“...การจะเปิดรับนักท่องเที่ยวได้แต่ละจังหวัดจะต้องพิจารณา 3 องค์ประกอบ คือ 1.วัคซีนต้องพร้อม เพราะไม่มีเหตุผลที่เราจะเอาชีวิตของประชาชนไปเสี่ยง เพื่อการพลักดันทางเศรษฐกิจ 2. ความร่วมมือ คนในพื้นที่ต้องเห็นร่วม ถ้าไม่เห็นร่วม จะเป็นเรื่องยากมากที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยว และ 3. จำนวนเตียง เราควรวางแผนด้านระบบสาธารณสุข หากเกิดการติดเชื้อขึ้นมาเราจะมีเตียงพอรับการดูแลรักษาหรือไม่...”
…………………………………………….
ธุรกิจการท่องเที่ยวซบเซามากว่า 1 ปี นับตั้งแต่เกิดการระบาดขึ้นภายในประเทศไทยเมื่อวันที่ 12 ม.ค.2564 ที่ผ่านมา ด้วยผลกระทบจากโควิดที่ยาวนาน นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย เปิดเผยผลสำรวจในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา พบธุรกิจโรงแรมไทยเหลือสภาพคล่องดำเนินกิจการได้อีกไม่เกิน 3 เดือน ขณะเดียวกันคาดการณ์ว่ามีกิจการปิดตัวไปแล้วมากถึง 50% ของโรงแรมทั้งหมด
‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ จึงกลายเป็นความหวังใหม่ของธุรกิจท่องเที่ยวที่จะทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลับมาขับเคลื่อนอีกครั้ง ขณะนี้ผ่านมาแล้วร่วมเดือนมีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว 17,629 ราย และมียอดจองโรงแรมสะสม 344,767 คืน
ดังนั้นแล้วการเปิดภูเก็ตแซนด์บ้อกซ์ ถือเป็นก้าวแรกของความสำเร็จหรือไม่? และทางออกของการท่องเที่ยวไทยควรจะเป็นอย่างไร? สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมคำแนะนำจากผู้เกี่ยวข้องจากงานเสวนา ‘ความสำเร็จก้าวแรก Sandbox กับทางออกท่องเที่ยวไทย’ มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
นายธเนศ ตันตพิริยะกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เป็นโครงการที่จังหวัดภูเก็ตร่วมกับภาครัฐและเอกชนร่วมกันจัดทำขึ้นมา เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ 95% เกี่ยวพันกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ต่างประสบกับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดที่ยาวนานมากแล้ว
และไม่เพียงแต่ประชาชนภายในจังหวัดภูเก็ต ธุรกิจการท่องเที่ยวทั่วประเทศต่างประสบกับผลกระทบจากโควิดด้วยเช่นกัน เราจึงตั้งใจทำโครงการนี้ขึ้นมา และตั้งเป้าที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและชาวไทย แต่ด้วยธุรกิจเราปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากว่า 10 เดือนก่อนเริ่มเปิดโครงการภูเก็ตแซนบ็อกซ์ เมื่อ 1 ก.ค.2564 ที่ผ่านมา ทำให้หน้าสื่อปรากฏข่าวที่ทำให้หลายคนเข้าใจว่าเราเปิดรับแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติ
"ผ่านมาแล้วกว่า 1 เดือน ความสำเร็จของภูเก็ตแซนบ็อกซ์ไม่ได้อยู่ที่ตัวเลข แต่คือความความหวัง หรือแสงสว่างของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว วันที่เราเปิดวันแรกนะ ทุกคนน้ำตาไหล ไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยว แต่ประชาชนเราก็น้ำตาไหล ผมว่าการเปิดครั้งนี้บรรลุแล้วนะ เพราะถือเป็นก้าวแรกของแสงสว่างให้ธุรกิจขับเคลื่อนได้อีกครั้ง” นายธเนศ กล่าว
อย่างไรก็ตามวันนี้ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เดินมาได้ เพราะได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งบุคลากรแพทย์ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และรัฐบาล หากเราไม่ได้รับความร่วมมือจากใครเลย คงเปิดไม่ได้
@ 3 มาตรการที่ต้องทำ ก่อนเปิดรับนักท่องเที่ยว
แต่เมื่อถามว่ามีปัญหาในการทำโครงการนี้มีหรือไม่ นายธเนศ กล่าวยอมรับว่า มี เนื่องจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน ปัญหาจึงมีให้แก้กันทุกวัน แต่ปัญหานั้นอยู่ในเกณฑ์ที่แก้ไขได้ เช่น ระหว่างรับนักท่องเที่ยวขึ้นรถกลับที่พัก ทางทีมผู้ประกอบการตั้งใจว่าจะชวนนักท่องเที่ยวพูดคุยด้วย แต่ปรากฏว่าเมื่อนักท่องเที่ยวมาถึงจะต้องตรวจตรวจหาเชื้อก่อน ซึ่งผลขณะนั้นยังไม่ออก จึงไม่สามารถให้บริการนักท่องเที่ยวด้วยการพูดคุยได้ หรือการเกิดปัญหานักท่องเที่ยวล่องเรือออกไปนอกจังหวัดภูเก็ตด้วยความไม่รู้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้ขับเรือตาม เพื่อชี้แจงเส้นทางการท่องเที่ยวที่ถูกต้อง จะเห็นได้ว่าเป็นนปัญหาเล็กๆ น้อยๆเท่านั้น
ทั้งนี้ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ จะเดินอย่างไรต่อไป ตนเองเชื่อว่าโควิดจะอยู่กับเราไปอีกนาน แต่เราจะอยู่แบบนี้ไม่ได้ เพราะท้ายที่สุดโควิดจะไม่ได้ทำลายเรา แต่เศรษฐกิจจะทำลายเรา ดังนั้นเราต้องเปิด จะมาล็อกดาวน์เปิดๆปิดๆแบบนี้ไม่ได้
ดังนั้นแล้วสำหรับพื้นที่อื่นที่อยากเปิดรับนักท่องเที่ยวควรทำอย่างไร นายธเนศ กล่าวว่า ขอเรียนก่อนว่าจังหวัดภูเก็ต ตอนแรกเราอยากเชื่อมจังหวัดพังงา และจังหวัดกระบี่ด้วย แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดจึงทำให้ไม่สามารถเชื่อมได้ ซึ่งการจะเปิดรับนักท่องเที่ยวได้แต่ละจังหวัดจะต้องพิจารณา 3 องค์ประกอบดังนี้
1.วัคซีนต้องพร้อม เพราะหากฉีดวัคซีนได้ไม่ครอบคลุมให้เกิดภูมิคุมกันหมู่ หรือครบ 70% ไม่มีเหตุผลที่เราจะเอาชีวิตของประชาชนไปเสี่ยง เพื่อการพลักดันทางเศรษฐกิจ
2. ความร่วมมือ คนในพื้นที่ต้องเห็นร่วม ถ้าไม่เห็นร่วม จะเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวได้
3. จำนวนเตียง ในสถานการณ์แบบนี้ เราควรวางแผนด้านระบบสาธารณสุขด้วยว่าหากเกิดการติดเชื้อขึ้นมาเราจะมีเตียงพอรับการดูแลรักษาหรือไม่ ซึ่งในวันนี้จังหวัดภูเก็จมีเตียงใช้แล้ว 60% ซึ่งยังรับได้อยู่
“ภูเก็ตเรามีความตั้งใจแต่แรกแล้ว ว่าเราอยากเชื่อมโยงไปหลายจังหวัด แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดจึงไม่สามารถทำได้ ดังนั้นแต่ละพื้นที่ต้องเตรียมความพร้อม ภูเก็ตเราผ่านวิกฤต 15 เดือนที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเลยมาได้แล้ว เมื่อก่อนเราอยากขอกำลังใจ แต่ตอนนี้เราทำได้แล้ว คนภูเก็ตกจึงอยากให้ส่งกำลังใจให้ทุกคน ผมว่าวิกฤตนี้จะผ่านไป” นายธเนศ กล่าวทิ้งท้าย
(นายธเนศ ตันตพิริยะกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต )
@ ‘สมุย พลัส โมเดล’ 15 วัน มีนักท่องเที่ยวแล้ว 500 ราย
นายรัชชพล พูลสวัสดิ์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย กล่าวด้วยว่า โครงการ ‘สมุย พลัส โมเดล’ เป็นโครงการที่มีภูเก็จแซนด์บ็อกซ์เป็นต้นแบบ ซึ่งเปิดจากหลักภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 15 วัน
ขณะนี้สถานการณ์การระบาดในโครงการสมุย พลัส โมเดล ตนเองเห็นด้วยว่าบรรลุแล้ว แม้จะมีอุปสรรคไปบ้าง ด้วยสถานการณ์ภายในประเทศที่ไม่ค่อยดี ทำให้ประเทศไทยเราตกไปอยู่ในเกณฑ์ Hight Risk ของต่างประเทศ อย่างไรก็ตามถือได้ว่าการเปิดครั้งนี้ อย่างน้อยทำให้เราได้เปิดประตูของนำชื่อประเทศไทยกลับมาอยู่ในแผนที่ท่องเที่ยวอีกครั้งสู่สายตานานาชาติ
นายรัชชพล กล่าวอีกว่า ผ่านมา 15 วัน เรามีนักท่องเที่ยวรวมสะสม 500 รายแล้ว ทั้งจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายัง สมุย พลัส โมเดล โดยตรง และเดินทางมาจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์
“แม้ว่าภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอาจไม่แฮปปี้ในตัวเลข 500 รายนี้ แต่ผมถือว่าเราบรรลุวัตถุประสงค์ของการเปิดแล้ว อย่างไรก็ตาม 500 ก็ยังดีกว่า 0 ราย ส่วนปัญหาเรื่องเม็ดเงินไม่กระจาย ผมมองว่าจะค่อยๆซึมนะ ถ้ามีมากขึ้นเงินจะกระจายไป อยากให้ผู้ประกอบร่วมมือกันต่อไปและรอกันอีกสักนิด” นายรัชชพล กล่าว
@ ชูจุดเด่นสาธารณสุข-โรงแรมมาตรฐาน SHA ทางออกการท่องเที่ยว‘สมุย พลัส โมเดล’
สำหรับการพบนักท่องเที่ยวต่างชาติติดเชื้อ นายรัชชพล กล่าวว่า ปัจจุบันมี 2 ราย ซึ่งเราสามารถทราบผลได้ไว และตอนนี้ได้นำส่งโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว ยืนยันว่าไม่มีการติดเชื้อกระจายไปสู่บุคคลอื่นอย่างแน่นอน
นอกจากความเข้มแข็งด้านสาธารณสุขเพื่อการรองรับนักท่องเที่ยวแล้ว โรงแรมของเราที่ได้รับมาตรฐานท่องเที่ยวปลอดภัยด้านสุขอนามัย (Amazing Thailand Safety & Health Administration: SHA) หรือ SHA+ ซึ่งเป็นมาตรฐาน SHA ดั้งเดิมที่เพิ่มเติมเงื่อนไขให้พนักงานต้องได้รับการฉีดวัคซีนไม่ต่ำกว่า 70% ของทั้งองค์กร และพนักงานหน้าด่านต้องได้รับวัคซีน 100% ยังไม่พบโรงแรมใดที่ได้มาตรฐานดังกล่าวแล้ว พบผู้ติดเชื้อ ดังนั้นถ้าเราเคร่งครัดปฏิบัติตามมาตรการ เศรษฐกิจจะเดินหน้าควบคู่ไปกับความปลอดภัยได้
นายรัชชพล กล่าวด้วยว่า สำหรับนักท่องเที่ยวไทยที่มีผลตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจแอนติเจน (Antigen Test Kit) ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวภายใน สมุย พลัส โมเดล ได้
(คนขวา: นายรัชชพล พูลสวัสดิ์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย
คนซ้าย: นายปณิธาน บุญสา นายกสมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชน อำเภอเกาะสมุย )
@ บูรณาการให้เกิดรายได้ก่อน แม้เม็ดเงินกระจายไม่พอ
ด้าน นายปณิธาน บุญสา นายกสมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชน อำเภอเกาะสมุย กล่าวด้วยว่า ตอนแรกที่เราได้เปิดโครงการสมุย พลัส โมเดล คนในชุมชนทุกคนดีใจมาก ด้วยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานชุมชน โดยชาวชุมชนสมุยเอง ก็มีการร่วมใจกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ส่วนเรื่องเม็ดเงินที่ไม่ค่อยพอนั้น ในตัวชุมชนเองเราพยายามคุยกันตลอด ว่าเราจะอยู่อย่างไรกันให้ได้ เราคิดกันว่าจะบูรณาให้เกิดรายได้ก่อน เพราะเม็ดเงิน เหมือนน้ำ ที่จะค่อยๆซึม เมื่อมีมากพอถึงจะกลายเป็นบ่อ
“การร่วมมือร่วมใจแบบนี้ ไม่เคยเกิดที่สมุยมาก่อน แต่ตอนนี้เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นก็ต้องก้าวเดินไปข้างหน้า ต้องร่วมมือร่วมใจทำให้เกิดขึ้นให้ได้ ถ้าจะมาเปิดๆปิดๆ ก็คงไม่ใช่ ต้องเปิดประตูแล้ว จากศูนย์ต้องเป็นบวกให้ได้” นายปณิธาน กล่าว
เมื่อถามว่าการเปิดครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จไหม นายปณิธาน กล่าวว่าในความร่วมมือร่วมใจถือว่าสำเร็จ แต่ความสำเร็จด้านการบริหารจัดการ เราไม่รู้อนาคต จึงตัดสินใจไม่ได้ แต่เชื่อว่าสถานการณ์ภายใน สมุย พลัส โมเดล จะค่อยดีๆ ขึ้น
@ กระบี่เตรียมเปิดโครงการ ‘KRABI EVEN MORE AMAZING’
สำหรับการเตรียมความพร้อมเปิดรับการท่องเที่ยวในจังหวัดกระบี่ น.ส.ศศิธร กิตติธรกุล นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ตอนนี้เรากำลังเตรียมเปิดโครงการ ‘KRABI EVEN MORE AMAZING’
โดยจุดเริ่มต้นของโครงการนี้ มาจากการเข้าร่วมประชุมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แล้วได้ทราบถึงโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ จึงนำมาหารือกับคนในพื้นที่ โดยจะเริ่มจาก 3 พื้นที่ก่อน คือ เกาะพีพี หาดไร่เลย์ และเกาะไหง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวคนมาเยอะ และรายได้หลักของคนในชุมชนมาจากนักท่องเที่ยวถึง 90%
เราจึงได้เริ่มวางแผนจากจุดเล็กๆ ตั้งแต่การตั้งคำถามหารือกับคนในพื้นที่ก่อนว่า ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์คืออะไร หากเราทำทุกคนพร้อมไหม ไหวไหม นอกจากนั้นเราได้รับความร่วมมือจากหลายๆ ภาคส่วน เช่น ภาคส่วนสาธารณสุข ตำรวจท่องเที่ยว และตำรวจน้ำเป็นคน ที่ให้ความรู้และกำหนดออกมาเป็นมาตรการในการเตรียมรองรับนักท่องเที่ยวเดินทางมา นอกจากนั้นยังได้รับความร่วมมือจากจังหวัดในการจัดสรรวัคซีนให้ธุรกิจภาคบริการก่อน ทำให้ขณะนี้ประชาชนใน 3 พื้นที่ดังกล่าวได้รับวัคซีนครบ 100% แล้ว
“กระบี่เราพร้อมมาก แต่ที่เราต้องขอเปิดพื้นที่ 3 จุดนี้ก่อน เพื่อเป็นแสงสว่างให้หลายๆจุดของเราเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ เพราะกระบี่เป็นเมืองประวัติศาสตร์ เรามีพื้นที่ท่องเที่ยวมาก” น.ส.ศศิธร กล่าว
น.ส.ศศิธร กล่าวอีกว่า ประชาชนใน 3 พื้นที่ข้างต้น ตอนนี้เขามีความหวังตั้งแต่ที่เราได้เริ่มหารือกัน เมื่อ 20 ก.ค.2564 เพราะว่าเราจะมีรายได้เพิ่มเข้ามาจากปี 2563 ที่ซบเซา ขอย้ำว่าไม่ว่าจะมีมาตรการใดๆ เราชาวกระบี่พร้อมทำตามอยู่แล้ว ยินดีให้ความร่วมมือ แต่ด้วยความไม่มีรายได้ หากเรื่องใดไม่ต้องใช้งบประมาณมากเรายินดี แต่ถ้าให้เราลงทุนมากกว่านี้คงไม่ไหวแล้ว พร้อมขอให้เห็นความหวังตรงนี้ของประชาชนด้วย
(น.ส.ศศิธร กิตติธรกุล นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่)
(นายพัลลภ แซ่จิว ประธานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่)
@ เชียงใหม่เตรียมใช้ยุทธศาสตร์ ‘ซ่อม สร้าง และต่อยอด’ รับนักท่องเที่ยว
สำหรับการเตรียมความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยว อีก 1 จังหวัดที่สำคัญ คือ จังหวัดเชียงใหม่ นายพัลลภ แซ่จิว ประธานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในการเตรียมความพร้อม โดยเราจะใช้ยุทธศาสตร์ ‘การซ่อม การสร้าง และต่อยอด’
โดยการซ่อม เราจะมุ่งเน้นการซ่อมเรื่องสิ่งแวดล้อม PM2.5 และปัญหาการได้รับผลกระทบของผู้ประกอบการ ซึ่งทางจังหวัดเชียงใหม่เราได้นำข้อแนะนำจากประธานสภาการท่องเที่ยวมาใช้เพื่อจัดตั้ง Tourism clinic ดูแล ผู้ประกอบการ และช่วยเจรจากับธนาคาร เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านการเงิน
สำหรับสถานการณ์ธุรกิจท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ นายพัลลภ กล่าวว่า ตอนนี้ถือว่าสาหัส ต้องเชียร์ให้จังหวัดภูเก็ต พื้นที่ท่องเที่ยวสมุย และจังหวัดกระบี่ทำให้สำเร็จ และในวันที่ 11 ส.ค.นี้ เราจะต้องหาทางออกในการเปิดเมืองให้ได้ก่อน
“จังหวัดเชียงใหม่เรามีจุดแข็งเยอะ ด้วยความที่จังหวัดเราเป็นแผ่นดินใหญ่และอยู่ในพื้นที่ขวานทองตอนบน ไม่ได้เป็นเกาะ เพราะฉะนั้นแผนการเปิดเมืองของเราจะต้องแยกรายละเอียดที่รัดกุม” นายพัลลภ กล่าว
นายพัลลภ กล่าวอีกว่า จังหวัดเชียงใหม่เราตั้งธงไว้ก่อนว่า แผนแรกเราจะฉีดวัคซีนให้ประชาชนครบทั้ง 25 อำเภอ เพื่อเปิดให้นักท่องเที่ยวเที่ยวได้อย่างอิสระ แต่เรามองว่าด้วยความไม่แน่นอนของวัคซีน แผนนี้อาจจะต้องใช้เวลามาก จึงได้ตั้งแผนกลางว่า เราตั้งใจว่าจะฉีดวัคซีนให้ประชาชน 4 อำเภอสำคัญ คือ อำเภอเมือง เภอแม่ริม อำเภอแม่แตง และดอยเต่า ส่วนตรงนี้หากคำนวณแล้ว ประชาชนต้องได้วัคซีนประมาณ 4 แสนโดส ซึ่งขณะนี้ภาพรวมเราฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้แล้วเกือบ 4 แสนโดส และกำลังจะมีวัคซีนทยอยมาอีก ซึ่งตอนนี้เราได้รับวัคซีนมาเพิ่มแล้วเมื่อวันที่ 7 ส.ค.2564 ที่ผ่านมา
ส่วนการท่องเที่ยวในปัจจุบัน จังหวัดเชียงใหม่ไม่ได้ปิดกั้น หากทุกคนมีพาสปอร์ตวัคซีนแล้ว มีผลตรวจหาเชื้อร่วมด้วย สามารถมาเที่ยวได้ เราไม่มีการกักตัว แต่จะให้เฝ้าระวังแทน และขอให้แสกนแอปพลิเคชันเข้าออกแต่ละพื้นที่
“จังหวัดเชียงใหม่เรามีจุดแข็ง เรื่องระบบสาธารณสุขมาก เรามีโรงพยาบาลรัฐอยู่ 7 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 11 แห่ง โรงพยาบาลรัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 24 แห่ง โรงพยาบาลสนาม 2,770 เตียง และฮอสพิเทลอีก 300 เตียง และล่าสุดอุปกรณ์เราได้ซื้อรถแล็บตรวจเร็วเคลื่อนที่เพิ่มอีกด้วย ซึ่งเรายังรองรับได้อีกพอสมควร และในกระบวนการค้นหาผู้ติดเชื้อเราทำได้เร็วมา ขอยืนยันว่าเรามีความพร้อมที่เรามั่นใจมาก” นายพัลลภ กล่าว
สำหรับการรับนักท่องเที่ยวจีนที่เป็นนักท่องเที่ยวหลักของประเทศ นายพัลลภ กล่าวอีกว่า เราจะต้องดูกันทั้ง 2 ฝ่าย คือฝ่ายเราและจีน หากฝั่งเรามีความพร้อม แต่หากจีนไม่พร้อมคงไม่สามารถทำได้ แต่หากถามว่าตอนนี้เราสามารถทำอะไรได้บ้างตนเองมองว่า น่าจะทำเป็นการท่องเที่ยวบล็อกเล็กได้ เช่น กลุ่มนักท่องเที่ยวมาตีกอล์ฟ หรือกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวตามแพ็คเกจที่มีบริษัททัวร์ดูแล ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้จะไม่ทำให้ทั้งนักท่องเที่ยวและคนไทยทั้งหมดเสี่ยง
ทั้งหมดนี้เป็นการถอดบทเรียนการเตรียมความพร้อมธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์, สมุย พลัส โมเดล, กระบี่ และเชียงใหม่ ซึ่งเป็นก้าวแรกแห่งความสำเร็จ ที่แม้จะมีปัญหาอุปสรรคบ้าง แต่ยังสามารถแก้ไขได้ ถือเป็นแสงสว่างที่จะทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยทั่วประเทศกลับมาขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจได้อีกครั้ง แต่จะสำเร็จได้ต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัดและต้องร่วมมือร่วมใจกัน
ภาพจาก: Freepik
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage