"...ประเทศไทยได้มีการประกาศเมื่อวันที่ 12 ก.ค.ว่าจะใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นโดสที่ 2 กับผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคก่อนหน้านี้ไปแล้ว เพื่อที่จะเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ..โดยการประกาศดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นกรณีแรกที่จะมีการผสมวัคซีนที่ผลิตในประเทศจีนกับวัคซีนที่ผลิตจากชาติตะวันตก..."
.....................
สืบเนื่องจากประเด็นการฉีดวัคซีนผสมเพื่อต้านไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส กำลังถูกกล่าวถึงอย่างมากทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศเวลานี้
ล่าสุด สำนักข่าวรอยเตอร์สของประเทศอังกฤษ ได้เผยแพร่รายงานพิเศษประมวลว่า มีประเทศไหนบ้างของโลกที่มีแนวคิดการผสมวัคซีนเพื่อต้านไวรัสโควิด-19 แล้วบ้าง ใช้หลักการและเหตุผลอะไร
มีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
ณ เวลานี้จำนวนประเทศที่กำลังพิจารณาเรื่องการสลับชนิดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 โดยเปลี่ยนชนิดวัคซีนที่ฉีดในโดสที่ 2 เพื่อเพิ่มศักยภาพของภูมิคุ้มกันกำลังมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ท่ามกลางปัญหาเรื่องการจัดส่งวัคซีนที่ล่าช้าและข้อกังวลเรื่องความปลอดภัย ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อโครงการฉีดวัคซีนของประเทศนั้น ๆ
อย่างไรก็ตาม ทางองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ออกมาเตือนเมื่อวันที่ 12 ก.ค.ว่า การผสมวัคซีนนี้อาจจะเป็นกระแสที่อันตราย เพราะมีข้อมูลหลักฐานเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ
ในขณะที่หน่วยงานควบคุมด้านยาของทวีปยุโรปเองก็ได้มีการประกาศเมื่อวันที่ 14 ก.ค.เช่นกัน ว่า จนถึงตอนนี้ยังไม่มีคำแนะนำที่ชัดเจนเกี่ยวกับการให้สลับฉีดชนิดวัคซีนแต่อย่างใด
WHO ออกคำเตือนเรื่องการผสมวัคซีนเนื่องจากมีผลการรับรองไม่เพียงพอ (อ้างอิงวิดีโอจาก WION)
แต่ก็มีหลายประเทศที่เริ่มจะเห็นชอบให้มีการสลับการฉีดวัคซีน มีรายละเอียดดังนี้
@ประเทศบาห์เรน
ทางประเทศบาห์เรนได้มีการประกาศเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ในการหาผู้เข้ารับการทดสอบเพื่อที่จะรับวัคซีนบูสเตอร์เป็นโดสที่ 2 โดยการฉีดวัคซีนโดสที่ 2 นั้นจะเป็นวัคซีนไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทค หรือวัคซีนซิโนฟาร์ม
โดยการทดสอบดังกล่าวนั้นจะไม่คำนึงว่าผู้เข้ารับการทดสอบจะได้วัคซีนชนิดอะไรมาเป็นโดสแรกก่อนที่จะเข้ารับการทดสอบ
@ประเทศภูฏาน
นายโลเท เชอร์ริง นายกรัฐมนตรีภูฏาน ได้ประกาศเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ว่า ตัวเขามีความมั่นใจและสบายใจกับการผสมวัคซีนโควิด-19 เพราะเชื่อมั่นว่าการผสมวัคซีนนี้จะสามารถเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชากร 700,000 คนได้
@ประเทศแคนาดา
คณะกรรมการที่ปรึกษาแห่งชาติว่าด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันของประเทศแคนาดา ได้มีการประกาศเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ว่า จะมีการเสนอให้ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นโดสแรกไปแล้ว จะได้รับวัคซีนต่างชนิดกัน
@ประเทศจีน
มีรายงานว่านักวิจัยในประเทศจีน กำลังดำเนินการทดลองระยะแรก ในกลุ่มการทดลองเล็ก ๆ โดยรายละเอียดการผสมวัคซีนนั้นจะเป็นการผสมวัคซีนคันซิโน่ของบริษัท CanSino Biologics ตามด้วยวัคซีนอีกโดสของบริษัท Chongqing Zhifei Biological Products ซึ่งมีผลการทดลองทางคลินิกออกมาเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้มีการทดลองวัคซีนคันซิโน่ 1 โดสเพื่อฉีดเป็นบูสเตอร์ช็อตให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนเชื้อตายก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนเชื้อตายไปแล้ว 1 โดส หรือว่า 2 โดสก็ตาม โดยการทดลองนี้ เริ่มต้นไปแล้วเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา
อนึ่ง วัคซีนคันซิโนนั้นเป็นวัคซีนประเภทไวรัสเวกเตอร์ ซึ่งเป็นวัคซีนประเภทเดียวกับวัคซีนแอสตร้าเซนเนกา วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสันและวัคซีนสปุตนิกวี ขณะที่วัคซีนเชื้อตายนั้นจะเป็นวัคซีนประเภทเดียวกับวัคซีนซิโนแวคและซิโนฟาร์ม
@ประเทศอินโดนีเซีย
ประเทศอินโดนีเซียนั้นมีการพิจารณาที่จะเสนอวัคซีนบูสเตอร์ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวคก่อนหน้านี้ เนื่องจากมีรายงานว่าบุคลากรการแพทย์หลายพันคนที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคไปถูกตรวจพบว่า ติดเชื้อโควิด-19
รายงานข่าวของประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซียที่ผสมวัคซีนซิโนแวคกับวัคซีนอื่นๆ (อ้างอิงวิดีโอจาก ANC 24/7)
@ประเทศอิตาลี
หน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการยาของประเทศอิตาลี ได้มีการระบุเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ว่า ผู้ที่อายุน้อยกว่า 60 ปี ที่ถูกฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไปเป็นโดสแรกนั้นสามารถไปรับวัคซีนโดสต่อไปซึ่งเป็นวัคซีนต่างชนิดกันได้
@ประเทศเกาหลีใต้
มีการศึกษาจากประเทศเกาหลีใต้ว่าการผสมวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าและตามมาด้วยวัคซีนไฟเซอร์นั้นจะช่วยเพิ่มสารภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีได้ถึง 6 เท่าจากการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแค่ 2 โดส
ขณะที่ในช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา มีการศึกษาที่ประเทศอังกฤษพบว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าตามด้วยวัคซีนไฟเซอร์หนึ่งโดสจะสามารถเพิ่มการตอบสนองของเซลล์ที่และจะสามารถสร้างแอนติบอดีได้สูงกว่าการฉีดวัคซีนไฟเซอร์แล้วตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า
@ประเทศไทย
ประเทศไทยได้มีการประกาศเมื่อวันที่ 12 ก.ค.ว่าจะใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นโดสที่ 2 กับผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคก่อนหน้านี้ไปแล้ว เพื่อที่จะเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
โดยการประกาศดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นกรณีแรกที่จะมีการผสมวัคซีนที่ผลิตในประเทศจีนกับวัคซีนที่ผลิตจากชาติตะวันตก
@ประเทศไต้หวัน
ที่ประเทศไต้หวัน คณะกรรมการที่ปรึกษาเกี่ยวกับแนวทางด้านการสร้างภูมิคุ้มกัน (ACIP) ได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 25 ก.ค. ให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิดแบบผสมชนิดกันโดยจะให้ประชากรที่เป็น กลุ่มเปราะบางที่ได้รับวัคซีนโดสแรกจากบริษัทแอสตร้าเซนเนกา และได้รับวัคซีนแบบ mRNA ของบริษัท Medigen Vaccine Biologics Corp แบบ mRNA เป็นโดสที่ 2 เมื่อเวลาผ่านไปเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์
โดยวัคซีนจากบริษัท Medigen นั้นถือว่าเป็นวัคซีนจากบริษัทในประเทศไต้หวันที่มีการเผยแพร่ผลการทดลองทางคลินิกในระยะที่ 2 ออกมาเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
@ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้มีการอนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคที่มีอยู่เพื่อใช้เป็นวัคซีนบูสเตอร์ช็อตกับผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มไปแล้วก่อนหน้านี้
ขณะที่หน่วยงาน Mubadala Health ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกองทุนของรัฐที่ดูแลด้านสุขภาพได้ประกาศว่าวัคซีนที่มีความแตกต่างชนิดกันนั้นจะสามารถสร้างบูสเตอร์ช็อตให้กับผู้ที่รับวัคซีนได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังคงต้องขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้ที่รับวัคซีนและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเองก็ไม่ได้ให้คำแนะนำในเรื่องนี้แต่อย่างใด
@ประเทศเวียดนาม
ประเทศเวียดนาม มีการประกาศเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ว่าจะเสนอการฉีดวัคซีน mRNA ของบริษัทไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคเป็นโดสที่ 2 เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้วก่อนหน้านี้เป็นโดสแรก
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage