวัส เทพสง ตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองภาคใต้ กล่าวว่า ภาคใต้ประกอบด้วย มานิ มอแกน โอรังอัสลี โดยประชากรทั้งหมดประมาณ 1.5 หมื่นคน กระจายตัวกันอยู่ในตามเกาะแก่งต่างๆ ป่าเขา หรือว่าตามชุมชนบนชายฝั่งนะครับ เนื่องจากการต้องออกมาทำงาน
นายวิทวัส กล่าวถึงสาเหตุว่าทำไมถึงมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองชาติพันธุ์ ว่า เนื่องจากกฎหมายในประเทศไทย มีนโยบายและกฎหมายที่มีความเหลื่อมล้ำ ไม่สามารถที่จะเข้าถึงได้ ทำให้ชนเผ่าพื้นเมืองยังขาดโอกาสทางด้านการพัฒนาทางสังคม ไม่สามารถที่จะไปมีส่วนร่วมกับสังคมได้
ปัญหาที่หนักที่สุด คือยังมีชนเผ่าพื้นเมืองที่ยังไม่มีบัตรประชาชน โดยส่วนใหญ่เป็น ชาวมอแกน ส่วนชาวมานิได้รับบัตรประชาชนเกือบหมดแล้ว แต่ก็ยังมีที่ยังตกค้างอยู่บ้าง การที่ไม่มีบัตรประชาชน จะทำให้สูญเสียสิทธิทุกอย่างไม่ว่าสิทธิที่รัฐให้รือว่าสิทธิที่มี ก็ไม่สามารถที่จะแสดงออกได้
ส่วนการดำรงวิถีชีวิต นายวิทวัส กล่าวว่า ส่วนใหญ่ อยู่ในธรรมชาติเกือบทั้งหมดต้องพึ่งพิงพึ่งพากับธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นเขตอุทยาน เขตป่าสงวน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือเขตป่าชายเลนเขตต่างๆ เป็นปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย บางพื้นที่ไม่สามารถที่จะพัฒนาเนื่องจากการประกาศทับจากรัฐ ละถูกอ้างสิทธิ์จากเอกชน ขาดความมั่นคงและโอกาสด้านที่ทำกิน
"การผลักดันนโยบายที่ผ่านมา ตามมติ ครม. 20 ส.ค. ร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่า คณะกรรมการขับเคลื่อนมติ ครม. 5 รัฐบาล เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนรัฐธรรมนูญมาตรา 70 วิถีชีวิตและสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติติพันธ์กฎหมายทุกฉบับ นโยบายทุกระดับที่คุ้มครองสิทธิประชาชนเผ่าพื้นเมืองกันมาหมดแล้ว แต่ว่าปัญหาเหล่านี้ก็ยังไม่จางหายไปจากพวกเราโดยเฉพาะปัญหาในที่ดินป่าไม้ เรื่องทรัพยากร" นายวิทวัส กล่าว
นายเกรียงไกร ชีช่วง ตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองภาคกลาง ตะวันตก และตะวันออก เปิดเผยว่า ในภาคตะวันออกมีชนพื้นเมืองประมาณ 20 กลุ่ม แต่ที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวและร่วมมือ ร่วมกิจกรรมในการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ในการสื่อสารรณรงค์ต่อเนื่องประมาณ 7 กลุ่ม สำหรับข้อมูลที่น่าสนใจคือ มีชนพื้นเมืองบางส่วน เคลื่อนมาเป็นแรงงานเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในชุมชนเมือง การขยายของเศรษฐกิจชุมชนเมือง แสดงให้เห็นว่าชนเผ่าพื้นเมืองมีความเกี่ยวข้องและยึดโยงกับสังคม แต่ที่สำคัญคือ ชนเผ่าพื้นเมืองยังถูกมองไม่เห็น ยังบีบให้เห็นความไม่เท่าเทียมกัน และก็ยังมีความเหลื่อมล้ำสูง
ด้าน นายศุรวิษฐ์ ศิริพาณิชย์ศกุนต์ ตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองภาคอีสาน เปิดเผยว่า สภาพและปัญหาโดยรวมคือ ชาติพันธุ์ในภาคอีกสาน มีหลากหลาย เป็นการอยู่รวมกันแบบพหุวัฒนธรรม จากการเก็บข้อมูลพบวิกฤติเรื่องภาษาที่จะหายไป สำหรับชาติพันธุ์ใดที่ไม่มีการสืบต่อด้านภาษา ถือว่าชาติพันธุ์นั้นได้ล่มสลาย เนื่องจากค่านิยมที่เปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่ไม่สนใจรับไม้ต่อ รวมถึงประสิทธิภาพของผู้รักษามรดกวัฒนธรรมที่จะส่งไม้ต่อ ขาดเครื่องมือ รูปแบบการส่งต่อทางวัฒนธรรมให้มีประสิทธิภาพ เช่นระบบโรงเรียน หลักสูตรท้องถิ่น ศูนย์การเรียนรู้เป็นต้น และขาดองค์กรหรือศูนย์ประสานงานกลางของกลุ่มชาติพันธุ์ อีกทั้งฐานข้อมูลไม่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นจำนวนชุมชน จำนวนประชากร ทำให้การเผยแพร่ข้อมูลไม่ถูกต้องและคลาดเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน
"ถ้าเราไม่มีมรดกภูมิปัญญา วัฒนธรรมของตนเอง ก็จะล่มสลาย ในวันนี้ทุกชาติพันธ์เห็นพ้องกันว่าตนนี้เหลือน้อยลงไปทุกที" นายศุรวิษฐ์ กล่าว
@ ผู้หญิง-เด็ก ต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคต
น.ส.วนิจชญา กันทะยวง ตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองภาคเหนือพื้นราบ เปิดเผยว่า จากการได้ระดมความคิดเห็น เห็นพ้องตรงกันว่าสิ่งที่จำเป็นที่สุด คือที่ทำกินที่ทำกินและการรักษาเมล็ดพันธุ์ เพราะว่าสิ่งนี้ มีความสำคัญมากต่อการดำรงชีวิต ถ้าเราไม่มีเมล็ดพันธุ์ ไม่มีที่ดินทำกิน ตัวอย่าง เช่น คนแม่ฮ่องสอน อยู่ในเขตป่า ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ถ้ารัฐจะเอาผิด ก็จะมองเห็นว่าเป็นการอยู่อย่างผิดกฎหมาย ฉะนั้น การที่จะต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิ์ เนื่องจากชาติพันธุ์อยู่มาก่อนที่จะประกาศ พ.ร.บ.ต่างๆ กฎหมายป่าไม้ต่างๆ ดังนั้นควรจะต้องให้สิทธิ์ในการที่ดำรงอยู่อย่างมีความสุขกับชาพันธุ์ด้วย
น.ส.วนิจชญา กล่าวถึงสิ่งที่กำลังเผชิญตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ว่า เรื่องของสัญชาติ เป็นสิ่งสำคัญ หลายคนอาจจะเคยได้ยินเรื่อง แม่อายสะอื้น ที่ไม่มีความมั่นคงในการดำรงชีวิต หลายคนได้สัญชาติ แต่บางครั้งก็ดูเหมือนกับว่าไม่ 100% เนืองจากถูกยึดคืน ถูกข่มขู่
"เมื่อได้สัญชาติแล้ว เราก็ไม่อยากจะให้ใครยึดกลับคืนต้องมีความมั่นคงในสัญชาติ เมื่อให้กับเราแล้ว คนไทใหญ่ก็เป็นคนไทย แต่หลายครั้งถูกมองว่าเป็นคนพม่าเป็นคนที่อื่นมาอยู่ ทั้งๆที่เราเองก็เป็นคนไทย 100% ส่วนพี่น้องชนเผ่าอื่นบางคน ยังตกสำรวจสถานะทางกฎหมายอยู่" น.ส.วนิจชญา กล่าว
น.ส.วนิจชญา กล่าวถึงข้อเรียกร้องในการจัดการตัวเองว่า การจัดการตัวเอง หมายถึง การกำหนดอนาคตของตัวเองตามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้น กลุ่มชาติพันธุ์มีความรู้สึกว่า อยากจะมีการจัดการตัวเอง แต่ไม่ใช่ว่าต้องการที่จะหนือกว่าคนอื่น แต่ใช้หลักการที่อยากกำหนดอนาคตของตัวเอง อย่างเช่น ผู้หญิงสตรีที่อยากจะบอกกล่าวว่า อยากจะทำอะไร อยากมีพื้นที่อย่างไร แต่หลายครั้ง ถูกจำกัดสิทธิ์ ไม่ว่าจะขอบเขตชุมชนหรือในระดับประเทศ เห็นได้จากสัดส่วนของผู้หญิงที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารการกำหนดอนาคต หรือว่าการพูดคุยเรื่องราวแสดงความคิดเห็นต่างๆ
น.ส.วนิจชญา กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นเนี่ยในสัญญาประชาคมใหม่ คืออยากเห็นพื้นที่ของผู้หญิงสตรีชนเผ่าได้มีส่วนร่วมมากขึ้น ในการกำหนดอนาคตตัวเองในการพูดเรื่องราวของตัวเอง ไม่ว่าเรื่องของพรบปกป้องคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ในกลุ่มเหนือราบระดมความคิดเห็นกันแล้ว ว่าในทุกอนุกรรมการตั้งแต่จังหวัดจนถึงในระดับประเทศเนี่ยต้องมีสตรีชนเผ่า และเยาวชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นกรรมการด้วย
@ ไร่หมุนเวียน สิ่งต้องต่อสู้เพื่อสร้างความเข้าใจในทุกยุค
นายสุพจน์ หลี่จา ตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองภาคเหนือพื้นที่สูง กล่าวว่า สำหรับชาติพันธุ์ที่ภายในพื้นที่สูง ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันนี้ ได้มีการพูดคุยถึงสภาพปัญหาและความแล้งแค้น รวมทั้งเรื่องที่ได้ถูกกระทำในเรื่องของการจำกัดสิทธิต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิที่ดินสิทธิ การใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ อันนี้เป็นสิ่งที่ได้รับผลกระทบจากการวางนโยบายของภาครัฐ และหน่วยงานที่ไม่เอื้อต่อบริบทของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่นั้นๆ ไม่ว่าจะออกกฎหมายหรือมาตรการต่างๆ โดยไม่ศึกษา ทำให้ไม่สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของชุมชนบนพื้นที่สูง รวมถึงการขาดกระบวนการมีส่วนร่วม
นายสุพจน์ กล่าวถึงผลกระทบจากสถานการณ์โควิดว่า ในปัจจุบัน 2 ปีที่ผ่านมา จากสถานการณ์โควิด ทำให้ชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงได้รับผลกระทบไม่ต่างจากสังคมอื่นๆ วัยแรงงานต้องกลับมาอยู่ในชุมชน เนื่องจากตกงาน ถูกเลิกจ้างงาน เมื่อกลับมาอยู่ในชุมชน ก็จะต้องมาทำการเกษตรเลี้ยงชีพ สร้างความมั่นคงให้กับตัวเอง แต่ปัญหาต่างๆ ที่ตามมาคือ ไม่มีเรื่องที่ดิน ไม่สามารถมีสิทธิ์เข้าถึงที่ดินและทรัพยากรได้อย่างทั่วถึง ทำให้ไม่สามารถดำรงชีวิตได้ ไม่สามารถสร้างพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารของตนเองได้ ต้องดิ้นรนต่อสู้กับข้อจำกัดต่างๆ ในเรื่องของสิทธิต่างๆ มากมาย
"กลุ่มชาติพันธุ์ไม่สามารถสร้างความความเข้าใจต่อของสังคมโลก สังคมไทยที่มีความคลาดเคลื่อนและไม่เข้าใจต่อระบบการเกษตรที่เป็นไร่หมุนเวียนในระบบการเกษตรที่ใช้ภูมิปัญญา ไม่เข้าใจระบบภูมิปัญญาในเรื่องของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของพวกเรา สิ่งเหล่านี้เป็นข้อจำกัดที่เราต้องต่อสู้ท่ามกลางการระบาดของโควิด รวมทั้งสถานการณ์อื่นๆอีกด้วย" นายสุพจน์ กล่าว
@ กฎหมายชาติพันธุ์ ลดความเลื่อมล้ำ-คุ้มครองมรดกวัฒนธรรม
นายอภินันท์ ธรรมเสนา ผู้แทนศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร องค์การมหาชน กล่าวถึงการขับเคลื่อนกฎหมายคุ้มครองวิถีชีวิต กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยว่า การผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับชาติพันธุ์มีมาตั้งแต่ปี 2550 ที่มีการขับเคลื่อนปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง สำหรับประเทศไทยเองก็มีกระบวนการขับเคลื่อนเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ จนปี 2553 มีการเสนอมติ ครม.เกี่ยวการคุ้มครองวิธีชีวิตชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการผลักดันเรื่องของชาติพันธุ์ให้เป็นเรื่องของมีมาตรการที่ชัดเจน เนื่องจากก่อหน้านี้ ประเด็นของกลุ่มชาติพันธุ์มักจะถูกโยงไปกับประเด็นอื่น เช่น ปัญหาความยากจน หรือเรื่องที่ดินทำกิน เป็นต้น
สำหรับความสำคัญของกฎหมายชาติพันธุ์ นายอภินันท์ กล่าวว่า กลุ่มชาติพันธุ์ เป็นพลเมืองของชาติเช่นเดียวกัน จึงต้องได้รับสิทธิการคุ้มครองในฐานะพลเมือง และในแง่ทุนทางวัฒนธรรมของชาติ วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นมรดกที่สำคัญของชาติ ที่จะต้องได้รับการคุ้มครองและส่งเสริม อีกทั้งกลุ่มชาติพันธุ์มีศักยภาพ หากมีกฎหมายส่งเสริมจะเป็นพลังในการพัฒนาประเทศอีกด้วย รวมถึงรัฐธรรมนูญของไทย มีหลักการคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ จึงต้องมีกฎหมายลูกที่กำหนดแนวทางที่ชัดเจน และกระแสโลกให้ความสำคัญกับสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์เช่นเดียวกัน
นายอภินันท์ กล่าวถึงประโยชน์ที่กลุ่มชาติพันธุ์ได้จากกฎหมายชาติพันธุ์ คือ ได้รับการยอมรับในฐานะผลเมืองของชาติอย่างเสมอภาค และไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมมรดกวัฒนธรรม อีกทั้งมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และพื้นที่จิตวิญญาณตามวิถีวัฒนธรรม และเข้าถึงบริการพื้นฐานของรัฐอย่างเสมอภาค รวมถึงมีสิทธิจัดการ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรตามวิถีวัฒนธรรม โดยมีส่วนร่วมกำหนดแนวทางการพัฒนาอีกด้วย
ในส่วนประโยชน์ที่สังคมจะได้รับกฎหมายชาติพันธุ์ นายอภินันท์ กล่าวว่า กฎหมายชาติพันธุ์ที่ส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์จะสร้างรายได้จากทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย และเป็นประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน อีกทั้งประหยัดงบประมาณเพราะกลุ่มชาติพันธุ์มีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้บนฐานวัฒนธรรม ประเทศมีความมั่นคง โดยสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เป็นรากฐานของความขัดแย้งรุนแรง รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติมีความอย่างยั่งยืนบนฐานของการจัดการและใช้ประโยชน์อย่างเป็นธรรม และประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติในการคุ้มครองความหลากหลาย
ทั้งหมดนี้ คือเสียงสะท้อนของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ที่เล่าถึงปัญหาที่เผชิญมาอย่างยาวนาน และการต่อสู้ผลักดันในการเรียกร้องพิทักษ์สิทธิที่ควรจะได้รับ ต้องติดตามต่อไปว่าภาครัฐจะมีแนวทางหรือนโยบายในการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้อย่างไร
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage