"...มีบัญชีเงินฝากธนาคารซึ่งเปิดบัญชีในนามหน่วยงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่ปรากฏในหลักฐานทางบัญชีและงบการเงินของหน่วยงาน จำนวน 180 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 421.21 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินฝากประเภทกระแสรายวัน จำนวน 1.41 ล้านบาท เงินฝากประเภทออมทรัพย์ จำนวนเงิน 273.43 ล้านบาท และเงินฝากประเภทประจำ จำนวนเงิน 146.37 ล้านบาท ซึ่งหน่วยงานมิได้นำมาบันทึกบัญชี และไม่สามารถชี้แจงหรือแสดงหลักฐานว่าเป็นบัญชีหน่วยงานหรือไม่..."
............................
รายงานการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2562 ของมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งหนึ่ง กำลังถูกจับตามอง!
เมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไม่แสดงความเห็นต่อรายงานการเงินดังกล่าว เนื่องจากไม่สามารถหาหลักฐานการสอบบัญชีที่เหมาะสมอย่างเพียงพอเพื่อเป็นเกณฑ์ในการแสดงความเห็นต่อรายงานการเงิน และมีการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในรายงานการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2562 ของมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งนี้ ที่ สตง. ไม่สามารถตรวจสอบให้ได้หลักฐานการสอบบัญชีที่เหมาะสมอย่างเพียงพอ มีดังนี้
1. หน่วยงานมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด จำนวนเงิน 219.18 ล้านบาท มีบัญชีเงินฝากธนาคารซึ่งเปิดบัญชีในนามหน่วยงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่ปรากฏในหลักฐานทางบัญชีและงบการเงินของหน่วยงาน จำนวน 180 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 421.21 ล้านบาท
ประกอบด้วย เงินฝากประเภทกระแสรายวัน จำนวน 1.41 ล้านบาท เงินฝากประเภทออมทรัพย์ จำนวนเงิน 273.43 ล้านบาท และเงินฝากประเภทประจำ จำนวนเงิน 146.37 ล้านบาท ซึ่งหน่วยงานมิได้นำมาบันทึกบัญชี และไม่สามารถชี้แจงหรือแสดงหลักฐานว่าเป็นบัญชีหน่วยงานหรือไม่
2. รายได้สูง (ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสะสม จำนวนเงิน 1,153.95 ล้านบาท มีรายการปรับปรุงเพิ่มบัญชีรายได้สูง (ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสะสม จำนวนเงิน 115.04 ล้านบาท
สาเหตุเกิดจากการปรับปรุงบัญชีสินทรัพย์ถาวรและบัญชีค่าเสื่อมราคาสะสมให้มีมูลค่าตรงตามรายงานค่าเสื่อมราคาสะสม ซึ่งหน่วยงานมิได้ชี้แจงหรือแสดงหลักฐานว่าการปรับปรุงบัญชีสินทรัพย์ถาวรและบัญชีค่าเสื่อมราคาสะสมเป็นการปรับปรุงรายการสินทรัพย์ประเภทใด และแต่ละประเภทเป็นมูลค่าเท่าใด
จากข้อมูลที่กล่าวถึงในข้อ 1. – 2. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินไม่สามารถใช้วิธีการตรวจสอบอื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งหลักฐานการสอบบัญชีที่เหมาะสมเพียงพอเกี่ยวกับความถูกต้องและครบถ้วนของจำนวนเงินดังกล่าว
สตง. จึงไม่สามารถระบุได้ว่า จำเป็นต้องปรับปรุงจำนวนเงินของรายการดังกล่าวหรือไม่อย่างใด ซึ่งหากต้องปรับปรุงจะมีผลกระทบต่องบแสดงฐานะการเงิน งบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงิน
รายงานการตรวจสอบ สตง. ระบุด้วยว่า การแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญเรื่องเกณฑ์การจัดทำงบการเงิน หน่วยงานไม่ได้รวมรายการทางบัญชีของ 7 หน่วยงานย่อยซึ่งอยู่ในความควบคุมของหน่วยงาน โดยรายการบัญชีดังกล่าวประกอบด้วย เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด จำนวนเงิน 381.54 ล้านบาท ลูกหนี้ จำนวนเงิน 0.89 ล้านบาท ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ จำนวนเงิน 103.17 ล้านบาท หนี้สิน จำนวนเงิน 100.88 ล้านบาท สินทรัพย์สุทธิ/ส่วนทุน จำนวนเงิน 459.05 ล้านบาท รายได้ จำนวนเงิน 64.49 ล้านบาท ค่าใช้จ่าย จำนวนเงิน 40.37 ล้านบาท
ส่งผลให้งบการเงินของหน่วยงาน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2562 ไม่ได้แสดงรายการให้เป็นไปตามหลักการและนโยบายการบัญชีสำหรับหน่วยงานภาครัฐฉบับที่ 2 ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐจัดทำรายงานการเงินที่รวมเงินทุกประเภทและรวมทุกหน่วยงานย่อยอยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานภาครัฐนั้น
สตง. ยังระบุด้วยว่า ผลกระทบจากเรื่องที่กล่าวทำให้ไม่สามารถระบุได้ว่างบการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2562 แสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานทางการเงินถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐที่กระทรวงการคลังประกาศใช้หรือไม่อย่างใด ซึ่งหากต้องปรับปรุงจะมีผลกระทบต่องบแสดงฐานะการเงิน งบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงิน
สตง.จึงไม่แสดงความเห็นต่อรายงานการเงินของมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งนี้
มหาวิทยาลัยราชภัฏปริศนาแห่งนี้ คือ แห่งไหน
สำนักข่าวอิศรา จะติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/