"...การแพร่ระบาดของโควิดที่เกิดขึ้นในระลอกแรก กินเวลายาวนานเกือบ 1 ปี จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถออกมาประกอบอาชีพได้ จึงต้องนำเงินที่เก็บออมมาใช้ โดยได้รับมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลเพียงครั้งเดียวคือ การมอบเงิน 15,000 บาท ต่อมาการระบาดที่รุนแรงมากขึ้น ในระลอกที่ 3-4 ไม่สามารถออกมาประกอบอาชีพได้ รายได้ลดลง แต่ค่าใช้จ่ายกลับสวนทาง เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าหน้ากากอนามัย ค่าเจลแอลกอฮอล์ รวมถึงค่าครองชีพต่างๆ เช่น อาหาร ค่าสิ่งของเครื่องใช้ก็สูงขึ้นด้วย ทำให้ต้องไปกู้ยืมจากหนี้นอกระบบ เนื่องจากไม่สามารถกู้ที่ธนาคารในระบบได้ เพราะไม่มีหลักประกัน..."
-------------------------------------------
เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2564 มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ จัดเวทีเสวนาสาธารณะ ในหัวข้อ 'โควิดกับผลกระทบต่อแรงงานนอกระบบ' โดยมีตัวแทนจากหลากหลายกลุ่มอาชีพในแรงงานนอกระบบเข้าร่วมสะท้อนถึงปัญหาที่ประสบตั้งแต่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด
@ ขอวัคซีนให้อาชีพเสี่ยง-สร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า
น.ส.ฉเร วัชวงศ์ ตัวแทนผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้าง เล่าสะท้อนถึงปัญหาที่ประสบ ว่า การแพร่ระบาดของโควิดที่เกิดขึ้นในระลอกแรก กินเวลายาวนานเกือบ 1 ปี จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถออกมาประกอบอาชีพได้ จึงต้องนำเงินที่เก็บออมมาใช้ โดยได้รับมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลเพียงครั้งเดียวคือ การมอบเงิน 15,000 บาท ต่อมาการระบาดที่รุนแรงมากขึ้น ในระลอกที่ 3-4 ไม่สามารถออกมาประกอบอาชีพได้ รายได้ลดลง แต่ค่าใช้จ่ายกลับสวนทาง เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าหน้ากากอนามัย ค่าเจลแอลกอฮอล์ รวมถึงค่าครองชีพต่างๆ เช่น อาหาร ค่าสิ่งของเครื่องใช้ก็สูงขึ้นด้วย ทำให้ต้องไปกู้ยืมจากหนี้นอกระบบ เนื่องจากไม่สามารถกู้ที่ธนาคารในระบบได้ เพราะไม่มีหลักประกัน
น.ส.ฉเร กล่าวว่า ตนขับรถจักรยานยนต์รับจ้างอยู่บริเวณหน้าโรงแรมเวล จังหวัดนครปฐม โดยรายได้หลักส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยว หรือผู้ที่เข้าพักในโรงแรม แต่จากสถานการณ์โควิด โรงแรมเอง ก็ไม่มีแขกเข้าพัก แทบจะกลายเป็นโรงแรมร้าง ปัจจุบัน เมื่อจอดรถรอรับผู้โดยสาร ได้วิ่งไม่เกิน 2 เที่ยวต่อวัน บางครั้ง ก็มีชาวบ้านมาจ้างให้ไปรับ-ส่งของบ้างบางครั้ง
"เพื่อนร่วมอาชีพบางราย มีภาระค่าใช้จ่ายค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นค่าเล่าเรียนบุตร การผ่อนส่งชำระค่ารถ เมื่อไม่มีรายได้ ไม่มีลูกค้า จึงต้องตัดสินใจกลับบ้านที่ต่างจังหวัด และในบางส่วนที่มีความชำนาญด้านการใช้เทคโนโลยี ก็ต้องปรับตัว เป็นคนขับรับส่งอาหารตามแอปพลิเคชันแพลตฟอร์มต่างๆ แต่ในขณะนี้ มีคนขับค่อนข้างเยอะ ทำให้การแข่งขันสูงขึ้นตามไปด้วย" น.ส.ฉเร กล่าว
น.ส.ฉเร กล่าวถึงมาตรการการช่วยเหลือที่อยากได้จากภาครัฐ ว่า อยากให้รัฐจัดสรรวัคซีนให้ เนื่องจากการขับจักรยานยนต์รับจ้าง เป็นอาชีพที่เสี่ยง ต้องพบปะผู้คน รวมถึงเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ผู้มาใช้บริการด้วยเช่นกัน เพราะในการระบาดระลอกแรกที่ผ่านมา ลูกค้าไม่ใช้บริการเลย เนื่องจากมีความกังวลต่อการติดเชื้อ และในส่วนของประเด็นค่าครองชีพที่สูงขึ้น อยากให้มีมาตรการให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ ดอกเบี้ยต่ำด้วย
@ ช่วยกันเองในวันที่ความช่วยเหลือจากรัฐมาไม่ถึง
ด้าน น.ส.เมธาวี ทรัพย์แสง ตัวแทนช่างเสริมสวย กล่าวว่า ตนประกอบอาชีพเปิดร้านเสริมสวยในจังหวัดสมุทรสงคราม ในการระบาดช่วงแรกนั้น ได้รับผลกระทบไม่มากนัก และได้รับมาตรการเยียวยา 15,000 บาท แต่ก็ไม่เพียงพอ เพราะจากคำสั่งปิดกิจการ ทำให้รายได้ลดลงมาก จนถึงไม่มีรายได้เลย แต่รายจ่ายยังคงเท่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าร้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น ทำให้ผู้ประกอบการร้านเสริมสวยหลายคนต้องทำใจและเลิกกิจการไปในที่สุด และผู้ประกอบการบางรายได้ จำเป็นต้องเปลี่ยนอาชีพไปเป็นค้าขาย หรืออบขนมแทนเพื่อให้สามารถหารายได้มาดำรงชีพต่อได้
น.ส.เมธาวี กล่าวว่า ทั้งนี้ ช่างเสริมสวยได้มีการจัดตั้งชมรม ในช่วงวิกฤติ ทางชมรมจึงได้มีการรวมเงินของสมาชิก เพื่อแจกจ่ายถุงยังชีพด้วยเช่นกัน เป็นการช่วยเหลือกันภายในกลุ่ม โดยที่ผ่านมาภาครัฐมีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือหลายโครงการ เช่น เงินเยียวยา คนละครึ่ง แต่ก็ไม่เพียงพอ อีกทั้งได้รับไม่ทั่วถึงทุกคน จึงมีข้อเสนอถึงมาตรการที่กลุ่มช่างเสริมสวยต้องการ คือ การได้รับวัคซีน เพราะถือเป็นกลุ่มอาชีพเสี่ยงที่ต้องพบผู้คนจำนวนมาก และเมื่อได้รับวัคซีนอาจจะทำให้สามารถเปิดร้านได้ และลูกค้ามีความเชื่อมั่น แต่ถ้าหากไม่สามารถเปิดร้านได้ อยากให้มีการสนับสนุนอาชีพเสริมอื่นๆ และการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เนื่องจากสาเหตุที่ยื่นกู้ไม่ผ่านเพราะว่าเป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่มีหลักประกัน
@ โควิดกระทบบริษัท สะเทือนกลุ่มทำงานที่บ้าน
น.ส.นุชนภา บำรุงนา ตัวแทนผู้ทำการผลิตที่บ้าน เปิดเผยว่า ตนเป็นตัวแทนจากกลุ่มประกอบอวน จังหวัดขอนแก่น เป็นการรับงานมาทำที่บ้านจากบริษัท แต่หลังจากโควิดระบาด บริษัทส่งงานให้น้อยลง จนปัจจุบันไม่มีงานเลยแม้แต่ชิ้นเดียว โดยบริษัทชี้แจงว่าเนื่องจากไม่สามารถขายสินค้าได้ จำเป็นจะต้องลดการผลิต อีกทั้งจากสถานการณ์การระบาดของโรค บางพื้นที่มีคำสั่งงดจับปลา ทำให้ ยอดสั่งซื้อลดลง
น.ส.นุชนภา กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อไม่มีงานจึงจะต้องปรับตัวไปทำอาชีพอื่นคือ ทำนา แต่ก็ไม่สามารถทำได้เพราะประสบภัยแล้งมา 2 ปีแล้ว ส่งผลให้ข้าวสำหรับกินในครอบครัวหมด ต้องซื้อจากภายนอก ตั้งแต่การระบาดระลอกที่ 2 ที่ผ่านมา ส่วนมาตรการเยียวยาต่างๆ ของภาครัฐที่ผ่านมา ก็เข้าถึงเพียงไม่กี่คนในชุมชน เนื่องจากไม่มีโทรศัพท์ และไม่มีรถที่จะเดินทางไปเพื่อลงทะเบียนที่ธนาคาร
น.ส.นุชนภา กล่าวด้วยว่า ในส่วนของกลุ่มเย็บผ้า ก็ไม่มีงานเข้ามาจ้างเลย กลุ่มทอผ้า เมื่อทอเสร็จก็ขายไม่ได้ ทำให้ทุนจม ส่งผลให้ต้องเปลี่ยนอาชีพเพื่อหาหนทางหารายได้เข้าสู่ครอบครัว เช่น การทำไร่ ทำนา รับจ้างทั่วไป งานก่อสร้างต่างๆ ยังโชคดีที่จังหวัดขอนแก่นยังพอมีงานก่อสร้างอยู่บ้าง แต่ทั้งนี้ ก็อยากจะให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเรื่องการจัดสรรวัคซีน เพราะในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ก็ยังตกหล่นไม่ได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง
@ วอนรัฐซื้อข้าวกล่องจากแม่ค้าแจกผู้กักตัว
นางภคนันท์ นพรัตน์ ตัวแทนผู้ค้าหาบเร่แผงลอย เล่าถึงผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ว่า ตนประกอบอาชีพหาบเร่แผงลอยค้าขายในจังหวัดสงขลาที่ขณะนี้จัดว่าเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม หลังจากมีคำสั่งปิดตลาด ทำให้ประกอบอาชีพหาบเร่ไม่ได้ จึงผันตัวมาทำขนมส่งให้กับผู้ค้าคนกลาง แต่ทางผู้ค้าคนกลางเอง ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ค้าขายได้ไม่ดี เศรษฐกิจไม่ดี เมื่อรับขนมไปก็ขายไม่ได้ จึงไม่มีการสั่งทำขนม ทำให้ปัจจุบันไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ
นางภคนันท์ เปิดเผยว่า ในพื้นที่มีการช่วยเหลือกัน เช่น การมอบถุงยังชีพ แต่ในส่วนมาตรการเยียวยาของภาครัฐนั้น ผู้คนเข้าถึงได้น้อย ทำให้ไม่ได้รับการเยียวยา เนื่องจากไม่มีโทรศัพท์ และมีบางกลุ่มที่ไม่มีบัตรประชาชน ทั้งนี้ จึงมีข้อเสนอแนะในเรื่องมาตรการช่วยเหลือว่า อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือด้านเงินกู้ ปลอดดอกเบี้ย และการสนับสนุนผู้ค้าในชุมชน เช่น จ้างคนในชุมชนทำข้าวกล่องสำหรับผู้ที่ต้องกักตัวหรือกลุ่มเปราะบาง ให้เป็นวงจรช่วยผู้คนและชุมชนควบคู่กัน
@ ขอพื้นที่ทำมาหากิน ดีกว่าแจกเงิน
ด้าน นายครองทรัพย์ สุธรรม ตัวแทนผู้ค้าตลาดไนท์บาซาร์และถนนคนเดิน กล่าวว่า ภาพรวมในจังหวัดเชียงราย ผู้ประกอบการด้านอาหารได้รับผลกระทบส่วนหนึ่งจากสถานการณ์การระบาดของโรค แต่อีกส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบมากกว่าโควิดคือ มาตรการที่รัฐออกมาเพื่อควบคุมโรค ที่ส่งผลต่ออาชีพและชีวิตประจำวัน จึงอยากให้ภาครัฐออกมาดูภาพความเป็นจริง และสอบถามข้อมูลจากผู้ที่ได้รับผลกระทบมากกว่าคิดเอง รวมถึงการออกมาตรการเยียวยาต่างๆด้วย ที่ผ่านมามีการให้เงินช่วยเหลือ 1,500 บาท โดยให้ใช้ 3 เดือน ถามว่าเพียงพอหรือไม่ ตอบได้ว่าไม่เพียงพอ ฉะนั้น ภาครัฐควรสนับสนุนการเยียวยาที่ทำให้ผู้ประกอบการประกอบอาชีพต่อไปได้ เช่น สนับสนุนพื้นที่ค้าขายให้ประกอบอาชีพต่อได้ ไม่ใช่ให้เงินเยียวยาไม่กี่พันบาท
@ ช่วยเหลือเยียวยาช้า เพราะยังไม่มีข้อมูลในระบบ
นายนาวิน ธาราแสวง ผู้อำนวยการสำนักนโยบายแรงงานนอกระบบ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงแนวทางการรับมือต่อสถานการณ์โควิดว่า กระทรวงแรงงานได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือ ประกอบด้วย การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการรองรับสถานการณ์การว่างงาน จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด และให้บริการสายด่วนเพื่อรับเรื่องร้องเรียนและตอบคำถามเกี่ยวกับโควิด
นายนาวิน กล่าวถึงแนวทางการช่วยเหลือแรงงาน ว่า สำหรับแรงงานในระบบผู้ประกันตน จะมีความสะดวกและรวดเร็วในให้ความช่วยเหลือเยียวยา เนื่องจากมีข้อมูลอยู่แล้ว แต่สำหรับแรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่มีการประชาสัมพันธ์ให้เข้าสู่ระบบผู้ประกันตน มาตรา 40 เพื่อรับความช่วยเหลือเยียวยานั้น อาจจะมีความยุ่งยากและซับซ้อนบ้าง เนื่องจากจะต้องมีการลงทะเบียนใหม่ กรอกข้อมูลใหม่จึงจะต้องใช้เวลา
ส่วนข้อจำกัดเรื่องอายุ ที่กำหนดว่าผู้ประกันตนจะต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปีนั้น นายนาวิน กล่าวว่า ทางกระทรวงฯ รับทราบแล้ว และกำลังหาทางออกต่อไป เนื่องจากผู้ประกอบอาชีพอิสระบางกลุ่มมีอายุเกินกว่านั้น ฉะนั้นจึงไม่ต้องกังวล
นายนาวิน กล่าวด้วยว่า กระทรวงแรงงานได้มีการผลักดัน พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. .... ซึ่งประสบปัญหาวิกฤติโควิดขึ้นมาเสียก่อน ทำให้การดำเนินการยังไม่เสร็จลุล่วง แต่ทั้งนี้ก็ยังมีการผลักดันกันต่อไป มีหลักการสำคัญคือ การส่งเสริม โดยสำรวจความต้องการ การขึ้นทะเบียน การรวมกลุ่มต่างๆ การพัฒนา ด้านการสร้างอาชีพ รายได้ พัฒนาทักษะฝีมือ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมถึงการให้ความคุ้มครอง เช่น มาตรฐานอาชีพ สภาพการทำงาน เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ คือเสียงสะท้อนปัญหาของแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด รวมถึงข้อเสนอแนะถึงมาตรการเยียวยาต่างๆ ที่เคยได้รับและอยากจะได้รับ
ภาพประกอบจาก: Homenet Thailand - มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage