"..ยังไม่แนะนำวัคชีนโควิดสำหรับเด็กทั่วไปที่แข็งแรงดีในขณะนี้จนกว่าจะมีวัคซีนที่มากขึ้น และมีข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโรคโควิดในเด็กเพิ่มเติม โดยแนะนำให้ฉีดวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขรับรองให้ใช้ในเด็ก ในกรณีที่ผู้ป่วยเด็กที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงของโรคโควิดรุนแรง เช่น โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคเลือดสมอง โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และโรคเบาหวาน เป็นต้น.."
---------------------------------
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด สร้างความกังวลให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กๆ อยู่ไม่น้อย อีกทั้งที่ผ่านมามีกรณีการติดเชื้อในโรงเรียนหรือศูนย์รับเลี้ยงเด็ก และเมื่อเด็กติดเชื้อ จะดูแลค่อนข้างยาก เนื่องจากเป็นวัยที่มีความละเอียดอ่อน แต่ทั้งนี้ การติดเชื้อไวรัสโควิดในเด็กนั้น ไม่รุนแรง แต่ไม่ได้หมายความว่า เด็กไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง ในทางกลับกัน หากเด็กได้รับเชื้อแล้ว อาจจะแพร่กระจายถึงผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุภายในบ้านได้
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดในกลุ่มเด็กปฐมวัย ช่วงอายุต่ำกว่า 6 ปี ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2563 - 25 ก.ค.2564 พบว่า มีเด็กต่ำกว่า 6 ปีติดเชื้อ 13,444 ราย มีอาการรุนแรง 791 ราย และเสียชีวิต 2 ราย คืออายุ 1 เดือนและ 2 เดือน โดยพบว่าทั้ง 2 รายที่เสียชีวิต มีโรคประจำตัวคือโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดรุนแรง
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยกับ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า สาเหตุการติดเชื้อ ส่วนใหญ่เกิดจากสัมผัสบุคคลที่เป็นโรคในครอบครัว และเริ่มมีแนวโน้มความเสี่ยงที่โรคจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จากเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์ แต่ทั้งนี้ ยังมีข้อมูลทางวิชาการที่ไม่มากที่แนะนำให้ฉีดวัคซีนในเด็ก ดังนั้น จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนเฉพาะในกรณีผู้ป่วยเด็กที่มีมีโรคประจำตัวที่มีความ เสี่ยงของโรคโควิดที่รุนแรง เช่น โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรค หลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และโรคเบาหวาน เป็นต้น และแนะนำให้ผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดรับวัคซีน
"การป้องกันที่ดีที่สุดในช่วงนี้ คือ พ่อแม่ผู้ปกครองควรดูแลเด็กเป็นพิเศษ โดยยึดหลักสร้างวินัยในการป้องกันตัวเอง เช่น สวมหน้ากาก ล้างมือเว้น ระยะห่างให้แก่เด็กในทุกวัยและ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อากาศไม่ถ่ายเท ทั้งนี้ ขอสนับสนุนให้มีการใช้มาตรการควบคุมการระบาดของโควิดในชุมชนอย่างเข้มงวด และการให้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงแก่ผู้ใหญ่ เพื่อคุ้มครองเด็กซึ่งยังไม่ได้รับวัคซีนขณะนี้ " นพ.สุวรรณชัย กล่าว
นพ.สุวรรณชัย กล่าวเน้นย้ำถึงแนวทางการใส่หน้ากากอนามัยว่า สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่ควรให้สวมหน้ากาก เพราะเด็กเล็กระบบการหายใจยังไม่แข็งแรงพอ เสี่ยงภาวะคาร์บอนไดออกไซด์คั่งได้ อีกทั้งหายใจทางจมูกเป็นหลัก ยังไม่มีความสามารถในการหายใจชดเชยด้วยการอ้าปากหายใจได้ เมื่อมีการขาดอากาศหรือออกซิเจนจะมีโอกาสเกิดการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เกิดอันตรายต่อระบบประสาท และบกพร่องทางสติปัญหน้าได้ สำหรับเด็กอายุ 2-5 ปี ต้องใส่อยู่ภายใต้การดูแลของผู้ปกครอง และใส่เพียงระยะเวลาสั้นที่สุด โดยขณะใส่ควรมีผู้ใหญ่อยู่ด้วยเพื่อคอยสังเกตหากเด็ก มีการหายใจลำบาก และต้องถอดออกขณะนอนหลับด้วย และเด็กอายุมากกว่า 5 ปี สวมใส่หน้ากากได้ แต่ต้องมีขนาดที่เหมาะสมกับใบหน้าของเด็ก เพราะสามารถถอดหน้ากากออกได้เมื่อรู้สึกอึดอัด แต่ผู้ปกครองจะต้องสอนและให้ความรู้อย่างเหมาะสมเกี่ยวการถอดและใส่
@ แนวทางดูแล เมื่อเด็กติดเชื้อ
สำหรับกรณีเมื่อพบเด็กติดเชื้อ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติ 4 แนวทาง ได้แก่
แนวทางที่ 1 กรณีเด็กเป็นผู้ติดเชื้อ และผู้ปกครองเป็นผู้ติดเชื้อ ให้เข้ารับการรักษา โดยเน้นให้จัดอยู่เป็นกลุ่มครอบครัว
แนวทางที่ 2 กรณีเด็กเป็นผู้ติดเชื้อ แต่ผู้ปกครองไม่เป็นผู้ติดเชื้อ ให้เด็กเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือฮอสพิเทล โดยผู้ปกครองควรมีอายุไม่เกิน 60 ปี และไม่มีโรคประจำตัว สามารถเข้าดูแลเด็กในสถานพยาบาลได้ แต่สำหรับโรงพยาบาลสนาม ควรจัดพื้นที่ให้เด็กและผู้ปกครองเป็นการเฉพาะ โดยแยกจากผู้ติดเชื้ออื่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะสัมผัสเชื้อโรคได้
แนวทางที่ 3 กรณีเด็กไม่เป็นผู้ติดเชื้อ แต่ผู้ปกครองเป็นผู้ติดเชื้อ ให้ญาติเป็นผู้ดูแล หากไม่มีญาติหรือผู้ดูแลเด็ก ให้ส่งเด็กไปยังสถานสงเคราะห์หรือบ้านพักในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้ดูแลต่อไป หรืออาจพิจารณาใช้พื้นที่สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในชุมชนเป็นที่ดูแลเด็ก
แนวทางที่ 4 กรณีที่เกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ให้คณะกรรมการป้องกันโรคจังหวัด อาจพิจารณาใช้พื้นที่สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในชุมชนเป็นโรงพยาบาลสนามเฉพาะกิจ โดยพิจารณาจากความพร้อมของสถานที่ บุคลากร และการบริการจัดการ ตามดุลพินิจของคณะกรรมการป้องกันโรคจังหวัด พิจารณาให้เหมาะสมตามบริบท เพื่อดำเนินการดูแลเด็กต่อไป
@ วัคซีน mRNA ชนิดเดียวที่ได้รับรองสำหรับเด็ก
นพ.สุวรรณชัย กล่าวถึงแนวทางการฉีดวัคซีนสำหรับเด็ก ว่า ในขณะนี้วัคซีนป้องกันโรคโควิดที่มีข้อมูลรองรับถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป มีเพียงชนิดเดียว ได้แก่ วัคซีนชนิด mRNA ของไฟเซอร์ ที่ได้รับการรับรองให้ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค. 2564 อย่างไรก็ตาม มีรายงานการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบภายหลังการฉีดในอัตราที่ 8 ต่อ 1,000,000 คนที่ฉีด ถือว่าต่ำมาก ภายหลังจากได้รับวัคซีนในไม่กี่วัน โดยมักพบในเพศชายอายุน้อยกว่า 30 ปี และพบหลังการฉีดเข็มที่ 2 มากกว่าเข็มแรก โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่หายกลับคืนมาใช้ชีวิตตามปกติได้ แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์นี้และติดตามข้อมูลต่อเนื่องอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ วัคซีนไฟเซอร์ ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยองค์การอาหารและยา (อย.) ให้ใช้ในกับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา
สำหรับวัคซีนซิโนแวค แม้จะมีการใช้ในประเทศจีนในเด็กอายุ 3-17 ปี จากการศึกษาวิจัยในระยะ 1 และ 2 พบว่ากระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีแต่ยังไม่มีข้อมูลเรื่องของประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิดในเด็กกลุ่มนี้ ในขณะนี้ยังมีการศึกษาวิจัยวัคซีนอีกหลายชนิดในผู้ป่วยเด็กในกลุ่มอายุต่างๆ ลงไปจนถึงอายุ 6 เดือน และคาดว่าน่าจะมีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยออกมาเพิ่มเติมในอีกไม่นานนี้
@ เด็กติดโควิด อาการเหมือนกลุ่มโรคคาวาซากิ
พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า พ่อแม่ผู้ปกครองมีความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าในปัจจุบัน อีกทั้งพบการติดเชื้อในเด็กมากขึ้น ถึงแม้ว่าเด็กจะมีไม่ค่อยมีอาการ แต่จะมีกลุ่มอาการเหมือนโรคคาวาซากิ คือ ไข้สูงเฉียบพลัน ปากแดง ตาแดง มือเท้าบวม ปลายนิ้วมือนิ้วเท้าลอกหรือลอกที่บริเวณก้น ผื่นตามร่างกาย ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต บางครั้งอาจจะรุนแรงได้ แม้ว่าจะไม่ได้มีอาการเกิดขึ้นทันที แต่ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้น ตามหลังการติดโควิด ไม่เกิน 1 เดือน ฉะนั้น ความปรารถนาที่จะให้เด็กได้รับการป้องกันสูงมากในกลุ่มพ่อแม่
พญ.กุลกัญญา กล่าวว่า แต่ปัญหาคือ วัคซีนที่มีขณะนี้ มีเพียงยี่ห้อเดียวคือ ไฟเซอร์ ที่ได้รับการรับรองในต่างประเทศที่ให้ใช้ในเด็กได้ตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป และวัคซีนอีกชนิดที่มีการศึกษาว่า มีความปลอดภัยสำหรับเด็ก คือ ซิโนแวค ที่มีข้อบ่งชี้ว่าสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 3 ปีขึ้นไป โดยใช้ปริมาณครึ่งโดสของผู้ใหญ่ แต่ทั้งนี้ยังไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ ส่วนวัคซีนโมเดอร์นา คาดว่าก็จะได้รับการรับรองให้ใช้ในเด็ก 12 ปีขึ้นไปเช่นกันในเร็วๆ นี้
@ รอลุ้นไทยฉีดไฟเซอร์ให้เด็ก 12 ขวบขึ้นไป
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคจากประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวน 1.5 ล้านโดส ว่า จะใช้ฉีดให้ 4 กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข ที่ดูแลผู้ป่วยโควิด19ทั่วประเทศ เป็นเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน จำนวน 7 แสนโดส กลุ่มที่ 2 ฉีดในผู้สูงอายุ ผู้ที่มี 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปที่มี 7 กลุ่มโรค จำนวน 645,000 โดส กลุ่มที่ 3 ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย โดยเป็น ผู้ที่มี 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ และคนไทยผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศที่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เช่น นักเรียน นักศึกษา เป็นต้น จำนวน 150,000 โดส และกลุ่มที่ 4 สำหรับการทำการศึกษาวิจัย โดยการอนุมัติของคณะกรรมการวิจัยจริยธรรม เพื่อนำผลการวิจัยมาใช้ในการกำหนดนโยบายต่อไป จำนวน 5,000 โดส
“เนื่องจากวัคซีนไฟเซอร์สามารถฉีดในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปได้ด้วย เพราะฉะนั้นจะมีการฉีดให้กลับเด็กที่มีอายุ 12 ขึ้นไป และป่วยใน 7 กลุ่มโรคเรื้อรังจะได้รับวัคซีนนี้ด้วย โดยจะมีการกระจายไปใน 13 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด คือ กทม. สมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา สงขลา ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส” นพ.โอภาสกล่าว
@ ไม่แนะนำฉีดวัคซีนในเด็กที่แข็งแรง
เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2564 นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ลงนามในแถลงการณ์โรคโควิดในเด็ก ฉบับที่ 2/2564 เรื่อง วัคซีนป้องกันโรคโควิด โดยระบุว่า การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของเด็กติดเชื้อโควิดที่ผ่านมา สะท้อนถึงการระบาดในชุมชนและครอบครัวที่ยังควบคุมไม่ได้และมีแนวโน้มสูงขึ้น อย่างไรก็ดีพบว่าเด็กส่วนที่ป่วยส่วนใหญ่ติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย
สำหรับข้อแนะนำการฉีดวัคซีนในเด็ก ระบุว่า ยังไม่แนะนำวัคชีนโควิดสำหรับเด็กทั่วไปที่แข็งแรงดีในขณะนี้จนกว่าจะมีวัคซีนที่มากขึ้น และมีข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโรคโควิดในเด็กเพิ่มเติม โดยแนะนำให้ฉีดวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขรับรองให้ใช้ในเด็ก ในกรณีที่ผู้ป่วยเด็กที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงของโรคโควิดรุนแรง เช่น โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคเลือดสมอง โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และโรคเบาหวาน เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังแนะนำให้ผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดรับวัคซีนด้วย พร้อมสร้างวินัยในการป้องกันตัวเอง เช่น สวมหน้ากาก ล้างมือเว้น ระยะห่างให้แก่เด็กในทุกวัยและหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อากาศไม่ถ่ายเท และงดการเยี่ยมเยียนจากบุคคลภายนอก ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ขอสนับสนุนให้มีการใช้มาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิดในชุมชนอย่างเข้มงวด และการให้วัคนที่มีประสิทธิภาพสูงแก่ผู้ใหญ่ เพื่อคุ้มครองเด็กซึ่งยังไม่ได้รับวัคซีนในขณะนี้
ทั้งหมดนี้ คือข้อมูลสถานการณ์เด็กติดเชื้อในประเทศไทย และแนวโน้มการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในเด็ก โดยภาพรวมยังพบการติดโรคโควิดในเด็กน้อยกว่าผู้ใหญ่ และผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโรคโควิด มักไม่รุนแรง ดังนั้น โดยที่ยังไม่จัดให้เด็กปกติที่มีสุขภาพดีเป็นกลุ่มที่มีลำดับความสำคัญในอันดับต้นในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage