"…การดูแลผู้ป่วยโควิด 1 คน จะมีบุคลากรด่านหน้าดูแลอย่างน้อย 2 คน คือ พยาบาล และแพทย์ แต่สำหรับผู้ป่วยอาการหนักจะใช้บุคลากรอย่างน้อย 3 คน ในการดูแล คือ พยาบาล 2 คน และแพทย์ 1 คน เพื่อดูแลอาการใกล้ชิด เนื่องจากต้องให้ยาที่มีผลข้างเคียงเยอะ โดยต้องเข้าไปดูอาการทุก 1 ชั่วโมง เข้าแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง ขณะที่เราต้องดูแลผู้ป่วยอีก 6 คน เรามีเวลาหยุดพักเพียงช่วงเวลากินข้าวไม่นานนัก…"
……………………………
ผ่านมากว่า 1 ปีกับการต่อสู้โรคโควิด ไทยกำลังประสบกับปัญหาวิกฤตเตียงล้น นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิดประเทศไทยประจำวันที่ 30 ก.ค.2564 กล่าวใจความตอนหนึ่งว่า เดิมเรามีเตียงสำหรับสำหรับแลผู้ป่วยโรคทั่วไป 1 แสนเตียง แต่มีเมื่อสถานการณ์โควิด เราได้ขยายเพิ่มอีกเป็น 1.75 แสนเตียง แบ่งเป็น ส่วนภูมิภาค 1.35 แสนเตียง กทม. 4 หมื่นเตียง ซึ่งมีอัตราการใช้เตียงทั้งหมดประมาณ 80% โดยกทม.ใช้เตียงไปแล้วเกือบ 90% และต่างจังหวัดใช้เกือบ 80% หากนับรวมผู้ติดเชื้อรายใหม่เข้าไปในแต่ละวันคงไม่เพียงพอ หมายความว่าจะมีผู้ติดเชื้อที่ไม่มีเตียงรองรับ
“ถ้าเราดูแนวโน้มจำนวนเตียงในระบบพยาบาล จะเห็นว่าไม่สามมารถเพิ่มเตียงได้มากกว่านี้แล้ว เพราะจากต้นทุน 1 แสนเตียง ตอนนี้ขยายเพิ่มมาแสนกว่าเตียง บุคลากรการแพทย์ทำงานกันอย่างเต็มที่แล้ว” นพ.เกียรติภูมิ
(สถานการณ์เตียงตามเขตสุขภาพจากระบบ CO-ward กระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 29 ก.ค.2564)
ขณะเดียวกัน นพ.เกียรติภูมิ ยังกล่าวอีกว่า หากดูจากกราฟผู้ติดเชื้อ ยอดผู้ป่วยจะเพิ่มสูงขึ้นอีกสักระยะ ซึ่งนั่นหมายความว่าบุคลากรด่านหน้าจะต้องรับหน้าที่ที่หนักขึ้น ด้วยสถานการณ์การระบาดที่รุนแรงสะสมต่อเนื่องมาร่วมปี ทำให้เราได้เห็นภาพปรากฏในสื่ออยู่หลายครั้ง บุคลากรบางคนเป็นลมขณะปฏิบัติหน้าที่ บางคนอาจเหนื่อยล้าจนฟลุบหลับทั้งที่มือยังคงถือปากกา อย่างไรก็ตามแม้จำนวนผู้ป่วยจะล้นเกินกว่าบุคลากรด่านหน้าจะรับไหว แต่เราก็ยังเห็นบุคลากรด่านหน้าปฏิบัติหน้าที่สู้อยู่เคียงข้างประชาชนเสมอ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้พูดคุยกับบุคลากรด่านหน้าบางส่วน เพื่อสอบถามถึงสถานการณ์ภายในโรงพยาบาล และการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรด่านหน้า ท่ามกลางวิกฤตเตียงล้น มีข้อมูลดังนี้
นพ.สุกรม ชีเจริญ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์โรงพยาบาลราชวิถี และผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี 2 (รังสิต) กล่าวว่า ขณะนี้จำนวนผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาสั้นๆ จากเดิมที่เราสามารถสอบประวัติผู้ป่วยแล้วเฝ้าระวังได้ค่อนข้างสูง แต่ตอนนี้เกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อนกระจายไปหลายพื้นที่ หมายความว่าพื้นที่เสี่ยงไม่มีแล้ว ทุกพื้นที่เสี่ยงเท่ากัน ส่งผลให้การเฝ้าระวังอยู่ในจุดที่อันตราย เราเกือบป้องกันแทบจะไม่ได้
ทำให้สถานการณ์ภายในโรงพยาบาลราชวิถีในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ผู้ป่วย ส่วนใหญ่ตอนนี้จะเป็นผู้ป่วยสีเหลือง หรือสีแดง หมายถึงผู้ป่วยอาการปานกลางค่อนไปทางหนัก และผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องการความดูแลในห้องผู้ป่วยหนัก หรือที่เรียกว่า ห้องไอซียู
และ 2.เตียงในโรงพยาบาล จากเดิมที่โรงพยาบาลราชวิถีมีพื้นที่ดูแลผู้ป่วยทางเดินโรคหายใจ เป็นห้องผู้ป่วยหนัก 4 เตียง และมีห้องแยกโรคของผู้ป่วยที่มีอาการทั่วไปอีก 10 เตียง แต่เมื่อมีการระบาดของโควิดกระทบเข้ามา ทำให้ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าต้องปรับองค์กรแล้ว จนตอนนี้โรงพยาบาลราชวิถีต้องขยายเตียงผู้ป่วยหนักเพิ่มถึง 35 เตียง ผู้ป่วยในอีก 60 เตียง และโรงพยาบาลราชวิถี 2 อีก 72 เตียง ถือว่าจากเดิมมีห้องรองรับผู้ป่วยเพียง 14 เตียง แต่ตอนนี้เราต้องเพิ่มมากถึง 140 เตียง นับว่าเพิ่มมาเป็น 10 เท่า
แต่สถานการณ์ภายในโรงพยาบาลยังคงเตียงเต็มตลอดเวลา กล่าวคือ เราจะมีการหมุนเวียนผู้ป่วยตลอดเวลาตามอาการ เนื่องจากอาการของผู้ป่วยจะมีขึ้นมีลง หากคนไหนอาการดีขึ้น เราจะย้ายจากห้องไอซียูกลับเข้าสู่วอร์ดธรรมดา และเปิดช่องว่างรับผู้ป่วยใหม่เข้ามาได้อยู่ ดังนั้นเตียงเต็มในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเตียงเต็มแล้วเราจะแช่ค้างไว้หรือรับผู้ป่วยไม่ได้
“ในสถานการณ์เตียงเต็ม บุคลากรการแพทย์น่าเห็นใจมาก เนื่องจากเขาจะหมุนเตียงอยู่ตลอด เพื่อรับเคสใหม่ให้ได้เพิ่มมากขึ้น และส่งเคสเก่ากลับบ้าน” นพ.สุกรม กล่าว
อย่างไรก็ตามโรงพยาบาลราชวิถีเราได้เตรียมเตียงรองรับผู้ป่วยอาการปานกลางหรือผู้ฟื้นตัวจากโรงพยาบาลราชวิถี ไว้ที่โรงพยาบาลราชวิถี 2 อีกแห่งหนึ่งด้วย เพื่อรองรับผู้ป่วยหนักให้สามารถเข้าถึงโรงพยาบาลราชวิถีได้
(นพ.สุกรม ชีเจริญ รอง ผอ.ด้านการแพทย์โรงพยาบาลราชวิถี และ ผอ.โรงพยาบาลราชวิถี 2)
@ ไม่ใช่แค่โควิด แต่ยังมีโรคภัยอื่นที่แพทย์ต้องรับมือ
ปัจจุบันทีมแพทย์ ทีมพยาบาล และทีมบริหาร เราต้องยอมรับความสูญเสีย ทั้งความสูญเสียจากสถานการณ์โควิดที่มียอดผู้เสียชีวิตประกาศออกมาให้เราได้ทราบกันทุกเช้า และความสูญเสียจากความตายที่ไม่ได้นับ ที่เกิดจากการลดการให้บริการระบบการรักษาอื่น เช่น โรคหัวใจ โรคไส้ติ่ง โรคนิ่วในถุงน้ำดี เส้นเลือดสมองโปร่งพอง การคลอดตกเลือด เป็นต้น
ดังนั้นเพื่อลดการสูญเสียให้ได้มากที่สุด สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการป้องกันบุคลากรการแพทย์ไม่ให้ติดเชื้อ เพื่อให้ระบบสาธารณสุขดำเนินการต่อไปได้ โดยควรมุ่งเน้นให้บุคลากรด่านหน้าได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 เข็ม ยกเว้นบางส่วนที่อยู่ในข้อห้ามการรับวัคซีน การให้บุคลากรการแพทย์ได้รับชุดอุปกรณ์ป้องกันที่ได้รับมาตรฐานวิชาชีพ ซึ่งต้องเตรียมจัดหาไว้ให้เพียงพอกับความต้องการเสมอ และการแบ่งทีมบุคลากรด่านหน้าออกเป็น 2 ชุด
“โควิดตอนนี้ไม่ใช่โรคระบาดแล้ว โควิดอยู่กับเราแล้วในถิ่นนี้ ระบาดมาจากร้านอาหารก็มี จากคนในครอบครัวก็มี ดังนั้นหากไปดูที่ความตายที่ไม่ได้นับ สิ่งที่โรงพยาบาลปิดไม่ได้คือ ห้องฉุกเฉิน ห้องล้างไต ห้องส่องกระเพาะ และห้องตรวจหายใจ เป็นต้น ทันทีที่ปิดเราจะต้องเห็นความตายของโรคอื่นวิ่งขึ้น ดังนั้นสิ่งที่โรงพยาบาลทำ คือ การป้องกันบุคลากรแพทย์ไม่ให้เกิดการเชื้อกระจายไปทั้งทีม เราจึงแบ่งทีมออกเป็น 2 ชุด ให้ทำงานสลับกัน 2 สัปดาห์ต่อ 1 ทีม หากทีมใดติดเชื้ออีกครึ่งนึงนั้นเราจะรันกันต่อ เพื่อธำรงรักษาระบบบริการ” นพ.สุกรม กล่าว
อย่างไรก็ตามด้วยสถานการณ์ตอนนี้ ทุกโรงพยาบาลคงพูดในแนวเดียวกันว่า ต้องลดบริการส่วนที่ไม่จำเป็นลง และนำแพทย์รวมถึงพยาบาลจากหน่วยอื่นเข้ามาช่วยหมุนเวียนดูแลผู้ป่วยโควิด เพราะทุกวันนี้จำนวนผู้ป่วยมากขึ้น ขณะที่ทีมแพทย์หน่วยดูแลผู้ป่วยโควิดมีเท่าเดิม และทำงานกันมาหนักมากเป็นปีๆ แต่ตนเองเชื่อว่าบุคลากรด่านหน้าทุกคน ตั้งแต่พนักงานขับรถฉุกเฉิน คนเก็บศพ คนเข็นเปล บุคลากรการแพทย์ แม้จะเหนื่อยล้าค่อนข้างมาก แต่ยังพร้อมทุ่มสรรพกำลังเพื่อช่วยประชาชนอยู่เสมอทั้งผู้ป่วยโควิดและผู้ป่วยระบบอื่นด้วย
“ผมอยากขอบคุณประชาชนที่ได้มอบกำลังใจให้กับบุคลากรของโรงพยาบาล และช่วยสนับสนุนกิจกรรมขอโรงพยาบาล บุคลากรภายในโรงพยาบาลถึงเขาจะเหนื่อย แต่ตราบใดที่เขารู้ว่ายังมีคนให้กำลังใจเขา เขาพร้อมที่จะสู้ อาจมีร่วงหล่นไปตามทางบ้าง แต่เขาก็ยังสู้อยู่ พร้อมขอขอบคุณประชาชนที่ดูแลตัวเองมาตั้งแต่ระลอกแรก ถ้าเราไม่ดูแลตัวเองตั้งแต่ตอนนั้น ประเทศไทยอาจประสบเหมือนกับอิตาลีหรืออินเดีย อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าในสายตาประชาชนวิกฤตโควิดดูเหมือนจะไม่เห็นจุดจบ แต่ทางเราก็พอดูออกว่า มันคงอีกไม่นาน ต้องมีจุดจบแน่ แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไร” นพ.สุกรม กล่าว
นพ.สุกรม กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า โรคนี้มีปัจจัยสำคัญในการยับยั้งการระบาด คือ ให้เชื้อกลายพันธุ์อ่อนลง หรือเชื้ออ่อนลงเองด้วยตัวเอง ดังนั้นโอกาสที่เราจะหยุดโรคระบาดได้ยังมีอยู่ นอกจากนั้นการป้องกันตัวเอง รวมถึงฉีดวัคซีน จะช่วยหยุดโรคนี้ลงได้ จึงอยากเน้นย้ำให้ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิดอย่างเคร่งครัดด้วย
(ภาพประกอบจาก: เดลินิวส์)
@ เข้า-ออกห้องผู้ป่วยทั้งวัน เหลือเวลาพักไม่มาก
ขณะที่ พยาบาล รพ.เอกชนแห่งหนึ่งในพื้นที่ กทม. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า ช่วงนี้ผู้ป่วยเยอะกว่าเดิมขึ้นมากจนเกิดภาวะเตียงไม่พอ และมีผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มมากขึ้น เป็นผู้ป่วยที่มีสีเหลืองไปจนถึงสีแดง และมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงมาก อย่างที่โรงพบาบาลของตนเองใน 1 วัน จะต้องพบคนไข้ที่เสียชีวิตจากโรคโควิดวันละ 1-3 คน
ในแต่ละวัน ตนเองจะต้องดูแลผู้ป่วยสีเหลือง 5 คน และผู้ป่วยสีแดง 1 คน สำหรับผู้ป่วยสีเหลืองนั้น เป็นผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ต้องใช้เครื่องให้ออกซิเจน บางกลุ่มอาจมีการใช้ยาฉีดเพิ่มเติมบ้าง พยาบาลจะเข้าไปดูอาการทุก 2 ชั่วโมง แต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 10 นาที
แต่ผู้ป่วยสีแดงนั้นเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูอย่างใกล้ชิด พยาบาลจึงต้องเข้าไปดูอาการทุก 1 ชั่วโมง ซึ่งต้องเข้าไปดูแลผู้ป่วยครั้งละ 2 คนขึ้นไป และเข้าแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง ดังนั้นในแต่ละวันเหลือเวลาพักในช่วงรับประทานอาหารไม่มากนัก
"ตอนนี้ก็มีบ้างที่เหนื่อยล้า อยากขอให้เพิ่มกำลังคน แต่คงเป็นไปไม่ได้ อย่างรไก็ตามขอให้ประชาชนเข้าใจว่าเราพยายามดูแลทุกคน แต่เนื่องจากเตียงไม่พอจริงๆ จึงไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง จึงอยากฝากให้ดูแลรักษาสุขภาพ ลดการเคลื่อนย้ายเท่าที่จำเป็น รวมถึงขอให้รัฐจัดหาวัคซีนชนิด mRNA มาให้บุคลากรการแพทย์และประชาชนทุกคน เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการยับยั้งการระบาด"
@ ไม่ได้กลับภูมิลำเนามาครึ่งปี กลัวนำเชื้อกลับสู่ครอบครัว
ส่วนอีกหนึ่ง พยาบาล รพ.รัฐแห่งหนึ่งใน กทม. เปิดเผยว่า ในช่วงสถานการณ์การระบาด กิจวัตรประจำวันเราก็ถูกเปลี่ยนไป คือ หลังจากตื่นนอนจะไปที่วอร์ดเพื่อดูแลผู้ป่วย หลังจากหมดเวลาในการทำงาน ก็จะกลับหอพักเพื่ออาบน้ำและนอน หรือบางครั้งหากได้เข้าเวรเช้าจนถึงดึกอาจนอนที่โรงพยาบาลเลย ทำแบบนี้วนแบบนี้ไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้แวะไปซื้ออาหารหรือขนมนอกโรงพยาบาล และไม่ได้กลับภูมิลำเนามาครึ่งปีแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลัวนำเชื้อไปติดบุคคลอื่น โดยเฉพาะครอบครัว แม้จะคิดถึงมากๆ ก็ตาม
ใน 1 เดือน พยาบาลจะต้องเข้าเวรเดือนละ 30 เวรต่อคน เยอะกว่าในช่วงก่อนหน้าที่สถานการณ์ภายในประเทศยังปกติถึง 10 เวร เข้าเวรครั้งนึงจะใช้เวลา 8 ชั่วโมง นั่นหมายความว่าในช่วงสถานการณ์การระบาดเราจะต้องทำงาน 240 ชั่วโมงต่อเดือน ซึ่งยังไม่นับรวมการทำงานล่วงเวลา เนื่องจากปัจจุบันในการระบาดระลอกใหม่นี้ผู้ป่วยที่เข้ามาภายในโรงพยาบาลส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง หรือผู้ป่วยที่มีอาการในระดับ 3 - ระดับ 5
ความหนักเบาของอาการผู้ป่วย สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท คือ
1. ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองได้ สามารถเดินเข้าห้องน้ำ หรือกินข้าวเองได้
2. ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองได้ แต่มีบางอย่างให้เจ้าหน้าที่ต้องช่วย
3. ผู้ป่วยต้องการความช่วยเหลือปานกลาง สามารถขยับบนเตียงได้ แต่ไม่สามารถลงเดินไปเข้าห้องน้ำได้
4. ผู้ป่วยที่มีอาการใกล้ผู้ป่วยติดเตียง
5. ผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และไม่มีสติ
ด้วยอาการของผู้ป่วยในปัจจุบัน ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากเชื้อลงปอดกันเป็นส่วนใหญ่ และต้องการความช่วยเหลือจากพยาบาล ในการช่วยพลิกตะแคงตัว เช็ดตัว วัดไข้ วัดความดันโลหิต เจาะเลือด ให้ยา และฉีดยา ทั้งนี้หากคนไข้อาการหนัก จะต้องล้างไตให้ด้วย ดังนั้นเราจึงแทบไม่ได้หยุดพัก หากไม่ได้ขอหยุดเอง
(ภาพประกอบจาก: เดลินิวส์)
@ เสียงจากพยาบาลเผยพร้อมสู้เพื่อทุกคน ชี้หากไม่ไหว ใครจะดูแลผู้ป่วย
นอกจากนั้น ทุกครั้งที่เราปฏิบัติหน้าที่เราจะสวมใส่ชุด PPE ตลอด เนื่องจากชุด PPE เป็นชุดที่ป้องกันเชื้อ แต่ในขณะเดียวกันก็ป้องกันอากาศไหลผ่านเข้ามาด้วย ทำให้เมื่อสวมใส่จะรู้สึกร้อนอบอ้าว หายใจลำบาก หากเหนื่อยด้วยแล้วจะทำให้หายใจแทบไม่ทัน เมื่อปฏิบัติหน้าที่นานๆ แน่นอนว่าอาจเป็นลมได้ จนภายในทีมพยาบาลเราถึงขั้นบอกกันว่า ถ้าใครไม่ไหวให้เดินออกจากห้องดูแลผู้ป่วยได้เลย ไม่ต้องห่วง เดี๋ยวที่เหลือเราจะช่วยดูแลกันให้ เพราะถ้าหากเป็นลมขึ้นมา เราคงจะดูแลกันไม่ไหว
“ยอมรับว่าตอนนี้ก็แทบไม่ไหว แต่ยังพร้อมสู้เพื่อทุกคนอยู่ เพราะถ้าเราไม่ไหว แล้วใครจะดูแลผู้ป่วย เราต้องช่วยกันไป อยากให้เราสู้ไปด้วยกัน แล้วเราจะผ่านไปด้วยกันได้ เชื่อว่าอีกไม่นานวิกฤตนี้คงจบลง อยากเป็นกำลังใจให้ทุกคนช่วยกันฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้”
ทั้งหมดนี้ต่างเป็นเสียงสะท้อนจากบุคลากรด่านหน้าที่ทำงานกันอย่างหนักมาร่วมปี แม้ต่างเกิดความเหนื่อยล้าสะสม แต่ยังพร้อมที่จะสู้เคียงข้างประชาชน ส่วนวิกฤตโควิดนี้จะจบลงได้เมื่อใด ไม่มีใครทราบได้ แต่บุคลากรด่านหน้าต่างเชื่อว่าถ้าทุกคนร่วมมือกัน เราจะฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปได้อีกไม่นาน
ภาพจาก: เพจเฟซบุ๊ก โรงพยาบาลราชวิถี
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage