"...สำหรับการฉีดให้บุคคลที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้ฉีด 2 โดส ซึ่งการฉีดเข็มที่ 2 ควรใช้หลังจากการฉีดเข็มแรก 3 สัปดาห์ ทั้งนี้แนะนำว่าให้ผู้ที่ได้รับการฉีด ‘ไฟเซอร์’ เข็มแรก ควรได้รับการฉีดกระตุ้นในเข็มที่ 2 ด้วย ‘ไฟเซอร์’ เช่นเดิม..."
---------------------------------------------------------
เช้าวันที่ 30 ก.ค.2564 ประเทศไทยได้รับมอบวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 1.5 ล้านโดสที่เป็นวัคซีนที่สหรัฐอเมริกา บริจาคเพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดในประเทศไทย
นับเป็น ‘ไฟเซอร์’ ล็อตแรกที่ถูกนำเข้ามาในประเทศ ก่อนที่หลังจากนี้สหรัฐอเมริกาจะบริจาคให้ไทยเพิ่มอีก 1 ล้านโดส รวมถึงไทยเองมีแผนจัดซื้ออีก 20 ล้านโดสที่เพิ่งมีการลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา
(ข่าวประกอบ : มาถึงแล้ว! วัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส สหรัฐฯ บริจาคไทยสู้โควิด (มีภาพชุด) และ สธ.-ไบออนเทคเซ็นสัญญานำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส ในไตรมาส 4 ปีนี้)
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ ที่ได้รับบริจาคจากประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวน 1.5 ล้านโดส ที่ส่งมาถึงประเทศไทยแล้วนั้น จะฉีดใช้ให้ 4 กลุ่มเป้าหมาย ดังนี้
กลุ่มที่ 1 บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขที่ทำปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วยทั่วประเทศ เป็นเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน จำนวน 700,000 โดส โดยได้มีการสำรวจรายชื่อจากโรงพยาบาลต่างๆ ที่ส่งมา จากนั้น สธ.จะกระจายวัคซีนไปโรงพยาบาลเป้าหมายเพื่อฉีดให้บุคลากรสาธารณสุขมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น
กลุ่มที่ 2 ฉีดในกลุ่มเสี่ยง 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มี 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่เนื่องจากไฟเซอร์สามารถฉีดในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปได้ จึงจะมีการฉีดให้กับเด็กที่มีอายุ 12 ขึ้นไปและป่วยใน 7 กลุ่มโรคเรื้อรังนี้ด้วย โดยจะมีการกระจายไปใน 13 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด คือ กทม. สมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา สงขลา ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส จำนวน 645,000 โดส
กลุ่มที่ 3 ชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศไทย โดยเป็นผู้ที่มี 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ และคนไทยผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศที่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เช่น นักเรียน นักศึกษา เป็นต้น จำนวน 150,000 โดส
กลุ่มที่ 4 สำหรับการทำการศึกษาวิจัย โดยการอนุมัติของคณะกรรมการวิจัยจริยธรรม เพื่อนำผลการวิจัยมาใช้ในการกำหนดนโยบายต่อไป จำนวน 5,000 โดส
@ ฉีดครบ 2 โดสจบ ส.ค.
นพ.โอภาส กล่าวถึงไทม์ไลน์วัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส ดังนี้
30 ก.ค. วัคซีนจะถูกจัดเก็บที่คลังวัคซีนที่ -70 องศาเซลเซียสของบริษัทซิลลิค ฟาร์มา(ประเทศไทย) จำกัด พร้อมส่งตัวอย่างตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
2 ส.ค. คาดว่าจะได้รับผลตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัย
3-4 ส.ค. บริษัทจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ แพ็ควัคซีนเพื่อจัดส่ง
5-6 ส.ค. จัดส่งวัคซีนล็อตแรกเข็มกระตุ้นสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และเข็ม 1 สำหรับกลุ่มเสี่ยงเป้าหมายถึงหน่วยบริการ
7-8 ส.ค. โรงพยาบาล เตรียมความพร้อมการฉีดวัคซีน โดย ต้องนัดหมายคนมาฉีด ควบคุมเวลาอย่างดี เพราะเอาออกจากตู้เย็นแล้วจะอยู่ได้ไม่นาน เพราะฉะนั้นความแม่นยำในการนัดหมายต้องดำเนินการเป็นอย่างดี ไม่เช่นนั้นวัคซีนจะเสียหาย
9 ส.ค. หน่วยบริการเริ่มฉีดวัคซีน
ช่วงกลางเดือน ส.ค. จัดส่งวัคซีนเข็ม 2 สำหรับใช้ฉีดปลายเดือน ส.ค.2564
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอารและยา (อย.) เผยแพร่เอกสารกำกับยาภาษาไทยของ ‘ไฟเซอร์’ ซึ่งสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวบรวมประเด็นที่น่าสนใจมานำเสนอ ดังนี้
วัคซีน ‘ไฟเซอร์’ ชื่อผลิตภัณฑ์ตามเอกสารกำกับยาคือ ‘โคเมอร์เนตี’ เป็นวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) สำหรับป้องกันโรคโควิด-19
ปริมาณและคุณสมบัติของตัวยาสำคัญ ใน 1 โดส (0.3 มิลลิลิตร) ประกอบด้วยตัวยาสำคัญ คือ วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอโควิด-19 (ห่อหุ้มด้วยอนุภาคไขมันขนาดนาโน) บรรจุอยู่ใน 30 ไมโครกรัม
ยานี้บรรจุในขวดแก้วสำหรับใช้หลายครั้ง (multi-dose vial) และจะต้องเจือจางก่อนใช้
ใน 1 ขวด (0.45 มิลลิลิตร) บรรจุวัคซีนสำหรับฉีด 6 โดส โดสละ 0.3 มิลลิลิตรหลังเจือจางแล้ว
ทั้งนี้ในทุกการฉีด มีข้อกำหนด 3 ข้อ คือ 1.ขาดวัคซีนสำหรับฉีดแต่ละโดสต้องมีปริมาตร 0.3 มิลลิลิตร 2.หากปริมาณวัคซีนที่เหลือในขวดไม่เพียงพอสำหรับ 0.3 มิลลิลิตร ให้ทิ้งขวดวัคซีนหรือวัคซีนใดๆ ที่เหลือในขวด และ 3.ห้ามนำวัคซีนจากหลายขวดวัคซีนมารวมกัน
นอกจากนั้น ยังห้ามผสมวัคซีนนี้ในกระบอกฉีดยาเดียวกันกับวัคซีนหรือผลิตภัณฑ์ยาชนิดอื่น
คุณสมบัติทางคลินิก
มีข้อบ่งใช้สำหรับฉีดเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป เพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อโควิด-19
สำหรับการฉีดให้บุคคลที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้ฉีด 2 โดส ซึ่งการฉีดเข็มที่ 2 ควรใช้หลังจากการฉีดเข็มแรก 3 สัปดาห์ ทั้งนี้แนะนำว่าให้ผู้ที่ได้รับการฉีด ‘ไฟเซอร์’ เข็มแรก ควรได้รับการฉีดกระตุ้นในเข็มที่ 2 ด้วย ‘ไฟเซอร์’ เช่นเดิม
คำเตือนพิเศษและข้อควรระวังในการใช้ยา
ภาวะภูมิไวเกินและการแก้ - มีรายงานพบเหตุการณ์การแพ้แบบ anaphylaxis ควรมีการเตรียมความพร้อมตลอดเวลาสำหรับการดูแล และให้การรักษาที่เหมาะสมในกรณีที่มีการแพ้ยาขั้นรุนแรง (anaphylactic reaction) หลังการฉีดวัคซีน
แนะนําให้มีการติดตามอาการอย่างใกล้ชิดอย่างน้อยที่สุด 30 นาทีหลังฉีดวัคซีน ไม่ควรฉีดวัคซีนครั้งที่ 2 ให้กับ ผู้ที่เกิดการแพ้ยาขั้นรุนแรงจากการฉีดวัคซีนครั้งที่ 1
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ – พบรายงานการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบหลังจากการฉีดน้อยมาก รายงานส่วนใหญ่พบในเพศชายวัยหนุ่ม โดยจะเกิดอาการภายใน 14 วันหลังจากการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะภายหลังการฉีดวัคซีนครั้งที่ 2 จากข้อมูลที่ปรากฏพบว่าการดำเนินโรคของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อ หุ้มหัวใจอักเสบภายหลังการได้รับวัคซีนไม่แตกต่างจากการดำเนินโรคของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบในสภาวะปกติ
บุคลากรทางการแพทย์ควรระมัดระวังและสังเกตอาการและอาการแสดงของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ผู้ที่รับการฉีดวัคซีนควรได้รับคำอธิบายถึงวิธีการสังเกตอาการตนเองเพื่อสามารถแจ้งแพทย์ได้ทันท่วงทีหากมีอาการที่อาจบ่งชี้ถึงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เช่น การเจ็บหน้าอก(แบบเฉียบพลันและอาการคงอยู่) หายใจสั้น หรือใจสั่นภายหลังจากการฉีดวัคซีน บุคลากรทางการแพทย์ควรดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติหรือปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อวินิจฉัยและรักษาภาวะดังกล่าว
อาการที่เป็นผลจากความวิตกกังวล - อาการที่เป็นผลจากความวิตกกังวลรวมถึง ปฏิกิริยาของเส้นประสาทวากัส (หมดสติ) ภาวะหายใจถี่เร็วกว่าปกติ (hyperventilation) หรือปฏิกิริยาอันเนื่องมาจากความเครียด สามารถเกิดขึ้นร่วมกับการฉีดวัคซีน โดยเป็น การตอบสนองทางจิตใจต่อการฉีดยาด้วยเข็ม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีความระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บจากการเป็นลม
ความเจ็บป่วยที่กําลังเป็นอยู่ - เช่นเดียวกับวัคซีนชนิดอื่น ๆ ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปในผู้ที่มีอาการไข้สูงเฉียบพลันหรือการติดเชื้อ เฉียบพลัน อย่างไรก็ตาม ไม่ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไป หากพบอาการของการติดเชื้อเพียงเล็กน้อย เช่น หวัด และ/หรือ มีไข้ต่ำ
ภาวะเกล็ดเลือดต่ำและความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด - เช่นเดียวกับยาฉีดเข้ากล้ามเนื้ออื่น ๆ ควรฉีดวัคซีนด้วยความระมัดระวังในผู้ที่ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ หรือผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือดใด (เช่น โรคฮีโมฟิเลีย) เนื่องจากอาจเกิดภาวะเลือดออกหรือจ้ำเลือดหลังจากการฉีดเข้ากล้ามเนื้อในบุคคลเหล่านี้
ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง - ยังไม่ได้ทำการประเมินประสิทธิผล ความปลอดภัย และความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกันของวัคซีนในผู้ที่มี ภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกัน ประสิทธิผลของโคเมอร์เนตีอาจลดลงในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ข้อจํากัดของประสิทธิผลของวัคซีน
เช่นเดียวกับวัคซีนอื่น การฉีดวัคซีนโคเมอร์เนตีอาจไม่ได้ป้องกันโรคในผู้รับวัคซีนทุกราย ผู้ที่ฉีดวัคซีนอาจไม่ได้รับการป้องกันอย่างเต็มที่จนกว่าจะได้รับวัคซีนโดสที่สองไปแล้ว 7 วัน
อาการไม่พึงประสงค์
บทสรุปข้อมูลด้านความปลอดภัย – ความปลอดภัยของ ‘ไฟเซอร์’ ได้รับการประเมินในผู้เข้าร่วมการศึกษาที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป จากการศึกษาทางคลินิก 2 การศึกษา จำนวน 22,875 ราย ประกอบด้วยผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 21,744 ราย และผู้มีอายุ 12 ถึง 15 ปี จำนวน 1,131 ราย โดยเป็นผู้ได้รับวัคซีนไฟเซอร์อย่างน้อย 1 เข็ม
ผู้ที่มีอายุ 12-15 ปี - อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยที่สุด คือ อาการปวดบริเวณที่ฉีดยา มากกว่า 90% อ่อนล้าและปวดศีรษะ มากกว่า 70% ปวดกล้ามเนื้อและหนาวสั่น มากกว่า 40% ปวดข้อและมีไข้ มากกว่า 20%
ผู้เข้าร่วมการศึกษาที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป – อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อย คือ อาการปวดบริเวณที่ฉีด มากกว่า 80% อ่อนล้า มากกว่า 60% ปวดศีรษะ มากกว่า 50% ปวดกล้ามเนื้อและหนาวสั่น มากกว่า 30% ปวดข้อ มากกว่า 20% ไข้และบวมบริเวณที่ฉีด มากกว่า 10% โดยมักมีความรุนแรงต่ำหรือปานกลาง และหายเป็นปกติภายในไม่กี่วันหลังจากฉีดวัคซีน พบว่าการเกิดเหตุการณ์ของการก่อปฏิกิริยา (reactogenicity) มีความถี่ต่ำลงเล็กน้อยโดยมีความสัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น
อายุของยา
ขวดวัคซีนที่ยังไม่ได้เปิดใช้ และ ขวดวัคซีนที่แช่แข็ง - อายุ 6 เดือนที่อุณหภูมิ -90 องศาเซลเซียสถึง -60 องศาเซลเซียส ภายในช่วงอายุการใช้งาน 6 เดือน สามารถเก็บและขนส่งวัคซีนในขวดที่ยังไม่ได้เปิดใช้ที่อุณหภูมิ -25 องศาเซลเซียสถึง -15 องศาเซลเซียส ได้เพียงครั้งเดียวและต้องไม่เกิน 2 สัปดาห์ และสามารถนํากลับไปเก็บแช่แข็งที่อุณหภูมิ -90 องศาเซลเซียสถึง -60 องศาเซลเซียส ได้
ขวดวัคซีนที่ละลายจากการแช่แข็งแล้ว - 1 เดือน ที่ 2 องศาเซลเซียสถึง 8 องศาเซลเซียส ภายในช่วงอายุการใช้งาน 1 เดือน ที่อุณหภูมิ 2 องศาเซลเซียสถึง 8 องศาเซลเซียสนี้ อาจทำการขนส่งได้ แต่ ต้องใช้ระยะเวลาไม่เกิน 12 ชั่วโมง
ก่อนใช้งาน สามารถเก็บขวดวัคซีนที่ยังไม่ได้เปิดใช้ได้นาน 2 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิสูงถึง 30 องศาเซลเซียส เมื่อวัคซีนละลายจากการแช่แข็งแล้ว ต้องไม่นํากลับไปแช่แข็งซ้ำ
(อ่านรายละเอียเพิ่มเติม : เอกสารกำกับยาวัคซีนไฟเซอร์)
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage