"...สิ่งที่สำคัญ คือ การรับรู้เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของเด็ก เมื่อรับรู้และเข้าใจการแสดงออกและอารมณ์ของเด็ก โดยเฉพาะความเครียด โดยที่ไม่ดุ หรือเป็นอารมณ์เกินไป รวมถึงการมีเวลาให้เด็กเพียงพอ และรับฟังเด็ก โดยการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น การสื่อสารควรเป็นการสื่อสารเชิงบวก เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกัน คือ การรับฟังอย่างเข้าใจ เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของอีกฝ่ายขณะนั้น และใช้เทคนิค สะท้อนอารมณ์ เช่น การกอด..."
---------------------------
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org): เมื่อวันที่ 28 ก.ค.2564 สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) จัดงานเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ พิชิตความเครียด เมื่อลูกต้องเรียนออนไลน์ โดย พญ.เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น หรือ 'หมอมินบานเย็น' แอดมินเพจเฟซบุ๊กเข็นเด็กขึ้นภูเขา กล่าวว่า พัฒนการทางจิตสังคม เริ่มตั้งแต่เด็กวัยทารก จะเป็นระยะพัฒนาทางจิตสังคมที่เรียกว่าเป็นระยะปลูกฝังความไว้เนื้อเชื่อใจ เด็กๆ วัยทารกยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เวลาหิวนมหรือต้องการขับถ่าย จะแสดงออกโดยการร้องไห้งอแง ถ้าผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดมีความเข้าใจ ก็จะเข้าไปดูแลได้ทันท่วงที ไม่ปล่อยปละละเลย ไม่ทอดทิ้ง ซึ่งจะปลูกฝังความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจให้กับเด็ก และเป็นพื้นฐานนำไปสู่จิตใจที่มั่นคงปลอดภัย ทัศนคติที่มองโลกในแง่ดี พร้อมที่จะสร้างสัมพันธภาพกับคนอื่นอย่างเหมาะสม
ต่อมา ช่วงวัยเตาะแตะ เด็กอายุ 1-3 ปี เป็นช่วงระยะที่เด็กสามารถควบคุมกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ได้ดีขึ้น มีความต้องการที่จะทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง มีความคิดเป็นของตนเอง อาจจะมีการแสดงออกทางพฤติกรรม เช่น ดื้อ ต่อต้าน เอาแต่ใจ ผู้ปกครองจะต้องทำความเข้าใจพัฒนาการ ให้เด็กได้แสดงออกอย่างเหมาะสม คือปล่อยให้ทำในสิ่งที่ต้องการ แต่วจะต้องอยู่ในขอบเขตที่ไม่เป็นอันตราย อยู่ในกฎระเบียบวินัยที่เหมาะสม พร้อมทั้งชมเชย เมื่อเด็กทำได้ ก็จะทำให้เด็กเติบโตมาเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเหมาะสม
สำหรับเด็กวัยก่อนเข้าเรียน ช่วงอายุ 3-6 ปี เด็กวัยนี้จะมีความอยากรู้อยากเห็น ชอบเล่น แข่งขันเอาชนะ มีพัฒนาการอย่างมากทางกล้ามเนื้อและภาษา แต่ยังเอาแต่ใจตัวเอง ไม่ชอบแพ้ พ่อแม่ผู้ปกครอง จะต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่น มีการแข่งขัน โดยมีกฎระเบียบและกติกาที่เหมาะสม เด็กก็จะเติบโตไปมีความคิดสร้างสรรค์ และมีเป้าหมายอย่างเหมาะสม
เด็กวัยเรียน ช่วงอายุ 6-12 ปี หรือช่วงชั้นประถม เด็กจะเริ่มเรียนหนักมากขึ้น ทั้งเนื้อหาต่างๆ การบ้าน การสอบ อีกทั้งในสังคมยังมีการแข่งขันทางการเรียน ทำให้เด็กเกิดความเครียด อาจกดดันจาดความคาดหวังของคนรอบข้าง และส่วนใหญ่เด็กอยากจะทำให้พ่อแม่พึงพอใจในตัวเอง เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดได้
พญ.เบญจพร กล่าวต่อว่า ช่วงวัยที่พ่อแม่ ผู้ปกครองหลายคนค่อนข้าวเครียด และเกิดความกังวล คือ ช่วงวัยรุ่น อายุ 12-20 ปี เป็นช่วงที่ค้นหาความเป็นตนเอง (Identity) อยู่ตรงกลางระหว่างความเป็นเด็กกับการเป็นผู้ใหญ่ อยากเป็นตัวของตัวเอง มีเหตุผลของตัวเอง และต้องการเป็นที่ยอมรับ ทำให้เพื่อนมีความสำคัญกับตัวเด็กมาก ผู้ปกครองจะต้องมีความเข้าใจ รับฟัง แม้ว่าจะติดเพื่อนมากขึ้นเพราะต้องการเป็นที่ยอมรับของสังคม แต่เด็กก็ยังต้องพึ่งพาพ่อแม่อยู่
@ เด็ก Gen C เติบโตในยุดโควิด เรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์
พญ.เบญจพร กล่าวถึงผลกระทบของสถานการณ์โควิดกับเด็กและครอบครัว ว่า เด็กที่เกิดในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด หรือที่เรียกว่า Generation C จะมีความเปลี่ยนแปลงมีผลกระทบอะไรที่เกิดขึ้นกับเด็กๆมากมายทีเดียว จะต้องติดตามต่อไปว่าจะมีผลอะไรบาง โดยสิ่งแรกที่เห็นได้ชัด คือ โรงเรียนปิด การปรับการเรียนเป็นรูปแบบออนไลน์ และเมื่อเรียนออนไลน์สิ่งที่ตามมา คือการอยู่กับหน้าจอมากขึ้น ส่งผลกระทบทางด้านร่างกาย เช่น ภาวะอ้วน อุบัติเหตุ ปัญหาเกี่ยวกับดวงตา การมองเห็น รวมถึงปัญหาทางกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหว ในด้านพัฒนาการอาจจะขาดเรื่องพัฒนาการทางด้านสังคม เพราะขาดปฎิสัมพันธ์กับคนในสังคม อาจเกิดภาวะเครียดด้วย นอกจากเด็กแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองก็มีความเครียดที่มากเช่นเดียวกัน จากสถานการณ์ปัจจุบัน และสิ่งที่ตามมาส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น
เมื่อต้องเรียนออนไลน์ ปัญหาที่ตามมา คือ การใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่เหมาะสม พญ.เบญจพร กล่าวว่า จากผลการศึกษาสื่อออนไลน์กับภาวะสมาธิสั้น พบว่า นักเรียนชั้น ม.ปลาย อเมริกัน 3,000 คน อายุ 15-16 ปี ไม่พบภาวะอาการสมาธิสั้นอย่างชัดเจนในตอนแรกของการศึกษา หลังจากติดตามอาการไป 2 ปี พบความสัมพันธ์ระหว่างการใช้สื่อดิจิตอล โดยส่วนใหญ่คือการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ที่มากและบ่อยครั้ง กับ ภาวะสมาธิสั้นที่เพิ่มขึ้น และการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ตอนกลางคืน ทำให้เกิดปัญหาการนอนและปัญหาทางอารมณ์ จากการศึกษาในวัยรุ่นอเมริกันที่เป็นสมาธิสั้น อายุ 13-17 ปี จำนวน 81 คน พบว่า วัยรุ่นสมาธิสั้นที่ใช้สื่อในเวลากลางคืนมากจะมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาการนอนลดลง การง่วงเวลากลางวัน และการเกิดภาวะวิตกกังวลและซึมเศร้า
@ พ่อ-แม่ต้องดูแลการใช้สื่อออนไลน์ของเด็ก
พญ.เบญจพร กล่าวด้วยว่า ส่วนปัญหาอื่นๆ ที่พบในการใช้งานสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในเด็กและวัยรุ่น เช่น Cyber Bullying เป็นการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ ที่ผู้กระทำไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน และสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ แม้ว่าในสถานที่ที่คิดว่าปบอดภัยเช่นในห้องนอน เป็นต้น จึงมีลักษณะที่คุกคามมากกว่าการกลั่นแกล้งดั้งเดิม และถูกเผยแพร่ไปได้ไกลในเวลาอันรวดเร็วผ่านอินเทอร์เน็ต รวมถึงเฟกนิวส์ หรือข่าวปลอมที่มีการเผยแพร่ในโลกอินเทอร์เน็ต ดังนั้นทั้งเด็กและผู้ใหญ่ควรจะตรวจสอบก่อนที่จะเผยแพร่อะไร โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน
สำหรับข้อควรระวังในโลกอินเตอร์เน็ต พญ.เบญจพร กล่าวว่า ในโลกอินเทอร์เน็ต ทุกคนจะมี Digital Footprint ร่องรอยของการใช้งานในโลกอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็น โพสต์ข้อความ รูปถ่ายต่างๆ ฉะนั้นข้อควรระวัง คือ การไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เช่น เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ รูปภาพบัตรประชาชน ซึ่งในเด็กอาจจะขาดความยับยั้งชั่งใจ หรืออาจจะไม่ได้ตระหนักถึงผลที่ตามมา ผู้ปกครองจึงควรสอดส่องดูแลด้วยเช่นกัน และการเล่นพนันออนไลน์ที่พบเห็นได้ง่ายในอินเทอร์เน็ต เช่นกัน
พญ.เบญจพร กล่าวถึงภาวะเสพติดสื่อสังคมออนไลน์ ว่า อาการคล้ายกับกับพฤติกรรมการเสพติดอื่นๆ คือ อาการหมกมุ่น ขาดการควบคุมตนเอง หน้าที่การเรียนหรือการทำงานถดถอย รวมถึงสัมพันธภาพกับคนรอบข้างสูญเสียไป
@ เด็กเครียด พ่อแม่ก็เครียด
จะสังเกตุได้อย่างไรว่าเด็กเครียด พญ.เบญจพร กล่าวว่า เด็กเล็กที่พัฒนาการทางภาษาไม่ดีเพียงพอ ยังไม่มีความเข้าใจ และยังไม่สามารถสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้ เวลาที่เด็กเครียด เด็กก็อาจจะแสดงออกด้วยพฤติกรรม เช่น ดื้อ ต่อต้าน ก้าวร้าวมากขึ้น ขาดสมาธิ นอนไม่หลับ ฝันร้าย มีปัญหาการการกิน ปัสสาวะราด พัฒนาการถดถอย อะไรที่เคยทำได้ก็กลับทำไม่ได้ ติดและไม่ยอมแยกจากผู้ดูแลใกล้ชิด ความเครียดอาจจะแสดงออกด้วยอาการทางกาย เช่น ปวดท้อง ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน โดยไม่พบสาเหตุชัดเจน เป็นต้น นอกจากเด็กจะเครียดแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองก็เครียดด้วยเช่นกัน
สำหรับแนวปฏิบัติของผู้ปกครองจะต้องเตรียมความพร้อมรับมือเพื่อดูแลเด็กยุคโควิด เช่น ดูแลร่างกายและจิตใจให้เข้มแข็ง รับรู้และจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น ปัญหาและอุปสรรคเป็นเรื่องธรรมชาติ รวมถึงการมีความหวังและสร้างกำลังใจให้ตัวเอง เป็นต้น
ในกรณีที่พ่อแม่รู้สึกโกรธ จะจัดการความโกรธอย่างไร พญ.เบญจพร กล่าวว่า ถ้าโกรธอย่าเพิ่งพูดหรือทำอะไรตอนนั้น เพราะมันอาจจะเป็นไปอย่างไม่มีสติ เมื่อเวลาผ่านไประดับอารมณ์โกรธลดลง พ่อแม่จะจัดการอะไรได้ดีขึ้น และรฝึกการหายใจเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ เริ่มจะการหายใจเข้าให้ลึก หลังจากนั้นค่อยๆผ่อนลมหายใจออกมาทางปากจนสุด ทำซ้ำสัก 4-5 ครั้ง อารมณ์จะค่อยๆ คลายและเบาบางลงไป หรืออาจจะเดินออกจากจุดนั้น ไปที่อื่นสัก 10 นาที เช่น สนามหน้าบ้าน ระเบียง แต่ถ้าเด็กยังเล็ก ควรมั่นใจว่าเด็กปลอดภัยดี เช่น มีคนอื่นดูแล
"บางครั้งพ่อแม่อาจจัดการอารมณ์โกรธของตัวเองไม่ได้ ก็ไม่ต้องรู้สึกผิด หรือเสียใจ เพราะเราก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ทำไม่ได้บ้างไม่ได้บ้างเป็นเรื่องปกติ หาตัวช่วยบ้าง ถ้าต้องการความช่วยเหลือ ถ้าจัดการความโกรธไม่ได้จริงๆ อาจมีปัญหาอื่นด้วย ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ" พญ.เบญจพร กล่าว
@ เด็กเล็กไม่เหมาะเรียนผ่านจอ
พญ.เบญจพร กล่าวว่า การเรียนออนไลน์ทำให้เด็กและพ่อแม่ เกิดความเครียด แต่ไม่เครียดนั้น เป็นไปไม่ได้ จะต้องทำความเข้าใจว่าช่วงนี้ พ่อแม่ต้องทำหน้าที่ เป็นครูให้ลูก ยอมรับว่าภาระงานของพ่อแม่จะเหนื่อยมากขึ้น และคาดหวังให้เหมาะสม อย่าคิดว่าลูกจะต้องตั้งใจเรียนตลอดเวลา เพราะไม่มีอะไรที่เพอร์เฟ็ค 100% รวมถึงเรียนรู้จากความผิดพลาดของทั้งตัวพ่อแม่และลูก และอาจจะหาตัวช่วยบ้าง เช่น ปรึกษาคุณครู และมองหาข้อดีที่อาจจะมีอยู่ เช่น สถานการณ์ปัจจุบันทำให้เข้าใจลูก รู้จักลูกเวลาเรียน เนื้อหาที่ลูกเรียน เป็นต้น
พญ.เบญจพร กล่าวถึง ข้อคิดเมื่อเด็กเล็กจำเป็นจะต้องเรียนออนไลน์ ว่า เด็กปฐมวัยเป็นช่วงวัยที่ควรได้รับการกระตุ้นพัฒนาการหลากหลาย ได้แก่ กล้ามเนื้อ ภาษา การสื่อสาร อารมณ์ สังคม การอยู่กับคนอื่น การช่วยเหลือตัวเองตามวัย ไม่ใช่แค่การนั่งเรียนหน้าจอ เด็กปฐมวัยควรได้เล่นกับเพื่อนๆ ทำกิจกรรมกับครูด้วย มีการเปลี่ยนอิริยาบถ ดังนั้น ถ้าไปโรงเรียนตามปกติไม่ได้ ควรต้องให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ที่สอนด้วย เด็กบางคนไม่พร้อม ก็อาจให้พ่อแม่สอนแทน ฉะนั้นผู้ใหญ่ควรให้เวลาเด็กได้พักสายตาจากหน้าจอ มีเวลาไปยืดเส้นยืดสายบ้าง ทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่การอยู่กับหน้าจอนานๆ ด้วย เป็นไปได้การเรียนออนไลน์ควรเป็นกิจกรรมที่ครูและเด็กๆ มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน ถ้าเด็กหรือครอบครัวไหนไม่พร้อมในการเรียนออนไลน์ ครูอาจจะลองหาระบบการเรียนที่ทดแทนให้จนกว่าจะเปิดเทอมก็ได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ไม่เหมาะนักกับการเรียนออนไลน์
@ สื่อสาร-รับรู้เข้าใจถึงอารมณ์กันและกัน
พญ.เบญจพร กล่าวแนะนำถึงแนวทางการเลี้ยงลูกอย่างไรให้มีความสุข ไม่เคร่งเครียดในช่วงสถานการณ์โควิดระบาด ว่า พ่อแม่ควรเริ่มต้นจากการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องโควิดแบบง่ายๆ กับเด็ก ให้เด็กเข้าใจถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้น ต่อมาคือการดูแลจัดการการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวันของเด็ก ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้น้อย เท่าที่พอทำได้ ถ้าจำเป็นจะต้องเปลี่ยน ก็คงจะต้องอธิบาย สร้างความคุ้นเคยกับเด็กในการทำอะไรใหม่ๆ เช่น การเรียนออนไลน์ ออกไปเล่นกับเพื่อนๆหรือออกไปเที่ยวไม่ได้แล้ว การใส่หน้ากากอนามัย รวมถึงการหากิจกรรมทำร่วมกันในบ้าน
พญ.เบญจพร อธิบายต่อว่า การจัดตารางในชีวิตประจำวันสำหรับเด็กก็มีความสำคัญ คล้ายกับการจัดตารางสอน โดยควรจัดให้มีกิจกรรมหลากหลาย มีการออกกำลังกาย และจะทำให้คุยกันง่ายขึ้น เมื่อบอกว่าเวลานี้ จะต้องทำอะไร ต่อมาคือ การมีเวลาคุณภาพให้กับเด็ก เช่น ให้ความรัก ความอบอุ่นใกล้ชิด ทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยกัน เด็กเล็กๆ อาจจะเล่น อ่านนิทาน ร้องเพลง สำหรับเด็กโต อาจจะเป็นการพูดคุยถึงความรู้สึก ความเครียด เป็นต้น ทั้งนี้ เด็กควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ โดยปัญหาการนอนมากขึ้น จากการติดหน้าจอ นอนดึก นอนไม่เพียงพอ จะทำให้สมาธิไม่ดี อารมณ์หงุดหงิด ร้องไห้ง่าย งอแง
และสิ่งที่สำคัญ คือ การรับรู้เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของเด็ก เมื่อรับรู้และเข้าใจการแสดงออกและอารมณ์ของเด็ก โดยเฉพาะความเครียด โดยที่ไม่ดุ หรือเป็นอารมณ์เกินไป รวมถึงการมีเวลาให้เด็กเพียงพอ และรับฟังเด็ก โดยการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น การสื่อสารควรเป็นการสื่อสารเชิงบวก เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกัน คือ การรับฟังอย่างเข้าใจ เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของอีกฝ่ายขณะนั้น และใช้เทคนิค สะท้อนอารมณ์ เช่น การกอด
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage